13 พ.ค. 2021 เวลา 01:09 • สุขภาพ
Opinion ความจริงที่เราเห็นจากทั่วโลกตอนนี้ คือประเทศไหนที่ฉีดวัคซีนได้เยอะ ประเทศนั้นจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
4
ฮ่องกง กับสิงคโปร์ ที่ฉีดวัคซีนได้เยอะพอควรแล้ว เตรียมเปิดพรมแดนท่องเที่ยวแบบบับเบิ้ลระหว่างกัน ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ขณะที่ประเทศอังกฤษ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 41.2 ล้านโดส รัฐบาลปล่อยให้คนเข้าดูบอลในสนามได้แล้ว ในบางนัด
5
สำหรับประเทศไทย เรากำลังเข้าสู่กระบวนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว หลังจากฉีดให้บุคลากรการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้า และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปแล้ว เมื่อวานนี้ (1 พฤษภาคม) เป็นวันแรกที่กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ได้สิทธิ์จองคิวฉีด อย่างน้อยได้เห็นการเริ่มต้น ก็ถือเป็นเรื่องดี
3
อย่างไรก็ตาม กระแสที่อยู่ในโลกออนไลน์ตอนนี้ คือเรื่องความมั่นใจในตัววัคซีน เพราะประชาชนส่วนหนึ่ง “ไม่มั่นใจ” กับวัคซีนที่เรามีนัก และมีการนำไปเปรียบเทียบกับ Pfizer หรือ Moderna ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันติดเชื้อได้ถึง 95%
4
ในเคสของ AstraZeneca นั้นไม่เท่าไร โอเคว่า เคยมีข่าวเรื่องคนฉีดเกิดอาการข้างเคียง มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนล่าสุดประเทศเดนมาร์ก ประกาศยกเลิกการใช้วัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด แต่หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) รายงานว่า คนฉีด AstraZeneca 1 ล้านคน จะเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันแค่ 4 คนเท่านั้น
3
ขณะที่นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ย้ำอีกว่าจากสถิติแล้ว คนไทยและคนเอเชีย มีอาการลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าคนในประเทศยุโรป นั่นแปลว่าโอกาสเกิดผลข้างเคียงหนักๆ ก็น้อยลงไปอีก
5
ดังนั้นในภาพรวม AstraZeneca ถือว่าโอเค แต่วัคซีนที่คนจะกังวลใจกันมากกว่า คือ Sinovac จากจีน สาเหตุเพราะจนถึงวันนี้ Sinovac ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) นอกจากนั้น งานวิจัยที่ประเทศบราซิลระบุว่า วัคซีนยี่ห้อนี้ป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 50.4% เท่านั้น ซึ่งผ่านเกณฑ์มาแบบฉิวเฉียดมาก
2
ขณะที่ประเทศไทย คนที่ฉีด Sinovac ที่จังหวัดระยอง 6 ราย เกิดอาการคล้ายอัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ประสาทสัมผัสไม่รู้สึก แต่โชคดีที่ทั้ง 6 คน ถูกรักษาโดยปลอดภัย ไม่มีอาการถึงชีวิต ถึงตรงนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่อาการความเครียดจากการฉีดวัคซีน (ISRR)
4
เชื่อไหม คนไทยไม่ได้กลัวหรอก ในการฉีดวัคซีน ใครๆ ก็อยากฉีด เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยกันทั้งนั้น แต่ผู้คนกลัวมากกว่าที่จะไปโป๊ะแตกเจอ Sinovac จริงอยู่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดผลข้างเคียง แต่ถ้ามันแจ๊คพอตเกิดกับเรา หรือคนในครอบครัวพอดีล่ะ คงพูดอะไรไม่ออกเลยทีเดียว
7
หลายๆ ประเทศ เข้าใจถึงความวิตกกังวในจุดนี้ดี เพราะทุกคนก็ควรมีทางเลือกด้านสุขภาพให้ตัวเองบ้าง อย่างประเทศสิงคโปร์ คุณสามารถเลือกได้เลยว่าจะฉีด Pfizer หรือ Moderna มีการระบุชัดเจนว่า ถ้าอยากฉีดวัคซีนตัวไหน ต้องไปโรงพยาบาลไหน คือให้ประชาชนทำการบ้าน และเลือกวัคซีนที่ตัวเองสบายใจจะฉีด
7
แต่ก็มีหลายประเทศเช่นกัน ที่คุณเลือกไม่ได้ว่าจะได้รับวัคซีนตัวไหน อย่างที่อังกฤษ เป็นต้น แต่ที่อังกฤษ ก็ไม่ได้เกิดดราม่าอะไรขึ้น เพราะตัวเลือก 2 ชอยส์ของพวกเขา คือ Pfizer กับ AstraZeneca ซึ่งมีคุณภาพสูงทั้งคู่ จะยี่ห้อไหนก็ดีเหมือนกัน แต่ลองคิดดูว่า ถ้ามี Sinovac มารวมด้วย ก็คงมีดราม่าไม่ต่างกับที่ไทยตอนนี้
5
ความโกรธเกรี้ยวของคนไทย คือ ในเมื่อมีผู้ผลิตวัคซีนมากมายขนาดนั้น และราคาก็ไม่ได้แพงกว่า Sinovac สักเท่าไหร่เลย ทำไมเราถึงต้องเลือกยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าแบรนด์อื่นในตลาดด้วยล่ะ
14
แน่นอนความกังวล และความโกรธเกรี้ยวเรื่องหาวัคซีนคุณภาพสูงสุดไม่ได้ยังมีอยู่ แต่นั่นคือการบ้านของรัฐบาล ที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนหายกังวล แล้วเดินหน้าฉีดวัคซีน 2 ยี่ห้อที่เรามีอย่างมั่นใจ
4
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเอาไว้ ตั้งใจจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 50 ล้านคนในประเทศ ภายในสิ้นปี 2564 นี้ นั่นหมายความว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างเร่งด่วนว่า “ฉีดดีกว่าไม่ฉีด” เป็นสิ่งจำเป็นมาก
1
และผู้เขียนขออนุญาตเสนอแนะไอเดียบางอย่างที่ภาครัฐ อาจนำไปใช้การได้จริง ในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้
1) เปิดอ็อปชั่นให้เลือกวัคซีนได้
ไม่เป็นไรถ้ารัฐบาลมั่นใจใน Sinovac แต่มันย่อมดีกว่าแน่นอน ถ้าประชาชนมีสิทธิ์ในร่างกายตัวเอง สามารถเลือกวัคซีนที่อยากฉีดได้ เราทำโมเดลเดียวกับสิงคโปร์เลย ใครใคร่ฉีด Sinovac ก็ฉีด ใครไม่อยากฉีดก็ไปเลือก AstraZeneca
7
ถ้าคนที่ยอมรับประสิทธิภาพของ Sinovac ก็ฉีดได้เลย ไม่ใช่ว่าไปหน้างานแล้วมารู้อีกทีว่าได้วัคซีนที่ตัวเองไม่ต้องการ การโดนบังคับจะทำให้แรงต่อต้าน และความหวาดวิตก ของประชาชนที่มีต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นด้วย แล้วอย่างแพทย์หรือพยาบาล ต่อให้อยู่ในช่วงอายุ 18-59 ปี ก็ให้เขาฉีดวัคซีนคุณภาพสูงกว่าอย่าง AstraZeneca ไปเถอะ ความสบายใจของคนทำงานด่านหน้า ถือว่ามีความสำคัญมาก อย่าไปบังคับกันให้เขาต้องฉีดวัคซีนที่เขาไม่ต้องการ ถ้าแพทย์เกิดอาการข้างเคียงอะไรขึ้นมา เราก็จะเสียคนทำงานไปอีก คือถึงตรงนี้ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบังคับเรื่องยี่ห้อกัน จริงๆ เรื่องนี้ง่ายมากเลย ถ้าใครอยากได้ภูมิคุ้มกันเร็ว ก็เลือก Sinovac ไว้ก่อนได้ แต่ถ้าคุณเลือกจะเอา AstraZeneca ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า แต่ความต้องการสูงกว่า ก็ต้องรอหน่อยแค่นั้นเอง มีทางเลือกอะไรให้ชีวิตบ้าง อย่าไปบังคับกันขนาดนั้นเลย
3
2) ปรับปรุงแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” อย่าให้พลาดอีก
1
เมื่อวานนี้ ผมเป็นอีกหนึ่งคนที่จองคิวการฉีดวัคซีนให้คุณพ่อคุณแม่ ที่อายุเกิน 60 ปี ผมเข้าระบบ Line Official ของหมอพร้อม ตั้งแต่ 9 โมงเช้าตามกำหนดเวลา แต่ระบบแฮงค์ ไม่สามารถจองคิวได้ พยายามทำอีกหลายชั่วโมงก็ไม่ติด กว่าจะจองได้สำเร็จ ก็เป็นช่วง 17.00 น. ในทวิตเตอร์ก็มีคนแซวกันใหญ่ว่า “หมอไม่พร้อม”
5
มองในแง่ดี เมื่อวานนี้ มีคนลงทะเบียนไม่เยอะ เพราะเป็นประชากรกลุ่มอายุเกิน 60 ปี มันจึงเหมือนเป็นการเทสต์ระบบ เพราะวันที่จะลงทะเบียนกันอย่างดุเดือดจริงๆ คือวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งประชาชนทั่วไป จะจองคิวกันเต็มรูปแบบ ถ้าหากระบบล่มในวันนั้น รับรองได้ว่าโกลาหลกันใหญ่แน่ ดังนั้นในช่วงเวลาอีกเกือบๆ 2 เดือน ภาครัฐ และกระทรวงดิจิทัลฯ มีเวลานานมาก ที่จะวางระบบเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด ไม่ให้แฮงค์เหมือนเมื่อวานอีก ถ้าวันที่ 1 กรกฎาคม ระบบลงทะเบียนยังใช้การราบรื่นไม่ได้ อันนี้ไม่มีข้อแก้ตัวแล้ว
3
3) พาสื่อมวลชน ชมโรงงานผลิต AstraZeneca
2
AstraZeneca จะถูกผลิตที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ประกาศแล้วว่าวัคซีนที่ผลิตในไทย ได้คุณภาพทัดเทียมกับที่ผลิตในประเทศอิตาลี อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลมองให้รอบด้านหน่อย ควรประสานงานกับสยามไบโอไซเอนซ์ แล้วนำสื่อมวลชนไปดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงงานการผลิตเลย ว่ามีระบบที่ได้มาตรฐานขนาดไหน ไลน์การผลิตเป็นอย่างไร น่าเชื่อจริงๆใช่ไหม ไม่ใช่โรงงานไก่กา นี่เป็นกลยุทธ์สร้างความรู้สึกบวกให้วัคซีนมากยิ่งขึ้น
4
ตัวอย่างเช่น บริษัท Pfizer พวกเขามีแชนแนลยูทูบของตัวเอง โดย Pfizer ลงคลิปจะจะให้ตั้งแต่ในห้องแล็บเลยว่า ทำงานกันอย่างไร ทดลองกันถึงไหน ประชาชนที่สหรัฐฯ ได้เห็นความคืบหน้าเรื่อยๆ มันค่อยๆสร้างความมั่นใจว่า วัคซีน มีที่มาที่ไป น่าเชื่อถือ พอถึงวันที่วัคซีนผลิตเสร็จ คนก็กล้าไปฉีดกัน
8
ปัจจุบันกับสยามไบโอเซนส์ ประชาชนไม่รู้เลยสักนิด ว่าโรงงานเป็นอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหน ครั้นจะไปหาคลิปดู ในยูทูบแชนแนลของสยามไบโอไซเอนส์ อัพเดทครั้งสุดท้ายก็เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ดังนั้นก็ไม่เลวนัก ถ้ารัฐบาลจะเรียกความมั่นใจของประชาชนด้วยการเปิดโรงงานหรือห้องแล็บ AstraZeneca ให้เห็นกันไปเลย ว่าคุณมั่นใจได้แน่นอน
4
จริงอยู่ AstraZeneca ชื่อนี้มีมาตรฐานที่โอเคอยู่แล้ว แต่มันก็จะดียิ่งขึ้นถ้าสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในทุกๆทาง ในยุคนี้คนเชื่อสิ่งที่เห็น มากกว่าสิ่งที่บอกเล่าโดยไม่ได้เห็นด้วยตานะ
3
4) อธิบายแมสเซจหลักให้ชัดๆ ว่าฉีด ดีกว่าไม่ฉีด
2 วัคซีนที่ไทยมีอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่วัคซีนที่ดีที่สุดในโลก ในแง่การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ เราต้องยอมรับความจริงข้อนั้น อย่างไรก็ตามข้อดีของ Sinovac และ AstraZeneca คือถ้าฉีดแล้วจะช่วยลดความรุนแรงของโรคอย่างเห็นผลมาก กล่าวคือต่อให้ติดเชื้อ แต่ก็จะไม่เกิดอาการหนัก ไม่ถึงกับชีวิต
1
นพ.สุทธิชัย วิสุทธิชัยกิจ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ในทางการแพทย์ สิ่งที่ต้องการมากที่สุด และเป็นประเด็นหลักในการฉีดวัคซีน คือป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิต ลดความรุนแรงของโรค และลดการนอนโรงพยาบาล ซึ่งจากการศึกษาทดลองในคนหลักหมื่นคน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด แต่ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกิดจากตัวโรค”
3
จากคำอธิบายของ นพ.สุทธิชัย หมายความว่า การฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยลดความแรงของไวรัสลง งานวิจัยที่บราซิลบอกว่า คนฉีดวัคซีน Sinovac จากตัวอย่างทั้งหมด 100% ไม่มีใครได้รับการเจ็บป่วยในระดับ “รุนแรง” จากโควิด-19 สักคนเดียว
4
ดังนั้น การฉีดวัคซีนไป แม้เราจะยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่ แต่เราจะไม่เพิ่มภาระให้แพทย์และพยาบาล ปล่อยให้เขาดูแลคนที่วิกฤติจริงๆ ดังนั้นกับวัคซีน แม้จะไม่ใช่ตัวท็อปที่สุดที่มี แต่ก็ยังมีประโยชน์กับร่างกายเรา และมีผลดีกว่าการไม่ฉีดแน่ๆ
1
นี่คือแมสเซจที่รัฐบาล ต้องกระจายให้ประชาชนเข้าใจมากกว่านี้ ผู้คนจะได้รู้ว่า โอเค มันไม่ใช่วัคซีนอันดับหนึ่งในโลก แต่ก็ไม่เสียหายถ้าจะฉีดมันเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง อย่างน้อยมันก็ป้องกันเราไม่ให้มีอาการหนัก หรือเสียชีวิตได้ละกัน
3
5) ใช้สื่อทั้งรุก และรับ
การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนนั้น กลยุทธ์ใช้ “มีเดีย” เป็นวิธีที่ดี ขั้นแรกเลย คนในภาครัฐเอง อย่างรัฐมนตรี หรือส.ส. ที่ไปฉีด Sinovac มาแล้ว จะดีไหม ถ้ามาบอกเล่าแบบละเอียดว่า เมื่อฉีดแล้วเป็นอย่างไร มีผลข้างเคียงอะไรไหม บอกให้ประชาชนได้รู้ว่า ขนาดคนของรัฐไปฉีดมาแล้ว ก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ เราเองอาจไม่ต้องกลัวขนาดนั้น
1
หรืออย่างรัฐมนตรีที่หลบเลี่ยงไม่ยอมฉีดวัคซีน อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (55 ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไม่ฉีดโดยอ้างเหตุผลว่า “วางแผนจะมีบุตร จึงกลัวผลข้างเคียง ร่างกายของตัวเองก็แข็งแรงอยู่แล้ว ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงขอเป็นทางเลือกสุดท้าย” คือถ้าดูจากข่าวที่ต่างประเทศ ไม่เคยมีกรณีที่เพศชาย ที่อยากมีบุตร ต้องกังวลใจเรื่องการฉีดวัคซีนมาก่อน อย่างเคสของธรรมนัส ก็ทำให้ประชาชนคิดได้เหมือนกันว่า หรือจริงๆแล้ว ก็แค่กลัว ไม่อยากฉีดนั่นแหละ ถ้าร.อ.ธรรมนัสใช้โอกาสนี้ ฉีด Sinovac ให้ประชาชนเห็นกันจะจะไปเลย แล้วรีวิวหลังฉีดด้วย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจเรื่องวัคซีนตัวนี้ไปอีกทาง
นอกจากคนของรัฐเองแล้ว บรรดาเหล่า Influencer ทั้งหลาย รัฐลองไปดีลไว้ไหม คือตอนนี้ เสียงจากรัฐบาลคนไม่ฟัง เพราะไม่เชื่อ เขาจะเชื่อคนที่มีอิทธิพลทางความคิดมากกว่า ดังนั้นลองติดต่อกับพวกยูทูบเบอร์ หรือบล็อกเกอร์ ให้ทำ Vlog รีวิวหลังฉีดวัคซีนดูไหมว่าไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรรุนแรง ถ้าประชาชน เห็น Influencer ที่ตัวเองชอบปลอดภัย ก็จะเพิ่มความมั่นใจในตัววัคซีนไปด้วย ถ้ารัฐทำให้คนฟังไม่ได้ วิธีแก้คือ ไปหาคนอื่นที่พูดแล้วคนจะฟังแทนซะ
9
นอกจากใช้สื่อเกมรุกแล้ว เกมรับก็ต้องเป็นด้วย อย่างกรณีล่าสุดที่ ในโลกออนไลน์แชร์บทสนทนาของหมอคุยกันว่า “ถ้าฉีดแล้วเกิด Stroke มี Hemiparesis เกิด Morbidity มึงอาจเป็นหมอไม่ได้ตลอดชีวิต ก็จะยิ่งเสียใจมากเช่นกัน” อย่างเคสนี้ คนอยากรู้นะ ว่าจริงๆ วัคซีนมันอันตรายขนาดนั้นหรือเปล่า ถ้าจริงก็ยอมรับว่าจริง หรือถ้าไม่จริงก็ปฏิเสธอย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจะได้รู้แบบเคลียร์ๆ ไม่ใช่ให้ทุกอย่างคลุมเครือกันแบบนี้
สื่อออนไลน์ ไม่ได้มีไว้ปกป้องรัฐบาล ไม่ได้มีไว้เป็นองครักษ์เพื่อโจมตีคนเห็นต่าง ประโยชน์ที่แท้จริงคือ เป็นเครื่องมือที่เอาไว้สร้างความเข้าใจให้คนทุกกลุ่ม ด้วยเหตุและผลต่างหากนะ
1
6) คนของรัฐต้องพูดให้ระวังที่สุด
คำพูดของคนจากหน่วยงานรัฐ ประชาชนจะรับฟังแล้วเอาไปขยายความต่อเสมอ ย้อนกลับไปวันที่ 11 มีนาคม นักข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่า จะฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อไหร่ พล.อ.ประวิตรตอบกลับมาว่า “ผมต้องบอกคุณด้วยหรือ ถ้าผมช็อกตายไปจะทำยังไง” คำพูดลักษณะนี้ ไม่สำคัญว่าพูดจริงหรือพูดเล่น แต่มันแสดงถึงความไม่มั่นใจในวัคซีนของคนจากรัฐบาลเอง แล้วแบบนี้ จะให้ประชาชนเชื่อมั่นไปด้วยได้ยังไง พล.อ.ประวิตรยังกลัวช็อกตายเลย แล้วจะไม่ให้ประชาชนกลัวช็อกตายด้วยหรอ
9
ในช่วงโควิด-19 ทุกอย่างจริงจัง และซีเรียสเสมอ คำพูดทุกคำที่หลุดออกจากภาครัฐ ผู้คนจะรับฟังและเชื่อตามนั้น ดังนั้นอะไรก็ตามที่รัฐพูดแล้วจะสร้างความปั่นป่วนอย่าทำ
นี่คือ 6 ข้อ ที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ และมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ หวังว่าจะมีค่าควรแก่การพิจารณาในบางอย่างครับ
1
สุดท้ายนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า “รัฐบาล และศบค. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้เร่งรัดการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ได้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 นี้”
คำกล่าวใดๆ ก็ตาม เมื่อคนระดับนายกฯ พูดออกไปแล้ว มันเหมือนคำสัญญาประชาคม พูดไปแล้วก็ต้องทำให้ได้ คำถามคือ มีโอกาสใกล้เคียงแค่ไหน ที่ประเทศไทยจะฉีดวัคซีนได้ถึง 100 ล้านโดสจริงๆ ณ เวลานี้ เราฉีดวัคซีนไปแล้วให้ประชาชน นับเลขกลมๆคือ 1.5 ล้านโดส แปลว่า เรายังขาดอีก 98.5 ล้านโดส ก็จะครบ 100 ล้าน ที่นายกฯ ประกาศเอาไว้นับจากวันนี้ (2 พฤษภาคม 2564) อีก 243 วันจะสิ้นปี ถ้าเพื่อเป้าหมาย 98.5 ล้านโดส เราต้องตะลุยฉีดให้ได้เฉลี่ยวันละ “405,000 โดส” ซึ่งมันเป็นตัวเลขที่เยอะมากจริงๆ
วัคซีนก็ต้องหามาให้ครบให้ได้ เช่นเดียวกับการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าวัคซีนปลอดภัย ก็ต้องทำไปพร้อมๆกัน แน่นอนมันไม่ใช่งานที่ง่าย แต่คนที่รับหน้าที่บริหารประเทศ คุณต้องทำให้ได้ เพราะมันมีเรื่องชีวิต และความเป็นความตายของประชาชนเป็นเดิมพัน
เอาจริงๆ เรื่อง 100 ล้านโดส ไม่รู้ว่านายกฯ มีความมั่นใจแค่ไหนว่าไทยจะทำได้ แต่อยากให้ย้ำเตือนใจไว้ว่า ในเมื่อเราสอนเด็กๆเสมอว่า “คำพูดเมื่อพูดไปแล้ว มันคือนายเรา” ในฐานะผู้ใหญ่ เราก็ต้องทำให้ได้แบบนั้นด้วย เราต้องรับผิดชอบเสมอกับสิ่งที่พูดออกไป
1
ถ้าพูดแล้วก็ต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้อย่าพูดแต่แรก
โฆษณา