20 พ.ค. 2021 เวลา 13:20 • คริปโทเคอร์เรนซี
คริปโตฯ สายฟาร์มป่วน! เหรียญ Bunny ถูกมือดีอาศัยช่องโหว่ระบบปั๊มเหรียญทุบราคา กวาดเงินไปกว่า 1.7 พันล้านบาท ส่วนผู้ลงทุนเจ็บหนัก
4
หลังจากตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะบิตคอยน์ สร้างความปั่นป่วนให้กับนักลงทุนมาหลายสัปดาห์ จากการเหวี่ยงตัว ‘ขึ้น-ลง’ อย่างรุนแรง ล่าสุดถึงคราวสาย Yield Farming ที่ต้องตื่นตกใจบ้าง เพราะเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (20 พฤษภาคม) เหรียญ Bunny หนึ่งในเหรียญที่นักลงทุนสายฟาร์มนิยมกัน อยู่ๆ ราคาก็ปรับร่วงลงรุนแรงจากระดับ 150 ดอลลาร์ต่อ Bunny มาต่ำกว่าระดับ 1 ดอลลาร์ต่อ Bunny หรือราวๆ 67% ภายในเวลาไม่กี่วินาที
2
คิม-กานต์นิธิ ทองธนากุล เจ้าของเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาเหรียญ Bunny ไม่ได้เกิดจาก Bug (จุดบกพร่องของโปรแกรม) ของระบบ หรือเกิดจากการแฮ็ก (เจาะระบบ) โดยแฮ็กเกอร์แต่อย่างใด แต่เกิดจากการกระทำในรูปแบบ Economic Attack ที่เรียกว่า Flash Loan ซึ่งก็คือการกู้ยืมโดยที่ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันบนโลกของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้ทำ แต่กรณีนี้แพลตฟอร์มของ Bunny อนุญาตให้ทำได้ผ่านแพลตฟอร์ม PancakeSwap เนื่องจากเป็นการกู้ยืมและคืนสินทรัพย์ทั้งหมดภายใน 1 ทรานแซ็กชัน
10
“โดยปกติแล้วใน 1 ทรานแซ็กชันบนโลกคริปโตฯ ทำได้หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืม ซื้อ ขาย หรือโอน แล้วคืนสินทรัพย์ที่กู้ ซึ่งสามารถทำได้เสร็จภายในทรานแซ็กชันเดียว กรณีแบบนี้จะเรียกว่า Flash Loan”
3
คิมบอกว่า เคสที่เกิดขึ้นนี้คนที่ทำได้นอกจากจะเก่งเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการเงินในระดับที่สูงมาก เข้าใจกลไกตลาดเป็นอย่างดี เพราะเคสที่เกิดขึ้นเป็นการเล่นกับระบบการกู้ยืม หรือจะเรียกว่าเป็น Economic Attack ก็ได้
8
โดยคนที่เข้ามาทำ Flash Loan ครั้งนี้ ใช้วิธีการกู้ยืมเหรียญ BNB มาราวๆ 2 ล้านเหรียญ แล้วเอามาสร้างการบิดเบือน (Manipulate) ราคาในตลาด โดยดัมป์ขายออกมาอย่างรุนแรง ทำให้ราคาเหรียญ Bunny ร่วงลงทันทีจากระดับ 150 ดอลลาร์ ลงมาต่ำกว่าระดับ 1 ดอลลาร์ ภายในเวลาไม่กี่วินาที
6
“การทำลักษณะนี้ทำให้แพลตฟอร์ม Bunny ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ตรงที่เขาจะเอา 30% ของกำไรที่เก็บได้จากนักลงทุน ไปแจกจ่ายเป็นเหรียญ Bunny ซึ่งปกติจะมีการตรึงเอาไว้อยู่ที่ 1 เหรียญ BNB ต่อ 5 เหรียญ Bunny แต่การทำ Flash Loan ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการ Manipulate โดยทำให้ราคาเหรียญ Bunny ออกมาเยอะจนล้นตลาด คนที่ทำก็เอาเหรียญที่ได้มาถล่มขายในตลาด จนราคาเหรียญ Bunny ลดลงไปอย่างที่เห็น”
9
คิมยืนยันอีกครั้งว่า การกระทำแบบนี้ไม่ใช่การแฮ็กหรือเป็น Bug ของระบบ แต่เป็นการอาศัยช่องโหว่ของทรานแซ็กชันจากแพลตฟอร์มดังกล่าวมาสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด ซึ่งผู้กระทำน่าจะได้กำไรไป 56 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1.7 พันล้านบาท โดยที่ใช้ต้นทุนแค่ 1 BNB หรือประมาณ 10,000 บาท
18
ภายหลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางแพลตฟอร์มของ Bunny ได้หยุดการ Mint (ผลิตเหรียญใหม่) ไว้ชั่วคราว จึงทำให้ไม่สามารถทำ Flash Loan ที่มักจะผูกกับการ Mint เหรียญเอาไว้ได้ ในขณะที่ราคาเหรียญ Bunny ก็เริ่มรีบาวด์กลับขึ้นมาบ้าง เพราะยังมีผู้ลงทุนบางคนเชื่อมั่นในระบบอยู่
8
“ตอนนี้ทางทีมงานได้ปิดฟังก์ชันการ Mint เหรียญ Bunny ออกไปก่อน ทำให้ไม่สามารถใช้ช่องทาง Flash Loan ในการหากำไรได้อีก เพราะ Flash loan จะผูกกับการ Mint เหรียญ และเจ้าของแพลตฟอร์ตได้เข้าตรวจสอบเชิงลึก ส่วนคนที่เสียหายเขาจะพิจารณาชดเชยให้ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะชดเชยอย่างไร โดยแพลตฟอร์มนี้ยังมีเหรียญอื่นๆ ฝากอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น BNB หรือ USDT แต่เหรียญเหล่านี้ไม่ได้โดนผลกระทบอะไร”
10
ส่วนคำแนะนำสำหรับสายฟาร์มนั้นคิมบอกว่า พยายามอย่าไปลงทุนในเหรียญที่ได้รับแจกมาฟรีๆ โดยในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีเหรียญที่เรียกว่า Governance Token อยู่ เช่น แพลตฟอร์มของ Bunny ก็จะมีเหรียญ Bunny เป็น Governance Token หรือแพลตฟอร์มแพนเค้ก ก็จะมีเหรียญแพนเค้กเป็น Governance Token
7
คิมย้ำว่า เหรียญเหล่านี้ส่วนใหญ่จะได้มาฟรีจากการใช้งานแพลตฟอร์ม ซึ่งในความเห็นของเขาแล้ว หลังได้มาก็ควรขายทำกำไรออกไป ไม่ควรเข้าไปยุ่ง เพราะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาที่สูง หากต้องการจะทำ Yield Farming ควรใช้เหรียญประเภท StableCoin หรือเหรียญที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น USDT หรือ BUSD จะมีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากกว่า เพราะอย่างน้อยมูลค่าเงินต้นจะไม่สูญหาย หากเป็นเหรียญประเภท Governance Token พวกนี้ แม้จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหลายเท่าตัว แต่ก็มักจะมีความเสี่ยงบางอย่างที่เรามองไม่เห็นเหมือนกับเคสที่เกิดขึ้นนี้
15
เรื่อง: ศรัณย์ กิจวศิน
โฆษณา