13 มิ.ย. 2021 เวลา 11:05 • หนังสือ
เล่มนี้เห็นชื่อก็ต้องซื้อเลย #การเงินคนจน เหมาะกับแอดมินมาก 555 ยิ่งเห็นชื่อผู้แปลก็มั่นใจได้ว่าไม่มีพลาด ดังนั้นถึงเราจะจน แต่เรื่องหนังสือเราต้องป๋า
.
หนังสือจะทำให้รู้ว่ายิ่งจนนี่ยิ่งต้องจัดการเรื่องเงิน การจัดการเงินในแบบของพวกเขา อาจจะคนละให้ภาพคนละแบบกับคนรวยที่ใช้สารพัดเครื่องมือทางการเงินเพื่อลงทุนให้รวยยิ่งขึ้นไปอีก แต่การจัดการเงินในแบบของคนจนจะเป็นการแปลงเงินออมเพื่อให้เป็นเงินก้อนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแน่ ๆ เช่นค่าเทอมลูก ค่าซ่อมบ้าน
.
มาถึงตรงนี้ไมโครไฟแนนซ์จึงมีความสำคัญขึ้นมา ในหนังสือแนะนำวิธีออมเงินหรือแปลงเงินให้เป็นเงินก้อนไว้สามแบบใหญ่ ๆ ต่อไปนี้เป็นสรุปแบบสั้น ๆ
.
(1) การออมแบบสะสม
ได้แก่การออมแบบที่เราเห็นทั่วไป คือฝากเงินไว้กับแหล่งที่เชื่อถือได้ เมื่อได้เป็นก้อนแล้วก็ถอนออก วิธีนี้บางแห่งในโลกที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินในระบบ แม้การฝากเงินยังให้ดอกเบี้ยติดลบ แต่ผู้ฝากก็ยินดีเพราะถ้าเก็บไว้กับตัวเองคงไม่รอด
ในหนังสือเล่าถึงเคสของ ชโยธี ที่รับบริการรับฝากเงินจากชาวบ้าน เช่น วันละ 5 รูปี พอครบอ 220 วันจะออมเงินได้ 1,100 รูปี แล้วชโยธีจะหักค่าธรรมเนียมไว้ 100 รูปี ทำให้ผู้ฝากได้รับเงินจริง ๆ แค่ 1,000 รูปี เป็นต้น
.
(2) การออมแบบผ่อนส่ง
ก็คือการกู้เงินก้อนมาใช้ล่วงหน้า เหมือนการกู้เงินทั่วไป ได้เงินก้อนมาก่อน แล้วผ่อนพร้อมดอกเบี้ย วิธีนี้ได้เงินเร็วกว่าวิธีแรก แต่ดอกเบี้ยก็สูงตามไปด้วย
.
(3) การออมแบบระหว่างทาง
ให้นึกง่าย ๆ เหมือนวงแชร์ วิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแต่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจมาก
.
อย่างในข้อ (1) อาจจะมีคำถามว่า ถ้าฝากแล้วไม่ได้ดอกเบี้ย แถมยังต้องเสียเงินอีก แล้วไปฝากทำไม คือต้องเข้าใจอีกอย่างว่าในโลกนี้ยังมีคนจนอีกมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ลองนึกภาพว่าถ้าธนาคารกสิกรไทยต้องมารับฝากเงินจากคนในสลัมร้อยคนคนละสองบาททุกวันล่ะ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นยากแน่ ๆ คนจนก็คงไม่กล้า ธนาคารก็คงทำหน้าลำบากใจ แต่ที่อินเดียชโยธีรับงานนี้ได้ เพราะในตลาดมันมีช่องว่างระหว่างการจับคู่กับอย่างเสรีของอุปสงค์และอุปทานอยู่
.
<เล่าเพิ่มเติม>
หน้าแรก ๆ ของหนังสือ ได้คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเงินติดล้อ มาเป็นผู้ให้เขียนคำนำด้วย เป็นคำนำไม่กี่หน้าแต่ทำให้เห็นภาพของการจัดการทางการเงินสำหรับคนเงินน้อยด้วย สำหรับแอดมินมองว่าเป็นคำนำที่ดีและได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า ทั้งต่อตัวผู้เขียนคำนำเอง ทั้งต่อตัวผู้อ่าน และตัวเนื้อหาในหนังสือ
.
<โดยสรุป>
ก็ตามที่เขียนคำโปรยไว้ล่ะครับ จนก่อนอ่านก็ได้ อ่านก่อนจนก็ดี คือไม่ว่าตอนนี้จะอยู่ในสถานะไหน เล่มนี้ก็เป็นอีกแง่มุมของการเงินที่เปิดมุมมองได้อย่างน่าสนใจดี🙂
*********
การเงินคนจน
ผู้เขียน : Stuart Rutherford (สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด), Sukhwinder Arora (สุขวินทร์ อาโรรา)
ผู้แปล : Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล
ราคา : 240 บาท
สนพ. : Saltread
*********
.
การจัดการเงินเริ่มต้นจากการรักษาเงินที่คุณมี นั่นหมายถึงหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหาที่ปลอดภัยสำหรับเก็บเงินส่วนที่เหลือ การตัดสินใจนี้ (การเลือกที่จะออมแทนที่จะบริโภค) คือรากฐานของการจัดการเงิน
- สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด -
.
==========
ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจนก็ติดตามรีวิวหนังสือของทุกสำนักพิมพ์จากถุงกล้วยแขกได้ที่นี่ (แต่ถ้ารวยก็ช่วยเตรียมเงินไว้ให้แอดมินยืมด้วย ซื้อหนังสือจนเมียบ่นแล้วววว)
==========
โฆษณา