15 พ.ค. 2021 เวลา 07:14 • ข่าว
ครบรอบ 73 ปีวันแห่งหายนะครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์
Palestinian civilians forced to flee from an unidentified village in Galilee some five months after the creation of the state of Israel [Reuters]
ชาวปาเลสไตน์กำหนดให้วันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันรำลึกเหตุการณ์แห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ในอดีตโดยให้ชื่อภาษาอาหรับว่า نكبة อ่านว่า นักบะฮ์ แปลว่าหายนะครั้งใหญ่
ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1948 ในวันที่ 14 พฤษภาคม อิสราเอลประกาศตั้ง "รัฐอิสราเอล" ขึ้นบนดินแดนของชาวเลสไตน์ตามความปรารถนาขององค์กรไซออนิสต์ โดยสนธิสัญญาของไซออนิสต์ (Protocol) ได้ประกาศว่าดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดเป็นดินแดนที่พระเจ้ามอบให้ชาวยิว และเป็นหน้าที่ที่ต้องแย่งชิงแผ่นดินมาเป็นของชาวยิวให้ได้
หลังจากนั้นเพียง 11 นาทีประธานาธิบดีทรูแมนของสหรัฐฯ ก็ออกบันทึกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ รับรองรัฐบาลเฉพาะกาลของอิสราเอลที่เพิ่งตั้งรัฐหมาด ๆ แล้ว
เที่ยงคืนวันเดียวกันนี้เองที่สถานะของปาเลสไตน์ในฐานะรัฐใต้อาณัติอังกฤษจะหมดอายุ
เช้าตรู่ของวันที่ 15 พฤษภาคม เริ่มต้นสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก การสู้รบที่ยาวนานหลายเดือนและจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายอาหรับทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องถูกบีบให้หนีออกจากแผ่นดินเกิดประมาณ 720,000-750,000 คน กลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ทุกวันนี้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคขัดขวางกระบวนการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลตลอดมา
ปาเลสไตน์และอิสราเอลต่างจดจำวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งนั้นในมุมที่ต่างกัน ปาเลสไตน์มองว่า ปัจจัยอันนำไปสู่วิกฤตินี้เพราะการถูกบีบบังคับขับไล่ การสร้างความหวาดกลัว การยึดครองที่ดิน และการทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ที่กระทำอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มติดอาวุธชาวยิว
ขณะที่อิสราเอลพยายามสื่อสารให้โลกเข้าใจว่า มันเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากความพ่ายแพ้ในสงครามของชาติอาหรับ และชาวปาเลสไตน์สมัครใจออกไปจากบ้านเกิดเอง
"พวกเราคงลืมไปแล้วว่า เรามิได้เข้ามาในดินแดนที่เวิ้งว้างว่างเปล่า แล้วจับจองสืบทอดมัน แต่พวกเราเข้ามาพิชิตดินแดนประเทศที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ก่อนหน้าแล้ว” (คำกล่าวของ Moshe Sharett รองนายกรัฐมนตรีอิสราเอล 1953-1955)
หลังสงครามปี 1948 ชาวยิวขณะนั้น ซึ่งมีประชากรแค่ร้อยละ 30 และถือครองที่ดินเพียงแค่ร้อยละ 7 สามารถจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมาได้โดยการยึดครองดินแดนเดิมของชาวปาเลสไตน์ถึงร้อยละ 78 หมู่บ้านและเมืองถูกทำลายรวม 530 แห่งพร้อมการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ มีชาวปาเลสไตน์ที่ถูกสังหารประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ถูกสังหารหมู่ด้วย
แต่แล้วก็เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลอีกครั้งในปีค.ศ.1967 ซึ่งเป็นสงครามที่อิสราเอลชนะฝ่ายอาหรับอย่างรวดเร็วภายใน 6 วัน อิสราเอลก็ยึดครองดินแดนต่าง ๆ ของชาติอาหรับ รวมถึงดินแดนที่เหลือไว้หลังปี 1948 อีกร้อยละ 22 ด้วย ก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพลี้ภัยของชาวปาเลสไตน์อีกระลอก
วันนี้ ชาวปาเลสไตน์แทบทั้งหมดจึงกลายเป็นคนไร้รัฐ หากไม่เป็นผู้ลี้ภัยที่กระจัดกระจายอยู่ภายนอกดินแดนบ้านเกิดของตนเอง ก็เป็นคนพลัดถิ่นในบ้านเมืองที่เคยเป็นของตนเอง
ตามตัวเลขขององค์การสหประชาชาติปีค.ศ.2015 ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่มีการลงทะเบียนเอาไว้มีอยู่มากถึง 5,149,742 คน
แต่ถ้ารวมเอาคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนด้วย เขาสรุปตัวเลขจากการสำรวจออกมาคร่าวๆ ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านคน โดยอาจแยกประเภทให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
กลุ่มแรก คือ ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่พลัดถิ่นมาตั้งแต่ปี 1948 (รวมถึงลูกหลานที่เกิดตามมาภายหลัง) และลงทะเบียนกับสหประชาชาติเพื่อขอความช่วยเหลือ มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน
กลุ่มที่ 2 คือ ผู้พลัดถิ่นจากสงครามปี 1948 เหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน
กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ลี้ภัยจากสงครามปี 1967 มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดเกือบล้านคน
กลุ่มที่ 4 คือ ผู้พลัดถิ่นในดินแดนของตนเองจากสงครามปี 1948 มีอยู่ 335,000 คน
กลุ่มที่ 5 คือ ผู้พลัดถิ่นในดินแดนของตนเองจากสงครามปี 1967 มีอยู่ 129,000 คน
นับเป็นปีที่ 73 แล้วที่ชาวปาเลสไตน์ทั้งที่พลัดถิ่นภายในและลี้ภัยภายนอกประเทศต่างเฝ้ารอวันหนึ่งที่พวกเขาจะได้กลับบ้านเกิดของพวกเขา แต่นั่นหมายถึงภายหลังการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ State of Palestine ที่มีอธิปไตยของตนเองอย่างสมบูรณ์และถูกยอมรับจากนานาชาติด้วย นี่คือขั้นตอนที่ท้าทายมากสำหรับชาวปาเลสไตน์
ขบวนการไซออนิสต์สามารถสร้างรัฐอิสราเอลโดยการทำงานแบบสอดประสานกันอย่างดีของชาวยิวที่มีอุดมการณ์ไซออนิสต์ไม่ถึง 1,000 คนจากกลุ่มนายทุนระดับยักษ์ใหญ่ เจ้าของวาณิชธนกิจและธนาคารที่ดูแลสินทรัพย์มหาศาล นักการเมืองที่อยู่ในสภาของประเทศมหาอำนาจในยุโรปและสหรัฐฯ นักการทูต ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการทูตของชาติมหาอำนาจในยุโรปและสหรัฐฯ นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนและกฎหมายระหว่างประเทศ
คำประกาศบัลโฟร์ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอล เป็นสิ่งที่ฉายภาพให้เราเห็นว่า นักการทูต นักการเมือง นักกฎหมาย สำคัญอย่างไรในการสร้างชาติ ในการสร้างให้รัฐมีตัวตนโดยเริ่มจากกระดาษแผ่นเดียวของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น ตามด้วยการอุดหนุนด้วยอำนาจทางเงินทุนและอำนาจทางทหาร การล็อบบี้ของกลุ่มนายทุน นักการเมือง และนักการทหารที่สร้างเงื่อนไขให้กองทัพอังกฤษต้องเข้ามาเป็นผู้ปกป้องรัฐอิสราเอลในตอนเริ่มต้น ทำให้รัฐอิสราเอลถือกำเนิดและดำรงอยู่ได้ถึงปัจจุบัน แม้จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาต่าง ๆ ซ้ำไปซ้ำมาก็ไม่มีใครเอาผิดได้
ขอบคุณ
ผศ.ดร.ศราวุฒิ อารีย์, นพ.ดร.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ, ALJAZEERA

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา