17 พ.ค. 2021 เวลา 04:34 • ความคิดเห็น
#วันนี้เราอ่านแล้วได้อะไรบ้าง
สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือ “Designing Your Work Life: คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่-งานที่ชอบ ด้วย Design Thinking”
เขียนโดยคุณ Bill Burnett และ Dave Evans
การที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรก็ตามแต่ ให้เราตั้ง “มาตรฐานต่ำไว้ก่อน” ครับ กล่าวคือ เราควรเริ่มจากการลงมือทำในสิ่งที่อยู่ในระดับขีดความสามารถที่เราทำได้ก่อนครับ จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยับขยายเลื่อน Level ของความยากขึ้นครับ
เหตุผลที่เราต้องเริ่มจากการ “ตั้งมาตรฐานต่ำไว้ก่อน”ก็เพราะว่า เราสามารถเห็น “ผลลัพธ์” จากสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้วได้ “ง่ายกว่า” นั้นเองครับ
การที่เราเห็น “ผลลัพธ์ลุล่วง” ประจักษ์แก่สายตาของเรา ย่อมเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีในตัวมันเองอยู่แล้วครับ ด้วยเหตุนี้นี่เองมันจึงเป็นการสร้าง “แรงใจ”ให้เราอยากลงมือกระทำในเป้าหมายที่เราตั้งไว้ต่อไปครับ
พอ “มาตรฐานที่ต่ำ” ได้รับการบรรลุผลแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะขยับขยายเป้าหมายของเราให้ไต่สูงขึ้นไปในอีกระดับหนึ่งแล้วครับ
หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า “ทำไมเราจึงไม่ควรตั้งมาตรฐานหรือเป้าหมายไว้ให้สูงตั้งแต่แรก?”
คำอธิบายที่กล่าวไปข้างต้นนั้นดูค่อนข้างสมเหตุสมผลและตรงไปตรงมาทีเดียวครับ “เป้าหมายหรือมาตรฐานที่สูง” ย่อมต้องลงมือลงแรงในการทำมากกว่าและแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จก็อาจจะมีไม่มากเท่า “เป้าหมายหรือมาตรฐานที่ต่ำ” ครับ
ยิ่งตั้งเป้าไว้สูง แล้วผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นไม่เป็นไปตามที่ใจหวัง แนวโน้มที่เราจะล้มเลิก หรือหยุดเดินต่อไปยังเป้าหมายก็จะยิ่งมีสูงขึ้นครับ
ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ก็คือ “ปณิธานปีใหม่” (หรือ New year’s resolution) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะจบลงในเพียงช่วงสองถึงสามเดือนแรก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้นั้นสูงมากไปนั้นเองครับ บวกับที่การเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น “มีความไม่ชัดเจน” ครับ
หลายคนอาจสงสัยว่า “ไม่ชัดเจน นี้คือยังไง?” คืออย่างนี้ครับ “เป้าหมายที่ดี” ควรเป็น “เป้าหมายที่ชัดเจน” กล่าวคือ ต้องเป็นเป้าหมายที่สามารถประเมินผลลัพธ์ได้ วัดค่าได้ครับ ตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะตั้งปณิธานไว้ว่า “ปีใหม่นี้ ฉันจะวิ่งให้มากขึ้น” ควรจะเปลี่ยนเป็น “ปีใหม่นี้ฉันจะวิ่งให้ได้สัก 5 กิโลเมตรต่อวัน เป็นเวลา 4 วันต่อสัปดาห์”
ดังนั้น เราไม่ควรดูแคลนการตั้งเป้าหมายไว้ในระดับ “มาตรฐานที่ต่ำไว้ก่อน” นะครับ เพราะว่า มาตรฐานต่ำ ๆ นี้แหละครับที่เป็น “ฐานสำคัญ” ของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครับ
อย่าลืมนะครับว่า “ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ล้วนเกิดจากความสำเร็จเล็ก ๆ ที่สั่งสมกันมาโดยตลอดอยู่เนืองๆ” นั้นเองครับ
โฆษณา