13 พ.ค. 2021 เวลา 10:15 • หนังสือ
จิตรกรรมแผง (Panel Painting) หมายความถึงงานจิตรกรรมที่เขียนบนแผงไม้โดยอาจจะเป็นแผ่นเดียวหรือหลายแผ่นเชื่อมต่อกัน ลักษณะของงานจิตรกรรมประเภทนี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนภาพมาจนถึงราวๆ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ก่อนที่งานจิตรกรรมบนผ้าใบจะได้รับความนิยม (ถอดความจาก Wikipedia)
หนึ่งในงานจิตรกรรมแผงที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือ “Wenhaston Doom” ซึ่งเป็นภาพวาดแผงที่ถูกวาดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ภาพวาดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวันสุดท้ายของการพิพากษา (The Last Day of Judegment) ที่คริสตศาสนิกชนต่างเชื่อกันว่าในวันนั้น พระคริสต์จะเสด็จมาตัดสินบาปแก่มวลมนุษย์ และจำแนกว่าผู้ใดควรขึ้นสวรรค์ ผู้ใดบาปหนาควรลงนรก โดยงานศิลปะชิ้นนี้ถูกค้นพบ 40 ปีให้หลัง ระหว่างการบูรณะ และถูกปกปิดไว้ด้วยการทาสีขาวทับลงไปจนมองไม่เห็นภาพวาดที่อยู่ภายใน และรื้อไปทิ้งกองรวมกันไว้เพื่อเตรียมเผาทำลาย ทว่า คืนก่อนที่จะมีการค้นพบนั้น ฝนตกหนัก และฝนชะสีขาวที่ถูกทาทับไว้ออกจนหมด
ภาพวาดดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพของเหตุการณ์ในวันสุดท้ายของการพิพากษา เสียงแตรที่ดังกังวานและคนตายก็ลุกขึ้นจากหลุมศพของพวกเขา พระคริสต์ประทับบนสายรุ้งมองดูทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม่ของเขาและนักบุญยอห์น มานำสวดอ้อนวอนขอวิญญาณของคนตาย อย่างไรก็ตามการต่อสู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นระหว่างเซนต์ไมเคิลและปีศาจผู้มีหน้าที่ดูแลตาชั่งและชั่งน้ำหนักแต่ละวิญญาณกับบาปว่าส่วนใดหนักกว่า เซนต์ไมเคิลเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงที่มียศถากว่าวิญญาณอื่นๆ อย่างไรก็ตามพวกเขาจะเปลือยเปล่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าพระเจ้า ดังนั้นใครมีข้อแก้ตัวที่ดีกว่าก็ย่อมไปในเส้นทางที่ดี ทางด้านซ้ายวิญญาณจะเดินทางสู่สวรรค์ ในขณะที่ผู้ที่อยู่ทางขวาจะมุ่งหน้าไปยังนรก (ถอดความจาก suffolkchurches)
และขณะนี้ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมนี้จัดแสดงอยู่ที่โถงทางเดินทิศเหนือของโบสถ์ Wenhaston ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Blythburgh หมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่นัก ในเขตซัฟโฟล์กตะวันออกของมณฑลซัฟโฟล์ก ประเทศอังกฤษ
นิยาย “Wakenhyrst” (เวเคนเฮิร์สต์ ภาพพิพากษา) ของ Michelle Pever (ฉบับภาษาไทย แปลโดย อาริตา พงศ์ธรานนท์) เป็นนิยายโกธิคซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก “Wenhaston Doom” ผ่านเรื่องราวคดีฆาตกรรมวิปริตของเอ๊ดมันด์ สเติร์น นักประวัติศาสตร์ และคหบดีของเวเคนเฮิร์สต์ที่นำการค้นพบจิตรกรรมแผง “Wenhaston Doom” มาผสมผสานกับเรื่องแต่ง (fiction) ได้อย่างแยบยลราวกับเป็นเนื้อเดียวกัน
เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องแรงบันดาลใจที่งานศิลป์ชิ้นหนึ่งส่งต่อสู่งานศิลป์อีกชิ้นหนึ่งกันในรีวิวนิยาย “Wakenhyrst” (เวเคนเฮิร์สต์ ภาพพิพากษา) ของ Michelle Pever เร็วๆ นี้ครับ
ภาพประกอบ suffolkchurches
โฆษณา