13 พ.ค. 2021 เวลา 03:54 • ครอบครัว & เด็ก
6 วิธีจัดการเด็กร้องไห้ เอาแต่ใจ โดย เพจ OT MENTOR #ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
มาดูกันว่าเราจะจัดการลูกน้อยอย่างไรให้อยู่มัด เมื่อเด็กๆร้องไห้อาละวาดกันค่ะ
1. พาลูกไปยังมุมสงบ : เมื่อลูกเริ่มร้องไห้เอาแต่ใจ เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ โมโห พ่อแม่ควรจัดการอารมณ์ตัวเองตั้งสติ ไม่โมโหหรือรุนแรงตามลูก พาลูกไปยังพื้นที่ปลอดภัย ให้ลูกค่อยๆระบายความโกรธออกมาจนสงบลงได้ด้วยตนเอง
2. เพิกเฉยต่อพฤติกรรมเอาแต่ใจ : เมื่อลูกอาละวาดเอาแต่ใจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ควรใช้การเพิกเฉยไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรมนั้น เพราะพฤติกรรมเอาแต่ใจหากได้รับการตอบสนอง ได้รับความสนใจ เด็กมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมมากขึ้นรุนแรงขึ้น จึงควรใช้การเพิกเฉยไม่สนใจ รอให้ลูกสงบก่อน
3. หนักแน่น ไม่ใจอ่อน : เมื่อลูกเริ่มเอาแต่ใจหนักขึ้น เช่น ร้องไห้มากขึ้น ลงไปดิ้นกับพื้น พ่อแม่อาจจะเริ่มหวั่นไหว ใจอ่อน สงสารลูกทำให้กลับมาตามใจลูก แต่การจะปรับพฤติกรรมเด็กได้นั้นต้องใช้ความอดทนและสม่ำเสมอ ดังนั้นพ่อแม่ควรอดทน และรอให้ลูกหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก่อนจึงค่อยหาทางออกร่วมกันกับลูก
4. กอดลูก หรือจับหยุดเมื่อทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น : เมื่อเด็กร้องไห้มาก ๆ แล้วไม่มีใครสนใจเด็กอาจจะเริ่มมีการทดลองใจพ่อแม่มากขึ้นด้วยการทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น เมื่อเกิดพฤติกรรมเหล่านี้ พ่อแม่ควรจับลูกหยุดทันที แล้วบอกลูกว่าทำไม่ได้ เช่น “หยุด ตีแม่ไม่ได้ แม่เจ็บ” เพราะพฤติกรรมเหล่านี้สร้างความเสียหาย ไม่ถูกต้องและยอมรับไม่ได้พ่อแม่ควรจับหยุดและสอนให้ลูกรู้ทันที
5. ฝึกให้ลูกสื่อสารความต้องการด้วยคำพูด : เมื่อลูกสงบพ่อแม่ควรหาทางออกร่วมกันกับลูก ว่าที่ต้องขัดใจเพราะอะไร สื่อสารด้วยเหตุและผลที่เข้าใจง่าย สอนให้ลูกบอกความต้องการด้วยวิธีสงบคือการพูดสื่อสารกันด้วยเหตุผล พ่อแม่จะไม่ตอบสนองหากลูกร้องไห้อาละวาด
6. ฝึกวินัย ฝึกการช่วยเหลือตนเองตามวัย : หลายครั้งที่เด็กร้องไห้เอาแต่ใจเพราะรอคอยไม่ได้ ต้องได้ดั่งใจทันที เนื่องจากไม่เคยฝึกการรอคอย หรือการช่วยเหลือตนเองเลย ดังนั้นพ่อแม่ควรส่งเสริมให้เกิดวินัยภายในบ้าน ฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย ลดการรู้ใจเปิดโอกาสให้ลูกฝึกการช่วยเหลือตนเองตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย
**การปรับพฤติกรรมต้องอาศัยเวลาและความอดทนค่ะ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ปรับพฤติกรรมด้วยวิธีที่แนะนำอย่างสม่ำเสมอหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ค่ะ
โฆษณา