4 เหตุผล...ทำไมจึงใช้สัตว์เป็นชื่อแบรนด์?
.
ช้าง สิงห์ ลิง ไก่ รวมถึงอีกสารพัดสัตว์ ที่ถูกนำมาตั้งชื่อเป็นแบรนด์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์สินค้า เชื่อว่าคงคุ้นชิน และผ่านเข้าไปยังต่อมการรับรู้ของผู้บริโภคทุกรุ่น ทุกวัยได้เป็นอย่างดี เพราะสิงห์สาราสัตว์เหล่านั้นถูกใช้ตั้งเป็นชื่อแบรนด์ หรือถูกใช้มาเป็นสัญลักษณ์ในการทำตลาดมาตั้งแต่อดีต มีประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่กลยุทธ์การตั้งชื่อแบรนด์ด้วยสัตว์ต่างๆ นี้ ก็ยังถูกใช้ เพราะสามารถสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าที่เจาะตลาดแมส ที่กลยุทธ์นี้ถูกนำมาสร้างความจดจำได้เป็นอย่างดี
.
ภาษาการตลาด เรียกกลยุทธ์ที่ใช้สัตว์มาตั้งชื่อเป็นแบรนด์ หรือมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการทำตลาดว่า กลยุทธ์ “The Zoo” ซึ่งข้อดีของการใช้ชื่อแบรนด์เป็นสัตว์นั้น ลองไล่เลียงกันดูแล้วจะพบว่า
.
1.ช่วยให้จดจำแบรนด์ได้ง่าย เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันมานาน ซึ่งในบ้านเรา มีหลายกรณีศึกษาทางการตลาดที่ใช้สัตว์เป็นชื่อแบรนด์ แล้วสามารถสร้างการจดจำแบรนด์ได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็นแมส อาทิ สินค้าวัสดุก่อสร้าง ที่มีการใช้สัตว์เป็นชื่อแบรนด์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปูนตราเสือ หรือปูนตราช้าง เป็นต้น
.
2.ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถบอกคุณสมบัติเด่นบางอย่างของสินค้าได้ด้วย อาทิ มีความคงทนเหมือนแรด มีพลังดุจช้างสาร หรือถ้าเป็นแฟ้มเก็บเอกสาร ก็ทนทานได้เหมือนช้างที่เป็นชื่อแบรนด์สินค้า ตัวอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จากบทความของ Georgia Wells ใน The Wall Street Journal ที่เคยเขียนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน ให้มุมมองไว้น่าสนใจ โดยเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอที ที่นำกลยุทธ์นี้ถูกนำมาใช้อย่างได้ผล เพราะสามารถขยายคุณลักษณะต่างๆ ได้ค่อนข้างดี อาทิ การสะท้อนความรู้ ความรวดเร็ว ความคงทน และความจงรักภักดี เป็นต้น
การเกิดขึ้นของแบรนด์กระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ดังเมื่อร่วมครึ่งศตวรรษที่แล้ว คือคำตอบในเรื่องนี้ ในครั้งนั้น เฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้ง ต้องการจะทำเครื่องดื่มชูกำลังที่ขายกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงเลือกกระทิง เข้ามาเป็นชื่อแบรนด์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงเรื่องของพละกำลัง แบรนด์กระทิงแดง แจ้งเกิดอย่างรวดเร็วกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน โดยคุณเฉลียว ใช้สโลแกนที่จำง่ายๆ คือ “กระทิงแดง ซู่ซ่า ซู่ซ่า” ในช่วงแรกของการเข้าตลาด ผลก็คือ เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์นี้สามารถแซงหน้าผู้เล่นรายเดิมทั้งกูรอนซาน และลิโพวิตันดี ขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้สำเร็จ
เมื่อแบรนด์นี้ออกไปตีตลาดโลก ภายใต้ชื่อแบรนด์เรดบูล ก็สามารถสื่อถึงการเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานได้เป็นอย่างดี โดยเรดบูลมีการทำการตลาดที่แมทกับคุณสมบัติกับสินค้าผ่านทางกิจกรรมกีฬาเอ็กซ์ตรีม เพื่อเจาะเข้าไปเล่นกับไลฟ์สไตล์ของคนเจนเอ็กซ์ในช่วงเวลานั้น จนทำให้เรดบูลกลายเป็นแบรนด์ที่ยึดครองตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของโลกในท้ายที่สุด
.
3. การเลือกใช้สัตว์มาทำการตลาดหรือตั้งเป็นชื่อแบรนด์นั้น ยังช่วย Induce หรือชักจูงเข้าสู่ด้านอารมณ์ของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
.
4.บางครั้ง สัตว์ที่นำมาใช้ยังทำให้สามารถสร้างการ Relate กับคุณสมบัติของสินค้าได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกก็คือ การทำตลาดของกาวซีเมนต์เวเบอร์ ที่หากใช้ชื่อเวเบอร์อย่างเดียว กลุ่มเป้าหมายที่เป็นช่าง หรือคนที่อยู่ในต่างจังหวัดจะไม่รู้ว่าสินค้าตัวนี้เป็นอะไร มีคุณสมบัติเด่นอย่างไร แต่เมื่อ เติมท้ายชื่อด้วยสัตว์ เป็น “เวเบอร์ ตราตุ๊กแก” การสร้างภาพจำเกี่ยวกับแบรนด์ หรือตัวสินค้าก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะใครๆ ก็รับรู้ว่า คุณสมบัติเด่นอย่างหนึ่งของสัตว์เลื้อยคลานอย่างตุ๊กแก มีตีนที่ค่อนข้างเหนียว ยึดก่อกำแพง หรือเพดานบ้านแบบไม่หลุด เมื่อนำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ จึงสามารถสร้างการเชื่อมโยงมาสู่คุณสมบัติเด่นของตัวสินค้าคือกาวซีเมนต์ที่ใช้ในการปูกระเบื้องได้เป็นอย่างดี
.
ในโลกการตลาด ยังมีกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์มาตั้งชื่อเป็นแบรนด์ มีหลายกรณีศึกษาที่กลายเป็นเรื่องคลาสสิกที่ยังถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับการปะทะกันของแบรนด์สารพัดสัตว์
.
เมื่อ “จ้าวช้าง” ไล่บี้สารพัดสัตว์ในตลาดถ่านไฟฉาย
.
กว่า 50 ปีที่แล้ว ตลาดใหญ่ของถ่านไฟฉายบ้านเรา ยังคงเป็นถ่านก้อนใหญ่ที่เป็นแมงกานีส สำหรับใช้กับวิทยุทรานซิสเตอร์ หรือกระบอกไฟฉาย ครั้งนั้น ตลาดถ่านไฟฉายเต็มไปด้วยแบรนด์สารพัดสัตว์ แยกกันคุมตลาดแต่ละภาคอย่างชัดเจน
.
แบรนด์ถ่านไฟฉายสารพัดสัตว์ที่อยู่ในตลาด ต่างก็มีความแข็งแกร่งในแต่ละพื้นที่แยกกันออกไป อาทิ ถ่านไฟฉายตรากบ จะมียอดขายดีในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก เป็นหลัก ถ่านไฟฉายตราม้าขาว โด่งดังในพื้นที่ภาคกลางตอนบน หรือภาคเหนือตอนล่าง ถ่านไฟฉายตรา 5 แพะ แข็งแกร่งในพื้นที่เขตภาคเหนือ และถ่านไฟฉายตรารักชาติ จะเป็นที่รู้จัก และยอมรับอย่างกว้างขวางในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น
.
สารพัดสัตว์ที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ถ่านไฟฉายในช่วงนั้น ถือว่าตรงกับสูตรสำเร็จ เพราะเข้ามาช่วยสร้างความจดจำในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแมสซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี ด้วยเพราะชื่อ และสัญลักษณ์ที่สื่อง่ายๆ กลายเป็นที่จดจำตั้งแต่ครั้งแรกที่รู้จัก
.
เรียกได้ว่า แบรนด์สัตว์ท้องถิ่นเหล่านั้น เพลิดเพลินกับการตักตวงยอดขายอยู่พักใหญ่ๆ ก่อนที่จะเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างพานาโซนิค ที่ครั้งนั้นยังใช้แบรนด์เนชั่นแนล เข้ามาร่วมแชร์ในตลาดด้วย
.
ครั้งนั้น เนชั่นแนล มีการทำวิจัย และพบว่า ผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัด จะคุ้นชินกับแบรนด์ถ่านไฟฉายที่นำสารพัดสัตว์มาเป็นแบรนด์ เนชั่นแนล วิจัยต่อไปว่า หากจะลงตลาดนี้ จะใช้สัตว์อะไรดีที่น่าเกรงขาม และสื่อถึงตัวสินค้าได้เป็นอย่างดี
.
ร้อยทั้งร้อย ตอบว่า ต้องสัตว์อย่างช้างสิ ที่มีภาพของการเป็นสัตว์ทรงพลัง สามารถเชื่อมโยงมาสู่สินค้าอย่างถ่านไฟฉายที่ขายในเรื่องของพลังไฟได้เป็นอย่างดี
.
แบรนด์เนชั่นแนล จ้าวช้าง จึงถูกส่งเข้ามาปะทะกับถ่านไฟฉายสารพัดสัตว์ที่ทำตลาดอยู่ก่อนหน้านั้น การเข้าตลาดของจ้าวช้างมาแบบเต็มลูกสูบ ไล่ตั้งแต่การสร้างระบบจัดจำหน่ายขึ้นมาใหม่ให้แตกต่างจากการขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำอยู่เดิม โดยคัดเลือกยี่ปั๊วสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์ให้เป็นคีย์ดีลเลอร์เพื่อจัดจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ แบบแบ่งโซน
.
คีย์ดีลเลอร์เหล่านั้น ไม่เพียงทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าเข้าร้านค้าโชวห่วยในพื้นที่เท่านั้น ยังเป็นแขนขาในการทำ “Localize Marketing” ในพื้นที่ โดยเข้าไปหาผู้นำหมู่บ้านอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อยึดเป็น Influencer ในชุมชน
.
ผลจากการรุกแบบเต็มรูปแบบ ทำให้พานาโซนิค ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดถ่านไฟฉายก้อนใหญ่ได้แบบยาวนานจนถึงทุกวันนี้......