Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นานาสาระ by Dr. TC
•
ติดตาม
15 พ.ค. 2021 เวลา 08:40 • ท่องเที่ยว
เที่ยวชมพระราชวัง และป้อมปราการในเมือง ชัยปุระ นครสีชมพู แสนสวย ของอินเดีย
มาทัศนศึกษาที่อินเดีย ไปกราบสักการะ สังเวชนียสถาน และชมทัชมาฮาลแล้ว ต้องไปชม เมืองชัยปุระ (Jaipur) หรือนครสีชมพู (Pink City) แสนสวย อันโด่งดังของอินเดีย และเป็นเมืองยอดฮิตสำหรับการท่องเที่ยวอินเดีย เพราะค่อนข้างเป็นเมืองสมัยใหม่ ผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย จึงจะครบเครื่อง
พวกเราในคณะเดินทางนี้จึงไปเที่ยวชมกันอย่างสนุกสนาน และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอินเดียไปพร้อมกันเลยค่ะ
เครดิตภาพ: Pexels
ชัยปุระ (Jaipur)
ชัยปุระ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นเมืองหลวงของรัฐราชาสถาน ก่อตั้งเมื่อ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1727 โดยมหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2" เจ้าครองนครอาเมร์ (Amer) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชปุตราชวงศ์กาญจวาหา (Kachchwaha) ซึ่งปกครองระหว่างปี ค.ศ. 1699 - 1744
ท่านปกครองที่เมืองหลวงชื่อว่า "อาเมร์" (Amber) ตั้งอยู่ห่างจากชัยปุระเป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยเหตุผลในการย้ายเมืองหลวงนั้นเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตามมาด้วยการขาดแคลนแหล่งน้ำที่รุนแรงมากขึ้น
พระองค์ได้ทรงศึกษาตำราสถาปัตยกรรมมากมาย พร้อมทั้งที่ปรึกษาต่างๆก่อนจะทำผังเมืองของชัยปุระ ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของสถาปนิกคนสำคัญคือ "วิทยาธร ภัตตาจารย์" (Vidyadhar Bhattacharya) ปราชญ์วรรณะพราหมณ์จากเบงกอล
ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าสถาปนิกของมหาราชา ซึ่งช่วยวางแผนและออกแบบอาคารต่างๆ รวมถึงพระราชวังหลวงใจกลางเมือง พร้อมทั้งกำแพงเมืองอย่างหนาแน่นที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามกับจักรวรรดิมราฐา
การสร้างเมืองเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 1727 ใช้เวลาการสร้างกว่า 4 ปี ในการสร้างพระราชวัง ถนน และจัตุรัสต่างๆ โดยการสร้างเมืองนี้ อิงจากหลักในตำราศิลปศาสตร์ (Shilpa Shastra) ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมของอินเดีย
โดยแบ่งผังเมืองออกเป็น 9 ส่วน เท่าๆกัน อย่างตารางหมากรุก โดยสองส่วนเป็นที่ตั้งของพระราชวังต่างๆ และสถานที่ราชการต่างๆ
ส่วนที่เหลืออีก 7 ส่วนนั้นสำหรับประชาชนทั่วไป รอบเมืองถูกล้อมด้วยปราการอย่างแน่นหนา โดยเข้าออกผ่านทางประตูเมือง ทั้ง 7 แห่งโดยรอบ
ในปี ค.ศ. 1876 ในรัชสมัยของมหาราชาสวาอี ราม ซิงห์ (Sawai Ram Singh) ได้มีพระบัญชาให้ทาสีอาคารบ้านเรือนต่างๆในเมืองเป็นสีชมพู เพื่อเป็นการต้อนรับ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ที่เสด็จเยือน ชัยปุระ อย่างเป็นทางการ
และต่อมารัฐบาลอินเดียก็ได้ออกกฎหมายควบคุมสิ่งก่อสร้างภายในเขตกำแพงเมืองเก่าให้คงสภาพเดิม รวมถึงรักษาสีชมพูแบบเดิมไว้ จนชัยปุระได้กลายเป็น “Pink City” ที่แม้จะไม่ชมพูหวานใส แต่เป็นสีชมพูอมส้มแสนสวยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเดินทางมาเยือน
โดยในปี ค.ศ. 2008 ได้มีการสำรวจโดย Conde Nast Traveller ซึ่งชัยปุระได้ติดอันดับที่เจ็ดของเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในเอเชีย
พระราชวังแห่งสายลม เครดิตภาพ: Dr. TC
เมืองชัยปุระ มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่หลายแห่งด้วยกัน สำหรับแลนด์มาร์กของที่นี่ และเป็นที่แรกซึ่งผู้เขียนและคณะได้ไปเที่ยวชม คือ “พระราชวังแห่งสายลม” (Palace of Wind) หรือ “ฮาวา มาฮาล” (Hawa Mahal) ซึ่งเป็นหนึ่งในตำหนักสำคัญของซิตี้พาเลส
เป็นอาคาร 5 ชั้น สถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียกับโมกุล อาคารสีชมพูอมส้มที่สวยงามนี้ มีความโดดเด่น คือมีช่องหน้าต่างเล็กๆ มากถึง 953 บาน ดูคล้ายรังผึ้ง ซึ่งถอดแบบมาจากรูปทรงมงกุฎของพระกฤษณะ
ช่องหน้าต่างเหล่านี้ประดับด้วยกระจกสี และลวดลายฉลุอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นทั้งช่องลมผ่านและเพื่อให้สตรีในราชสำนักสามารถมองออกมาดูวิถีชีวิตผู้คนภายนอกได้ โดยที่คนด้านนอกจะมองไม่เห็นภายใน จนเป็นที่มาของชื่อว่า "พระราชวังแห่งสายลม" ในอดีตที่นี่จะถูกใช้เป็น Summer Palace ในช่วงฤดูร้อนของมหาราชาองค์ต่างๆด้วย
สถานที่ต่อไปที่เราจะเข้าไปชมกัน "พระราชวังหลวง" หรือ City Palace
พระที่นั่งจันทรา มาฮาล ในพระราชวังหลวง เครดิตภาพ: Dr. TC
พระที่นั่งมูบารัก มาฮาล ในพระราชวังหลวง เครดิตภาพ: Dr. TC
พระราชวังซิตี้พาเลส
เป็นพระราชวังซึ่งเป็นที่ประทับของมหาราชาแห่งชัยปุระ เป็นที่ตั้งของหมู่พระที่นั่งสำคัญๆ ได้แก่ "พระที่นั่งจันทรา มาฮาล" และ "พระที่นั่งมูบารัก มาฮาล" สร้างขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1729 - 1732 ในรัชสมัยของ มหาราชาวัย จัย ซิงห์ ที่ 2
1
จากนั้นต่อมาก็ได้รับการดูแลต่อเติมโดยมหาราชาของชัยปุระในรัชการต่อๆมา ที่สำคัญตอนเริ่มก่อสร้างพระราชวัง ยังอยู่ในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐราชสถานแล้ว สถาปัตยกรรมจึงมีการออกแบบอย่างผสมผสานระหว่างแบบราชปุต กับโมกุล
นอกจากนี้การออกแบบพื้นที่ใช้สอยอาคารอย่างลงตัว ไม่แน่นทึบ และมีทางเดินกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความน่าสนใจแห่งหนึ่งจากพระราชวังแห่งนี้ จุดเด่นอยู่ที่ตัวอาคารสีชมพูสวยงาม และจิตรกรรมฝาผนังสุดอลังการ
ใครที่ชอบชมงานแกะสลัก งานตกแต่งด้วยแก้วสีสันต่างๆ จะต้องเพลิดเพลินไปกับการเที่ยวชมพระราชวังแห่งนี้แน่นอน โดยปัจจุบันพระราชวังซิตี้พาเลสได้เปิดให้เข้าชมเป็น พิพิธภัณฑ์ สวัย มาน ซิงห์ (Sawai Man Singh Museum)
ประตูนกยูง เครดิตภาพ: Dr. TC
ผู้เขียนและคณะ ได้เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ สวัย มาน ซิงห์ ซึ่งเป็นที่รวบรวมสมบัติของพระราชวงศ์ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ชุดศึกสงคราม ภาพวาด และภาพถ่ายเก่าแก่ ซึ่งบริเวณนี้ห้ามถ่ายภาพค่ะ
เราได้ออกมาชมอาคารโถงขนาดใหญ่ซึ่งใช้เป็นสถานที่ว่าราชการหรือที่ทำงาน และออกมายังลานนกยูง ซึ่งเป็นลานกว้างสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และชมการแสดงของมหาราชาในอดีต
รอบๆ ลานจะมีประตูอยู่ 4 บาน ที่มีลวดลายที่แตกต่างกัน งดงามมาก และยังเป็นสัญลักษณ์แทนฤดูกาลทั้ง 4 คือ ประตูนกยูง (ฤดูฝน) [ตามรูปบน] ประตูดอกบัว (ฤดูร้อน) ประตูลายดอกไม้ (ฤดูหนาว) และประตูลายใบไม้ (ฤดูใบไม้ผลิ) ต้องขอบอกว่า ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสมาเยือน อย่าลืมถ่ายภาพสวยๆไว้เป็นที่ระลึกด้วยนะคะ
สถานที่ต่อไปที่คณะเราได้ไปเยือน คือ ป้อมอาเมร์ (Amer Fort) หรือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) เนื่องจาก ป้อมอาเมร์นี้ตั้งอยู่บนภูเขาสูง คณะเราจึงใช้รถจิ๊ปขึ้นไปชมกันค่ะ
เครดิตภาพ: Dr. TC
ป้อมอาเมร์ เครดิตภาพ: Dr. TC
ป้อมอาเมร์ (Amer Fort) หรือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort)
ตั้งอยู่ที่เมืองอาเมร์ ชานเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย (เป็นเมืองเล็กๆที่มีขนาดเพียง 4 ตารางกิโลเมตร (1.5 ตารางไมล์)) ห่างจากชัยปุระเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) ป้อมอาเมร์นั้น เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชัยปุระ โดยที่ตั้งนั้นโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบ
สร้างโดยมหาราชา มาน ซิงห์ที่ 1 ป้อมปราการแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งผสมผสานกันระหว่างศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ สามารถมองเห็นได้จากระยะทางไกลเนื่องจากมีขนาดกำแพงปราการที่ใหญ่และแน่นหนา พร้อมประตูทางเข้าหลายแห่ง ถนนที่ปูด้วยหินหลายสาย ซึ่งเมื่ออยู่บนป้อมแล้วสามารถมองเห็น ทะเลสาบเมาตา ได้อย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้า
ความสวยงามของบรรยากาศของป้อมอาเมร์นั้น ซ่อนอยู่ภายในกำแพงเมือง ซึ่งแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ชั้น (แต่ละชั้นคั่นด้วยทางเดินกว้าง) โดยภายในเป็น หมู่พระที่นั่ง ซึ่งสร้างจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน
พระราชวังในป้อมอาเมร์ เครดิตภาพ: Dr. TC
หมู่พระที่นั่งภายในป้อมอาเมร์ประกอบด้วย "ดิวัน-อิ-อัม" หรือท้องพระโรง, "ดิวัน-อิ-กัส" หรือท้องพระโรงส่วนพระองค์, "ชีชมาฮาล" (พระตำหนักซึ่งเป็นห้องทรงประดับกระจกสำหรับมหาราชา) และ "จัย มานดีร์" ซึ่งเป็นตำหนักอยู่บนชั้นสอง, "อารัม บักห์" ซึ่งเป็นสวนสวยจัดเป็นรูปดาวแฉกแบบโมกุลคั่นกลางระหว่างอาคาร และ "สุกห์นิวาส" ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ใช้การปรับอากาศภายในพระตำหนักให้เย็นลงด้วยการทำให้ลมเป่าผ่านรางน้ำตกที่มีอยู่โดยรอบภายในพระตำหนัก ทำให้ภายในตำหนักนี้มีอากาศเย็นอยู่เสมอ
จากลักษณะโดยรวมอันสวยงามของบริเวณภายในป้อม จึงนิยมเรียกป้อมแห่งนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "พระราชวังอาเมร์" พระราชวังในป้อมอาเมร์นี้ เคยเป็นที่ประทับของราชปุต มหาราชา และพระราชวงศ์ของอาเมร์ในอดีต
นอกจากนี้บริเวณประตูทางเข้าพระราชวังใกล้กับ ประตูกาเนช (Ganesh Gate "ประตูพระคเณศ") เป็นที่ตั้งของวัดชิลาเทวี (Sila Devi) ซึ่งภายในมีศาลบูชาพระแม่ทุรคา ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม ซึ่งมหาราชา มาน ซิงห์ ทรงเคารพบูชาอย่างสูง เนื่องจากพระองค์ได้ทรงพระสุบินถึงพระแม่ทุรคา ทูลให้ทราบว่าพระองค์จะชนะสงคราม กับ มหาราชาแห่งเบงกอล ในปีค.ศ. 1604
ป้อมอาเมร์ และป้อมจัยการห์ ทั้งสองนั้นตั้งอยู่บนเขา "ชีลกาทีลา" (เขาแห่งอินทรี) อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาอะราวัลลี ทั้งสองป้อมนี้ถือว่าเป็นสถานที่เดียวกัน เนื่องจากสามารถเดินทางหากันได้โดยทางเชื่อมใต้ดิน ซึ่งใช้เป็นทางหลบหนีสำหรับเชื้อพระวงศ์ในกรณีที่ป้อมอาเมร์นั้นถูกยึดครอง
พระราชวังแห่งสุดท้ายสำหรับการทัศนศึกษาในการเยือน ชัยปุระ ครั้งนี้ คือ พระราชวังกลางน้ำ จาล มาฮาล (Jal Mahal)
พระราชวังกลางน้ำ จาล มาฮาล เครดิตภาพ: Dr. TC
จาล มาฮาล
เป็นพระราชวังกลางน้ำ ซึ่งตั้งเด่นสง่าอยู่กลางทะเลสาบมันสกา (Man Sagar) ใกล้กับชัยปุระ โดยพระราชวังแห่งนี้และทิวทัศน์ของทะเลสาบโดยรอบถูกต่อเติมและปรับปรุงโดยมหาราชา สวัย จัย ซิงห์ที่ 2
ตัวพระราชวังนั้นสร้างได้อย่างสวยงามตามสถาปัตยกรรมราชปุต และโมกุล ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งก่อสร้างในรัฐราชสถาน โดยพระราชวังนี้นั้นมีความสวยงาม เนื่องจาก สถานที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบและโดยมีเทือกเขานหาร์การห์ ตั้งอยู่เบื้องหลัง
ตัวอาคารสร้างโดยใช้หินทรายสีแดง ประกอบด้วยทั้งหมด 5 ชั้นซึ่ง 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงสุด โดยเหลือเพียงชั้นบนสุดซึ่งจะเผยขึ้นมาเหนือน้ำ ฉัตรีซึ่งเป็นยอดหลังคาทรงสี่เหลี่ยมนั้นสร้างในแบบสถาปัตยกรรมเบงกอล
ส่วนฉัตรีบริเวณสี่มุมของอาคารนั้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม เนื่องจาก ตั้งอยู่ในน้ำเป็นเวลาอันยาวนาน ทำให้ฐานของพระราชวังนั้นเริ่มทรุดโทรมลงเนื่องจากกระแสน้ำและน้ำท่วม โดยล่าสุดได้มีโครงการร่วมฯเพื่อทำการบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยรัฐบาลรัฐราชสถาน
จะเห็นได้ว่า เมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย เป็นเมืองท่องเที่ยวอันสวยงาม อลังการจริงๆค่ะ มีทั้งพระมหาราชวังต่างๆ ป้อมปราการ เราได้เรียนรู้สถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าศึกษา นอกจากเป็นดินแดนพุทธภูมิก็ว่าได้
อ้างอิง:
1.
https://th.wikipedia.org/wiki/ชัยปุระ
2.
https://mgronline.com/travel/detail/9630000001645
3.
https://th.wikipedia.org/wiki/ป้อมอาเมร์
4.
https://th.wikipedia.org/wiki/ชลมหัล
1 บันทึก
11
6
14
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เยือนอินเดีย กราบสังเวชนียสถาน ชมพระราชวัง ป้อมปราการ แสนสวย
1
11
6
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย