11 พ.ค. 2021 เวลา 08:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คุณมั่นใจแค่ไหน ว่าอาหารทะเลจากซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้ เป็นชนิดถูกต้องตามที่ระบุไว้บนฉลาก?
.
รายงานการศึกษาอาหารทะเลมากกว่า 9,000 ตัวอย่าง จากร้านอาหาร ร้านขายปลาและซูเปอร์มาร์เก็ตใน 30 ประเทศทั่วโลกโดย Guardian Seascape พบว่ามากกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ มีการติดฉลากระบุชนิดและคุณสมบัติสินค้าผิด
.
การศึกษาครั้งนี้ใช้เทคนิควิเคราะห์ DNA แบบใหม่ล่าสุด ปลายอดนิยมอย่าง “ปลากะพง” ที่วางขายตามท้องตลาดทั่วโลก เมื่อนำมาตรวจ DNA กลับพบว่ามากกว่าครึ่งของตัวอย่างทดสอบไม่ใช่ปลากะพง
.
ในสหราชอาณาจักร 70 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็นปลากะพง เป็นปลาชนิดอื่นที่แตกต่างกันถึง 38 ชนิด และหลายชนิดในนั้นเป็นสัตว์ทะเลเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากการถูกคุกคามของการประมงและความเสื่อมโทรมของแนวปะการังที่อยู่อาศัย
.
นี่คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า Seafood Fraud เมื่อผู้ผลิตนำสัตว์ทะเลต่างสายพันธุ์แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน ทำให้มีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกัน แต่มีราคาถูกกว่า มาติดฉลากว่าเป็นสัตว์ทะเลราคาแพงที่ได้รับความนิยม เพื่อโกงต้นทุนราคาสินค้าให้ต่ำลง
.
เช่น ราชาหอยเชลล์มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในท้องตลาดที่ประเทศเยอรมนี จริงๆ แล้วเป็นหอยเชลล์ญี่ปุ่น ที่ราคาถูกกว่า หรือลูกชิ้นกุ้งที่ประเทศสิงคโปร์ มีอัตราการติดฉลากผิดที่ 38.5 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่ามีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบหลัก และไม่มีส่วนผสมของเนื้อกุ้งอยู่เลย
.
ในประเทศจีน มีการทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อปลาย่าง 153 ผลิตภัณฑ์จาก 30 แบรนด์ในตลาดท้องถิ่น พบอัตราการบิดเบือนข้อมูลบนฉลากถึง 58 เปอร์เซ็นต์ และยังพบการนำปลาในตระกูลปลาปักเป้าที่เป็นอันตรายถึงชีวิตมาขายอย่างผิดกรรมวิธีอีกด้วย
.
ปลาเนื้อขาว อย่างปลาแฮดด็อกหรือปลาค็อด ปลาทะเลน้ำลึกมหาสมุทรแปซิฟิก ที่นิยมมากในแถบยุโรป มักถูกสวมรอยด้วยปลาสวายเนื้อขาว ซึ่งมีรสชาติและผิวสัมผัสใกล้เคียงกัน และมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายในประเทศเวียดนามและกัมพูชา
.
Seafood Fraud เป็นปัญหาฉ้อโกงด้านอาหารทะเลที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาอย่างยาวนาน เนื่องจากอาหารทะเลเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศมากที่สุด ผ่านห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน การจับปลาทั่วโลกส่วนใหญ่ถูกขนส่งจากเรือประมง ไปยังเรือขนส่งขนาดใหญ่เพื่อแปรรูป การติดฉลากผิดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
.
“มีโอกาสและช่องโหว่มากมาย ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ที่ปลาราคาถูก ถูกนำไปแอบอ้างเป็นปลายอดนิยม ราคาแพง หรือแม้แต่ปลาที่ถูกเลี้ยงในฟาร์ม ถูกนำไปแอบอ้างเป็นปลาที่จับจากทะเล” Beth Lowell รองประธานฝ่ายแคมเปญของ Oceana องค์กรด้านมหาสมุทรระหว่างประเทศกล่าว
.
แม้มีผู้ผลิตบางรายจงใจติดฉลากผิด เพื่อใช้ความผิดพลาดอย่างตั้งใจ สร้างผลกำไรที่ไม่โปร่งใส ซึ่งแสดงถึงการฉ้อโกงมากกว่าความประมาท แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยไม่ได้มีเจตนาติดฉลากผิด
.
ผลเสียของผู้บริโภคจาก Seafood Fraud นอกจากเสียเงินมากกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว คือความเสี่ยงด้านสุขภาพ ผู้บริโภคบางคนแพ้ปลาบางประเภท ฉลากที่ระบุข้อมูลผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ในแง่โภชนาการ ปลาทูน่าบางชนิดมีน้ำมันปลาย่อยยาก และบางชนิดเต็มไปด้วยพยาธิ ในขณะที่ปลานิลที่มักถูกแอบอ้างเป็นปลากะพงแดงนั้น มีปริมาณโอเมก้า 3 ต่ำกว่ามาก
.
การติดฉลากอาหารทะเลผิด เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจับปลาอย่างผิดกฎหมายที่ไม่ได้รับรายงานและไม่ได้รับการควบคุม ซึ่งมีปริมาณระหว่าง 8 ถึง 14 ล้านตันในแต่ละปี โดยกองเรือประมงผิดกฏหมายจะผสมปลาถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่จับได้เข้าด้วยกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการตรวจสอบ
.
Seafood Fraud เป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของท้องทะเล ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
__
ข้อมูลอ้างอิง
ภาพโดย HARRIS VO/UNSPLASH
โฆษณา