15 พ.ค. 2021 เวลา 19:40 • ศิลปะ & ออกแบบ
เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อเมืองที่มีคุณภาพ
เมืองกับอาชีพสถาปนิกถือเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันมาก อาจกล่าวได้ว่าสถาปนิกคือฟันเฟืองสำคัญในการออกแบบสภาพแวดล้อมในเมืองให้น่าอยู่ โดยไม่ใช่เพียงการออกแบบเชิงนโยบายอย่างการวางผังเมืองหรือออกกฎหมาย หากแต่รวมไปถึงการออกแบบองค์ประกอบเล็ก ๆ นับแต่แต่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่จำพวกอาคารไปจนถึงพื้นที่เล็ก ๆ ที่ผู้คนในเมืองจำเป็นต้องใช้อย่างป้าย ที่น่าสนใจคือเคยมีคนกล่าวไว้ว่าสถาปนิก90%ทำงานออกแบบเพื่อคนแค่10%ของโลก โดยมีสถาปนิกแค่10%ทำงานออกแบบเพื่อคนอีก90%ที่เหลือ คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินเลยไปนักกับโลกที่กำลังหมุนด้วยระบอบทุนนิยม แล้วเหล่าสถาปนิกอีก10%ที่เหลือล่ะ? พวกเขาทำอะไรกับเมืองและผู้อยู่อาศัยในเมืองกันบ้าง?
1. คนละครึ่ง กับการออกแบบบ้านครึ่งหลัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่พักอาศัยในเขตเมืองเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน เมื่อราวปี1900 ประชากรเพียง14%เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จนกระทั่งย่างเข้าสู่ปี 2008 อันเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการการออกแบบและพัฒนาเมือง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีผู้อยู่อาศัยในเมืองมากกว่า50% ซึ่งมีแนวโน้มจะโตไปถึง70%ในปี2050 อาจกล่าวได้ว่าความต้องการด้านที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสถาปนิกมากหน้าหลายตาต่างตั้งคำถามถึงปัญหาด้านที่อยู่อาศัยนี้
Alejandro Aravenaสถาปนิกชาวชิลีก็เป็นหนึ่งในผู้พยายามตอบคำถามเหล่านั้น โดยงานที่โดดเด่นมาก ๆ ของเขาคือการสร้างSocial Housing ‘ครึ่งหลัง’ ซึ่งโดยปกติSocial Housing(ในชิลี)จะมีขนาดไม่ใหญ่มากไม่เกิน40ตร.ม. แต่สภาพที่ไม่ค่อยจะดีนักเนื่องจากความพยายามในการลดต้นทุนและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่หลากหลายได้ Alejandroจึงเสนอว่าแทนที่เราจะนำงบไปสร้างบ้านคุณภาพกลาง ๆ ทั้งหลัง แต่เลือกนำงบทั้งหมดไปสร้างบ้านที่มีคุณภาพสูงเพียงครึ่งหลัง โดยเลือกสร้างเฉพาะส่วนที่จำเป็นกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย แล้วเปิดพื้นที่อีกครึ่งนึงของบ้านให้ผู้อยู่อาศัยได้ต่อเติมตามความต้องการของเขาเสีย เพียงเท่านี้ก็สามารถตอบคำถามได้ทั้งเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง คุณภาพชีวิตและความต้องการที่หลายหลายของผู้อยู่อาศัย
credit: architectmagazine
2. Architecture that’s built to heal สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคน
เนื่องจากการระบบการเดินทางที่ล่าช้าและยากลำบากซึ่งส่งผลต่อการเข้ารับบริการด้านสุขภาพอันส่งผลให้ประเทศมาลาวีในทวีปแอฟริกาเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของบุตรตั้งแต่ในครรภ์สูงเกือบที่สุดในโลก ทางเลือกในการคลอดบุตรมีเพียงสองทางคือคลอดที่บ้านซึ่งความเสี่ยงสูงอันเกิดจากความไม่ชำนาญหรือเดินทางไปคลอดที่คลินิกอันห่างไกล
Mass Design Group เป็นบริษัทสถาปนิกแบบไม่แสวงหาผลกำไรที่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมสามารถฟื้นฟูผู้คนได้ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมือง โดยแนวทางของบริษัทจะเลือกใช้ระบบการก่อสร้างที่เรียกว่าLo-fab(Local fabrication)หรือการก่อสร้างด้วยเทคนิคพื้นถิ่นและช่างพื้นถิ่นเท่านั้น โดยหนึ่งในงานสร้างของMass Design Group ที่ต้องการจะตอบโจทย์คำถามที่กล่าวมาข้างต้นคือหมู่บ้านรอคลอด(Maternity Waiting Village) โดยการพยายามชี้ให้เห็นว่าการพยายามสร้างโรงพยาบาลสำหรับการคลอดบุตรให้แก่ทุกหมู่บ้านนั้นเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูง อีกปริมาณการตั้งครรภ์ของแต่ละหมู่บ้านไม่ได้สูงเพียงพอ ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกออกแบบหมู่บ้านรอคลอดซึ่งเป็นHubที่ออกแบบมาให้ผู้ที่มีอายุครรภ์6เดือนจากหมู่บ้านใกล้เคียงสามารถมาพักเพื่อเตรียมตัวก่อนกระจายตัวไปที่คลินิกคลอดเมื่อครบอายุครรภ์ ซึ่งการสร้างหมู่บ้านรอคลอดเพียงจุดเดียวก็สามารถตอบสนองความต้องการของหลายๆหมู่บ้านได้และอีกทั้งยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดูแลบุตรของหญิงตั้งครรภ์ในโครงการอีกด้วย
credit:architecture
3. มองมุมกลับปรับสี่แยก
สุดท้ายกลับมาที่ไทยกันบ้าง จริง ๆ บ้านเรามีบริษัทที่ทำงานเพื่อเมืองอยู่พอสมควร หนึ่งในนั้นคือCloud-floor กลุ่มสถาปนิกไฟแรงที่ผลิตงานออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยในเมืองออกมามากมาย เช่นWaste Side Story Pavilion ในงานBangkok Design week ปี 2018 ที่ชี้ประเด็นให้เห็นถึงปัญหาขยะในสังคมเมืองและความเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่ควรถูกนำไปใช้ประโยชน์หลังจากการรื้อถอน โดยตัวงานสร้างขึ้นจากหน่วยย่อยที่เป็นอิฐที่ถูกแปรรูปจากการบีบอัดพลาสติกมาประกอบขึ้นเป็นPavilion สูงราว6เมตรและครอบคลุมพื้นที่กว่า 180 ตารางเมตร ซึ่งเมื่อสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ถูกรื้อถอนไปแล้วเหล่าอิฐพลาสติกเหล่านี้ยังถูกออกแบบมาให้แปรรูปเป็นเก้าอี้สุดเก๋และนำไปใช้ต่อในอนาคตได้อีกด้วย
นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งโครงการที่ทำให้Cloud-floor มีชื่อเสียงขึ้นมาคือโครงการประกวดแบบที่ชื่อว่า Dense City งานออกแบบที่ตั้งคำถามถึงลำดับความสำคัญในการเข้าในงานพื้นที่ในเมืองระหว่างคนกับรถ โดยCloud-floorได้ชี้ประเด็นไปยังการมีอยู่ของสะพานลอยหรือทางเท้ายกระดับที่ยากต่อการใช้งานของผู้ใช้หลายๆกลุ่ม โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ทางผู้ออกแบบจึงเลือกมองมุมกลับให้ระดับผิวถนนกลางสี่แยกเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนทั่วไปรวมทั้งผู้สูงอายุหรือผู้พิการเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ควรจะได้รับความสำคัญและความสะดวกในการเข้าใช้พื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองมากกว่ารถยนต์และเลือกที่จะให้รถยนต์มุดลอดอุโมงค์ข้ามแยกใต้ดินแทน ซึ่งงานชิ้นนับได้ว่าเป็นการออกแบบเชิงทดลองที่ชูประเด็นเรื่องลำดับความสำคัญของสิทธิในการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองออกมาได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
credit:cloud-floor
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ การพัฒนาเมืองโดยนักออกแบบจึงต้องเริ่มปรับตัวให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน แต่อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาเมืองนั้นไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของนักออกแบบหรือผู้กำหนดนโยบายพัฒนาเมืองเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงการพัฒนาเมืองที่เริ่มจากผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองอีกด้วย หากมองว่าเมืองคือบ้านหลังใหญ่ที่จุคนมากมายมหาศาล การช่วยกันคนละไม้คนละมืออาจเป็นทางออกที่สำคัญที่จะช่วยให้เมืองของพวกเรานั้นน่าอยู่มากขึ้นไปอีก
โฆษณา