14 พ.ค. 2021 เวลา 12:46 • ไลฟ์สไตล์
รู้ไหมว่า สัญลักษณ์ที่เราเข้าใจกันว่ารีไซเคิลได้ จริง ๆ แล้วไม่ได้หมายความอย่างนั้นเสมอไป!?
ไปดูกันว่าแต่ละสัญลักษณ์ที่เราพบกันบนสินค้าในชีวิตประจำวัน เค้าต้องการสื่อสารอะไรกับเรากันบ้าง
“ลูกศรชี้กัน ≠ รีไซเคิลได้เสมอไป”
Green Dot
Green Dot
ไม่ได้หมายความว่ารีไซเคิลได้ แต่หมายความว่าบริษัทนั้นได้สนับสนุนเงินให้กับระบบ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บเพื่อรีไซเคิล (ในพื้นที่ของผู้ผลิต)
สาระน่ารู้:
เริ่มในประเทศเยอรมนีในชื่อของ Der Grüne Punkt โดยบริษัทจัดการขยะ Duales System Deutschland GmbH (DSD) ในปี 1990 ปกติแล้วที่เยอรมนีจะมีระบบการจัดเก็บแบบ Dual System คือมีทั้งการเก็บโดยส่วนกลาง กับโดยเอกชน Green Dot จะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าบรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้สามารถทิ้งเพื่อให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมเป็นคนจัดการได้ เพราะผู้ผลิตได้จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินการจัดเก็บเพื่อให้ได้สัญลักษณ์ Green Dot เรียบร้อยแล้ว
ภายหลังเลยมีการนำไปใช้ในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และขยายไปทั่วโลก แต่ก็มีประเด็นเรื่องของสัญลักษณ์ที่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค เพราะมีลักษณะคล้ายกับการรีไซเคิล ทำให้เข้าใจว่าสินค้าชิ้นนี้จะถูกนำไปรีไซเคิล
ประเทศฝรั่งเศสเคยมีมติแบนสัญลักษณ์นี้ต้นปี 2021 แต่เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ทำให้การแบนนี่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
Mobius Loop
Mobius Loop
ไม่ได้หมายความว่ารีไซเคิลได้ แค่บอกว่ามีความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล ถ้ามีเครื่องมือที่เหมาะสมในพื้นที่นั้น
ถ้ามี % ข้างใน จะเป็นการบอกว่าผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลเป็นจำนวนเท่าไหร่ ในบางที่มีการใช้สัญลักษณ์ Mobius Loop ในวงกลมสีขาวหรือดำเพื่อเป็นการบอกว่ามีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล แต่ถ้าให้ชัดเจนมากขึ้น หลายบริษัทจะใช้วิธีการบอกผู้บริโภคเลยตรง ๆ มากกว่าว่า Made from Recycled Materials
สาระน่ารู้:
สัญลักษณ์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในวัน Earth Day ปี 1970 โดย Gary Anderson นักศึกษาวัย 23 ปี โดยมีคอนเซปต์จาก Möbius strip
Möbius strip https://en.wikipedia.org/wiki/M%C3%B6bius_strip
Recycling codes
ทำให้เราสามารถแยกวัสดุเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้ความว่าจะถูกนำไปรีไซเคิลได้หมดนะ
ในบ้านเราอาจจะพบเจอหลัก ๆ คือพลาสติก แต่ในหลายประเทศมีการระบุชนิดของวัสดุผ่าน Recycling codes ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกขยะเพื่อรีไซเคิลได้ง่ายมากขึ้น
ตัวอย่างประเทศเยอรมนี
1
กระปุก Nutella จะมีการบอกว่า
ฝาทำมาจากพลาสติก (Kunstoffe) PP ตัวย่อ PP หมายเลข 5
ใต้ฝาเป็นกระดาษ ตัวย่อ PAP หมายเลข 21
มีฟอยล์ซีลไว้ ทำมาจาก Composite material (Verbundstoffe) ระหว่าง กระดาษ + อะลูมิเนียม ตัวย่อ C/PAP หมายเลข 82
และตัวขวดทำมาจากแก้วสีใส ตัวย่อ GL หมายเลข 70
ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่น มีการสร้างสัญลักษณ์รีไซเคิลเป็นของตัวเอง
สาระน่ารู้:
เป็นการพัฒนาต่อมาจาก Mobius Loop เพื่อใช้สำหรับระบุวัสดุที่ด้วยคุณสมบัติแล้วมีความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล แต่การจะถูกรีไซเคิลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
"สัญลักษณ์แนะนำวิธีทิ้ง"
Tidy man
Tidyman
เป็นสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นมา เพื่อบอกให้คนทิ้งขยะลงถัง บางครั้งมาพร้อมกับข้อความ Don't litter
สาระน่ารู้:
เกิดจากแคมเปญ Keep Britain Tidy ที่ต้องการให้ชาวเมืองรักษาความสะอาดโดยการทิ้งขยะให้ถูกที่
WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment)
WEEE
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามทิ้งในถังขยะทั่วไป ต้องทิ้งในถังขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
"สัญลักษณ์บอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
Compostable
สามารถย่อยสลายได้ โดยต้องผ่านมาตรฐาน เช่น ISO 17088, EN13432, มอก. 17088-2555 หรือ ASTM 6400
ในไทยมีบริษัท PTTGC ที่ทำ Trusted Mark ขึ้นมาเพื่อบอกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีตรา GC Compostable ได้ผ่านมาตรฐานข้างต้นแล้ว
ระวัง!
หลายครั้งมีการใช้คำว่าย่อยสลายได้กับวัสดุที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานการย่อยสลายตามธรรมชาติ โดยอาจจะใช้คำว่า Degradeable, Biodegradeable พลาสติกย่อยสลาย หรืออื่น ๆ โดยไม่มีการรับรองมาตรฐาน Compostability ซึ่งมักจะเป็นพลาสติกแบบ Oxo-degradeable (มักใช้ชื่อพลาสติกรักษ์โลก) ซึ่งเป็นพลาสติกที่แตกตัวเป็นพลาสติกเล็ก ๆ หรือไมโครพลาสติกได้เร็ว (โดยทั่วไป ประมาณ 5 ปีหรือน้อยกว่า) ซึ่งไม่ใช่การย่อยสลายหายไปเป็นสารอินทรีย์ตามมาตรฐานการย่อยสลาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/the-fact-of-environmentally-degradable-plastics-edp/
FSC (Forest Stewardship Council)
FSC
รับรองโดย Forest Stewardship Council บอกว่าสินค้าชิ้นนั้นทำมาจากวัสดุที่มีต้นกำเนิดจากป่าไม้ที่ควบคุมอย่างยั่งยืน มีทั้งแบบ 100%, Recycled และ MIX คืออาจจะผสมกันทั้งจาก Well-managed forests + Recycled materials + อื่น ๆ
สาระน่ารู้:
การซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์ FSC ไม่ได้หมายความว่าสินค้านั้นมีความยั่งยืนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป เพราะเราต้องดูเพิ่มตั้งแต่ต้นจบจบชีวิตการใช้งาน เช่น บรรจุภัณฑ์บางอย่างมีสัญลักษณ์นี้ แต่ไม่สามารถนำไปจัดการด้วยการรีไซเคิลได้ และเกิดปัญหาขยะพลาสติก เป็นต้น
"สัญลักษณ์น่ารู้อื่น ๆ "
CE Marking
CE vs China Export
ส่วนใหญ่อยู่บนของใช้ เป็นการบอกว่าการผลิตสิ่งของชิ้นนี้ผ่านมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ขายในยุโรปได้
ระวัง!
มีสัญลักษณ์ปลอมด้วย! สังเกตได้จากระยะห่าง ถ้าชิดกันมากเกินไป จะเป็นสัญลักษณ์ปลอมหรือเป็น China Export ที่บอกแค่ว่าเป็นสินค้า Made in China เฉย ๆ
Estimated Sign
Estimated Sign
บอกว่าปริมาณที่ระบุบนฉลากเป็นการประมาณ (มาตรฐานยุโรป) โดยในการผลิตแต่ละล็อตจะมีค่าเฉลี่ยของปริมาณสินค้าที่บรรจุไม่ต่ำกว่าตัวเลขนี้ หรือเป็นไปตามมาตรฐานการบรรจุที่ตกลงไว้
PAO (Period After Opening)
PAO
บอกระยะเวลาที่ยังใช้งานได้ดีหลังเปิดใช้งานครั้งแรก ต้องศึกษาเพิ่มถึงรายละเอียดสินค้าตัวนั้น ๆ ว่าหลังจากระยะเวลานี้ จะยังใช้งานได้อยู่ไหม จะหมดอายุ หรือแค่ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าเดิม จากรูปในตัวอย่าง 12M คือ หลังจากเปิดแล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 12 เดือน
โดยสรุปแล้ว เราควรจะดูสัญลักษณ์เพื่อจะได้เลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนของการผลิตและได้เรียนรู้วิธีการจัดการ โดยการคัดแยกวัสดุให้เหมาะสมกับวิธีการกำจัด
อ่านจบแล้ว มาลองพลิกกล่องดูสัญลักษณ์กันดูนะ :)
#AsGreenAsYouCan
#littlebiggreen
โฆษณา