19 พ.ค. 2021 เวลา 16:29 • ประวัติศาสตร์
แซลลี่ เฮ็มมิ่งส์ ภรรยาลับทาสผิวดำของประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน
รู้หรือไม่ว่าบุรุษที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ และถูกยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษผู้มีความสามารถและอุดมการณ์อันสูงส่งในการสร้างชาติ ในอีกด้านหนึ่งเชื่อกันว่าเขามีภรรยาลับ (หรือภรรยาน้อย) เป็นทาสผิวดำซึ่งเป็นสมบัติของภรรยาตัวจริงของเขาเอง (และยังเป็นพี่น้องต่างแม่อีกด้วย) แถมยังมีลูกด้วยกันหลายคนอีกด้วย ตลอดชีวิตของเจฟเฟอร์สันเขามีทาสในความครอบครองทั้งหมด 600 คน ซึ่งย้อนแย้งกับคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ที่เขาเขียนขึ้นมาซึ่งบอกว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน”
ประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน Photo: WIKIPEDIA
•กำเนิด
ภรรยาลับที่เป็นทาสของเจฟเฟอร์สันคนนี้ชื่อว่าแซลลี่ เฮ็มมิ่งส์ (Sally Hemings) เกิดเมื่อปี 1773 ที่รัฐเวอร์จิเนีย บ้างก็ระบุว่าชื่อจริงของเธอคือแซร่าห์
พ่อของแซลลี่เป็นชายผิวขาวชื่อว่าจอห์น เวย์ลส์ (John Wayles) ส่วนแม่ของเธอเป็นทาสลูกผสมระหว่างคนขาวและคนดำชื่อว่าอีลิซาเบธ เฮ็มมิ่งส์ (Elizabeth Hemings) ซึ่งเรื่องเล่าในตระกูลเฮ็มมิ่งส์บอกต่อ ๆ กันมาว่าอีลิซาเบธมีพ่อเป็นคนขาวอาชีพกัปตันเรือนามสกุลเฮ็มมิ่งส์ ส่วนแม่เป็นทาสแอฟริกันของจอห์น เวย์ลส์ ดูเหมือนว่าในสมัยนั้นเจ้าของทาสไม่ได้ใช้ทาสเพื่อใช้แต่แรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ทาสสาวของตัวเองเป็นนางบำเรออีกด้วย ซึ่งทาสผิวดำไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการถูกใช้แรงงานทางเพศต่อเจ้าของได้ ทาสคือสมบัติของนายทาสที่จะทำอะไรก็ได้ และลูกของทาสเมื่อเกิดมาก็ตกเป็นสมบัติของนายทาสเช่นกัน
แล้วจอห์น เวย์ลส์ เป็นใคร เขาคือพ่อของมาร์ธา เจฟเฟอร์สัน (Martha Jefferson) ซึ่งเป็นภรรยาของโธมัส เจฟเฟอร์สัน นั่นเอง ดังนั้นแซลลีจึงเป็นคนขาวถึง 3 ใน 4 แต่ในอดีตอย่างไรเสียก็ยังถือว่าเธอเป็นทาสผิวดำอยู่ดี ถึงตาและพ่อของเธอจะเป็นคนขาว แต่การที่มียายเป็นทาส และแม่ของเธอก็เป็นลูกทาส แซลลี่จึงมีสถานะเป็นทาสอยู่เช่นเดิม ถึงแม้ว่าแซลลี่จะเป็นพี่น้องคนละแม่กับมาร์ธาก็ตาม และความมั่งคั่งร่ำรวยของมาร์ธาก็มิได้ส่งผลต่อแซลลี่พี่น้องคนละแม่ที่มีสถานะเป็นทาสแต่อย่างใด
ผังครอบครัวของแซลลี่ Photo: Monticello.org
•ตกเป็นทาสของเจฟเฟอร์สัน
ในปี 1774 เมื่อจอห์น เวย์ลส์ เสียชีวิตลง ทาสของเขาจึงตกเป็นสมบัติของมาร์ธา หนึ่งในนั้นมีแซลลี่กับแม่ด้วย ซึ่งในตอนนั้นแซลลี่เพิ่งอายุได้ 2 ขวบ และมาร์ธาก็แต่งงานกับเจฟเฟอร์สันไปแล้วตั้งแต่ปี 1772 (เป็นการแต่งงานครั้งที่ 2 ครั้งแรกสามีเธอเสียชีวิต) ดังนั้นแซลลี่กับแม่ของเธอจึงถูกส่งตัวไปเป็นทาสประจำบ้านอยู่ที่ฟาร์มของเจฟเฟอร์สันที่ไร่มอนติเซลโล ในรัฐเวอร์จิเนีย และตกเป็นสมบัติของเจฟเฟอร์สันไปโดยปริยายตามธรรมเนียมที่สมบัติติดตัวมาของฝ่ายภรรยาถือว่าเป็นสินสมรสที่จะต้องกลายเป็นของสามี
ทราบกันแต่เพียงว่าหน้าที่ของแซลลี่ในบ้านของเจฟเฟอร์สันนั้นเธอทำหน้าที่เป็นคนดูแลบ้านและเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับมาเรียลูกสาวคนเล็กของเจฟเฟอร์สัน
ไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปภาพที่บ่งบอกว่าแซลลี่เป็นคนรูปร่างหน้าตาเช่นไร มีเพียงแต่คำบอกเล่าของคนที่รู้จักเธอและได้รับการบันทึกไว้มีเพียงสองคนเท่านั้น ซึ่งบอกเล่าว่าเธอนั้นเกือบจะเหมือนคนขาว มีผิวสีอ่อน ผมยาวตรงถึงหลัง และหน้าตาสวยงามมาก
มาร์ธาภรรยาของเจฟเฟอร์สัน เสียชีวิตระหว่างการคลอดลูกเมื่อปี 1782 และไม่มีโอกาสได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ เพราะเธอเสียชีวิตเป็นเวลาถึง 19 ปีก่อนที่เจฟเฟอร์สันจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศ เธอมีลูกสาวที่รอดชีวิตจนถึงวัยผู้ใหญ่กับเจฟเฟอร์สัน 2 คน คือมาร์ธากับมาเรีย
อีก 2 ปีต่อมาหลังจากที่ภรรยาเสียชีวิต เจฟเฟอร์สันเลือกที่จะไปเป็นนักการทูตตัวแทนของสหรัฐฯ ประจำอยู่ที่ฝรั่งเศสต่อจากเบนจามิน แฟรงคลิน
ภาพเสียดสีนายทาสที่ไม่ระบุว่าเป็นใคร กับการกระทำทารุณต่อทาสและมีความสัมพันธ์กับทาสซึ่งถือว่าเป็นสิ่งของประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในเวลานั้น Photo: The Colonial Williamsburg Foundation
•ไปฝรั่งเศส
ในปี 1787 ลูก ๆ ของเจฟเฟอร์สันถูกส่งตัวตามไปอยู่กับพ่อของพวกเธอ แชลลี่ถูกเลือกให้ติดตามลูก ๆ ของเจฟเฟอร์สันไปอยู่ที่ฝรั่งเศส โดยเธอทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรับใช้มาเรียต่อ ตอนนั้นแซลลี่มีอายุได้ 14 ปี ส่วนมาเรียมีอายุ 8 ขวบ ที่ฝรั่งเศสเธอยังทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ในครอบครัวเจฟเฟอร์สัน และคอยติดตามมาเรียไปเวลาออกงานสังคมอีกด้วย พี่ชายของมาเรียคนหนึ่งที่ชื่อเจมส์ก็ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวให้แก่ครอบครัวเจฟเฟอร์สันด้วยเช่นกัน
เชื่อกันว่าแซลลี่ตกเป็นภรรยาลับของเจฟเฟอร์สันที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นแซลลี่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ในขณะที่อายุของเจฟเฟอร์สันปาเข้าไป 40 ปีแล้ว บางแหล่งข้อมูลถึงกับระบุว่าเจฟเฟอร์สัน ‘ข่มขืน’ ทาสรับใช้ของตัวเองเป็นเวลานานหลายปี
ที่ฝรั่งเศส สถานะทางนิตินัยของเธอคือเสรีชนมิใช่ทาสดังที่อยู่ที่อเมริกา เพราะในเวลานั้นฝรั่งเศสยกเลิกการมีทาสแล้ว แซลลี่ได้ปลูกฝีดาษ ได้เรียนงานฝีมือเย็บปักถักร้อยดูแลเสื้อผ้า และได้เรียนภาษาฝรั่งเศส (แต่ไม่รู้ว่าสามารถอ่านออกเขียนได้หรือไม่) อีกทั้งยังได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน
ฟาร์มมอนติเซลโลของเจฟเฟอร์สันที่ถูกอนุรักษ์ไว้ในปัจจุบัน Photo: Thomas Jefferson Foundation
•กลับสหรัฐฯ
เมื่อเจฟเฟอร์สันต้องเดินทางกลับประเทศ แซลลี่ปฏิเสธที่จะเดินทางกลับด้วย ตอนนั้นเธอตั้งท้องลูกคนแรกแล้ว เธอเจรจากับเจฟเฟอร์สันว่าหากกลับไปที่เวอร์จิเนียเธอจะต้องมีอภิสิทธิ์ที่ดีกว่าการเป็นทาส และลูก ๆ ที่กำลังจะเกิดมาจะต้องไม่เป็นทาส โดยเธอขอให้เจฟเฟอร์สันให้สัญญาว่าเมื่อลูก ๆ อายุได้ 21 ปีจะต้องปลดปล่อยพวกเขาจากความเป็นทาส
ไม่ทราบว่าผลการเจรจาเป็นเช่นไร แต่สุดท้ายในปี 1789 แซลลี่ก็กลับมายังเวอร์จิเนียพร้อมกับครอบครัวเจฟเฟอร์สัน เธอมีอายุได้ 16 ปี ส่วนลูกคนแรกของเธอเสียชีวิต เมื่อกลับมาแล้วเธอยังคงทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ดูแลบ้านให้ครอบครัวนี้ และเจฟเฟอร์สันก็ยังเรียกเธอว่า ‘คนรับใช้ของมาเรีย’
ในบันทึกของเจฟเฟอร์สันไม่ได้มีข้อมูลระบุว่าครอบครัวของแซลลี่ได้รับอภิสิทธิ์ใด ๆ ที่แตกต่างไปจากทาสคนอื่น ๆ ครอบครัวของเธอได้รับอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยดังเช่นทาสคนอื่น ๆ แต่ในบันทึกความทรงจำของลูกชายของแซลลี่บอกว่าเจฟเฟอร์สันให้สัญญากับแซลลี่ว่าจะให้สิทธิพิเศษต่อครอบครัวของเธอและลูก ๆ
ในปี 1801 เจฟเฟอร์สันได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันในวงสังคมของเวอร์จิเนียมานานหลายปีแล้วว่าพ่อม่ายเมียตายอย่างเจฟเฟอร์สันมีความสัมพันธ์กับทาสสาว ยิ่งลูก ๆ ของแซลลี่มีลักษณะกระเดียดไปทางที่จะมีพ่อเป็นคนขาวแถมบางคนยังหน้าตาเหมือนเจฟเฟอร์สันยิ่งทำให้ข่าวลือนี้หนาหูขึ้น
รูปการ์ตูนการเมืองชื่อว่า A Philosophic Cock วาดโดย James Akin เมื่อปี 1804 โดยในรูปล้อเลียนประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันเป็นไก่ตัวผู้กับภรรยาลับของเขาคือแซลลี่ที่เป็นไก่ตัวเมีย Photo: American Antiquarian Society
•ครอบครัวและชีวิตช่วงสุดท้าย
แซลลี่มีลูกกับเจฟเฟอร์สันหลายคน ที่รอดชีวิตจนโตมี 4 คน ชื่อว่า เบฟเวอร์รี่ (Beverly) เกิดเมื่อปี 1798 แฮร์เรียต (Harriet) เกิดเมื่อปี 1801 แมดิสัน (Madison) เกิดเมื่อปี 1805 และเอสตัน (Eston) เกิดเมื่อปี 1808 ซึ่งแมดิสันคือคนที่บันทึกเรื่องราวของแซลลี่ให้คนในเวลาต่อมาได้รับรู้กัน
เจฟเฟอร์สันให้อิสรภาพแก่ลูก ๆ ของแซลลี่ ซึ่งทาสคนอื่น ๆ ของเขาไม่ได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ โดยในปี 1822 เบฟเวอร์รี่กับแฮร์เรียตได้รับอนุญาตให้ออกจากเมืองมอนติเซลโลได้ (แต่ไม่ได้รับอิสรภาพในทางกฎหมาย และในบันทึกของเจฟเฟอร์สันระบุว่าทั้งสองคนนั้นได้ ‘หนีไป’) ด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนกับคนขาวทั้งสองคนจึงเข้าสู่สังคมของคนขาวที่กรุงวอชิงตันดีซี และได้ละทิ้งความเชื่อมโยงใด ๆ กับครอบครัวและความเป็นคนดำไป ในเวลาต่อมาจึงไม่สามารถตามรอยลูกหลานของทั้งสองคนนี้ได้
ในปี 1826 โธมัส เจฟเฟอร์สัน เสียชีวิต ในพินัยกรรมของเจฟเฟอร์สัน เขาได้ปลดปล่อยลูกทั้งสองคนของแซลลี่ คือ แมดิสันกับเอสตันให้พ้นจากความเป็นทาส แต่ในพินัยกรรมนั้นไม่ได้เอ่ยถึงแซลลี่แม้แต่น้อย ดังนั้น ณ เวลานั้นแซลลี่จึงยังไม่ได้รับการปลดปล่อยจากความเป็นทาสในทางนิตินัย ซึ่งในบันทึกรายชื่อทาสของเจฟเฟอร์สันเมื่อปี 1827 ยังมีชื่อของแซลลี่ปรากฏว่ายังเป็นทาสอยู่ และมีค่าตัว 50 เหรียญ
ในเวลาต่อมาลูกสาวของเจฟเฟอร์สันที่ชื่อมาร์ธาได้ให้อิสรภาพแก่แซลลี่ในทางพฤตินัย และแซลลี่อาศัยอยู่กับลูกชายทั้งสองที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ของรัฐเวอร์จิเนีย ดังที่ปรากฏข้อมูลเมื่อมีการทำสำมะโนครัวประชากรในปี 1830 ที่ระบุว่า แซลลี่ แมดิสัน และก็เอสตัน ได้รับการขึ้นบัญชีว่าเป็น ‘อิสรชนคนขาว’ ที่อาศัยอยู่ในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ของรัฐเวอร์จิเนีย
แซลลี่ เฮ็มมิ่งส์ เสียชีวิตเมื่อปี 1835 เธอมีอายุได้ 62 ปี ส่วนแมดิสันได้โยกย้ายไปอยู่ที่รัฐโอไฮโอและเลือกที่จะอยู่ในสังคมคนดำ ในขณะที่เอสตันสุดท้ายย้ายไปอยู่ที่รัฐวิสคอนซินและเลือกเปลี่ยนนามสกุลเป็นเจฟเฟอร์สันและเลือกที่จะเป็นคนขาว ดังนั้น จึงมีแค่แมดิสันกับเอสตันเท่านั้นที่เป็นที่รู้กันว่าเป็นลูกชายของเจฟเฟอร์สัน และเขาทั้งสองก็ได้ถ่ายทอดประวัติของตระกูลให้ลูกหลานได้ทราบกันสืบมา
1
ในรูปนี้คนซ้ายสุดคือหลานชายของแซลลี่ เขามีชื่อว่า เบฟเวอร์รี่ เฟเดอริก เจฟเฟอร์สัน ส่วนคนอื่น ๆ คือลูกชายทั้งสามคนของเขา ส่วนรูปของแซลลี่และลูก ๆ ของเธอนั้นไม่ปรากฏว่ามี Photo: Monticello.org
•ข้อโต้แย้งเรื่องอื้อฉาวคาวสวาท
เมื่อเจฟเฟอร์สันได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีความพยายามที่จะเปิดโปงเรื่องราวด้านมืดนี้ให้สาธารณชนได้รับรู้กัน ดังเช่นมีการเปิดโปงกับหนังสือพิมพ์ในปี 1802 โดยอดีตพันธมิตรทางการเมืองซึ่งกลายเป็นอริกับเจฟเฟอร์สันที่ชื่อว่าเจมส์ คัลเลนเดอร์ (James Callender) ที่ออกมาแฉว่าเจฟเฟอร์สันมีแซลลี่เป็นภรรยาลับและมีลูกหลายคนที่เวอร์จิเนีย เป็นต้น ซึ่งในเวลานั้นเจฟเฟอร์สันนิ่งเฉยไม่เคยตอบโต้ใด ๆ กับเรื่องนี้
ส่วนครอบครัวลูกหลานที่แท้จริงของเจฟเฟอร์สันปฏิเสธเรื่องนี้ในครอบครัวมาโดยตลอด โดยผู้สืบเชื้อสายจากเจฟเฟอร์สันบางส่วนระบุว่าคนที่เป็นพ่อที่แท้จริงของลูก ๆ ของแซลลี่นั้นเป็นหลานของเจฟเฟอร์สันที่ชื่อปีเตอร์ คาร์ (Peter Carr) แต่ลูกหลานของแซลลี่โต้แย้งกับข้ออ้างนี้ และยืนยันหลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมารวมถึงบันทึกความทรงจำของแมดิสันที่เขียนขึ้นในปี 1873 ที่ระบุว่าเจฟเฟอร์สันคือพ่อของเขา
แต่ในปี 1998 มีการตรวจ DNA และตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Nature ซึ่งพบว่าผู้สืบสายสกุลเฮ็มมิ่งส์ที่เป็นชาย มีความเชื่อมโยงกับสายสกุลที่เป็นชายของครอบครัวเจฟเฟอร์สัน
การตรวจ DNA ในครั้งนี้เป็นอีกหลักฐานที่ยืนยันว่าเรื่องราวของแซลลี่ เฮ็มมิ่งส์ ในฐานะภรรยาทาสลับ ๆ ของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันนั้นมีความน่าเชื่อถือ นอกเหนือไปจากหลักฐานที่เป็นบันทึกเรื่องราวอื่น ๆ
1
ในรูปนี้เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งเปิดโปงว่าประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันมีภรรยาลับเป็นทาสชื่อว่าแซลลี่ Photo: Library of Virginia
คลิปรายการของโอปราห์ที่สัมภาษณ์ผู้สืบเชื้อสายของเจฟเฟอร์สันที่เป็นคนขาวและคนดำมาเจอกัน:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา