Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The MemoLife
•
ติดตาม
14 พ.ค. 2021 เวลา 09:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The Imitation Game ทำไม 'อลัน ทัวริง' ถึงถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากร?
.
The Imitation Game ภาพยนตร์ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง โดยอิงจากประวัตินักคณิตศาสตร์ชื่อดังของโลกอย่าง 'อลัน ทัวริง' (Alan Turing) บุคคลผู้มีส่วนช่วยในการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2
.
**บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์**
.
ตัวภาพยนตร์จะใช้ตัวละคร 'อลัน ทัวริง' เป็นคนดำเนินเรื่อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ตอนที่อลันยังเป็นเด็ก ช่วงสงคราม และช่วงหลังจบสงคราม เนื่องจากภายในภาพยนตร์มีการเล่าแบบสลับช่วงเวลาไปมา ทางแอดมินจึงขอเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายมากขึ้น
.
สมัยที่อลันยังอยู่ในวัยเรียนเขาถูกเพื่อนแกล้งเป็นประจำ เพราะนิสัยของเขาค่อนข้างแปลกและแตกต่างไปจากคนอื่น มีเพียงคนเดียวที่ยอมเป็นเพื่อนและคอยช่วยเหลือเขา นั่นคือ 'คริสโตเฟอร์' เพื่อนคนนี้ได้ทำให้อลันหันมาสนใจเกี่ยวกับการถอดรหัส และการแก้ปริศนาอักษรไขว้ต่าง ๆ อลันมีความรู้สึกบางอย่างต่อคริสโตเฟอร์ แต่โชคร้ายที่ในวันเปิดภาคเรียนถัดมา เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขาก็ได้เสียชีวิตลงเพราะวัณโรค
.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อลัน ทัวริงเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาได้เข้าไปสมัครงานในโครงการลับของรัฐบาลเพราะรู้มาว่าทางกองทัพกำลังหาวิธีแกะรหัส 'เครื่องอีนิกม่า' (Enigma Machine) ที่ฝั่งนาซีเยอรมันใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารหลักในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงวางแผนก่อสงคราม
.
1
ข้อมูลทุกอย่าง เช่น การวางแผนรบ การบุกจู่โจม จะถูกส่งผ่านทางข้อความวิทยุเป็นภาษาที่ไม่มีความหมาย แม้ว่าทางอังกฤษ หรือหลาย ๆ ประเทศจะสามารถดักฟังข้อความได้ แต่ก็ต้องนำไปเข้าเครื่องถอดรหัสอีนิกม่าเพื่อแปลเสียก่อน จึงจะรู้เนื้อหาที่แท้จริง
.
ซึ่งการจะใช้เครื่องถอดรหัสนี้ได้ แค่มีตัวเครื่องอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นจะต้องรู้วิธีการตั้งค่าเครื่องก่อน ทว่าฝ่ายเยอรมันก็มีวิธีรับมือที่รัดกุม โดยเปลี่ยนการตั้งค่าเครื่องทุกเที่ยงคืน ในอังกฤษการดักฟังข้อความจะทำได้ในเวลา 6 โมงเช้าของทุกวัน นั่นเท่ากับว่าเรามีเวลาในการถอดรหัสแค่วันละ 18 ชั่วโมงเท่านั้น หากเกินเวลา ระบบก็จะถูกตั้งค่าใหม่
.
ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างของเครื่องอีนิกม่า คือ สามารถตั้งค่าเครื่องได้ถึง 159 ล้านล้านล้าน รูปแบบ ถ้าจะอธิบายวิธีการแกะรหัสให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ เราต้องแกะรหัสไปทีละแบบ และหากใช้คน 10 คน ตรวจการตั้งเครื่องนาทีละแบบ ตลอด 24 ชั่วโมง จะต้องใช้เวลาถึง '20 ล้านปี' เพื่อยับยั้งการโจมตีเพียง 'ครั้งเดียว'
.
อลัน ทัวริง ไม่เห็นด้วยกับวิธีที่คนในทีมใช้ เขามองว่ามนุษย์ไม่สามารถเอาชนะเครื่องจักรได้ ดังนั้นอลันจึงตั้งใจจะสร้างเครื่องจักรอีกเครื่องขึ้นมาต่อกรกับอีนิกม่าโดยเฉพาะ เขาสามารถยื่นเรื่องจนขอเงินทุนสร้างเครื่องจักรได้ และตั้งชื่อให้ว่า 'คริสโตเฟอร์' ตามชื่อเพื่อนสนิทของเขา นอกจากนี้ยังมี 'โจน คลาร์ก' ผู้เปรียบเหมือนนางเอกของเรื่องเข้ามามีส่วนช่วยในทีมด้วย
.
ทว่าเครื่องจักรคริสโตเฟอร์ที่อลันสร้าง กลับใช้เวลาในการประมวลผลนานเกินไป จึงต้องปรับและพัฒนาหลายต่อหลายครั้ง และเขาก็ได้รู้ว่ามีข้อความบางอย่างอยู่ในข้อมูลซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญในการตั้งค่าเครื่องถอดรหัส ด้วยความช่วยเหลือกันของเพื่อนร่วมทีม ในที่สุดเครื่องจักรคริสโตเฟอร์ก็ถอดวิธีการตั้งค่าของเครื่องอีนิกม่าได้สำเร็จ
.
อลัน ทัวริง ได้ช่วยเหลือรัฐบาลรับมือการก่อสงครามอย่างลับ ๆ ด้วยข้อความจากนาซีที่เขาถอดความหมายมาได้ สงครามจบลงด้วยชัยชนะของฝั่งอังกฤษ และฝ่ายสัมพันธมิตร ทางรัฐบาลสั่งให้อลันและคนในทีมของเขาเผาทำลายทุกอย่าง รวมถึงเก็บเรื่องที่เขาสร้างเครื่องถอดรหัสนี้เป็นความลับ
.
หลังสงครามจบลง อลันก็ถูกจับด้วยข้อหาอนาจารเพราะเขาเป็นชายรักร่วมเพศ หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี เขาก็เสียชีวิตลง
.
แม้ว่าภายในภาพยนตร์จะเพิ่มเนื้อหาเพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ประวัติดั้งเดิมของอลัน ทัวริงตัวจริงก็ไม่ค่อยแตกต่างไปจากนี้มากนัก เขาเกิดและเติบโตในประเทศอังกฤษ ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ นับได้ว่าเป็นอัจฉริยะในหลาย ๆ ด้าน เขาเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์, นักตรรกศาสตร์, นักรหัสวิทยาและวีรบุรุษในสงคราม
.
โดยเครื่องถอดรหัสที่เขาสร้างเพื่อใช้แกะข้อความจากเครื่องอีนิกม่ามีชื่อจริง ๆ ว่า 'Bombe' ซึ่งมีต้นแบบมาจากเครื่องของประเทศโปแลนด์ และเขายังตั้งใจไว้ว่าเครื่องที่ตนสร้างจะต้องเป็นเครื่องจักรที่สามารถคิดและตัดสินใจเองได้
.
มีการประเมินว่า การถอดรหัสอีนิกม่า ช่วยย่นระยะเวลาในการทำสงครามให้สั้นลงกว่า 2 ปี ถือเป็นการช่วยชีวิตผู้คนถึง 14 ล้านคน ซึ่งผลลัพธ์เช่นนี้ อลัน ทัวริงควรจะได้รับการสรรเสริญ แต่น่าเศร้าที่รัฐบาลกลับเลือกปกปิดโครงการลับนี้เป็นเวลาเกือบ 50 ปี
.
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากจบสงครามเขาก็ถูกจับกุมด้วยข้อหารักร่วมเพศ ซึ่งผิดกฎหมายอังกฤษสมัยนั้น ศาลให้เขาเลือกว่าจะยอมติดคุก หรือใช้วิธีบำบัดโดยฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อลดความต้องการทางเพศ อลันเลือกที่จะฉีดฮอร์โมน เพื่อที่จะไม่ต้องติดคุก
.
หลังบำบัดด้วยฮอร์โมน 1 ปี ตามคำสั่งรัฐบาล อลัน ทัวริง ก็ได้เสียชีวิต ในวันที่ 7 มิถุนา 1954 ด้วยวัย 41 ปี ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นการฆ่าตัวตาย จากการพบสารพิษไซยาไนด์อยู่บนผลแอปเปิ้ลที่เขากินเข้าไป
.
และถึงสาเหตุการตายจะยังคลุมเครือ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่การฆ่าตัวตายก็ดูมีความเป็นไปได้มากที่สุด ฮอร์โมนที่เขาต้องฉีดเพื่อรักษาความผิดปกติตามคำสั่งรัฐบาล อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อจิตใจของอลันก็ได้
.
ตัวจริง
การเสียชีวิตของอลัน ทัวริงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก ทั้งที่เขาควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษที่ช่วยยุติสงคราม เป็นนักคิดค้นอัจฉริยะ แต่เขากลับถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นอาชญากรเพียงเพราะเป็นชายรักร่วมเพศ ซึ่งในปี 2013 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้พระราชทานอภัยโทษย้อนหลังให้อลัน ทัวริง เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของเขา
.
งานของอลัน ทัวริง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า 'เครื่องจักรทัวริง' (Turing Machine) เรื่อยมา ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกันดีในชื่อ 'คอมพิวเตอร์'
.
ตัวภาพยนตร์ให้แง่คิดและชวนให้ตั้งคำถามผ่านทางการออกแบบตัวละครอลัน ทัวริง หนึ่งสิ่งที่เขาสนใจคือเรื่องการทำความเข้าใจในจิตใจของมนุษย์ "ทำไมเราถึงไม่พูดคุยกันตรง ๆ แต่พูดอ้อมค้อมไปมา แล้วหวังให้คนอื่นเข้าใจความหมายที่แท้จริงของเรา?"
.
และอีกเรื่องที่น่าขบคิดไม่แพ้กันคือเรื่องความร้ายแรงของพวกรักร่วมเพศ แม้ว่าในปัจจุบันสังคมจะเปิดกว้าง แต่คำพูดเช่นนี้ก็ยังมีอยู่ "จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดีก็พอ" คำถามคือทำไมพวกเขาถึงต้องถูกตั้งเงื่อนไข ทั้งที่เป็นมนุษย์ไม่แตกต่างจากเรา?
.
สิ่งต่อมาที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องทำก็คือ 'การพิสูจน์' พิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนที่ทำให้ครอบครัวภูมิใจได้ พิสูจน์ว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จ ไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีหรือว่าในท้ายที่สุด ความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ใช่สิ่งที่คนบางกลุ่มยอมรับดังที่ปากว่า?
โดย แอดมินมาย
References :
ภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Alan_Turing
http://www0.tint.or.th/nkc/nkc53/content/nstkc53-029.html
https://www.scimath.org/lesson-mathematics/item/7347-enigma
#TheImitationGame #AlanTuring #movie #Entertainment #TheMemoLife
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย