29 พ.ค. 2021 เวลา 12:10 • ประวัติศาสตร์
“กวางจู” สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้
1
ในยุคสมัยที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยจักรวรรดินิยม ทุนนิยมและระบบการค้าโลก
ความไม่เท่าเทียมของจักรวรรดินิยมและทุนนิยมได้สร้างอุดมการณ์ 3 อุดมการณ์ให้มาต่อสู้กันเพื่อทำลายระบบที่เอารัดเอาเปรียบนี้...
เสรีประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ และฟาสซิสต์ ได้ขับเคี่ยวกันเพื่อขึ้นมาเป็นหนึ่งเดียวแทนที่จักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ 20
ฟาสซิสต์ได้ปราชัยไปเมื่อจักรวรรดิไรซ์ที่ 3  (นาซีเยอรมนี) และจักรวรรดิญี่ปุ่นถูกทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ 2
เหลือเพียงประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ที่ยังคงขับเคี่ยวกันต่อ...
และสุดท้ายคอมมิวนิสต์ก็ได้พ่ายแพ้ไปหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
เหลือเพียงเสรีประชาธิปไตยที่เป็นผู้ขับเคลื่อนโลกในปัจจุบัน
ประชาธิปไตยได้ถูกพยายามสร้างให้เป็นอุดมการณ์สากลที่ทันสมัยตั้งแต่ที่ขับเคี่ยวกับคอมมิวนิสต์
และอุดมการณ์หรือการปกครองแบบอื่นได้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยโดยเฉพาะอำนาจนิยมและเผด็จการ
1
ทำให้กระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้กระจายและสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลกในช่วงหลังศตวรรษที่ 20
การปฏิวัติเอ็ดซาในฟิลิปปินส์...
1
14 ตุลา ในไทย...
1
การโค่นล้มซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย...
3
8888 ในพม่า...
เทียนอันเหมินในจีน...
ทุกท่านครับ ผมกำลังจะเล่าเรื่องราวของประเทศๆหนึ่งในทำนองเดียวกันนี้
ประเทศที่อยู่ท่ามกลางสมรภูมิการต่อสู้ของประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์...
ประเทศที่ถูกแบ่งแยกและกำหนดแนวทางโดยมหาอำนาจ...
ประเทศที่ถูกกดขี่ด้วยความไม่เป็นธรรมของเผด็จการและอำนาจนิยม...
ประเทศที่คลื่นของประชาธิปไตยได้ก่อตัวขึ้นตามกระแสของอุดมการณ์สากล...
1
ประเทศที่ได้เกิดเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก...
1
ประเทศที่ได้สร้างประชาธิปไตยให้เป็นอุดมการณ์หลักและเป็นสากลจากเหตุการณ์นั้น...
และนี่ คือเรื่องราว “กวางจู” สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ภาพจาก ภาพยนตร์ May 18
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไป เกาหลีซึ่งแต่ก่อนถูกญี่ปุ่นเข้าครอบครองได้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของสหรัฐอเมริกาและโซเวียต
ทั้ง 2 มหาอำนาจได้ตกลงกันแบ่งเขตอิทธิพลของเกาหลีออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ
เหนือเส้นขนานขึ้นไปให้อยู่ภายใต้การควบคุมของโซเวียต...
ใต้เส้นขนานลงมาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกา...
ซึ่งการแบ่งแยกครั้งนี้แน่นอนครับว่าในตอนแรกเป็นการแบ่งแยกเพียงชั่วคราว แต่สถานการณ์ในกาลอนาคตได้ทำให้การแบ่งแยกนี้เป็นการแบ่งแยกอย่างถาวร...
ทั้ง 2 มหาอำนาจที่เข้าควบคุมเกาหลี ก็ต่างมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันจนกลายเป็นสงครามการต่อสู้ของอุดมการณ์ที่เรียกว่าสงครามเย็น
1
สหรัฐอเมริกาได้ขับเคลื่อนด้วยเสรีประชาธิปไตย
สหภาพโซเวียตได้ขับเคลื่อนด้วยคอมมิวนิสต์
ทั้ง 2 มหาอำนาจได้ทำการควบคุมหรือแทรกแซงประเทศต่างๆในโลกให้ขับเคลื่อนอุดมการณ์ตามแบบของตนเอง
1
การเข้าควบคุมเกาหลีเหนือของโซเวียต ได้แปรเปลี่ยนให้เส้นทางของเกาหลีเหนือขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของคอมมิวนิสต์ + เผด็จการ + ลัทธิจูเช่
1
การเข้าควบคุมเกาหลีใต้ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้แปรเปลี่ยนให้เส้นทางของเกาหลีใต้ขับเคลื่อนด้วยเสรีประชาธิปไตย
แต่ทว่า ในภายหลังนั้นเส้นทางเสรีประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ก็ได้หยุดชะงักลง
แต่กลับหันเหเข้าสู่เส้นทางของอำนาจนิยมและเผด็จการ...
1
เพราะสหรัฐอเมริกามองว่าการที่เกาหลีใต้มีรัฐบาลแบบเผด็จการจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ในด้านยุทธศาสตร์สงครามเย็นของสหรัฐอเมริกามากกว่า...
ดังนั้น เส้นทางของเกาหลีใต้จึงเป็นเส้นทางของการต่อสู้ระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย ซึ่งกินระยะเวลาเกือบ 50 ปี...
1
ภาพจาก Liberty in North Korea (การแบ่งแยกเกาหลีทำให้เส้นทางของทั้งสองเกาหลีแตกต่างกัน)
หลังจากแบ่งแยกเกาหลีตามเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือแล้ว ใน ค.ศ.1948 ก็ได้มีการสถาปนารัฐบาลเกาหลีใต้ขึ้นมา แล้ว UN ก็ให้การรับรองว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ครอบครองคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมดอย่างเป็นทางการ
เมื่อเป็นแบบนี้แล้วฝ่ายเกาหลีเหนือที่นำโดยคิมอิลซุงก็ไม่ยอมสิครับ ทำให้เกิดเป็นสงครามเกาหลีที่เป็นผลทำให้เกิดการแบ่งแยกเกาหลีออกจากกันแทบจะถาวร...
2
คราวนี้ เรามาพูดถึงเกาหลีใต้กันครับ...
ก่อนที่จะมีการสถาปนารัฐบาลขึ้นมานั้น UN (ที่นำโดยอเมริกา) ได้ให้เกาหลีใต้จัดการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญหรือที่เกาหลีเรียกว่า “แทฮันมินกุก (Daehanminguk)” โดยผู้แทนที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเรียกว่า สมัชชาแห่งชาติ
เมื่อสมัชชาแห่งชาติได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ให้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี คือ ชายที่ชื่อว่า ซึงมันรี นั่นเองครับ
ซึงมันรี ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาแล้วมีการสถาปนารัฐบาลเกาหลีใต้ที่รับรองโดย UN ในที่สุด...
1
ซึงมันรี ถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้เลยครับ โดยตัวของซึงมันรีนั้นเคยเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของเกาหลีที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อต่อสู้กับการยึดครองเกาหลีของญี่ปุ่น และได้ร่วมมือกับอเมริกาต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
ถือได้ว่า ซึงมันรีคือวีรบุรุษที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อชาติเกาหลีโดยแท้...
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจซักเท่าไหร่เลยครับ ที่ซึงมันรีจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเพื่อนำเกาหลีใต้ไปสู่แนวทางแบบสหรัฐอเมริกา
ภาพจาก US Embassy Seoul (ดักลาส แมคอาเธอร์และซึงมันรี ประธาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้)
ในช่วงแรกที่เริ่มตั้งรัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบานสุดๆเลยล่ะครับ
การเลือกตั้งเป็นไปอย่างขาวสะอาด ผู้นำก็ขึ้นมาแบบขาวสะอาดปราศจากอำนาจมืดใดๆ...
2
แต่เมื่อซึงมันรีได้ดำรงตำแหน่งไปจนจะครบวาระ 4 ปีแล้วนั้น ชายผู้เป็นวีรบุรุษก็เริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีของตนเองเพราะต้องการรักษาอำนาจเอาไว้...
เริ่มแรกซึงมันรีได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ค.ศ.1951 คือ “การเลือกประธานาธิบดีให้ประชาชนเป็นผู้เลือกโดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้แทนอีกแล้ว”
แน่นอนครับว่าสมัชชาแห่งชาติได้คัดค้านปัดตกข้อเสนอนี้ไป เพราะตัวของสมัชชาแห่งชาติเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งหากร่างนี้ผ่าน “อำนาจของสมัชชาจะตกไปอยู่ที่รัฐบาลแทบทั้งหมด” ทำให้หลักการถ่วงดุลอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยจะล่มสลายลง
แต่ถึงแม้ร่างจะตกไป ซึงมันรีก็ไม่ละความพยายามครับ ในค.ศ.1952 ก็มีการยื่นร่างแบบเดิมอีก แต่คราวนี้มีแผนการและชั้นเชิงเหนือยิ่งกว่าครั้งที่แล้ว
ซึงมันรีได้เสนอร่างในช่วงเวลาที่ประเทศอยู่กลางสมรภูมิของสงครามเกาหลี โดยใช้ข้ออ้างของสงครามประกาศกฎอัยการศึกขึ้นมาที่เมืองปูซาน (ที่ตั้งของที่ทำการรัฐบาลขณะนั้น)
เมื่อประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ซึงมันรีก็ทำการขู่บังคับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติให้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ!
2
สุดท้าย รัฐธรรมนูญก็ได้รับการแก้ไขและซึงมันรีก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง และขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ระบบถ่วงดุลอำนาจถูกทำลายลง รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดและได้นำเกาหลีใต้เข้าสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมและเผด็จการพลเรือนในที่สุด...
ภาพจาก Wikipedia (สงครามเกาหลี)
เมื่อมีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ซึงมันรีก็ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัดวาระ (เดิมคือ 2 วาระ)
ทำให้ใน ค.ศ.1956 ซึงมันรีก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3
1
แต่ทว่าในช่วงเวลานี้ประชาชนเริ่มไม่มั่นใจในซึงมันรีซะแล้วล่ะครับ เพราะเริ่มรับรู้แล้วว่าสิ่งที่ซึงมันรีทำเพียงแค่รักษาอำนาจของตนเองไว้ ไม่ได้ทำเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศเลย...
ซึงมันรีไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง...
จำกัดเสรีภาพทางการพูดและการคิด โดยการจับกุมกักขังผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล...
3
ทำให้ก่อนการเลือกตั้งปี ค.ศ.1960 คะแนนความนิยมของซึงมันรีก็ดิ่งลงเหว
ตัวของซึงมันรีกลัวที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง จึงทำการโกงการเลือกตั้งมันซะเลย!
1
การเลือกตั้งใน ค.ศ.1960 จึงพบการทุจริตการเลือกตั้งแบบมโหฬาร
ทั้งการยัดไส้บัตรเลือกตั้ง...
ทำให้บัตรเลือกตั้งของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกลายเป็นบัตรเสีย...
เซนเซอร์การหาเสียงของฝ่ายตรงข้าม...
2
ใช้ตำรวจที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเข้าควบคุมหน่วยเลือกตั้ง...
ซึ่งผลปรากฏว่า ซึงมันรีก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง...
ทำให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายค้านออกมาชุมนุมโจมตีการโกงเลือกตั้งของรัฐบาลที่เมืองมาซาน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ตำรวจได้เข้าควบคุมและยิงผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 8 คน
1
อีกทั้งในเวลาต่อมาได้มีการพบศพนักศึกษาที่มีร่องรอยการทรมาน และมีการสืบสาวจนพบว่าผู้กระทำคือตำรวจ
เหตุการณ์เหล่านี้จึงทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกาหลี มีการประนามการกระทำของตำรวจ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่
2
ซึงมันรีจึงแก้ปัญหาโดยใช้กำลังอีกครั้ง ส่งตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยการเข้าทำร้ายและยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตร่วมร้อยคน
1
แต่การกระทำป่าเถื่อนของรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้การชุมนุมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ซึงมันรีเห็นท่าไม่ดี จึงไปขอให้กองทัพเข้ามาช่วย แต่ทว่ากองทัพปฏิเสธครับ เพราะไม่อยากทำร้ายประชาชนเหมือนตำรวจ...
3
ซึงมันรีจึงหันไปหาพี่ใหญ่อย่างอเมริกาให้เข้ามาช่วย แต่อเมริกากลับบอกว่า “เหตุการณ์มันบานปลายเกินกว่าจะแก้ไขไปแล้ว!”
ทั้งการกดดันจากประชาชน...
2
ทหารก็ไม่ช่วย...
1
สหรัฐอเมริกาก็เท...
1
ซึงมันรีจึงตัดสินใจลาออกแล้วลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในที่สุด
2
การโค่นล้มอำนาจของซึงมันรี ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของนักศึกษาและปัญญาชนโดยแท้จริง และได้เรียกเหตุการณ์การโค่นล้มอำนาจซึงมันรีนี้ว่า...
“การปฏิวัติเดือนเมษายน (Apirl Revolution)”
ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่จบอำนาจเผด็จการพลเรือนของซึงมันรีแบบถอนรากถอนโคน
แต่ทว่า หลังหมดขั้วอำนาจของซึงมันรี ก็ได้มีขั้วอำนาจใหม่ที่เริ่มเข้ามาแทนที่...
โดยขั้วอำนาจที่ว่า ก็คือ “กองทัพ” ซึ่งจะแปรเปลี่ยนให้เกาหลีใต้เข้าสู่เส้นทางของเผด็จการทหารแทนนั่นเองครับ...
ภาพจาก Seoul National University ( การปฏิวัติเดือนเมษายน ค.ศ.1960)
ภาพจาก Guest of Popular Feeling (กองกำลังตำรวจของซึงมันรี)
ภาพจาก Guest of Popular Feeling (การสลายการชุมนุมของตำรวจ)
หลังการปฏิวัติเดือนเมษายน ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอำนาจของรัฐบาลและประธานาธิบดีลง โดยให้ประธานาธิบดีเป็นเพียงประมุข และให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
และการเลือกตั้งใหม่ ก็ได้ยุนโพซอนเป็นประธานาธิบดี และชางเมียนเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้นำในการบริหารประเทศ
แต่ทว่ารัฐบาลของชางเมียนนั้นมีความอ่อนแอ เนื่องจากถูกลดอำนาจลงทำให้ไม่สามารถจะปฏิรูปประเทศตามที่ประชาชนเรียกร้องได้
การที่รัฐบาลมีความอ่อนแอนั้น ทำให้ความมั่นคงภายในของเกาหลีใต้เริ่มสั่นคลอน อีกทั้งสงครามเกาหลีพึ่งจบลงไปได้ไม่นาน และสภาพของสงครามเย็นเริ่มเข้าสู่จุดพีค
ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและฝ่ายกองทัพเกาหลีใต้จึงเริ่มไม่มั่นใจในรัฐบาลของชางเมียน เพราะความอ่อนแออาจทำให้แนวคิดฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์เติบโตจนเข้าแทรกแซงเกาหลีใต้ได้
ดังนั้น กองทัพที่นำโดยพัคจุงฮีจึงทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลใน ค.ศ.1961 โดยอ้างเหตุผลว่า “เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ” และ “ที่ยึดอำนาจไม่ได้เพราะทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เมื่อสร้างความมั่นคงได้แล้วก็พร้อมที่จะถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนต่อไป”
12
แต่หลังจากรัฐประหารนั้น พัคจุงฮีก็ได้ประกาศใช้กฎหมายในการสกัดนักการเมืองไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามในกิจกรรมทางการเมือง 6 ปี และจับกุมฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งจุดประสงค์จริงๆของกฎหมายนี้คือเป็นการปูทางให้พัคจุงฮีเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนต่อไปนั่นเองครับ...
3
แต่แผนการณ์ของพัคจุงฮีเป็นอันต้องพับลงไป เมื่อมีประชาชนเกาหลีใต้ออกมาต่อต้านคณะรัฐประหาร พร้อมโจมตีกดดันอเมริกาว่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร
ทางสหรัฐอเมริกาไม่อยากเจอเรื่องยุ่งยากในเกาหลีใต้ซักเท่าไหร่ จึงมาลงที่พัคจุงฮี โดยการกดดันให้พัคจุงฮี “จัดการเลือกตั้งขึ้นมาซะ! แล้วคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนไป ไม่งั้นไม่ให้เงินใช้นะ” (งบประมาณแผ่นดินของเกาหลีใต้มากกว่า 50% มาจากเงินช่วยเหลือของอเมริกา)
1
ดังนั้น พัคจุงฮีจึงเปลี่ยนแผนโดยได้ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดี และเริ่มวางอำนาจกลไกของตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญ พัคจุงฮีและกองทัพได้เข้าควบคุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อปูทางให้ตนเองได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
เมื่อพัคจุงฮีมั่นใจแล้ว จึงประกาศลาออกจากกองทัพเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แล้วให้มีการเลือกตั้งใน ค.ศ.1963 ซึ่งสุดท้ายก็เป็นไปตามที่หวังไว้ครับ “พัคจุงฮีชนะการเลือกตั้งและขึ้นเป็นประธานาธิบดีในที่สุด”
4
และเมื่อดำรงไปครบ 1 วาระ คือ 4 ปี ก็ได้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ใน ค.ศ.1967 ด้วยกลไกในรัฐธรรมนูญที่วางไว้และการควบคุมสมัชชาแห่งชาติ ก็ทำให้พัคจุงฮีชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2
1
แต่เมื่อกำลังจะหมดวาระในสมัยที่ 2 เหตุการณ์ก็เหมือนกับเดจาวูครับ เมื่อพัคจุงฮีได้ทำเหมือนกับซึงมันรี คือเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสามารถเลือกตั้งในวาระที่ 3 ได้
1
ซึ่งแน่นอนครับว่าได้มีประชาชนออกมาต่อต้านอย่างหัวเด็ดตีนขาด โจมตีว่าพัคจุงฮีพยายามรักษาอำนาจของตัวเองไว้ ไม่ทำตามกติกาของรัฐธรรมนูญ
แต่ทว่า รัฐบาลก็ไม่สนใจครับ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนสำเร็จ...
คราวนี้แหละครับ กระแสความไม่พอใจก็เริ่มระเบิดขึ้นอีกครั้ง เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกันอย่างครึกโครม
สถานการณ์แบบนี้จึงทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่อย่างคิมแดจุงได้ผงาดขึ้นมาและได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ค.ศ.1971
พัคจุงฮีเห็นแบบนั้นจึงเริ่มร้อนๆหนาวๆขึ้นมาสิครับ และในที่สุดจึงตัดไฟแต่ต้นลมโดยการรัฐประหารตนเอง และประกาศภาวะฉุกเฉิน!
มีการงดใช้รัฐธรรมนูญ ยุบสมัชชาแห่งชาติ ยกเลิกพรรคการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดทันที!!
หลังจากนั้นก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วให้ประชาชนลงประชามติ ทั้งที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอยู่นั่นแหละครับ!
2
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงผ่านประชามติมาอย่างง่ายดาย
โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญยูชิน (Yushin Constitution)” ซึ่งนำพาเกาหลีใต้เข้าสู่ระบอบยูชินนั่นเองครับ
ภาพจาก Wikipedia (การรัฐประหาร 1961 โดยพัคจุงฮี)
ภาพจาก ABC News (ประธานาธิบดีพัคจุงฮี)
รัฐธรรมนูญยูชิน ได้รวบอำนาจเข้าสู่ตัวของพัคจุงฮีอย่างเต็มรูปแบบ มีการเซนเซอร์สื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ต่อตานรัฐธรรมนูญยูชิน พร้อมจับผู้ที่ต่อต้านอำนาจของรัฐบาลยัดเข้าคุก
การขับเคลื่อนด้วยระบอบยูชินทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาครับ เพราะการรวบอำนาจทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ระบบการสั่งงานหรือทำงานล่าช้า การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็ว การส่งออกชะลอตัว หนี้จากต่างประเทศสูงขึ้น เงินเฟ้อก็สูงขึ้นเช่นเดียวกัน จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ภายใต้การนำของเผด็จการ...
4
ความล้มเหลวของรัฐบาลและวิกฤตเศรษฐกิจทำให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า “แชยา (Chaeya)” ซึ่งรวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาลและรัฐธรรมนูญยูชิน
การเคลื่อนไหวของแชยา ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมขึ้นมา การชุมนุมได้เริ่มผุดขึ้นในหลายๆเมืองของเกาหลีใต้จนไปสู่จุดพีคใน ค.ศ.1978
เมื่อมีการนัดหยุดงานของแรงงานหญิงบริษัท YH Trading ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ...
เมื่อการชุมนุมเริ่มบานปลาย รัฐบาลจึงตัดสินใจให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนั่นแหละครับ!
ผลคือมีผู้บาดเจ็บนับสิบคน และมีแรงงานหญิงเสียชีวิต 1 คน!
คราวนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นประชาชนเริ่มตระหนักแล้วว่า “ระบอบยูชินและเผด็จการพัคจุงฮีมันโหดร้ายแค่ไหน”
เป็นผลทำให้เกิดการลุกฮือที่ใหญ่กว่าเดิมของประชาชนออกมาต่อต้านเผด็จการพัคจุงฮี...
ฝ่ายรัฐบาลก็สู้ตายเพื่อรักษาตำแหน่งของตนเองไว้ มีการสั่งกองกำลังเข้าปะทะกับผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่ ทำให้เหตุการณ์เริ่มรุนแรงบานปลายไปเรื่อยๆ...
2
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ภายในรัฐบาลเองก็เกิดการทะเลาะกันเองครับว่า “ทำแบบนี้มันดีแล้วใช่มั้ย?” แต่ทางฝั่งพัคจุงฮีก็ยังคงไม่ยอมอ่อนข้อต่อไป
1
จนกระทั่งคืนวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1979 ณ บ้านพักประธานาธิบดี เสียงปืนก็ได้ดังขึ้นหลายนัด โดยผลปรากฏว่า...
4
พัคจุงฮีพร้อมหัวหน้ารักษาการณ์ ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต โดยหัวหน้ารักษาการณ์มีรอยกระสุนหลายนัด และพัคจุงฮีมีรอยกระสุนที่หน้าผาก...
ซึ่งผู้ก่อเหตุลอบสังหาร คือ คิมแจกิล ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติซึ่งเป็นคนสนิทที่พัคจุงฮีไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่งนั่นเองครับ...
โดยแรงจูงใจนั้นเป็นเพราะเหตุผลส่วนตัว...
หรือเป็นเพราะทนไม่ไหวกับการกระทำของพัคจุงฮีที่ทำต่อประชาชน...
1
หรือจะเป็นแผนการเบื้องหลังของกลุ่มบางกลุ่มที่อยากจะเก็บพัคจุงฮี...
จะเป็นแบบไหนน้ันเราก็ไม่อาจรับรู้ได้แน่ชัด...
แต่ที่รู้ได้อย่างชัดเจน คือ “การตายของพัคจุงฮีนั้นไม่ได้เป็นการตายของอำนาจเผด็จการในเกาหลีใต้ แต่กลับเป็นการเกิดใหม่ของอำนาจเผด็จการที่โหดร้ายยิ่งกว่า...”
ภาพจาก Korea now (คิมแดจุง มือสังหารพัคจุงฮี)
หลังการตายของพัคจุงฮี ทำให้ชอยคิวฮา นายกรัฐมนตรีต้องขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการณ์...
โดยการตายของพัคจุงฮีทำให้การชุมนุมในเมืองต่างๆได้สงบลง เพราะประชาชนต่างมั่นใจและมีความหวังว่า รัฐบาลใหม่จะปฏิรูปประเทศและยกเลิกรัฐธรรมนูญยูชิน
แต่ทว่า รัฐบาลของชอยคิวฮานั้นแทบจะไม่มีอำนาจและความมั่นคง ทำให้ฝ่ายกองทัพเริ่มหวั่นใจกับความอ่อนแอนี้ และกลัวว่าจะถูกคอมมิวนิสต์เข้าแทรกแซงได้
ซึ่งสุดท้ายก็เข้าอีหรอบเดิมครับ...
กองทัพภายใต้การนำของชอนดูฮวาน และ โรแดวู ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลใน ค.ศ.1979 พร้อมประกาศกฎอัยการศึกขึ้นทั่วประเทศ!!
1
จากการยึดอำนาจและประกาศกฎอัยการศึกทำให้ชอนดูฮวานกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเกาหลีใต้
คราวนี้ประชาชนเกาหลีที่เพิ่งหยุดประท้วงและสลายการชุมนุมไปก็พากันตะลึงสิครับว่า “มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้กันแน่!”
และแล้วกระแสความไม่พอใจได้กลับมาอีกครั้ง มีการชุมนุมกว่าแสนคนในกรุงโซล เพื่อเรียกร้องให้ชอนดูฮวานลาออกจากผู้บัญชาการทหาร ซึ่งผู้ชุมนุมเชื่อว่าชอนดูฮวานจะทำตามจึงหยุดการชุมนุมทันทีที่เสนอข้อเรียกร้อง...
แต่เหล่าผู้นำทหารเมื่อได้อำนาจมาแล้วมีหรือที่จะยอมลงง่ายๆ!
5
ว่าแล้วชอนดูฮวานและกลุ่มผู้นำทหารก็ได้ทำการยกเลิกคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติ รวบอำนาจทั้งหมดเข้าสู่ตัวของชอนดูฮวานพร้อมสั่งปิดมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ!”
ไม่พอยังจับกุมคิมแดจุงซึ่งเป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้าและเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายค้าน (คนเดียวกันกับได้คะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อ ค.ศ.1971 นั่นแหละครับ)
แต่การจับกุมคิมแดจุงได้ทำให้ชาวเมืองกวางจูไม่พอใจอย่างมาก เพราะคิมแดจุงเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองกวางจูสูงมาก
ทำให้เหล่านักศึกษาและปัญญาชนในกวางจูได้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอำนาจของชอนดูฮวานโดยไม่สนใจกฎอัยการศึกใดๆทั้งสิ้น!
1
ฝ่ายชอนดูฮวานเห็นท่าไม่ดี “หากกวางจูลุกขึ้นมาสู้แล้ว กระแสการชุมนุมคงจะลุกลามไปทั่วประเทศจนกฎอัยการศึกก็เอาไม่อยู่เป็นแน่!”
ดังนั้น ต้องจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้ชุมนุมในเมืองกวางจูและต้องจัดการแบบไม่ให้ภายนอกรับรู้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อกันกระแสการชุมนุมที่จะลุกลามออกไป...
และแล้วแผนปิดประตูตีแมวก็ได้เริ่มขึ้น...
1
ชอนดูฮวานได้สั่งปิดเมืองและส่งหน่วยรบพิเศษติดอาวุธสงครามเต็มรูปแบบเข้าสลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมในกวางจูเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980
1
จนเกิดเป็น “เหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจู” ขึ้นมาในที่สุด...
ภาพจาก Los Angeles Times (ชอนดูฮวาน)
ภาพจาก Asia Society (Gwangju Uprising)
ภาพจาก Time Shorrock (การสลายการชุมนุมในเมืองกวางจู)
หน่วยรบพิเศษได้ใช้อาวุธสงครามเข้าทำร้ายผู้คนตามท้องถนนโดยไม่สนว่าจะเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ โดยใช้เพียงความกลัวเข้าทำลายให้การชุมนุมยุติลงเท่านั้น
แต่เรื่องราวกลับตรงกันข้ามครับ ประชาชนตามบ้านเรือนเริ่มโกรธแค้นกับการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนของทหาร จึงพากันเข้าร่วมกับผู้ชุมนุมซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงแสนคน!
2
ประชาชนในกวางจูได้รวมตัวกันและตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธขึ้นมา โดยอาวุธที่ใช้จะเป็นของที่พอจะใช้ป้องกันตัวได้ เช่น ไม้ มีด ก้อนหิน และมีการพยายามแย่งอาวุธจากทหาร ซึ่งก็เกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือด เรียกได้ว่า เป็นสงครามกลางเมืองอย่างแท้จริง!
ฝ่ายประชาชนซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็ปะทะกับทหารจนสามารถยึดศาลากลางและสถานีตำรวจได้แล้วตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปกครองตนเอง...
แน่นอนครับว่าเหตุการณ์ในเมืองกวางจูนั้นรัฐบาลได้ปิดเป็นความลับสูงสุดในช่วงที่มีการปราบปราม ทำให้ประชาชนภายในเมืองกวางจูไม่สามารถติดต่อกับคนภายนอกได้เลย ทำได้เพียงต้องเอาตัวรอดกันเอง และคนภายนอกเองก็ไม่รับรู้ว่ากำลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดขนาดใหญ่ขึ้นในกวางจู (แต่ก็ยังมีนักข่าวภาคสนามเล็ดลอดเข้าไปได้และมีการเผยแพร่ภาพออกมาในภายหลัง)
1
สงครามในเมืองกวางจูลากยาวไปเกือบ 10 วัน และสิ้นสุดในวันที่ 26 พฤษภาคม เมื่อรัฐบาลเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะกวาดล้างอีกต่อไป
1
เหตุการณ์ในกวางจูจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของประชาชนกวางจู...
1
ซึ่งภายหลังเหตุการณ์รัฐบาลได้ให้เหตุผลในการปราบปรามครั้งนี้ว่า “เหล่าประชาชนในกวางจูถูกครอบงำ แทรกแซงและปั่นหูโดยเกาหลีเหนือและคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปราบปรามขั้นเด็ดขาด”
แต่ก็มีการโจมตีกลับไปว่า “นี่ไม่ใช่การปราบปราม แต่เป็นการสังหารหมู่ประชาชนชัดๆ!”
หลังเหตุการณ์ รัฐบาลก็ได้ออกมาระบุจำนวนผู้เสียชีวีตว่ามีจำนวน 170 คน (พลเรือน 144 ทหาร 22 ตำรวจ 4) บาดเจ็บ 380 คน และถูกจับกุม 3,740 คน แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังคงมีข้อกังขาต่อจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่รัฐบาลออกมาชี้แจง เพราะยังมีจำนวนของผู้สูญหายและผู้บาดเจ็บหลังแถลงการณ์ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รวมเข้าไปด้วย ซึ่งหากรวมผู้สูญหายเข้าไปแล้วจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน และผู้บาดเจ็บมากกว่า 3,000 คน...
2
ถึงแม้ประชาชนในกวางจูจะพ่ายแพ้ แต่ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้นักศึกษาและประชาชนของเกาหลีใต้เริ่มตระหนักอย่างชัดเจนถึงความโหดเหี้ยมไร้ปรานีของเผด็จการ และเริ่มรับรู้ว่าพวกเขาโหยหาเสรีภาพและประชาธิปไตยมากเพียงใด...
2
ภาพจาก The Hankyoreh (การปราบปรามในกวางจู)
ภาพจาก DW (การปราบปรามในกวางจู)
ภาพจาก The New York Times (การปราบปรามในกวางจู)
ภาพจาก Association for Diplomatic (การปราบปรามในกวางจู)
ภาพจาก The Japan Times (การปราบปรามในกวางจู)
ภาพจาก The Korea Times (ครอบครัวมารับศพผู้เสียชีวิตในกวางจู)
หลังเหตการณ์ในกวางจู ถึงแม้จะเป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนต่อเผด็จการ แต่มันได้ทำให้เกาหลีใต้เข้าสู้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงในช่วงทศวรรษ 1980
และถึงแม้ชอนดูฮวานจะได้รับชัยชนะ แต่การปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงทำให้ถูกตั้งคำถามจากนานาชาติ ผลคือรัฐบาลกลับอ่อนแอลงเพราะต้องคอยระแวงว่านานาชาติจะเลิกสนับสนุนรัฐบาลตนเองเมื่อไหร่...
ทำให้ประชาชนเริ่มมีเสรีภาพทางการพูดมากขึ้น มีการเปิดเวทีถกเถียงขึ้นทั่วประเทศระหว่างนักวิชาการและนักกิจกรรมเกี่ยวกับรูปแบบทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมของเกาหลีใต้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบกวางจูขึ้นอีกครั้ง...
3
ผลคือ แนวความคิดแบบประชาธิปไตยได้ขยายไปทั่วประเทศ ผู้คนเริ่มเข้าใจลึกซึ้งในความเป็นประชาธิปไตยว่าส่งผลอย่างไรต่อชีวิตและประเทศของตน
1
อีกทั้งมีการตั้งประเด็นไปที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในกวางจู เนื่องจากอเมริกาสนับสนุนเผด็จการชอนดูฮวาน ซึ่งพ่วงไปถึงการสนับสนุนรัฐประหาร 1979 ด้วย...
กระแสการต่อต้านอเมริกาเริ่มรุนแรงมากขึ้นจนมีการขุดคุ้ยจนพบหลักฐานว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกามีส่วนในการอนุมัติกองกำลังทหารให้ออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมในกวางจู
2
กลับกลายเป็นตลกร้ายจริงๆนะครับ “ที่ประชาชนเกาหลีใต้ซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยกลับลุกขึ้นมาต่อต้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของโลกประชาธิปไตย”
2
กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญและการต่อต้านสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นไปทั่วประเทศและถึงจุดพีคในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1987
เป็นอีกครั้งครับที่ชอนดูฮวานตั้งใจจะสู้หัวชนฝาโดยการใช้ทหารเข้าปราบปราม แต่ทว่าพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่โดนโจมตีอย่างหนัก ได้ตัดสินใจกดดันไม่ให้ชอนดูฮวานใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามเหมือนเดิม แต่ให้มีการปฏิรูปประเทศและแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่...
และแล้วในที่สุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ค.ศ.1987 ก็ได้ทำให้อำนาจเผด็จการถูกทำลายลงไป การต่อสู้ระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เป็นอันสิ้นสุดลง
ซึ่งภายหลังก็ได้มีการรื้อฟื้นคดีการสังหารหมู่ในกวางจูขึ้นมาพิพากษาใหม่ และก็ได้ตัดสินใน ค.ศ.1995 ให้จับกุมและสอบสวนผู้ที่สั่งการ ได้แก่ ชอนดูฮวาน โนแทอู และนายทหารอีก 14 คน
ผลคือ ได้สั่งให้ยึดทรัพย์ของชอนดูฮวาน 355 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมจำคุกตลอดชีวิต และสั่งให้จำคุกโนแทอู 17 ปี...
การรื้อฟื้นคดีในกวางจูถือได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบยุติธรรมของเกาหลีใต้ให้เป็นระบบที่เที่ยงธรรมมากขึ้นนั่นเอง...
1
ภาพจาก DW (การพิพากษาโรแทอูและชอนดูฮวาน)
จากเหตุการณ์การแบ่งแยกเกาหลีออกจากกัน เกาหลีใต้ได้เกิดการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจนิยม...
1
ซึ่งอำนาจนิยมก็ได้ครอบงำเกาหลีใต้อยู่เกือบ 30 ปี ทั้งอำนาจนิยมแบบพลเรือนและอำนาจนิยมแบบทหาร...
การต่อสู้นั้นได้นำไปสู่จุดสูงสุด คือ การสังหารหมู่กวางจู ในค.ศ.1980...
ซึ่งถือได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของประชาชนกวางจู...
แต่ทว่ากลับเป็นเชื้อไฟในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนชนะในเวลาต่อมา...
ดังนั้น “กวางจู” จึงเป็นเหมือนดั่งสัญลักษณ์ของความไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจเผด็จการของประชาชนเกาหลีใต้...
“กวางจู” กลายเป็นชนวนในการสร้างความเข้มแข็งและโหยหาเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนเกาหลีใต้...
1
“กวางจู” กลายเป็นพลังในการก่อสร้างประชาธิปไตยรวมถึงระบบยุติธรรมของเกาหลีใต้ให้เข้มแข็งมั่นคงจนปัจจุบัน...
และ “กวางจู” คือสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและกลายเป็นความทรงจำที่ไม่อาจลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ได้เลย...
References
Ahn, J-c. The Significant of Settling The Past of December 12 Coup and the May 18 Gwangju Uprising. Korea Journal, 2002.
Buzo, N. The Making of Modern Korea. London : Routledge, 2007.
Henderson, G. Korea : The Politics of the Vortex. Cambridge : Harvard University Press.
Lee, N. The South Korea Student Movement : Undongkwon as a Counterpublic Sphere. London : Routledge, 2007.
Khil, Y. W. Tranforming Kore Politics : Democracy Reform and Culture, 2005.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา