13 พ.ค. 2021 เวลา 12:00 • การศึกษา
ว่าด้วยเรื่องสารส้ม
Cr.dreamstime.com
สารส้มอยู่คู่ชีวิตประจำวันของคนไทยมานาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องตักน้ำจากบ่อหรือแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อใช้อุปโภคบริโภค โดยการใช้สารส้มแกว่งในน้ำเพื่อให้น้ำตกตะกอน จะได้มีน้ำใส ๆ ไว้ใช้นั่นเอง
สารส้ม หรือ Alum มาจากภาษาละตินคำว่า.. “Alumen” แปลว่า.. “สารที่ทำให้หดตัว (astringent)” ซึ่งเป็นเกลือเชิงซ้อนของสารประกอบ ที่มีธาตุอะลูมิเนียม และซัลเฟต เป็นส่วนประกอบหลัก
นอกจากช่วยทำให้น้ำใสแล้ว ยังมีสารป้องกันแบคทีเรีย กระชับรูขุมขน จึงนิยมนำใช้ดับกลิ่นตัวได้ทุกส่วนของร่างกาย อาทิ รักแร้ และเท้า ได้ยาวนานตลอดทั้งวัน
ทั้งนี้ ตามตำราสรรพคุณยาไทยโบราณว่าไว้ สารส้มมีสรรพคุณช่วยในการสมานแผล ช่วยหยุดเลือดในแผลตื้นเล็ก แก้แผลบวม แก้บาดแผลในปาก แก้รำมะนาดเหงือก
และด้วยคุณสมบัติการห้ามเลือด สมานแผลและผิวได้ ทำให้มีผู้ใช้ทาหลังโกนหนวด เพื่อลดการระคายเคือง และห้ามเลือดในกรณีที่เกิดบาดแผลเล็กจากมีดโกน, ใช้ทาที่ส้นเท้า รักษาอาการส้นเท้าแตก รวมถึงป้องกันไม่ให้ส้นเท้าแตกได้อีกด้วย
ในสมัยก่อนเวลาปวดฟัน มักผสมสารส้มกับน้ำใช้อม บรรเทาอาการปวดฟัน และป้องกันฟันโยกหลุด ทำให้ฟันมั่นคงแข็งแรง รวมถึงแก้ระดูขาวในสตรี แก้หนองใน แก้หนองเรื้อรัง และเป็นยาขับปัสสาวะ
สารส้มเป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงปลอดภัยต่อร่างกาย ไม่เปื้อนเสื้อผ้า และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
สารส้มมีพิษในการกินค่อนข้างน้อยมาก อาการ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ซึม แต่ต้องกินในปริมาณสูงมากจึงเกิดอาการดังกล่าว
พิษที่เกิดจากสารส้มและพบได้บ่อย คือ การสูดฝุ่นสารส้มในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหอบหืดได้
บริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียม อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายประมาณร้อยละ 3 ถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งอาจทำให้ไตเสื่อมได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย หรือไตบกพร่อง มีความเสี่ยงต่อพิษของอะลูมิเนียมสูงกว่าคนปกติ หากบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียม
สารส้มปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง เกิดผื่นคันเป็นแผลร้อนในได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อประสาท
อ่านแล้วนำไปใช้ให้ถูกวิธีและเกิดประโยชน์กันนะครับ
โฆษณา