14 พ.ค. 2021 เวลา 03:40 • ครอบครัว & เด็ก
พ่อแม่แบบไหนที่เรียกว่า "ตามใจลูก"
1. รู้ใจลูก : พ่อแม่มักรู้ใจลูกเสมอว่าอยากได้อะไร จัดหาให้ทันทีจะทำให้เด็กเคยชินกับการควบคุมและสั่งการพ่อแม่ส่งผลให้เด็กเอาแต่ใจรอคอยไม่ได้ เมื่อไม่ได้ดั่งใจจึงมักจัดการอารมณ์ตนเองไม่ได้และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม พ่อแม่ควรลดการรู้ใจ ฝึกการรอคอย สอนให้สื่อสารบอกความต้องการอย่างเหมาะสม
2. ไม่เคยปล่อยให้ลูกร้องไห้ : การร้องไห้เป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ และเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งค่ะ เมื่อลูกร้องไห้เพราะโกรธ โมโห จึงควรปล่อยให้ลูกได้ร้องไห้ ได้แสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อระบายอารมณ์ ไม่จำเป็นต้องให้ลูกหยุดร้องทันที แต่พ่อแม่มักสงสารเวลาที่ลูกร้องไห้ จึงโอ๋หรือตามใจเพื่อให้หยุดร้อง ทำให้ลูกรู้ว่าการร้องไห้จะช่วยแก้ปัญหา จะได้ดั่งใจทุกครั้งที่ร้องไห้ทำให้ยิ่งร้องไห้หนักขึ้น ดังนั้นเมื่อเด็กเริ่มเข้าใจภาษา จึงควรสอนให้เด็กสื่อสารด้วยคำพูดแทนการร้องไห้เอาแต่ใจ สอนให้รอคอยอย่างสงบแล้วจึงจะได้ของที่ต้องการ และพ่อแม่ควรปฏิเสธลูกในเรื่องที่ควรขัดใจบ้าง เด็ก ๆ ควรรับรู้ความจริงที่ว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างตามใจเสมอไป
3. ช่วยลูกดูแลตนเองมากเกินไป : พ่อแม่มักช่วยลูก อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว ช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันมากเกินไปเพราะพ่อแม่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตลูก แต่คาดหวังว่าเมื่อลูกโตแล้วจะทำอะไรหลายๆอย่างได้เอง จริง ๆ แล้วจะทำให้เด็กติดการช่วยเหลือ ไม่ยอมทำเองทั้งที่บางกิจกรรมก็ทำเองได้ อ้อนร้องขอให้พ่อแม่ช่วยทำมากขึ้นเพราะติดสบาย
4. ไม่ทำโทษลูกทันทีที่ทำผิด : การทำโทษที่ดีที่สุด ได้ผลดีที่สุด คือพ่อแม่ต้องจัดการทันทีที่ลูกทำผิดและทำอย่างสม่ำเสมอทุกครั้ง เพราะหากพ่อแม่ไม่เคยทำโทษลูกเลย หรือทำโทษภายหลัง ทำให้เด็กมองว่าการถูกทำโทษไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป เด็กจึงแสดงพฤติกรรมต่อต้านโดยไม่กลัวการทำโทษ
5. ใจอ่อนให้ลูกต่อรองได้ : เมื่อลูกเริ่มอาละวาดหนักขึ้น พ่อแม่มักใจอ่อนทำตามความต้องการของลูก ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่จริงจังสามารถต่อรองกับพ่อแม่ได้ จึงเอาแต่ใจหนักขึ้น พ่อแม่ไม่ควรใช้การขู่โดยผูกกับสิ่งที่เด็กกลัว เช่น “อย่าทำนะ ตำรวจจะจับ” “ดื้อมากจะให้หมอฉีดยา” คำพูดเหล่านี้อาจทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมในช่วงแรกๆแต่พฤติกรรมจะไม่คงที่ เพราะสิ่งพ่อแม่ขู่นั้นไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน พ่อแม่ควรพูดอย่างหนักแน่น ว่า "ทำไม่ได้ " และอธิบายด้วยเหตุผลตามความเป็นจริงอย่างเข้าใจง่ายๆ
6. ไม่เคยให้ลูกทำงานบ้าน : การทำงานบ้านถือเป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างหนึ่ง หากไม่เคยให้ลูกช่วยทำงานบ้านเลย จะทำให้เด็กไม่รู้หน้าที่และขาดวินัย เด็ก ๆ จะรู้หน้าที่มากขึ้นหากได้ช่วยเหลืองานส่วนรวม และการทำงานบ้านยังช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักการวางแผนการทำงานอีกด้วย ดังนั้นพ่อแม่ควรมอบหมายงานบ้านให้เด็กได้ทำบ้าง เช่น กรอกน้ำ ล้างจาน พับผ้า เป็นต้น
7. ช่วยคิดแก้ปัญหามากเกินไป : ด้วยความเป็นห่วงหรือกลัวว่าลูกจะทำผิดพลาด ผิดหวังหรือเสียใจหากทำไม่ได้พ่อแม่จึงมักช่วยคิดแก้ปัญหา เช่น ทำการบ้านให้ลูก แต่การสอนแบบนี้จะทำให้เด็กขาดการลองผิดลองถูกไม่ได้ฝึกการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่อยากทำอะไรด้วยตนเอง และขาดความมั่นใจในตนเอง
8. ไม่มีเวลาคุณภาพให้ลูก : หลายครั้งที่ลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเอาแต่ใจ เพราะลูกเรียกร้องความสนใจเรียกร้องการเอาใจใส่จากพ่อแม่ พ่อแม่ควรหาเวลาว่าง วางมือถือ หากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว
#ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
#พัฒนาการเด็ก #กิจกรรมบำบัด #พฤติกรรมเด็ก
โฆษณา