19 พ.ค. 2021 เวลา 06:49 • คริปโทเคอร์เรนซี
วิทาลิก บูเทอริน: จากเด็กติดเกมสู่มหาเศรษฐีอายุน้อยผู้ก่อตั้ง ‘อีเทอเรียม’ ในวัยเพียง 19 ปี
.
ในโลกซื้อขายเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) อีเทอเรียม (ethereum) คือเครือข่ายบล็อกเชน (blockchain) ที่เป็นเจ้าของเงินดิจิทัลสกุล อีเทอร์ (ETH) ซึ่งมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากบิตคอยน์ (BTC) เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น
.
แต่เนื่องจากผู้ก่อตั้งบิตคอยน์ คือ ซาโตชิ นากาโมโตะ เป็นบุคคลลึกลับที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชน ผู้ให้กำเนิดอีเทอเรียม สกุลเงินอันดับ 2 ซึ่งไม่ใช่คนเก็บเนื้อเก็บตัว จึงเป็นที่จับตาในฐานะผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการคริปโตฯ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก
.
อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ผู้ทรงอิทธิพล’ ไม่ได้มาจากการเป็นแค่ผู้ก่อตั้งเครือข่ายคริปโตฯ ยอดนิยมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากมุมมอง ความคิด และเส้นทางชีวิตของชายผู้นี้ด้วย
.
#กำเนิดผู้ก่อตั้ง
.
อีเทอเรียม ก่อตั้งขึ้นโดยเด็กหนุ่มผิวขาวรูปร่างผอมสูง ท่าทางเก้ ๆ กัง ๆ นามว่า วิทาลิก บูเทอริน (Vitalik Buterin) เขาเกิดวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1994 ที่เมืองโคลอมนา (Kolomna) ชานกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย
.
ตอนอายุ 6 ขวบ ครอบครัวตัดสินใจอพยพมาหางานทำที่ประเทศแคนาดา ทำให้วิทาลิกได้พบกับโลกใบใหม่ เขาเข้าเรียนโรงเรียนประถมฯ ที่แคนาดา และได้อยู่ห้องพิเศษ (Gifted) สำหรับเด็กเรียนเก่งตั้งแต่ชั้น ป.3 โดยวิชาที่เด็กน้อยจากรัสเซียผู้นี้สนใจเป็นพิเศษคือคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ เขาสามารถบวกเลข 3 หลักในหัวได้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยที่เด็กวัยเดียวกันทำได้ถึงเท่าตัว
.
วิทาลิกบอกว่า เขาได้เรียนรู้และมีพัฒนาการทางความคิดมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตระหว่างเข้าเรียนไฮสกูลที่โรงเรียน อเบอรัลด์ (Aberald) ในนครโทรอนโต ที่ซึ่งบ่มเพาะความกระหายในการเรียนรู้ให้กับเขาทั้งในและนอกห้องเรียน
.
ตอนอายุ 13 ปี วิทาลิกเริ่มให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากกว่าทำการบ้าน โดยเกมที่เขาติดจนงอมแงม คือ World of Warcraft (WoW) จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 2010 ตัวละคร Warlock ที่เขาเล่นถูกผู้ผลิตเกมอัปเดตจนคุณสมบัติบางอย่างในตัวละครเปลี่ยนไป นั่นคือจุดที่ทำให้เขาเสียใจจนนอนไม่หลับ และตัดสินใจเลิกเล่นเกมดังกล่าว พร้อมทั้งตระหนักว่า โลกที่มีการควบคุมรวมศูนย์อำนาจนั้นมันเลวร้ายเพียงใด
.
#เริ่มรู้จักบิตคอยน์
.
วิทาลิกเริ่มรู้จักคริปโตฯ และบิตคอยน์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ขณะมีอายุ 17 ปี โดย ดิมิทรี บูเทอริน บิดาของเขาซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คือผู้แนะนำเทคโนโลยีดังกล่าวให้รู้จัก
.
ช่วงแรกที่รู้จักคริปโตฯ วิทาลิกยอมรับว่า เขาไม่คิดว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นเงินตราแห่งโลกอนาคต เพราะยังไม่เห็นคุณค่าที่จับต้องได้ แต่เมื่อได้ยินคนพูดถึงบ่อย ๆ เขาจึงเปลี่ยนใจหันมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม และคิดว่ามันอาจเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ดีในอนาคต
.
อีกเหตุผลที่ทำให้วิทาลิกสนใจบิตคอยน์และคริปโตฯ คือการเป็นสกุลเงินที่ไม่มีผู้ใดควบคุมหรือผูกขาด (decentralized) ต่างจากเกม WoW ที่เคยทำให้เขาชอกช้ำใจมาในอดีต
.
เขาเริ่มศึกษาบิตคอยน์ด้วยการอ่าน white paper หรือเอกสารหลักเกณฑ์การทำงานของบิตคอยน์อย่างละเอียด นอกจากนี้ยังเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบิตคอยน์ และค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายบล็อกเชนจนทะลุปรุโปร่ง
.
ด้วยความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเบื้องหลังบิตคอยน์ที่แตกฉาน แต่ยังไม่มีทุนทรัพย์พอในการขุดบิตคอยน์ (mining) หรือเข้าไปลงทุนซื้อขาย วิทาลิกจึงเริ่มต้นด้วยการเป็นนักเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกบล็อกเชน เพื่อแลกกับค่าจ้างเป็นบิตคอยน์บทความละ 5 เหรียญ โดย 1 บิตคอยน์ขณะนั้นมีมูลค่าเพียง 0.8 เหรียญสหรัฐ
.
“ผมยังเป็นเด็กไฮสกูลที่ไม่ค่อยมีเงินมากนักในตอนนั้น ผมคิดว่าได้ค่าจ้างคิดแล้วตกชั่วโมงละ 1.5 เหรียญสหรัฐ ก็น่าจะสมเหตุสมผลดีแล้ว” วิทาลิกเล่าย้อนอดีตสมัยเริ่มเขียนบทความ
.
หลังเป็นนักเขียนรับจ้างได้ไม่นาน ความสามารถของวิทาลิกไปเข้าตา มิไฮ อลิซี ผู้คลั่งไคล้บิตคอยน์จากโรมาเนีย ทั้งคู่จึงร่วมกันก่อตั้งนิตยสารบิตคอยน์ (Bitcoin Magazine) ขึ้นในปลายปี 2011 โดยวิทาลิกรับหน้าที่เป็นนักเขียนอาวุโส
.
เขารับงานนักเขียนหลักให้กับนิตยสารบิตคอยน์ ควบคู่ไปกับการหารายได้เสริมด้วยการเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับ เอียน โกลด์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัสข้อมูล (cryptographer) ขณะเดียวกันก็ลงเรียนหลักสูตรชั้นสูง 5 วิชาที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) ไปพร้อมกัน
.
#กำเนิดอีเทอเรียม
.
หลังจากสั่งสมความรู้จนสุกงอม ปลายปี 2013 วิทาลิกในวัย 19 ปี เริ่มนำเสนอความคิดในการสร้างแพลตฟอร์มบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง ด้วยการร่าง white paper เกี่ยวกับการสร้างอีเทอเรียม ส่งให้กับเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจคล้ายกัน
.
ชื่ออีเทอเรียม มาจากคำว่า อีเทอร์ (ether) ซึ่งในนวนิยายวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเป็นสสารตัวกลางที่มองไม่เห็นซึ่งช่วยทำให้แสงเคลื่อนที่ได้ และกระจายอยู่ทั่วจักรวาล
.
ขณะที่บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเป็นเงินสกุลดิจิทัลเป็นหลัก แต่อีเทอเรียมในมุมมองของวิทาลิกต้องเป็นมากกว่านั้น โดยนอกจากจะมีเงินดิจิทัลแล้ว อีเทอเรียมยังเป็นระบบปฏิบัติการที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างแอปพลิเคชัน (decentralized applications) และสัญญาอัจฉริยะ (smart contracts) แบบไม่ต้องมีคนกลางคอยควบคุมดูแล
.
นอกจากนี้ อีเทอเรียมยังรองรับเทคโนโลยี decentralized finance (DeFi) ตลอดจนการซื้อขายงานศิลปะและสินทรัพย์ต่าง ๆ ในรูปดิจิทัล หรือ non-fungible tokens (NFTs) และเป็นที่รับฝากสินทรัพย์เหล่านี้ รวมถึงเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ ด้วย
.
โครงการอีเทอเรียมของวิทาลิก มีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบในเดือนมกราคม 2014 และเริ่มระดมทุนด้วยการเปิดขายอีเทอร์เพื่อแลกกับบิตคอยน์ ได้เงินมาทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ
.
ขณะเดียวกัน วิทาลิกยังได้รับทุนอีก 100,000 เหรียญสหรัฐ จากกองทุนของปีเตอร์ ธีล (Thiel Fellowship) มหาเศรษฐีจากซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งมอบให้กับนักศึกษาที่มีความสามารถเพื่อสนับสนุนให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาเดินตามความฝันด้วยการ ‘สร้างสิ่งใหม่ ๆ แทนที่จะมัวนั่งอยู่แต่ในห้องเรียน’
.
หลังได้รับทุนจากปีเตอร์ ธีล และลาออกจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู วิทาลิกพร้อมด้วย มิไฮ อลิซี และหุ้นส่วนอีกหลายคนร่วมกันเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนอีเทอเรียมแบบเต็มตัวเป็นครั้งแรกในปี 2015 และอีก 4 ปีต่อมา เขาได้เสนอแผนปรับปรุงแพลตฟอร์มให้มีความทันสมัยมากขึ้นภายใต้ชื่อ อีเทอเรียม 2.0
.
CNN รายงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 ว่า อีเทอเรียมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมูลค่าของอีเทอร์พุ่งมากกว่า 4 เท่าในปี 2021 และทำสถิติสูงสุดที่อีเทอร์ละ 3,500 เหรียญสหรัฐ หากคูณกับจำนวน 333,500 อีเทอร์โดยประมาณที่วิทาลิกครอบครองไว้ มูลค่าอีเทอร์ที่เขามีทั้งหมดจะมากกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้หนุ่มน้อยเชื้อสายรัสเซียผู้นี้กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านขณะมีอายุเพียง 27 ปี
.
#ผู้ทรงอิทธิพล
.
แม้อีเทอเรียมยังคงมีจุดอ่อนเหมือนคริปโตฯ สกุลอื่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการถูกแฮกข้อมูล ตลอดจนการกีดกันในบางประเทศ และความผันผวนของราคาอันเนื่องมาจากการเก็งกำไรกันทั่วโลก แต่วิทาลิกยังคงเชื่อว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตฯ ยังคงมีอนาคตในฐานะตัวกลางทางเลือกสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนและการลงทุน
.
ความเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกคริปโตฯ ของวิทาลิก สะท้อนได้จากความสนใจของผู้คนจำนวนมากที่มาฟังหนุ่มน้อยชาวแคนาดาเชื้อสายรัสเซียผู้นี้แสดงวิสัยทัศน์แทบทุกเวทีที่เขาเดินทางไปปรากฏตัว เขาคือกูรูของสาวกบล็อกเชน และวีรบุรุษของชาวรัสเซีย ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังยอมสละเวลามาสนทนาพูดคุย
.
ความดังของเขายังทำให้ผู้ก่อตั้งชิบะอินุคอยน์ (SHIB) ซึ่งเป็น ‘มีมคอยน์’ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเสียดสี dogecoin (DOGE) ที่ อีลอน มัสก์ พยายามปั่นกระแส ตัดสินใจส่ง SHIB จำนวนครึ่งหนึ่งของที่มีทั้งหมดให้กับวิทาลิกแบบฟรี ๆ เพื่อโปรโมตเหรียญดังกล่าว
.
แต่ด้วยความที่วิทาลิกไม่ต้องการเป็นผู้มีอำนาจควบคุมใด ๆ เขาจึงตัดสินใจเผา SHIB ร้อยละ 90 ที่ได้มาคิดเป็นมูลค่า 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐทิ้งไป ด้วยการส่งไปยังที่อยู่บล็อกเชนซึ่งตายแล้ว (dead blockchain address) เพื่อไม่ให้มีการนำมาซื้อขายในท้องตลาด ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จำนวน 50 ล้านล้าน SHIB (ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) นำไปบริจาคให้กับกองทุนบรรเทาทุกข์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดีย
.
“ผมไม่อยากเป็นศูนย์กลางของอำนาจแบบนั้น” วิทาลิกกล่าวย้ำถึงเหตุผลของการไม่เก็บ SHIB ทั้งหมดที่ได้มาไว้กับตัว
.
#ใจบุญสุนทาน
.
นอกจากจะบริจาค SHIB ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 ในอินเดียแล้ว วิทาลิกยังโอนเหรียญอีเทอร์จากแพลตฟอร์มอีเทอเรียมของตนเองคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ สมทบเข้ากองทุนเดียวกันด้วย
.
ความเป็นคนใจบุญสุนทานของวิทาลิก ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังได้ SHIB จำนวนมหาศาลมาฟรี ๆ เพราะก่อนหน้านี้ เขาเคยบริจาคทรัพย์ให้กับองค์กรการกุศลมาตลอด
.
โดยในปี 2017 วิทาลิกบริจาคอีเทอร์มูลค่า 763,970 เหรียญสหรัฐ ให้กับสถาบันวิจัยสมองกล เพื่อช่วยรับประกันว่าเทคโนโลยีเอไอจะไม่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์ ส่วนปี 2018 เขาบริจาคอีเทอร์มูลค่า 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกองทุนวิจัยพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับผู้สูงวัย และในปี 2019 บริจาคเงินอีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้มูลนิธิช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในยูกันดา
.
ดิมิทรี บูเทอริน พ่อของวิทาลิก กล่าวถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกชายให้กลายเป็นอัจฉริยะผู้ใจบุญแห่งโลกบล็อกเชนว่า วิทาลิกเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และสามารถใช้โปรแกรม Excel คำนวณขั้นพื้นฐานได้ตั้งแต่ 3 ขวบ จากนั้นเขาจึงค่อย ๆ ให้ความรู้ด้านไอทีกับลูกชาย เพื่อให้เขาทั้งสนุก และมีความอยากรู้อยากเห็นต่อไป
.
“ผมคิดว่าเด็กทุกคนมีความสามารถมากมาย หากคุณแค่ป้อนเขาในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้เขายังคงมีความอยากรู้อยากเห็นเสมอ และทำให้เขารู้สึกสนุก อย่าไปกดดันมากเกินไป
.
“ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่งเขาเริ่มเรียนเรื่องโปรแกรม ผมส่งเขาไปเรียนความรู้ด้านโปรแกรมสำหรับเด็ก วิธีการสอนของที่นั่นไม่ใช่แค่การบรรยายแบบเลคเชอร์ แต่ให้เด็ก ๆ ได้เล่นเกม ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นเพราะการได้สร้างเกมมันเจ๋งดี และเขาก็ได้เรียนรู้มากมายจากสิ่งนั้น” ดิมิทรีเล่าถึงลูกชายในวัยเด็ก
.
ความอยากรู้อยากเห็นนำมาซึ่งการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ และนำพาวิทาลิกเข้าสู่ชุมชนคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน จนพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การแบ่งปันให้กับผู้อื่น
.
แม้ปัจจุบัน วิทาลิก บูเทอริน จะกลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อย และเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกคริปโตฯ แล้ว แต่ทัศนคติในการเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่รู้จบของเขายังคงไม่หายไป และสะท้อนได้จากสิ่งที่เขาพูดและทำ
.
“สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นระบบใหม่ ยังเป็นแค่การทดลอง แต่มันก็ใกล้เป็นกระแสหลักเข้าไปทุกที”
.
วิทาลิกกล่าวไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เกี่ยวกับอีเทอเรียม และระบบคริปโตฯ ที่เขาลงทุนลงแรงสร้างขึ้นมา พร้อมกับเตือนบรรดานักเก็งกำไรทิ้งท้ายว่า
.
“ฟองสบู่คริปโตฯ ทำให้เกิดความโกลาหล มันขึ้นและลงรวดเร็วมาก ผมอยากเตือนผู้คนให้ระวัง อย่านำเงินไปลงทุนมากกว่าจำนวนที่คุณสามารถสูญเสียได้ อย่ากู้เงินมาซื้อคริปโตฯ ทุกสกุล รวมถึงอีเทอเรียมของผมด้วย”
.
ข้อมูลอ้างอิง:
.
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ภาพ: John Phillips/Getty Images for TechCrunch
.
#ThePeople #Business #Ethereum #cryptocurrency #VitalikButerin
โฆษณา