ส่วนประกอบหลักของรถไฟฟ้าประกอบด้วย
1. “ชุดควบคุมไฟฟ้ากำลัง” (Power Control Unit หรือ PCU) ชุดควบคุมไฟฟ้ากำลังจะทำหน้าที่ปรับสภาวะของกระแสไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนของมอเตอร์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าชุดควบคุมไฟฟ้ากำลังเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานระหว่างมอเตอร์ขับเคลื่อนและแบตเตอรี่ ซึ่งในการทำงานร่วมกับมอเตอร์นั้น ชุดควบคุมไฟฟ้ากำลังจะทำงานใน 4 รูปแบบหลัก (Four-Quadrant Operation) ประกอบด้วย
1) การขับเคลื่อนเดินหน้า
2) การสร้างพลังงานไฟฟ้าย้อนกลับ(Regenerative Braking) ขณะเดินหน้า
3) การขับเคลื่อนถอยหลัง
4) การสร้างพลังงานไฟฟ้าย้อนกลับ(Regenerative Braking)ขณะถอยหลัง
ซึ่งในการทำงานในแต่ละรูปแบบดังกล่าว ยังสามารถปรับแต่งรูปแบบการทำงานย่อยเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่หรือการประหยัดพลังงานได้อีก
2. “DC-AC Inverter” เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ โดยใช้ IGBT(Insulated Gate Bipolar Transistor)ทำหน้าที่เป็นสวิตซ์ตัดต่อกระแสไฟฟ้า เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับโดยอาศัยเทคนิคที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ PWM(Pulse width modulation) ซึ่งหมายถึงการแปรความกว้างของพัลส์ที่ใช้เปิด-ปิดทรานซิสเตอร์เพื่อสร้างแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับขับมอเตอร์ โดยจะใช้อินเวอร์เตอร์ 1 ชุด ขับมอเตอร์ 1 ตัว ซึ่งชุดอินเวอร์เตอร์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบระบายความร้อน (Cooling System)เพื่อระบายความร้อนออกจากตัวอินเวอร์เตอร์ เนื่องจากในขณะที่จ่ายกระแส อินเวอร์เตอร์จะเกิดความร้อนสะสมสูงที่ชุด IGBT ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องระบายความร้อนออกจากอินเวอร์เตอร์เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
3. “Battery Pack” แบตเตอรี่ที่นิยมใช้ในรถยนต์มีทั้งสิ้น 3 ประเภทคือ แบตเตอรี่ตะกั่ว แบตเตอรี่นิกเกิล และแบตเตอรี่ลิเทียม โดยแบตเตอรี่ลิเทียมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการนำมาใช้งานในรถไฟฟ้ามากที่สุดเนื่องจากคุณสมบัติด้านความหนาแน่นพลังงานที่สูง ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมมีขนาดและน้ำหนักน้อยกว่าแบตเตอรี่ตะกั่วและแบตเตอรี่นิกเกิล ที่มีความจุเท่ากัน
4. “มอเตอร์สำหรับรถไฟฟ้า” มีการใช้งานมอเตอร์ใน 2 รูปแบบ คือมอเตอร์กระแสตรง(DC Motor)และ มอเตอร์กระแสสลับ(AC Motor)
1) มอเตอร์กระแสตรง(DC Motor)เป็นรูปแบบของมอเตอร์ที่มีความซับซ้อนในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าน้อย เนื่องจากมอเตอร์กระแสตรงสามารถรับไฟฟ้ากระแสตรงจากแหล่งจ่าย เช่นแบตเตอรี่และสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องการระบบไฟฟ้ากำลังเพิ่มเติมโดยมอเตอร์กระแสตรงที่ได้รับความนิยมนำมาใช้สำหรับรถไฟฟ้าสามารถแบ่งเป็นประเภทย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ “มอเตอร์กระแสตรงแบบมีแปรงถ่าน” และ “มอเตอร์กระแสตรงแบบไร้แปลงถ่าน”
2) มอเตอร์กระแสสลับ(AC Motor)นั้นมีโครงสร้างคล้ายกับมอเตอร์กระแสตรงแบบไม่มีแปรงถ่าน คือมีขดลวดเหนี่ยวนำอยู่บริเวณสเตเตอร์เพื่อรับพลังงานไฟฟ้าจากไฟฟ้ากระแสสลับแล้วแปลงเป็นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนโรเตอร์นั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ มอเตอร์เหนี่ยวนำ และ มอเตอร์กระแสสลับแบบ Synchronous