13 พ.ค. 2021 เวลา 00:21 • ข่าว
ถ้าวันนึงคุณถูกโจรปล้นและไล่ออกจากบ้านคุณจะรู้สึกอย่างไร?
A demonstrator holds a Palestinian flag in front of Israeli forces during a protest against Israel's plan to annex parts of the occupied West Bank, near Tulkarm June 5, 2020 [Mohamad Torokman/Reuters]
นี่คือคำถามที่จะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของชาวปาเลสไตน์ได้ง่ายขึ้นครับ
ก่อนปี 1917 ปาเลสไตน์เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมัน แต่หลังออตโตมันพ่ายสงครามโลกปาเลสไตน์ก็ตกเป็นดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ ณ เวลานั้นดินแดนแห่งนี้มีชาวอาหรับท้องถิ่นคิดเป็นสัดส่วนประชากรสูงถึง 94% ขณะที่ชาวยิวนั้นมีเพียง 6%
ระหว่างปี 1918-1947 อังกฤษได้อำนวยความสะดวกให้ชาวยิวจากหลายพื้นที่แต่ส่วนมากจากยุโรปอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในปาเลสไตน์ทำให้จำนวนประชากรยิวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 33%
ปี 1947 ก่อนการประกาศตั้งรัฐอิสราเอล สหประชาชาติซึ่งได้รับมอบดินแดนปาเลสไตน์จากอังกฤษมีแผนจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน โดย 55% ของดินแดนปาเลสไตน์ในอดีตจะตกเป็นของรัฐยิว และ 45% ที่เหลือจะเป็นของชาวอาหรับโดยที่ดินแดนทั้งสองส่วนนั้นมีพื้นที่ของรัฐยิวคั่นอยู่ ส่วนเยรูซาเล็มนั้นจะตกอยู่ใต้การดูแลของนานาชาติ
ปาเลสไตน์ไม่ยอมรับข้อเสนอนี้เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมาก ณ ตอนนั้นพวกเขาครอบครองพื้นที่ 94% ของปาเลสไตน์ในอดีตและมีสัดส่วนประชากรสูงถึง 67% ทว่าสุดท้ายแผนก็ไม่ทันได้ปรับใช้ แถมอิสราเอลยังบุกยึดเยรูซาเล็มตะวันตกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐยิวเสียอีก
14 พ.ค. 1948 เริ่มต้นสงครามอาหรับครั้งแรก กองทัพยิวไซออนสิต์ได้ขับไล่ชาวปาเลสไตน์เจ้าของดินแดนออกจากบ้านเรือนของพวกเขาราว 750,000 คน และยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ได้ทั้งสิ้น 78% ของดินแดนปาเลสไตน์ในอดีต
Palestinians, carrying possessions on their heads, flee from an village in Galilee (1948) / Getty Images.
สงครามดำเนินไปจนเดือนมกราคม 1949 จนมีการทำข้อตกลงสงบศึกระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับซึ่งมีอียิปต์ เลบานอน จอร์แดนและซีเรีย ส่งผลให้เกิดการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน Green Line ขึ้นมาเพื่อยอมรับอาณาเขตของอิสราเอล เวสต์แบงก์และกาซ่า
ทว่าสงครามในปี 1967 ก็ทำให้พื้นที่ของปาเลสไตน์ภายใต้ Green Line นั้นกลายเป็นดินแดนภายใต้การยึดครองของอิสราเอลทั้งหมด ใช่แต่เพียงเท่านั้น ดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์ยังถูกยึดครองโดยอิสราเอลด้วยเช่นกัน
ความพ่ายแพ้ของชาติอาหรับในสงครามหกวัน ทำให้ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนอีกราว 300,000 คน
ปี 1993-1995 เกิดข้อตกลงออสโลขึ้น มีการแบ่งเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองออกเป็น 3 ส่วน และมีจัดตั้งคณะผู้บริหารปาเลสไตน์ (PA) เพื่อดูแลกิจการภายในและกิจการพลเรือน ยกเว้นความมั่นคง
Area A เริ่มต้นมีพื้นที่ประมาณ 3% และค่อย ๆ ขยายเป็น 18% ในปี 1999 พื้นที่นี้ส่วนมาก PA ดูแล
Area B มีพื้นที่ราว 22% PA ดูแลเรื่องการศึกษา สาธารณสุขและเศรษฐกิจ แต่ความมั่นคงเป็นอำนาจของอิสราเอล 100% หมายความว่าพวกเขาจะบุกเข้ามาในพื้นที่เมื่อไหร่ก็ได้
Area C มีพื้นที่ราว 60% ความจริงแล้วพื้นที่นี้ต้องถูกส่งมอบให้ PA ตามข้อตกลงออสโล ทว่าอิสราเอลกลับควบคุมพื้นที่นี้อย่างเบ็ดเสร็จรวมถึงการวางผังเมืองและการก่อสร้าง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ส่งมอบอำนาจให้ PA
ตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ดินแดนภายใต้การยึดครองนั้นต้องส่งมอบคืนแก่เจ้าของ ผู้ยึดครองไม่สามารถนำคนของตัวเองเข้ามาตั้งถิ่นฐานได้ แต่อิสราเอลก็มิได้สนใจกฎหมายเหล่านี้อยู่แล้ว (ตั้งแต่แผนของยูเอ็น ไล่มาจนถึงออสโล คนเบี้ยวคืออิสราเอลตลอด)
หนำซ้ำในปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังออกแถลงการณ์สวนทางกับจุดยืนของผู้นำคนก่อน ๆ โดยระบุว่าหลังจากมีการพิจารณาข้อกฎหมายอย่างรอบด้านแล้วเราได้ข้อสรุปว่า "การตั้งถิ่นฐานชาวยิวในปาเลสไตน์นั้นไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมายระหว่างประเทศ"
มีชาวยิวอพยพเข้ามาตั้งรกรากอย่างผิดกฎหมายในดินแดนที่ถูกยึดครองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันมีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวราว 600,000-750,000 คน ในนิคมชาวยิวที่ก่อตั้งอย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศรวม 250 แห่ง
เยรูซาเล็มตะวันตกนั้นถูกอิสราเอลฮุบไปก่อนที่แผนแบ่งพื้นที่ของสหประชาชาติจะบังคับใช้ ทำให้พื้นที่นี้มีประชากรส่วนมากเป็นชาวยิว ขณะที่ฝั่งตะวันออกนั้นประชากรส่วนมากเป็นชาวปาเลสไตน์อันหมายถึงชาวอาหรับทั้งคริสต์และมุสลิม
หลังชนะสงครามหกวันในปี 1967 อิสราเอลก็ยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออก ก่อนจะผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลในปี 1980 แม้นานาชาติจะไม่ยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ แต่ก็เหมือนเดิมครับ อิสราเอลมิได้สนใจอยู่แล้ว ผู้นำอิสราเอลเคยประกาศหลายครั้งว่าเยรูซาเล็มเป็นเหมือนหลวงที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของอิสราเอล หมายถึงต้องไม่มีฝั่งตะวันตกและตะวันออก ต้องเหลือเพียงเยรูซาเล็มเท่านั้น และอิสราเอลก็ไม่ได้ระบุในแผนที่ว่าเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นส่วนนึ่งของดินแดนเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองด้วย
ที่สำคัญกระบวนการเปลี่ยนสัดส่วนประชากรในเยรูซาเล็มตะวันออกอย่างทำอย่างมีระบบ ทั้งการไม่ออกใบอนุญาตแก่ชาวปาเลสไตน์ในการก่อสร้าง การออกคำสั่งรื้อทำลายบ้านเรือนชาวปาเลสไตน์ การอนุมัติก่อสร้างนิคมชาวยิวเพิ่มเติม และการออกคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่และจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวยิวอันเป็นชนวนเหตุของความรุนแรงครั้งล่าสุดในขณะนี้
28 ม.ค. 2020 โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนสันติภาพตะวันออกกลางฉบับใหม่ของเขาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่กินเวลามานานกว่า 7 ทศวรรษโดยเรียกมันว่า "ข้อตกลงแห่งศตวรรษ"
ส่วนหนึ่งของแผนฉบับนี้จะอนุญาตให้อิสราเอลควบรวมดินแดนจำนวนมากในเวสต์แบงก์ หมายความว่าจากที่เคยเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองที่ต้องรอการส่งคืนเจ้าของนั้น หากแผนของทรัมป์ถูกนำไปใช้จริงเวสต์แบงก์ส่วนที่ถูกผนวกนี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลและจะทำให้ชาวปาเลสไตน์เหลือดินแดนเพียง 15% ของปาเลสไตน์ในอดีต ขณะที่อิสราเอลจะได้ครอบครองดินแดน 85%
จากวันนั้นถึงวันนี้ ชาวปาเลสไตน์ไม่ได้สูญเสียเพียงดินแดน เลือดเนื้อ ศักดิ์ศรี เกียรติยศเท่านั้น แต่อนาคตที่จะได้มีรัฐอธิปไตยของตนเองก็ยังคงริบหรี่ ตราบใดที่อิสราเอลยังคงบิดพริ้วต่อสัญญา ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างอาจหาญภายใต้การหนุนหลังของชาติมหาอำนาจ ขณะที่สหประชาชาติก็เป็นเพียงเสือกระดาษที่ได้แค่ออกแถลงการณ์ประณามหรือมติที่ไม่เคยถูกนำไปใช้
ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนหรืออย่างน้อยเพื่อปกป้องดินแดนที่เหลืออยู่ของพวกเขาเอาไว้ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา