13 พ.ค. 2021 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
หลักนิติธรรมของขงเบ้ง
ผู้อ่านวรรณกรรมสามก๊กย่อมไม่มีใครไม่รู้จัก จูกัดเหลียง (諸葛亮 จูเก๋อเลี่ยง) หรือ ขงเบ้ง (孔明 ข่งหมิง) อัครมหาเสนาบดี (丞相) แห่งอาณาจักรสู่ฮั่น (蜀漢) หรือจ๊กก๊ก ผู้ช่วยเหลือให้เล่าปี่ (劉備 หลิวเป้ย) สามารถตั้งตนเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดินจีนหนึ่งในสาม หลังเล่าปี่สิ้นชีพ ก็ได้อุปถัมภ์ค้ำชูเล่าเสี้ยน (劉禪 หลิวซ่าน) บริหารราชการแผ่นดินต่อมาจนวาระสุดท้าย
ภาพจำของขงเบ้งในวรรณกรรมสามก๊กคือยอดกุนซืออัจฉริยะผู้หยั่งรู้ดินฟ้า กลอุบายพลิกแพลงยากจะหาผู้ใดเปรียบได้ แต่ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ขงเบ้งได้รับการยกย่องในด้านการบริหารปกครองบ้านเมืองมากกว่าความสามารถทางการทหาร โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามแนวทางของสำนักนิตินิยม (法家)
ภาพประกอบ : จงอู่โหว จูกัดเหลียง อัครมหาเสนาบดีแห่งสู่ฮั่น (蜀漢丞相忠武侯諸葛亮)
ขงเบ้งนั้นมีบทบาททางกฎหมายตั้งแต่เล่าปี่สามารถขยายอำนาจแย่งชิงมณฑลอี้โจว (益州) หรือดินแดนสู่ (蜀) มาจากเล่าเจี้ยง (劉璋 หลิวจาง) โดยเป็นผู้บัญญัติประมวลกฎหมายสู่《蜀科》ร่วมกับ หวดเจ้ง (法正 ฝ่าเจิ้ง) ลิเงียม (李嚴 หลี่เหยียน) เล่าป๋า (劉巴 หลิวปา) และ อีเจี้ย (伊籍 อีจี้) สำหรับเป็นบรรทัดฐานทางการปกครอง
จดหมายเหตุสามก๊ก《三國志》ของเฉินโซ่ว (陳壽) สมัยต้นราชวงศ์จิ้น ได้วิจารณ์การปกครองด้วยกฎหมายของขงเบ้งว่า
“การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดแต่ชัดเจน ปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์อย่างเที่ยงธรรม ไม่มีคนชั่วไม่ได้รับโทษ ไม่มีคนดีที่ถูกละเลย เป็นเหตุให้ข้าราชการไร้ผู้ทุจริต ผู้คนล้วนยอมรับในความเข้มงวดของกฎหมาย ไม่มีผู้เก็บของที่ถูกทิ้งไว้ถนน ไม่มีผู้เข้มแข็งรังแกผู้อ่อนแอ ธรรมจริยาในยามนั้นควรสรรเสริญอย่างยิ่ง”
อีกตอนหนึ่งวิจารณ์ว่า
“เมื่อจูกัดเหลียงเป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐ ได้ทำนุบำรุงราษฎร แสดงจารีตประเพณีเป็นแบบอย่าง ควบคุมข้าราชการ ปกครองด้วยวิธีการอันเหมาะสมแก่เวลา เปิดเผยจริงใจตั้งอยู่ในธรรม ผู้จงรักภักดีมีความดีความชอบแม้เป็นศัตรูต้องได้รับการปูนบำเหน็จ ผู้ละเมิดกฎหมายละเลยหน้าที่แม้เป็นคนใกล้ชิดต้องถูกลงทัณฑ์ ผู้ยอมรับความผิดด้วยใจจริงแม้จะโทษหนักต้องได้รับการปลดปล่อย ผู้ฉ้อฉลหลบเลี่ยงความผิดแม้โทษเบาต้องถูกประหาร คุณความดีเล็กน้อยไม่อาจไม่ปูนบำเหน็จ ความชั่วร้ายเล็กน้อยไม่อาจไม่ประณาม ว่าราชการทั้งหลายอย่างถี่ถ้วนถึงรากฐาน ตั้งอยู่ในความรับผิดชอบโดยแท้ สุดท้ายแล้วทั่วทั้งดินแดนล้วนทั้งยำเกรงและรักใคร่ แม้ว่าปกครองโดยมีบทลงโทษรุนแรงกลับไร้ผู้ติเตียน เพราะใช้ความยุติธรรมและอบรมสอนสั่งอย่างปรีชา กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถทางการปกครองเสมอด้วย ก่วน เซียว* ”
*ก่วนจ้ง (管仲) อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉี (齊) ในสมัยชุนชิว เป็นผู้ปฏิรูปการปกครองของรัฐฉีให้กลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งที่สุด ช่วยเหลือให้เจ้ารัฐฉีหวนกง (齊桓公) ได้ขึ้นเป็นอธิราช (霸) เหนือเจ้านครรัฐอื่น
เซียวเหอ (蕭何) อัครมหาเสนาบดีคนแรกของราชวงศ์ฮั่น หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ช่วยเหลือฮั่นเกาจู่ (漢高祖) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นได้ขึ้นเป็นใหญ่
แม้เฉินโซ่วจะบันทึกว่าไม่มีผู้ติเตียนการบังคับใช้กฎหมายของขงเบ้ง แต่ก็มีบันทึกคำบอกเล่าของกัวชง (郭沖) สมัยต้นราชวงศ์จิ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเชิงอรรถของจดหมายเหตุสามก๊กประวัติขงเบ้ง อ้างว่ามีทั้งคนดีและคนชั่วที่ไม่พอใจการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หลังจากยึดครองอี้โจวได้ไม่นาน หวดเจ้งจึงกล่าวกับขงเบ้งว่า “เมื่อ(ฮั่น)เกาจู่เข้าด่าน ทรงใช้กฎหมายเพียงสามประการ (1. ฆ่าคนถูกประหาร 2. ทำร้ายคนถูกลงโทษ 3. ลักทรัพย์ถูกลงโทษ) ราษฎรฉินจึงรู้ถึงคุณธรรมของพระองค์ บัดนี้ท่านใช้อำนาจเต็มที่ไปทั่วทั้งมณฑล ทั้งที่เพิ่งยึดครองดินแดนได้ไม่นาน ยังไม่ได้สร้างพระคุณใด ยิ่งกว่านั้นเจ้าผู้ปกครองพึงมีคุณธรรม สมควรผ่อนปรนการปกครองลง ขอให้ละเว้นบทลงโทษผ่อนคลายข้อบังคับบ้าง เพื่อปลอบประโลมราษฎร”
ขงเบ้งตอบว่า “ท่านรู้เพียงหนึ่งไม่รู้สอง ฉินนั้นไม่ประพฤติอยู่ในธรรม ปกครองรุนแรง ราษฎรเจ็บแค้น สามัญชนร้องระงม แผ่นดินใต้ฟ้าพังทลาย ด้วยเหตุนี้เกาจู่จึงสามารถใช้วิธีการผ่อนคลาย เล่าเจี้ยงอ่อนแอมืดบอด นับแต่สมัยของเอี๋ยน (บิดาเล่าเจี้ยง) เข้ามาปกครองได้ใช้ความกรุณาพร่ำเพรื่อ ตัวบทกฎหมายหย่อนยาน ต่างคนล้วนประจบประแจง การปกครองด้วยคุณธรรมไม่ถูกปฏิบัติ การปูนบำเหน็จและการลงทัณฑ์ไม่ถูกยึดถือ ชาวสู่ผู้มีศักดิ์ลุอำนาจทำตามใจชอบ วิถีแห่งเจ้าเหนือหัวและข้ารับใช้เสื่อมทรามประดุจหลุมศพ ตั้งคนโปรดครองตำแหน่งพร่ำเพรื่อ ตำแหน่งสูงสุดจะถูกด้อยค่า ให้ความกรุณาพร่ำเพรื่อ ความกรุณาจะเสื่อมถอย ด้วยเหตุนี้นำมาสู่ความทุจริตฉ้อฉล เป็นจริงด้วยประการนี้ บัดนี้ข้าพึงให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เมื่อบังคับกฎหมายเป็นแบบอย่าง ย่อมทำให้ผู้คนตระหนักถึงความกรุณา เมื่อไม่ตั้งยศศักดิ์พร่ำเพื่อ ผู้คนย่อมตระหนักว่ายศศักดิ์นั้นเป็นเกียรติยศ เกียรติยศและกรุณาร่วมส่งเสริม ให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชารวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นหลักสำคัญในการปกครองที่ต้องยึดถือ”
.
ขงเบ้งยึดถือหลักการปูนบำเหน็จและการลงทัณฑ์ (賞罰) เป็นหลักสำคัญทางการปกครองอย่างเคร่งครัด และไม่เห็นด้วยการกับการใช้ความกรุณาอภัยโทษขนานใหญ่
เอกสารจื้อหนังเฉวียนจี๋《智囊全集》ได้บันทึกแนวคิดของขงเบ้งไว้ว่า “การปกครองพึงใช้คุณธรรมยิ่งใหญ่ ไม่อาจใช้ความกรุณาเล็กน้อย ดุจดังควางเหิง อู๋ฮั่น* ยืนยันหนักแน่นไม่เห็นด้วยกับการอภัยโทษ จักรพรรดิพระองค์ก่อน (เล่าปี่) รับสั่งว่า ‘เมื่อครั้งข้าได้สมาคมกับ เฉินหยวนฟาง เจิ้งคังเฉิง* ทุกครั้งที่ได้พบพวกท่านล้วนกล่าวว่า ความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยเป็นวิถีที่ควรยึดถือ ไม่เคยกล่าวถึงการอภัยโทษเลย’ แต่หลิวจิ่งเซิง (เล่าเปียว) พ่อลูกกลับอภัยโทษทุกปี จะเป็นประโยชน์ต่อการปกครองได้อย่างไร”
หลังจากขงเบ้งตายไปแล้ว เมื่อบิฮุย (費禕 เฟ่ยอี) ได้ขึ้นมาบริหารจ๊กก๊กแทน เริ่มผ่อนปรนระบบกฎหมายและให้มีการอภัยโทษมากขึ้น ทำให้สู่ฮั่นเสื่อมลง
* ควางเหิง (匡衡) เป็นอัครมหาเสนาบดีสมัยฮั่นหยวนตี้ (漢元帝) อู๋ฮั่น (吳漢) เป็นขุนนางคนสำคัญในสมัยฮั่นกวงอู่ตี้ (漢光武帝) ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นต้าซือหม่า (大司馬) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
** เฉินหยวนฟาง (陳元方) หรือ เฉินจี้ (陳纪) กับ เจิ้งคังเฉิง (鄭康成) หรือ เจิ้งเสวียน/เต้เหี้ยน (鄭玄) เป็นปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น
การบังคับใช้กฎหมายของขงเบ้งไม่ได้ใช้เฉพาะการปกครองบ้านเมือง แต่รวมถึงการบัญชาการกองทัพ คัมภีร์ว่าด้วยประศาสน์นโยบายสิบหกประการ《便宜十六策》ของขงเบ้ง ตอนการปูนบำเหน็จและการลงทัณฑ์ ระบุว่า
“อันวิถีแห่งการปูนบำเหน็จและการลงทัณฑ์ คือการปูนบำเหน็จคนดี ลงทัณฑ์คนเลว ปูนบำเหน็จเพื่อกระตุ้นให้สร้างความชอบ ลงทัณฑ์เพื่อยับยั้งความชั่ว การปูนบำเหน็จไม่อาจไม่เสมอภาค การลงทัณฑ์ไม่อาจไม่ยุติธรรม หากรู้หลักแห่งการปูนบำเหน็จ ย่อมทำให้ทหารหาญยอมพลีกายถวายชีวิต หากรู้หลักแห่งการลงทัณฑ์ ย่อมทำให้คนชั่วช้ายำเกรง ดังนั้นการปูนบำเหน็จไม่ควรทำโดยเลื่อนลอย การลงทัณฑ์ไม่ควรทำโดยไร้เหตุผล การปูนบำเหน็จโดยเลื่อนลอยจะทำให้ขุนนางผู้เหนื่อยยากตัดพ้อ การลงทัณฑ์โดยไร้เหตุผลจะทำให้ผู้สัตย์ซื่อเกลียดชัง”
ขงเบ้งยกตัวอย่างกรณี “น้ำแกงเนื้อแกะถ้วยเดียว” คือในสมัยชุนชิว เจ้ารัฐจงซานจัดงานเลี้ยงผู้มีชื่อเสียง ซือหม่าจื่อชี (司馬子期) ที่เข้ารวมงานเลี้ยงไม่ได้รับส่วนแบ่งน้ำแกงจึงเกิดความโกรธแค้น ชักนำเจ้ารัฐฉู่มาตีรัฐจงซานแตก เจ้ารัฐจงซานถอนใจกล่าวว่า “ข้าเสียบ้านเมืองเพราะน้ำแกงเนื้อแกะถ้วยเดียว” อีกกรณีหนึ่งกล่าวถึงอ๋องรัฐฉู่ที่หลงเชื่อคำยุยงให้ร้ายจนเป็นเหตุให้บ้านเมืองพินาศ
การปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์อย่างไม่เป็นธรรมจึงอาจทำให้ชาติล่มจมได้ และการปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์ไม่ได้เพียงแต่วางตัวบทกฎหมายแล้วบังคับใช้ หากแต่ระบบทางการเมืองและผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีคุณธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังที่ขงเบ้งกล่าวว่า
“แม่ทัพผู้ถืออาญาสิทธิ์กำหนดความเป็นความตาย ผู้ที่ควรให้อยู่กลับประหาร ผู้ที่ควรประหารกลับให้อยู่ โกรธเกรี้ยวอย่างไร้เหตุผล ปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์ไม่ชัดเจน ออกคำสั่งไม่สม่ำเสมอ เอาเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องส่วนรวม คือภยันตรายห้าประการของชาติบ้านเมือง
เมื่อปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์ไม่ชัดเจน คำสั่งจะไม่ได้รับการยึดถือ เมื่อผู้ที่ควรประหารกลับให้อยู่ เหล่าคนชั่วจะกำเริบเสิบสาน เมื่อผู้ที่ควรให้อยู่กลับประหาร ทหารจะระส่ำระสาย เมื่อโกรธเกรี้ยวอย่างไร้เหตุผล อำนาจบารมีจะเสื่อมสูญ เมื่อปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์ไม่ชัดเจน ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่อยากสร้างความชอบ เมื่อการปกครองไม่เหมาะสม อาญาสิทธิและกฎหมายจะไม่ถูกยึดถือ เมื่อเอาเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องส่วนรวม ผู้คนจะเอาใจออกห่าง ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจป้องกันคนชั่วได้ยืนยาว ทหารจะแตกกระจายเหลือกำลังน้อยนิด เมื่ออำนาจบารมีเสื่อมสูญ จะไม่อาจต้านทานข้าศึก เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาไม่อยากสร้างความชอบ ผู้บังคับบัญชาจึงไร้เสาหลักค้ำจุน เมื่ออาญาสิทธิและกฎหมายจะไม่ถูกยึดถือ สถานการณ์จะวุ่นวายไม่อาจสงบ เมื่อผู้คนเอาใจออกห่าง ชาติบ้านเมืองจะเป็นภัย
ดังนั้นพึงทำให้การปกครองปราศจากคนชั่ว ป้องกันความฟุ้งเฟ้อด้วยความประหยัด เลือกผู้ซื่อสัตย์รับผิดชอบงานตุลาการ เลือกผู้สุจริตรับผิดชอบการปูนบำเหน็จและการลงทัณฑ์ หากการปูนบำเหน็จและการลงทัณฑ์ไม่บิดเบี้ยว เมื่อนั้นผู้คนจะยินดีตายโดยไม่คัดค้าน แต่หากบนถนนยังมีผู้คนที่อดอยาก ในขณะที่คอกม้ามีแต่ม้าอ้วนพี กล่าวได้ว่าปล่อยราษฎรให้ล้มตายในขณะที่เอาตัวเองรอด ปล่อยให้ราษฎรยากแค้นในขณะที่ตนเองมั่งมี
ดังนั้นผู้เป็นใหญ่พึงอุปถัมภ์ค้ำชูก่อนแล้วจึงปูนบำเหน็จภายหลัง พึงมีอาญาสิทธิก่อนแล้วจึงลงทัณฑ์ภายหลัง เมื่อเป็นดังนี้ผู้คนจะเข้าหาชิดใกล้ จะรักใคร่และยำเกรง แม้ไม่ใช้อาญาสิทธิ์ผู้คนก็ยอมรับ หากปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์อย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นตงฉินจะตายโดยไร้ความผิด และกังฉินจะเป็นใหญ่โดยไร้ความชอบ การปูนบำเหน็จพึงไม่ยึดติดกับความอาฆาตพยาบาท เหตุนี้ฉีหวนจึงได้ก่วนจ้งเป็นกำลัง* การลงทัณฑ์พึงไม่ยึดถือความเป็นเครือญาติ เหตุนี้โจวกงจึงประหารอนุชาผู้มีชื่อ**
คัมภีร์ซูจิง《書》กล่าวว่า ‘ไม่ลำเอียง ไม่ฝักฝ่าย ราชธรรมย่อมไพศาล ไม่ฝักฝ่าย ไม่ลำเอียง ราชธรรมย่อมสถาพร’ ก็มีความหมายเช่นนี้”
* ในอดีตฉีหวนกงแย่งชิงตำแหน่งเจ้ารัฐฉีกับกงจื่อจิว (公子纠) พระเชษฐา ก่วนจ้งเป็นที่ปรึกษาของกงจื่อจิว เคยยิงธนูใส่ฉีหวนกงเพื่อขัดขวางไม่ให้กลับไปไครองรัฐฉีแต่พลาดไปโดนเข็มขัด เมื่อฉีหวนกงได้ครองรัฐฉี ได้ทำตามคำแนะนำของเปาซูหยา (鮑叔牙) ลืมความแค้นในอดีต แต่งตั้งก่วนจ้งเป็นอัครมหาเสนาบดี ก่วนจ้งจึงเป็นกลายบุคคลสำคัญผู้ช่วยฉีหวนกงปฏิรูปรัฐฉีให้ยิ่งใหญ่
** โจวกง (周公) เป็นรัฐบุรุษสมัยราชวงศ์โจว ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูโจวเฉิงหวัง (周成王) ผู้เป็นหลานบริหารปกครองแผ่นดิน พี่น้องของโจวกงคือ ก่วนซู (管叔) ไช่ซู ( 蔡叔) และ ฮั่วซู (霍叔) ได้ร่วมมือกับเชื้อพระวงศ์ซางกับชนเผ่าตงอี๋ (東夷) ไหฺวอี๋ (淮夷) ก่อกบฏ จึงถูกโจวกงปราบปรามและสำเร็จโทษทั้งหมด
.
ขงเบ้งยึดถือในหลักการดังกล่าว ในสงครามบุกเว่ย (วุย) ครั้งแรก ขงเบ้งมอบหมายให้ม้าเจ๊ก (馬謖 หม่าซุ่) ที่เป็นคนใกล้ชิดดูแลจุดยุทธศาสตร์สำคัญ แต่ม้าเจ๊กทำการผิดพลาดจนพ่ายแพ้ยับเยิน ทำให้สงครามบุกเหนือประสบความล้มเหลว ขงเบ้งจำต้องหลั่งน้ำตาประหารม้าเจ๊กเพื่อปลอบขวัญทหาร แล้วถวายฎีกาขอลดตำแหน่งตนเองลงสามขั้นเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
เจียวอ้วน (蔣琬 เจี๋ยงหว่าน) กล่าวกับขงเบ้งว่า “ในอดีตรัฐฉู่ประหารเต๋อเฉิน เหวินกงยินดีมาก ใต้ฟ้าไม่สงบกลับประหารผู้มีความสามารถ ไม่น่าเสียดายหรือ”
ขงเบ้งหลั่งน้ำตาตอบว่า “เหตุที่ซุนอู่ (ซุนจื่อ) สามารถพิชิตทั่วทั้งใต้ฟ้า เพราะบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดแจ้ง ในขณะที่หยางก้านละเมิดกฎหมาย เว่ยเจี้ยงประหารสารถี บัดนี้สี่ทะเลแตกแยก ทหารเพิ่งเริ่มเคลื่อนทัพ หากละเลยกฎหมายแล้ว ยังจะพูดถึงการปราบโจรแผ่นดินได้หรือ”
รูปปั้นจูกัดเหลียง ในศาลเจ้าอู่โหว เมืองเฉิงตู
หลักการของขงเบ้งถือว่าผู้กระทำผิดหากสำนึกผิดอย่างจริงใจก็มีโอกาสได้รับอภัยโทษ ดังนั้นจึงมีหลายคนที่ถูกลงโทษโดยขงเบ้ง มีความหวังว่าตนจะได้รับอภัยโทษในภายหลัง
ลิเงียม เป็นขุนนางผู้ใหญ่ของสู่ฮั่น ก่อนเล่าปี่จะสิ้นชีพได้ฝากฝังให้ร่วมกับขงเบ้งค้ำจุนเล่าเสี้ยน แต่ในสงครามบุกเว่ยครั้งที่สี่ ลิเงียมส่งเสบียงล่าช้าเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ลิเงียมจึงมีหนังสือให้ขงเบ้งยกทัพกลับมา การขาดเสบียงทำให้สงครามบุกเหนือไม่สำเร็จ แต่เมื่อขงเบ้งยกทัพกลับมาแล้ว ลิเงียมกลับถามว่าเสบียงเตรียมไว้พร้อมแล้วยกทัพมาทำไม และยังมีหนังสือไปถึงเล่าเสี้ยนแต่งเรื่องว่าขงเบ้งถอยมาเพื่อล่อข้าศึกเข้ามา เป็นการกล่าวโทษขงเบ้งเพื่อปกปิดความผิดตนเอง ขงเบ้งจึงเอาหนังสือที่ลิเงียมส่งมาให้ตนถวายเล่าเสี้ยน รวมถึงเขียนฎีกาฟ้องร้องความผิดของลิเงียม ทำให้ลิเงียมถูกถอดเป็นสามัญชนและถูกเนรเทศ ลิเงียมยังมีความหวังอยู่เสมอว่าขงเบ้งจะคืนตำแหน่งให้ตน แต่เมื่อขงเบ้งตายแล้ว ลิเงียมจึงคิดว่าคนที่ขึ้นมาแทนไม่มีวันอภัยโทษให้ จึงตรอมใจตายในเวลาต่อมา
เลี่ยวลี่ (廖立) เป็นคนหยิ่งผยองอวดอ้างว่าตนเองมีความสามารถและชื่อเสียงเป็นรองเพียงขงเบ้ง แต่เมื่อเล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์ กลับได้ตำแหน่งต่ำกว่าลิเงียมและคนอื่นๆ ทำให้รู้สึกไม่พอใจ นอกจากนี้ยังพูดจาดูหมิ่นดูแคลนขุนนางของสู่ฮั่นหลายคน รวมถึงตำหนิความล้มเหลวของเล่าปี่ เป็นการสร้างความแตกแยกภายใน จึงถูกขงเบ้งถวายฎีกาให้เล่าเสี้ยนลงโทษ เลี่ยวลี่ถูกถอดเป็นสามัญชนและถูกเนรเทศ เช่นเดียวกับลิเงียมคือยังคงมีความหวังว่าขงเบ้งจะให้อภัยตน เมื่อขงเบ้งตายแล้ว เลี่ยวลี่จึงร่ำไห้กล่าวว่า “ข้าต้องอยู่เป็นคนเถื่อนไปชั่วชีวิต”
จดหมายเหตุฮั่นจิ้นชุนชิว《漢晉春秋》ของ ซีจั้วฉื่อ (習鑿齒) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น วิจารณ์ว่า การลงทัณฑ์ของขงเบ้งนับแต่สมัยฉินและฮั่นเป็นต้นมาไม่มีผู้ใดเสมอ ในขณะเดียวกันเขาสามารถทำให้เลี่ยวลี่ร่ำไห้ ลิเงียมตรอมใจตายเพราะนึกถึงเขา และทั้งคู่ไม่กล่าวโทษขงเบ้งที่ลงโทษตนเลย
.
หยวนจื่อ (袁子) กล่าวว่า เพราะขงเบ้งบังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใส ปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์อย่างยุติธรรม ทำให้ทหารใต้บังคับบัญชาล้วนยอมพลีกายถวายชีวิต ยอมผจญอันตรายโดยไม่ถอยหนี จึงสามารถต่อสู้ข้าศึกได้
หลังจากขงเบ้งสิ้นชีพไปแล้ว ราษฎรชาวสู่ยังคงระลึกถึงขงเบ้งอยู่เสมอ เฉินโซ่วบันทึกว่า “เมื่อเขาสิ้นชีพในฤดูใบไม้ร่วง ผู้คนยังคงระลึกและกล่าวขานถึงอยู่เสมอ ตราบจนบัดนี้ราษฎรเหลียงโจว อี้โจว ยังคงยกย่อง(จูกัด)เหลียง คำพูดของเขายังคงกึกก้องอยู่ในหู แม้นลำนำของกานถังที่มีให้เซ่ากง บทเพลงชาวเจิ้งที่มีให้จื่อฉ่าน ก็ไม่อาจเทียบเท่า เมิ่งเคอ (เม่งจื๊อ) กล่าวว่า ‘ใช้งานราษฎรเพื่อประโยชน์แห่งราษฎร แม้เหนื่อยยากราษฎรก็ไม่คัดค้าน ประหารคนผิดเพื่อพิทักษ์ราษฎร แม้ตายคนผิดก็ไม่อาฆาต’ ก็เป็นดังนี้”
บรรณานุกรม
-《三國志·蜀書·諸葛亮傳》 陳壽著、裴松之注
-《三國志·蜀書·董劉馬陳董呂傳》 陳壽著、裴松之注
-《三國志·蜀書·劉彭廖李劉魏楊傳》陳壽著、裴松之注
-《便宜十六策》诸葛亮
-《智囊全集-上智-掌握大局-诸葛亮》冯梦龙著
-《漢晉春秋》習鑿齒
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข ตัดทอน ดัดแปลง คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ "แชร์ (share)" ในเฟซบุ๊กจากหน้าเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์โดยตรงที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา