14 พ.ค. 2021 เวลา 10:31 • ข่าว
ฝรั่งเศสสั่งแบนการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในปารีส
ขอไม่ยุ่งความขัดแย้งอิสราเอลvsปาเลสไตน์
6
จากเหตุการณ์เปิดศึก โจมตีทางอากาศในพื้นที่เขตฉนวนกาซ่าของอิสราเอลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเมืองชาวปาเลสไตน์ทะลุ 100 รายแล้ว กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลกเป็นอย่างมาก จนเริ่มกลัวว่าอาจจะบานปลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ในคาบสมุทรปาเลสไตน์ได้
จึงเป็นเหตุให้กลุ่มผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฝรั่งเศสจะนัดเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงปารีส เพื่อประท้วงการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ในวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ที่เขต Barbes ทางตอนเหนือของกรุงปารีส
แต่ทว่า นายเจอราล์ด ดาร์มานิน รัฐมนตรีมหาดไทยของฝรั่งเศสเบรคตัวโก่ง ออกคำสั่งแบนการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ปารีสช่วงสุดสัปดาห์นี้ และสั่งกำชับไปยังตำรวจนครบาลทั่วกรุงปารีสให้จับตาการเคลื่อนไหวของผู้ที่จะมาร่วมชุมนุมประท้วงอิสราเอล เพื่อกำชับว่าเรื่องคำสั่งห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม Pro-Palestine
เหตุผลที่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสออกคำสั่งแบนการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม Pro-Palestine ครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ Covid-19 แต่ได้อ้างถึงการชุมนุมของกลุ่มชาวปาเลสไตน์ในฝรั่งเศสที่เคยออกมาเดินประท้วงอิสราเอลกันที่กลางกรุงปารีสมาแล้วเมื่อช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2014 ที่ตอนนั้นอิสราเอลก็เปิดศึกโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มฮามาสในเขตฉนวนกาซ่ามาแล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน
2
ซึ่งการนัดชุมนุมประท้วงของชาวปาเลสไตน์ในคราวนั้น ก็ดุเดือดกลายเป็นความรุนแรง มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขว้างปาระเบิดขวด เผารถราบนท้องถนน และจบลงด้วยการจับกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 23 คน และสั่งห้ามการจัดชุมนุมอีก
แต่หากนับตั้งแต่ปี 2014 มาจนถึงปีนี้ 2021 ที่ฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมประท้วงมาแล้วหลายกลุ่ม เผารถ เผาร้าน ฟาดตำรวจก็มีไม่น้อย และยืดเยื้อ รุนแรงยิ่งกว่ากลุ่ม Pro-Palestine เสียอีก ดังนั้นหากจะบอกว่ากลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปี 2014 ก็อาจจะไม่ใช่แค่เพียงเหตุผลเดียวที่สั่งห้าม
สื่อฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลฝรั่งเศสเกรงใจอิสราเอล ยังไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่อิสราเอลอาจมองว่ารัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุนกลุ่ม Pro-palestine และกลุ่มฮามาส ที่ถูกหมายหัวเป็น กลุ่มก่อการร้ายโดยรัฐบาลอิสราเอล
1
ไม่ใช่เฉพาะท่าทีของฝรั่งเศส แม้แต่หลายชาติในตะวันตก ทั้งในฝั่งยุโรปและอเมริกาต่างสงวนจุดยืน ไม่ออกมาแสดงความเคลื่อนไหว หรือเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงจากการใช้กำลังทหาร ที่มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ซึ่งแตกต่างอย่างมาก หากเทียบกับการเคลื่อนไหวของโลกตะวันตกต่อเหตุการณ์ในประเทศอื่น อาทิ รัฐประหารในพม่า/ การริดรอนสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์/ การประท้วงผลการเลือกตั้งในเบลารุส หรือ เหตุประท้วงในฮ่องกง เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่น่าติดตามพอๆกับสถานการณ์ในฉนวนกาซ่า ก็คือการแสดงท่าทีของชาติตะวันตกต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ว่าจะแสดงจุดยืนเช่นไร และจะใช้บรรทัดฐานเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ อื่นๆหรือไม่
แหล่งข้อมูล
โฆษณา