Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
LivingPop
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2021 เวลา 23:29 • ประวัติศาสตร์
“ถนนพระราม” แต่ละสายอยู่ตรงไหนบ้าง? แล้วทำไมต้องเป็นพระราม? ชื่อนี่มาตั้งแต่แรกเลยหรือเพิ่งมาเปลี่ยนทีหลัง วันนี้เราจะพาไปตามหา (ถนน) พระรามกันครับ ^^
3
เพื่อนๆ ที่เดินทางไปไหนมาในในกรุงเทพฯ คงจะคุ้นเคยกับชื่อ “ถนนพระราม” สายต่างๆ แล้วเคยสงสัยหรือออกตามหากันไหมครับ ว่าถนนพระรามเหล่านี้มีกี่สาย แล้วแต่ละสายอยู่ที่ไหนบ้าง? แล้วทำไมถึงชื่อถนนพระราม? บอกเลยว่าไม่ได้ตั้งเรียงๆ กันไปเหมือนเลขซอยหรอกนะฮะ
วันนี้เราจะพาทุกคนไปไล่เรียงทำความรู้จักกับ “ถนนสายพระราม” ตั้งแต่พระรามที่ 1 ไปจนถึงพระราม 9 สายไหนอยู่ตรงไหนบ้าง ตามมาดูกันเลย! 🚦🚗
ที่มาของการตั้งชื่อถนนพระราม?
อย่างที่เพื่อนๆ คงคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม-มัธยม ว่าสังคมไทยนั้นมีการนำคติจากวรรณคดี “รามเกียรตื์” มาผสมกับวัฒนธรรมของพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งมีการเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็น “สมมติเทพ” เปรียบได้กับพระรามที่เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาจากสวรรค์ครับ
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่โบราณนานมา ก็มักจะมีคำว่า ราม, รามาธิบดี, ราเมศ ปรากฎในพระรามของพระมหากษัตริย์ไทย
และเหตุการณ์สำคัญก็คือ เมื่อปี 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระนามาภิไธยจาก “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ” เป็น “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร…” และในภาษาอังกฤษก็ใช้ “King Rama” ตามด้วยเลขโรมัน โดยใช้ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกครับ ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงก็คือ พระนามของพระมหากษัตริย์นั้นค่อนข้างยาวและออกเสียงยาก ช่วงนั้นมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติเยอะขึ้นมาก รัชกาลที่ 6 ก็เลยทรงปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันยุคสมัยและออกพระนามง่ายขึ้นครับ
1
คำว่า “พระราม” ในชื่อถนนนั้น ก็มีที่มาจากพระนามของรัชกาลต่างๆ นั่นครับ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพระราชทานชื่อถนนโดยรัชกาลที่ 6 เช่นกัน ในยุคนั้นมีการเปลี่ยนชื่อถนนเยอะมากเลยครับ ไว้มีโอกาสจะมาเล่าอีกทีเรื่องชื่อถนนนะฮะ
1
สำหรับถนนพระรามสายต่างๆ นั้น โดยมากจะเป็นถนนที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์องค์นั้นๆ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรตินั่นเองครับ
นอกจาก “ถนนพระราม” ยังมี “สะพานพระราม” ด้วยนะครับ ซึ่งข้อแตกต่างที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต (เพราะใช้ผิด-ใช้แบบลำลองกันบ่อย) ก็คือ…
1
ถนน จะใช้คำว่า “ถนนพระรามที่” ตามด้วยตัวเลข**
สะพาน จะใช้คำว่า “สะพานพระราม” ตามด้วยตัวเลข
1
**ยกเว้นถนนพระราม 9 เป็นถนนนสายเดียวที่ไม่มีคำว่า “ที่” ครับ
สำหรับโพสต์นี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับถนนพระรามสายต่างๆ กันก่อน ส่วนสะพานนั้นหากเป็นส่วนหนึ่งของถนนนั้นๆ เราจะกล่าวแทรกเอาไว้นะครับ และถ้ามีโอกาสเราจะรวบรวมเฉพาะส่วนของสะพานมาให้อ่านกันอีกทีนะครับ 😁
เอาล่ะ... มาเริ่มกันเลย!
ถนนพระรามที่ 1
เป็นถนนที่อยู่ใจกลางย่านธุรกิจ เริ่มจากเขตเมืองเก่าที่แยกกษัตริย์ศึก ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมและทางรถไฟมาทางตะวันออก ผ่านสนามกีฬาแห่งชาติ แยกปทุมวัน ย่านสยามสแควร์ มาสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์
1
ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นเส้นทางสำหรับเสด็จไปวัดปทุมวนาราม ที่สร้างในช่วงปี 2400-2410 เดิมถนนสายนี้ชื่อ “ถนนปทุมวัน”
1
รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนปทุมวันเป็น “ถนนพระราม 1” เพื่อเทิดพระเกียรติให้กับรัชกาลที่ 1 ที่ใช้เส้นทางนี้ในการเสด็จกลับจากเขมรมาปราบจลาจลที่กรุงธนบุรี สมัยที่ยังทรงพระยศเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ครับ
1
… ใช่ครับ สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมและทางรถไฟที่อยู่ต้นถนนก็ตั้งชื่อว่า “สะพานกษัตริย์ศึก” ด้วยเช่นกันฮะ
ระยะทางประมาณ – 2.8 กิโลเมตร
ถนนพระรามที่ 2
ถนนที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จัก เพราะเป็นทางหลวงสายหลักที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปภาคใต้ เริ่มต้นจากจุดตัดถนนสุขสวัสดิ์แถวดาวคะนอง-บางปะกอก ฝั่งธนบุรี ไปทางตะวันตกผ่านบางขุนเทียน มหาชัย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไปสุดที่สามแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรีครับ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2513 และหลายๆ คนก็มักจะพูดกันว่าทุกวันนี้ยังสร้างไม่เสร็จครับ (ฮา)
5
2
ถนนสายนี้เดิมรู้จักในชื่อ “ถนนธนบุรี-ปากท่อ” แต่มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ 2” เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชสมภพที่อำเภออัมพวา และสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดสมุทรสงครามก็ชื่อ “สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ด้วยเช่นกันครับ
ระยะทางประมาณ – 84 กิโลเมตร
ถนนพระรามที่ 3
อยู่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ของ กทม. ครับ เริ่มตั้งแต่สะพานกรุงเทพ ผ่านแยกถนนตก เลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ ผ่านถนนเจริญราษฎร์ ลอดใต้สะพานพระราม 9 ผ่านถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนยานนาวา ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านแยกนางลิ้นจี่ และขนาบข้างด้วยทางด่วนขั้นที่ 1 ไปจนสุดที่แยก ณ ระนอง แถวตลาดคลองเตยครับ
4
ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยยุคจอมพลถนอม ประมาณปี 2514 มีชื่อเดิมที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “ถนนเลียบแม่น้ำ” มาเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ 3” เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 3 ที่ทรงมีความสนใจเรื่องการค้าขาย เนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูในยุคก่อนปี 2540 รัฐบาลต้องการจะขยายโซนธุรกิจการค้าจากย่านถนนสีลม (ซึ่งถนนแคบและรถติดมาก) มาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแทน แต่สุดท้ายก็เจอมรสุมเศรษฐกิจซะก่อน อย่างที่หลายๆ คนเห็นว่ามีธนาคารหลายแห่งมาตั้งสำนักงานใหญ่แถวนี้ครับ
3
ระยะทางประมาณ – 12 กิโลเมตร
ถนนพระรามที่ 4
3
ถนนที่หลายคนน่าจะรู้จักดีครับ โดยจะเริ่มจาก “แยกหมอมี” ผ่านสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ผ่านสามย่าน สีลม สวนลุมพินี บ่อนไก่ คลองเตย กล้วยน้ำไท และไปสุดที่แยกพระโขนง ตัดกับถนนสุขุมวิทครับ
ถนนสายนี้เดิมชื่อ “ถนนตรง” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี 2400 โดยจะวิ่งขนานไปกับคลอง และทางรถไฟเก่าสายปากน้ำครับ ในยุคของรัชกาลที่ 6 ได้มีการพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ถนนพระรามที่ 4” เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 4 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองและสร้างถนนสายนี้ครับ
1
ระยะทางประมาณ – 9.4 กิโลเมตร
ถนนพระรามที่ 5
ถนนสายนี้เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นเคย และสับสนกับสะพานพระราม 5 ที่อยู่แถวนนทบุรีครับ จริงๆ ถนนที่เชื่อมต่อกับสะพานพระราม 5 ชื่อถนนนครอินทร์ครับ
1
สำหรับถนนพระรามที่ 5 จริงๆ นั้น ตั้งอยู่ในเขตดุสิต เลียบคลองเปรมประชากร โดยเริ่มตั้งแต่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ขึ้นเหนือผ่านสนามม้านางเลิ้ง สวนจิตรลดา โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เรื่อยไปจนถึงแยกสะพานแดงแถวเกียกกาย-ประดิพัทธ์ครับ
3
เดิมถนนนี้ชื่อ “ถนนลก” เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพระราชวังดุสิตเมื่อปี 2441 ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ถนนพระรามที่ 5” ครับ
1
ระยะทางประมาณ – 4 กิโลเมตร
ถนนพระรามที่ 6
ถนนที่หลายคนคุ้นเคยว่าเป็นถนนเลียบคลองประปาครับ แต่จริงๆ แล้วถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นที่แยกจารุเมือง (อยู่แถวๆ ร้านเจ้โอว) วิ่งขนานกับทางด่วนขั้นที่ 2 ผ่านแยกพงษ์พระราม แยกอุรุพงษ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วเลียบคลองประปาไปจนสุดที่ถนนเตชะวณิช แถวๆ บางซื่อครับ
1
ถนนสายนี้เดิมชื่อ “ถนนประทัดทอง” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานชื่อ “ถนนพระรามที่ 6” ซึ่งถนนสายนี้เป็นถนนที่วิ่งขนานคู่ไปกับถนนพระรามที่ 5 ครับ
ระยะทางประมาณ – 7 กิโลเมตร
ถนนพระรามที่ 7 และ ถนนพระรามที่ 8
หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อถนนสองสายนี้ ใช่ครับ ก็เพราะถนนพระรามที่ 7 และ 8 นั้น “ยังไม่มี” นั่นเองฮะ
บางคนอาจจะไปส่อง Google Maps แถวๆ สะพานพระราม 8 แล้วเห็นว่าถนนใต้สะพานช่วงสั้นๆ ประมาณ 20 เมตร มีชื่อแปะไว้ว่า Rama VIII Road อันนั้นทาง Google น่าจะคีย์ข้อมูลผิดนะครับ เราตรวจสอบแล้วยังไม่พบว่ามีการตั้งชื่อถนนพระรามที่ 8 อย่างเป็นทางการฮะ
ถนนพระราม 9
ถนนนี้เริ่มต้นจากแยกพระราม 9 วิ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนรามคำแหง แล้ววิ่งขนานกับทางรถไฟ ไปสุดที่แยกต่างระดับศรีนครินทร์ ตัดกับถนนศรีนครินทร์และมอเตอร์เวย์สาย 7 ครับ
1
เดิมทีถนนพระราม 9 มีจุดสิ้นสุดอยู่ที่แยกรามคำแหง โดยเปิดใช้งานมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2521 ในชื่อ “ถนนเลียบคลองสามเสนฝั่งเหนือ” ภายหลังมีการสร้างต่อขยายไปจนถึงแยกศรีนครินทร์ เชื่อมกับทางหลวงพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรี (สายใหม่) หรือถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากฝั่งตะวันออกสู่ตะวันตกของกรุงเทพฯ ตามโครงการถนนจตุรทิศ ของรัชกาลที่ 9 นั่นเองครับ
1
ถนนสายนี้พระราชทานชื่อโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเหตุที่ถนนสายนี้ไม่ใช้ชื่อว่า “พระรามที่ 9” เพราะมีพระราชดำรัสไว้ว่าไม่มีพระราชประสงค์ให้มีคำว่า “ที่” ต่อท้าย “พระราม” ครับ
ระยะทางประมาณ – 8.7 กิโลเมตร
และทั้งหมดนี้ก็คือ “ถนนสายพระราม” ที่เรารวบรวมมาให้รู้จักกันครับ บางสายเพื่อนๆ อาจจะรู้จักอยู่แล้ว ก็ถือว่าเราเอาประวัติความเป็นมามาให้ได้รู้จักกันมากขึ้นนะฮะ
ถ้าเพื่อนๆ ชอบก็สามารถแชร์ให้เพื่อนมาอ่านด้วยกันได้นะครับ และเหมือนเดิมคือ “ฝากกดติดตามเพจของเราหน่อยน้า” ทุกการติดตามคือกำลังใจให้พวกเรา ขอบคุณค้าบ ^^
41 บันทึก
66
15
65
41
66
15
65
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย