18 พ.ค. 2021 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์
คุณเคยคิดอยากมีสมุดวางแผนชีวิตเป็นของตัวเองไหมครับ?
สมุดที่เป็นเหมือนไกด์นำชีวิต ให้เป็นไปตามที่คุณต้องการ
หากคุณต้องการ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงล่ะก็ อ่านโพสต์นี้ให้จบก่อนครับ แล้วคุณจะมีแนวทางไปปรับใช้เป็นของตัวเองอย่างแน่นอน 😇
3 ระบบที่ผมใช้ ในการทำสมุดจดวางแผนชีวิต
สวัสดีทุกคนครับ ยินดีต้อนรับสู่วันอังคารอันแสนสดใส (หรือเปล่า)
เข้าสู่ Quarter ที่ 3 ของเดือนกันแล้ว ไหนใครทำงานของตัวเองสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์กันแล้วครับ ของผมยังเพิ่ง 30% เท่านั้นเอง
วันนี้ผมเอาวิธีการที่ผมเขียนสมุดชีวิตมาฝากกันครับ
สมุดชีวิต เป็นสมุดที่ผมจะเขียนทุกสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในชีวิต ไดอารีประจำวัน กำหนดแผนงานต่าง ๆ รวบรวมคลังคำศัพท์ที่เห็นแล้วโดนใจ จดไอเดียเขียนบทความ และความคิดต่าง ๆ ที่คิดอยู่บนหัว ผมก็จะจดลงสมุดชีวิตเล่มนี้ทั้งหมด
ซึ่งข้อดีของการมีสมุดชีวิต คือผมไม่ต้องพะวงว่าจะลืมสิ่งสำคัญ เพราะจดออกมาเป็นตัวอักษรหมดแล้ว ถ้าเผลอลืมไป ก็กลับมาทบทวนได้ทุกเมื่อ และยังเป็นการออกแบบไลฟ์สไตล์ที่ต้องการได้ง่าย ๆ อีกด้วย
เรียกได้ว่ามันเป็นทั้งชีวิตของผมเลย
แต่กว่าจะได้เป็นระบบสมุดชีวิตที่ลงตัวกับผมได้นั้น ต้องใช้เวลาศึกษา ลองผิดลองถูกอยู่นาน บางระบบ บางแนวคิด ผมทดลองใช้เองก็ปรากฎว่าไปไม่รอด
วันนี้ผมจะมาแชร์ 3 ระบบที่ผมหยิบยกนำมาใช้ ปรับแต่งจนกลายเป็นสมุดจดวางแผนชีวิตอันแสนลงตัวของตัวเอง
เริ่มที่...
1. ระบบ Bullet Journal
บูลเล็ดเจอร์นัล หรือบูโจ (BuJo) เป็นระบบที่โด่งดังมาได้ซักพักแล้ว ผมชอบคอนเซ็ปต์ของระบบนี้ตรงที่มันให้เราใช้สมุดเพียงเล่มเดียวจดทุกอย่าง คุณไม่ต้องมีสมุดเยอะ กองเป็นเนินพะรุงพะรัง จะหยิบมาใช้ซักทีก็คิดแล้วคิดอีก ว่าหยิบมาตรงกับเรื่องที่จะเขียนมั้ย
ผมใช้แนวคิดบูโจเป็นโครง หรือก้างหลักของสมุดชีวิต หลัก ๆ แล้วก็จะมี บันทึกประจำปี/เดือน/วัน
ส่วนที่ผมชอบมากของระบบนี้ คือหน้า Index หน้าสารบัญของสมุด ผมอึ้ง ไม่เคยคิดมาก่อนว่าสมุดจะทำหน้าสารบัญได้
เพราะสมุด พอเราจดไปเรื่อย ๆ หน้ามันก็จะเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัว การจะกลับมาทบทวน หรือหาไอเดียที่เคยจดไว้ ก็ดูจะเป็นอะไรที่ยากลำบาก
การทำหน้า Index จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะมันสามารถใช้เป็นหน้าเริ่มต้นเพื่อสอดส่องหาหัวข้อที่ต้องการ ก่อนที่จะพลิกหน้าไปยังเนื้อหาที่จดไว้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ได้ทันที
แต่ข้อเสียคือ ต้องมานั่งเขียนเลขหน้ากันทุกหน้า เพราะสมุดทั่วไปมักไม่มีเลขหน้ามาให้
นอกจากการเขียนสมุดชีวิตแล้ว ผมเอาแนวคิดการเขียนหน้าสารบัญกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย
อย่างการอ่านหนังสือ ผมจะมีการขีดเส้นใต้คำสำคัญ แล้วทีนี้ถ้าจะกลับมาหาอ่านที่ขีดไว้ก็ดูจะเป็นการงมเข็มในมหาสมุทร
การนี้ ผมก็ทำ Index ขึ้นมาเลย โดยเขียนหน้าที่ขีดเส้นใต้ ลง Post It แล้วนำไปแปะไว้ที่หน้าแรกของหนังสือ
ที่นี้พอผมอยากทบทวน ผมก็แค่เปิดหน้า Index ก็สามารถพลิกหน้าหนังสือไปหาส่วนที่ต้องการได้ทันที
 
2. OKRs
1
โอเคอาร์ หรือ Object and Key Results เป็นระบบการวัดผลองค์กร โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานในองค์กรมีแรงจูงใจ อยากที่จะลุกขึ้นมาทำงานในทุก ๆ วัน
ฟังดูเป็นจุดประสงค์ที่ดูจะเพ้อเจ้อ หรือโลกสวยไปหน่อยสินะ คนเราจะไปอยากทำงานได้ยังไง
 
จริงอยู่ที่แรก ๆ ก็คงกระตือรือร้นอยากทำงาน แต่พอเวลาผ่านไป จากที่เป็นพ่อหนุ่ม หรือแม่สาวไฟแรง เพียงชั่วประเดี๋ยวก็กลายเป็นพนักงานทั่วไปที่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ชีวิตดีขึ้นนิดนึงแค่วันที่เงินเดือนออก
หากคุณคิดเช่นนี้ อย่าเพิ่งครับ เพราะระบบนี้เป็นระบบที่ใช้ได้ผลมาแล้ว โดยองค์กรชื่อดังระดับโลกอย่าง Google
ซึ่งส่วนที่ผมชอบ และหยิบยกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของสมุดชีวิต คือ Key Result หรือเกณฑ์วัด
เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราตั้งเป้าหมายขึ้นมา แต่ไม่มีขั้นตอนของการประเมินผล มันก็จะทำให้ตัวเองเฉื่อย ไม่มีแรงจูงใจให้ทำสิ่งนั้น ๆ ได้ตลอดรอดฝั่ง เนื่องด้วยเจ้าตัวไม่ได้คิดไว้ก่อน ว่างานที่ตัวเองจะทำนั้น ต้องทำเยอะขนาดไหน เสร็จเมื่อไหร่ หรือคุณภาพต้องดีขนาดไหน
1
Key Result จึงมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างชะงักงันนัก
ยกตัวอย่างหนึ่งใน OKR ของผมเอง คือการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ โดยจะเป็นเป้าหมายประจำเดือนของผมเอง มีวิธีวัดผลดังนี้
เขียนโพสต์ลง Blockdit 10 โพสต์
ทำคลิปลง Youtube 10 คลิป
เขียนบทความลงเว็บไซต์ 10 ตัว
มียอดติดตามเพิ่มขึ้น 100 คน (รวมทุกช่องทาง)
เป็นต้น
ระบบ OKR ผมนำมาปรับแต่งใช้ในสมุดชีวิต โดยเขียนใส่ลงในหน้าบันทึกประจำปี/เดือน โดยเอาจุดเด่นของการวัดผลที่มีประสิทธิภาพของระบบนี้ มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตที่ผมตั้งไว้ คือ
ใช้ชีวิตอิสระ ภายใต้ข้อจำกัดที่เราสร้างเอง
3. Less is More
เลสอิสมอร์ หรือ ทำน้อยให้ได้มาก เป็นแนวคิดที่ผมเชื่ออย่างหมดใจ
การทำน้อยให้ได้มาก คือการตัดสินใจเลือกทำแต่สิ่งสำคัญ และเลือกตัดสิ่งไม่สำคัญทิ้งไปจากชีวิต
1
ผมนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับสมุดชีวิตทั้งเล่ม คือผมจะไม่เขียนอะไรเว่นเว้อร์ ทุกอย่างจะต้องคิดอย่างรอบคอบ ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้สำคัญกับชีวิตขนาดไหน
การวางเป้าหมายในชีวิตก็ไม่ควรมากเกินไป เพราะคอนเซ็ปต์ Less is More คือ ยิ่งคุณมีเป้าหมายน้อยเท่าไหร่ คุณจะยิ่งโฟกัสกับมัน จนประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม
และการอธิบายหัวข้อนี้เพียงเท่านี้ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม เพราะตัวอักษรเหล่านี้บอกเล่าคำอธิบายที่เป็นแกนหลักได้อย่างหมดจด
1
“น้อย แต่ เยอะ”
1
โดยสรุป การทำสมุดชีวิตของผม คือการสร้างสมุดที่ผมอยากจะจดอะไรก็ได้ โดยที่มีระบบระเบียบชัดเจน เมื่อต้องการอ่านทบทวน หรือนำเนื้อหาที่จดไปใช้ ก็สามารถเปิดหาอ่านได้อย่างรวดเร็ว ผมจึงเลือกใช้ Bullet Journal ที่มี Index เป็นก้างหลักของเล่ม
อีกทั้ง ผมยังเอาระบบ OKR มาใช้ โดยเน้นที่ตัวการวัดผลของเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้ผมมีแรงจูงใจทำสิ่งนั้น ๆ ได้อย่างตลอดลอดฝั่ง
สุดท้ายคือแนวคิด Less is More ที่จะเป็น Whole ทั้งหมดของเล่ม เป็นจักรวาลหลักของชีวิตที่ผมเชื่ออย่างหมดใจ และพยายามทำตาม เพื่อชีวิตอันเสนเรียบง่ายและสบายใจ
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับ 3 แนวคิด และวิธีการ ที่ผมนำมาใช้ในการเขียนสมุดชีวิต คุณเห็นด้วยหรือไม่ด้วยประการใดก็ตาม คอมเมนต์แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
คุณสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ https://ghankman.com/ (แต่สารภาพว่าตอนนี้ Active ที่ Blockdit มากกว่า)
หาอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดทั้ง 3 ข้างต้น ได้ที่หนังสือ 3 เล่ม ดังนี้
1
● THE BULLET JOURNAL METHOD โดย Ryder Carroll
● Personal OKR โดย ศ.ดร.นพดล ร่มโพธิ์
● The Power of LESS โดย Leo Babauta
(เล่มนี้ผมยกนิ้วให้เลย ว่าเป็นหนังสือแนวพัฒนาตัวเองที่ดีที่สุด ใช้คำง่าย ๆ แต่เข้าใจลึกซึ้ง ผมเช็คร้านค้าออนไลน์หมดแล้ว เหลือของคิโนะเจ้าเดียวที่ยังมี Stock)
สนับสนุนผม เพื่อให้มีกำลังใจทำผลงานต่อไป
สุดท้ายนี้ หวังว่าคุณจะมีสมุดชีวิตคู่ใจซักเล่มนะครับ ^ ^
โฆษณา