12 พ.ค. 2021 เวลา 09:30 • สุขภาพ
ไฟเซอร์ vs แอสตราเซเนกา วัดประสิทธิภาพบนสังเวียนเดียวกัน
• การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ตัวเลขทั้งหมดมาจากการทดลอง ‘วัคซีนยี่ห้อนั้น’ เปรียบเทียบกลุ่มควบคุม หรือ ‘วัคซีนหลอก’ ในสถานที่ และช่วงเวลาต่างกัน จึงเป็นข้อจำกัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันโดยตรง
• ตัวเลขที่มักถูกหยิบมาอ้างอิงคือ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่วัคซีนแอสตราเซนากามีประสิทธิภาพประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ใช่การเปรียบเทียบภายใต้บริบทเดียวกันทั้งหมด
• ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกาเคยทำการทดลองภายใต้สถานที่และบริบทเดียวกันทั้งหมด 3 ครั้ง
“วัคซีนยี่ห้อนี้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด” ก่อนหน้านี้เรามักจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ว่ายี่ห้อนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่ายี่ห้อนั้น ส่วนยี่ห้อนู้นมีประสิทธิภาพต่ำ (เลยอยากรอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า) แต่ตัวเลขทั้งหมดมาจากการทดลอง ‘วัคซีนยี่ห้อนั้น’ เปรียบเทียบกลุ่มควบคุมหรือ ‘วัคซีนหลอก’ ในสถานที่ และช่วงเวลาต่างกัน เช่น
• วัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ทดลองในสหรัฐฯ เป็นหลัก (กรกฎาคม-พฤศจิกายน 2020) และอิสราเอล (ธันวาคม 2020 - กุมภาพันธ์ 2021)
• วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ทดลองในสหราชอาณาจักร และบราซิล (เมษายน-พฤศจิกายน 2020)
• วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ทดลองในสหรัฐฯ ลาตินอเมริกา และประเทศแอฟริกาใต้ (กันยายน 2020 - มกราคม 2021)
จึงเป็นข้อจำกัดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันโดยตรง เพราะบริบทการระบาด และรูปแบบการทดลองไม่เหมือนกัน
1
โดยเฉพาะสายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาดอยู่ในขณะนั้น มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการทางสังคม กลุ่มประชากรที่ศึกษา และระยะเวลาที่ติดตามอาสาสมัคร (ปกติการทดลองในระยะที่ 3 จะติดตามผลอย่างน้อย 2 ปี ทั้งหมดจึงเป็นผลเบื้องต้น)
ถ้าถามว่ามีผลการศึกษาระหว่าง ‘วัคซีนไฟเซอร์’ กับ ‘วัคซีนแอสตราเซเนกา’ ในสถานที่ และช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ หรือถ้าเปรียบเทียบเป็นนักมวย ทั้งคู่ต่างเป็นแชมป์ของแต่ละสนาม
วัคซีนไฟเซอร์มีประวัติการชกชนะ 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่วัคซีนแอสตราเซนากามีประวัติการชกชนะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
แต่เคยมีไฟต์ที่ทั้งคู่เคยขึ้นชกเวทีเดียวกันไหม
คำตอบคือ ‘มี’
ยกที่ 1: การศึกษาในสกอตแลนด์
การศึกษานี้มีชื่อว่า ‘Interim findings from first-dose mass COVID-19 vaccination roll-out and COVID-19 hospital admissions in Scotland: a national prospective cohort study’ ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2021 ถ้าอ่านจากชื่อจะเห็นภาพว่าเป็นผลการศึกษาเบื้องต้น (interim) ของวัคซีนเข็มแรก (first-dose)
ช่วงระยะเวลาที่ศึกษาคือ 8 ธันวาคม 2020 - 22 กุมภาพันธ์ 2021 มีประชากรที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด 1,331,993 คน
(ถือว่าเยอะมาก เพราะเป็นการทดลองในระยะที่ 4 คือการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในโลกของความเป็นจริง ถ้าเทียบกับการทดลองในระยะที่ 3 จะมีผู้ได้รับวัคซีนหลักหมื่นคน) อายุเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับวัคซีนคือ 65 ปี (กลุ่มผู้สูงอายุ) พบว่า
ประสิทธิผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล หลังได้รับวัคซีนประมาณ 1 เดือน ของทั้ง 2 ยี่ห้อใกล้เคียงกัน โดย
1
• วัคซีนไฟเซอร์ 91 เปอร์เซ็นต์ (85–94 เปอร์เซ็นต์)
• วัคซีนแอสตราเซเนกา 88 เปอร์เซ็นต์ (75-94 เปอร์เซ็นต์)
ตัวเลขในวงเล็บคือช่วงความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ (95 เปอร์เซ็นต์ CI) เป็นการอนุมานทางสถิติจากกลุ่มตัวอย่างว่าช่วงดังกล่าวจะครอบคลุมค่าจริงของประชากร ด้วยความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสังเกตว่าช่วงตัวเลขของทั้ง 2 ยี่ห้อซ้อนทับกันอยู่
ยกที่ 2: การศึกษาในสหราชอาณาจักร
การศึกษาต่อมาคือ ‘Vaccine side-effects and SARS-CoV-2 infection after vaccination in users of the COVID Symptom Study app in the UK: a prospective observational study’ ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2021 จากชื่อจะเป็นการติดตามผลหลังการฉีดวัคซีนโดยใช้แอปพลิเคชัน (‘หมอพร้อม’ น่าจะเหมือนกัน)
ช่วงระยะเวลาที่ศึกษาคือ 8 ธันวาคม 2020 - 10 มีนาคม 2021 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด 627,383 คน ส่วนใหญ่ยังได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม แบ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 282,103 คน
และวัคซีนแอสตราเซเนากา 345,280 คน เก็บข้อมูลอาการข้างเคียงหลังจากได้รับวัคซีน และศึกษาอัตราการติดเชื้อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่า
วัคซีนไฟเซอร์พบอาการข้างเคียงที่บริเวณที่ฉีดมากกว่าวัคซีนแอสตราเซเนกา 71.9 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 58.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาการข้างเคียงทางระบบต่างๆ เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วัคซีนไฟเซอร์พบน้อยกว่า 13.5 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 33.7 เปอร์เซ็นต์ แต่วัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 จะมีพบอาการทางระบบต่างๆ มากขึ้น 22.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกายังไม่มีข้อมูลเข็มที่ 2
สำหรับประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ใกล้เคียงกัน โดย
• วัคซีนไฟเซอร์ 69 เปอร์เซ็นต์ (66-72 เปอร์เซ็นต์)
• วัคซีนแอสตราเซเนกา 60 เปอร์เซ็นต์ (49-68 เปอร์เซ็นต์)
ต้องหมายเหตุว่า การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์หลักในการติดตามอาการข้างเคียง ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นวัตถุประสงค์รอง ตัวเลขจากการศึกษานี้มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่าการศึกษาที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้า
เพราะวิธีการศึกษาให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนรายงานอาการและผลการตรวจหาเชื้อเอง ต่างจากการศึกษาปกติที่จะต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐาน
• ยกที่ 3: อีกการศึกษาในอังกฤษ
ยกสุดท้ายที่จะนำมาเปรียบเทียบกันคือ ‘Impact of vaccination on household transmission of SARS-COV-2 in England’ ศึกษาสัดส่วนการติดเชื้อในครัวเรือน (household) จากผู้ติดเชื้อที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว การศึกษานี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ผู้วิจัยนำผลการศึกษามาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Knowledge Hub ก่อน
ช่วงระยะเวลาที่ศึกษาคือ 4 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2021 (จำนวนผู้ป่วยของการระบาดระลอก 2 ในอังกฤษถึงจุดสูงสุดช่วงปลายปี 2020) ในครัวเรือนขนาด 2-10 คนทั้งหมด ประมาณ 550,000 ครัวเรือน พบว่า สัดส่วนการแพร่เชื้อต่อให้กับคนในครัวเรือนของทั้ง 2 ยี่ห้อลดลงถึงครึ่งหนึ่ง (ลดลง ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์) โดย
• ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 6.3 เปอร์เซ็นต์
• ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 5.7 เปอร์เซ็นต์
เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน 10.1 เปอร์เซ็นต์
ตัวเลขสัดส่วนการติดเชื้อยิ่งต่ำยิ่งดี สำหรับผู้ที่สนใจตัวเลขสถิติ
โอกาสในการแพร่เชื้อของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เท่ากับ 0.51 เท่า (0.44-0.59) และวัคซีนแอสตราเซเนกาเท่ากับ 0.53 เท่า (0.43-0.63) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน เมื่อวิเคราะห์โดยการควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้ว จึงถือว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
• สายตาของกรรมการ
ครบ 3 ยกแล้ว (ไทยไฟต์แข่งกันแค่ 3 ยก) ทุกท่านสามารถเป็นกรรมการในไฟต์นี้ได้ว่าจะตัดสินให้ใครชนะ สำหรับผมขอยกมือให้กับทั้งคู่ เพราะชกได้สูสีกันมาก
แต่อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าการทดลองในระยะที่ 3 ต้องติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนต่อจนครบ 2 ปี ในระหว่างนี้ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนก็อาจลดลงตามระยะเวลา
ส่วนไวรัสก็มีการกลายพันธุ์ และอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นได้ จนแต่ละยี่ห้อก็น่าจะผลิตวัคซีนเข็มที่ 3 ออกมาในปีหน้าแล้วก็ได้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสและวัคซีนมีความก้าวหน้าตลอดเวลา
สำหรับผู้ที่ยังลังเลว่าจะ “รอวัคซีนไฟเซอร์” หรือ “ยังไม่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา” อยู่ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านตัดสินใจง่ายขึ้นครับ
อ้างอิง:
Interim findings from first-dose mass COVID-19 vaccination roll-out and COVID-19 hospital admissions in
Scotland: a national prospective cohort study
Vaccine side-effects and SARS-CoV-2 infection after vaccination in users of the COVID Symptom Study app in the
UK: a prospective observational study
Impact of vaccination on household transmission of SARS-COV-2 in England
ชนาธิป ไชยเหล็ก
นักเขียน
ชนาธิป ไชยเหล็ก
แพทย์ทั่วไป ทำงานที่รพ.ศูนย์และรพ.ชุมชน 3 ปี กำลังเรียนต่อด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) สวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน แต่ไม่ได้พกแอลกอฮอล์เจลเป็นประจำ
👇อ่านบทความเพิ่มเติม👇
โฆษณา