ชีวิตที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต.....
ลองให้คน Gen Y (อายุประมาณ 20-40 ปี) จินตนาการถึงชีวิตที่ไม่มี Internet น่าจะนึกไม่ออก เพราะ internet เริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อปี 2535 เรียกว่าคน Gen Y พอโตรู้เรื่อง ก็มี internet ใช้กันแล้ว
สำหรับคน Gen Z (อายุช่วง 10 – 20 ต้นๆ) กลุ่มนี้คงนึกไม่ออกเลยแน่นอน เพราะเกิดและโตมาพร้อมคอมพิวเตอร์และ Internet พอรู้ความก็สามารถเล่นเกมส์ หรือดูการ์ตูนผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือไอแพดได้แล้ว
ส่วนคน Gen X แบบผู้เขียน โตมาในช่วงที่ยังไม่มีการสื่อสารผ่านเครื่อข่ายคอมพิวเตอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า อินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถมีช่วงที่ยังพอให้รำลึกถึงชีวิตช่วงนั้นๆ ได้ พอนึกดูการใช้ชีวิตอยู่ในช่วงนั้นๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไร....(เพราะยังไม่มีเลยไม่รู้สึกขาด) กับการดำเนินชีวิต โดยปราศจากอินเทอร์เน็ต
แล้วเราคิดถึงอะไรบ้างในการใช้ชีวิตช่วงนั้น
สิ่งที่นึกถึงอันดับแรกเลยคือ โทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้านทั่วๆ ไป ซึ้งสมัยนั้นการจะมีโทรศัพท์ที่บ้านเป็นเรื่องที่มีขั้นพอสมควร และมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะค่าติดตั้งมีราคาสูงมาก. แล้วโทรศัพท์ก็เป็นแบบใช้หมุนตัวเลขไม่ใช่กดปุ่มเหมือนยุคปัจจุบัน
อันดับที่ 2 โทรศัพท์สาธารณะ (ซึ่งมีจำนวนไม่แยะ) จะเป็นตู้แบบที่เข้าไปทั้งตัว มีประตูปิดมิดชิด ไม่ได้มีลักษณะเป็นคอกปิดแค่ช่วงบนเหมือนสมัยหลังๆ การโทรก็จะใช้วิธีหยอดเหรียญ 1 บาทลงไป แล้วหมุนหมายเลข และจะจำกัดเวลาการคุยประมาณ 3 นาที พอใกล้จะครบเวลาก็จะมีเสียงสัญญาณร้องเตือนดังตู๊ด ตู๊ด... ให้เรารู้ว่าสัญญาณใกล้จะตัดละนะ ถ้าจะคุยนานๆ ต้องแลกเหรียญมาคอยหยอดเพิ่มไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหยอดเพิ่มนานไปก็จะมีคนมาเคาะตู้ ทำนองว่าออกมาได้แล้ว มีคนต่อคิวรอใช้โทรศัพท์อยู่นะ การคุยนานๆ คุยเล่นถือเป็นเรื่องเสียมารยาทในการใช้โทรศัพท์สาธารณะในสมัยนั้น เพราะโทรศัพท์ต้องใช้ยามเมื่อมีความจำเป็น ไว้โทรติดต่อเรื่องด่วนเท่านั้น
อันดับที่ 3 การเขียนจดหมายค่ะ เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารที่เป็นที่นิยมที่สุด (เพราะไม่มีช่องทางอื่น 555) กระดาษเขียนจดหมายสวยๆ ซองสวยๆ มีขายมากมายหลากหลายชนิด (ปัจจุบันกลายเป็นของหายาก) ใครจะจีบใครก็ต้องสื่อสารผ่านจดหมาย อารมณ์ส่งจดหมายรัก ไว้ใต้โต๊ะ กว่าจะได้คุย กว่าจะจีบจนได้เป็นแฟนกันนี่ ก็ต้องใช้ความพยายามในการติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายกันอย่างจริงจัง....เคยมีเพื่อนเป็นหนุ่มจีบสาวพร้อมกันหลายๆ คน ใส่จดหมายผิดซองให้สาวก็มีค่ะ
เพื่อนทางจดหมาย ..อันนี้คลาสสิคมาก ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า แต่ติดต่อ พูดคุยกันผ่านจดหมาย พอเริ่มคุยกันสนุก (ผ่านจดหมาย) ก็จะมีเริ่มส่งรูปให้กัน ร้องเพลง เล่นกีต้าร์ อัดเสียงใส่เทปคลาสเซ็ตส่งให้กันฟัง ของผู้เขียนมีวาดรูปส่งมาให้ด้วยค่ะ ^^
อย่างสุดท้าย สมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์ ที่นึกได้คือ เรียงเบอร์ค่ะ ทุกวันที่สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือล็อตเตอรรี่ออก. จะมีเด็กขายใบตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัล เรียงตามลำดับหมายเลข (จึงเรียกว่าเรียงเบอร์) พิมพ์ออกมาเป็นแผ่นๆ ขนาดประมาณกระดาษ A3 หอบเรียงเบอร์เป็นปึกหนาๆ วิ่งขายร้องตะโกน “เรียงเบอร์ครับเรียงเบอร์” คนที่ซื้อล็อตเตอรี่ไว้ก็จะกวักมือเรียกมาซื้อ เพื่อที่จะนำมาตรวจผลล็อตเตอรี่ที่ตัวเองซื้อมาว่าถูกรางวัลหรือไม่ ไม่งั้นต้องรอไปตรวจในวันรุ่งขึ้น ในหนังสือพิมพ์รายวัน อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ เพราะหนังสือพิมพ์ ในวันรุ่งขึ้นจะมีลงผลการออกสลากกินแบ่งของรัฐบาลในหนังสือพิมพ์ด้วย
ชิวิตที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ถ้าอยากรู้ข้อมูลอะไร ไม่สามารถหาได้จาก google search เหมือนในปัจจุบัน ต้องไปค้นคว้า หาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุด หรือแหล่งที่รวบรวมความรู้อื่นๆ
ยังมีอะไรอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เราใช้กันในยุคที่เราไม่มีการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เหมือนในปัจจุบัน