21 พ.ค. 2021 เวลา 03:33 • ดนตรี เพลง
The Jesus and Mary Chain - Psychocandy (1985)
อัลบั้ม Psychocandy เริ่มบันทึกเสียงช่วงเดือน มี.ค. 1985 ที่ Southern Studios ใน Wood Green ทางเหนือของกรุงลอนดอน The Jesus and Mary Chain รับหน้าที่โปรดิวซ์กันเองร่วมกับเอนจิเนียร์ John Loder ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ด้วยงบประมาณ 17,000 ปอนด์ ทางวงนั้นตั้งใจทำงานกันอย่างละเอียดโดยไม่ใช้ยาเสพติดที่เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนให้พวกเขาแสดงสดได้อย่างดุเดือด "เราไม่ใช้ยาเลยตอนทำอัลบั้ม" มือเบส Douglas Hart ให้สัมภาษณ์กับ The Quietus ในปี 2011 "เราเคยเอาความบ้าคลั่ง ความมึนเมา และความโกรธที่ถูกสะกดเอาไว้ มาปลดปล่อยตอนเราเล่นสด เหมือนแนวคิดที่ว่า 'ถ้าเราไม่เล่นแบบนี้ เราขอตายดีกว่า' ดังนั้นเมื่อถึงเวลาทำอัลบั้มเราจึงค่อนข้างมีสมาธิ ไม่มีการดื่มเหล้าหรือเสพยาเพื่อไม่ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ" เขายังบอกอีกว่า "เราไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำอัลบั้มให้ออกมาในปี 1985 และถูกลืมในปี 1990 เราอยากจะทำอัลบั้มที่เมื่อผ่านไปอีก 25 ปี มันจะไม่เหมือนอัลบั้มที่มีอายุ 25 ปี และถ้ามันดึงดูดใจเด็กเนิร์ดซักกลุ่มนึงให้พวกเขาเปิดฟังในห้องนอนมันก็มีค่าเพียงพอกับพวกเราแล้ว"
มาดูกันว่าปัจจัยที่ทำให้ซาวด์ในอัลบั้ม Psychocandy ยังคงถูกพูดถึงและกลายเป็นอิทธิพลให้กับวงรุ่นหลัง มีอะไรบ้าง
ปัจจัยที่ 1 สิ่งแวดล้อมในสตูดิโอที่ถูกต้อง
องค์ประกอบที่สำคัญอันดับแรกคือ เอนจิเนียร์ที่เข้าใจในตัววง คนที่สามารถนำเสียงที่วงจินตนาการไว้ออกมาและอัดลงสู่เทปได้ เขาอาจจะไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคแต่เป็นคนที่เปิดกว้างให้วงนำเสนอไอเดียและทดลองกับอุปกรณ์ต่างๆในสตูดิโอได้อย่างอิสระ ซาวด์ที่พลุ่งพล่านโกลาหลในอัลบั้ม Psychocandy ได้พลังงานมาจากการเล่นพิเรนธ์และปฏิเสธข้อกำหนดของสตูดิโอทั่วไป ในการบันทึกเสียงก่อนหน้านั้นของวงต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีปัญหากับเอนจิเนียร์ทำให้พวกเขาต้องย้ายห้องอัดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนแทบจะจนตรอกกับการทำอัลบั้ม The Jesus and Mary Chain นั้นไม่ชอบการทำงานที่เป็นสูตรสำเร็จมาตรฐานรวมถึงเอนจิเนียร์หลายคนที่ได้พบ และอยากทำงานในแนวทางของตัวเอง
"พวกเขาจะมองคุณด้วยความหวาดกลัว เมื่อคุณถูกีต้าร์กับพื้นหรือเขย่ามันหน้าตู้แอมป์และบอกว่า 'นั่นคือซาวด์กีต้าร์ที่คุณอยากได้เหรอ' " Jim Reid นักร้องนำและมือกีต้าร์เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาเจอ "ถ้าคุณวางกระป๋องเบียร์ไว้บนบอร์ดคอนโซลอันสูงส่งนั่นพวกเขาจะเริ่มไม่พอใจ บางครั้งก็โวยวายว่ากีต้าร์สายเพี้ยนมั่งล่ะ แต่สำหรับสิ่งที่เรากำลังทดลองกันอยู่แม่งไม่จำเป็นต้องตั้งสายก็ได้โว้ย เรามีความเป็นมืออาชีพพอและมีทัศนคติที่ดี ที่ว่า 'กูไม่สนใครทั้งนั้น' เราอยากได้โปรดิวเซอร์ที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราเอากีต้าร์ถูกับพื้นนั่นคือสิ่งเราตั้งใจ ถ้าเรากำลังทำเพลงที่มีเสียงฟีดแบ็ก(เสียงหอน) จากกีต้าร์ เสียงฟีดแบ็กนั้นก็ต้องออกมาเพอร์เฟ็ค"
จากคำแนะนำของ Geoff Travis เจ้าของต้นสังกัด Rough Trade Records ทางวงได้ย้ายไปอัดเสียงที่สตูดิโอของเอนจิเนียร์ John Loder ซึ่งต่างจากสตูดิโอแบบมาตรฐานทั่วไป สตูดิโอแบบ DIY ของ Loder นั้นมีชื่อเสียงจากการทำงานให้วงพังค์อย่าง CRASS และ วงอินดัสเตรียลอย่าง Ministry
การทำงานเริ่มต้นในวันที่ 30 มี.ค. และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทางวงได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในสตูดิโอที่ดัดแปลงมาจากห้องรับแขกแม้จะดูแปลกไปบ้าง แต่เมื่อวงต้องการความเชื่อเหลือ Loder ก็เข้ามาจัดการให้ด้วยความเชี่ยวชาญ เขาได้รับเครดิตในการผลักดันให้วงทดลองกับเสียงต่างๆจนพัฒนามาเป็นเสียง Noise และเสียงอึกทึกยุ่งเหยิงที่ปรากฏอยู่ทั่วทั้งอัลบั้ม Reid บอกว่า "เรามีเสียงที่เราต้องการในหัว และเขาก็พยายามหาวิธีทำให้มันเกิดขึ้นเพื่ออัดลงเทป เขาทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เราได้เสียงนั้น"
สิ่งแวดล้อมแบบ lo-fi ในสตูดิโอก็มีส่วนช่วยให้เกิดซาวด์ที่มีเอกลักษณ์ บางๆ แหลมๆ และชุ่มไปด้วยรีเวิร์บ Reid บอกว่า "มันเป็นเซ็ตอัพที่แปลกประหลาดแต่เหมือนมีเวทมนต์และใช้งานได้ดีมาก"
ปัจจัยที่ 2 เสียงรีเวิร์บและการตั้งไมค์
การใช้เสียงเอคโค่ รีเวิร์บ และการตั้งไมค์ในอัลบั้ม Psychocandy เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ได้ซาวด์ที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากการวางไมค์ใกล้กับเครื่องดนตรีในปัจจุบัน อัลบั้มนี้ใช้การตั้งไมค์แบบห่างกับเครื่องดนตรีทุกชิ้นเพื่อสร้างบรรยากาศให้มีมิติ มีแค่เสียงร้องของ Jim Reid เท่านั้นที่วางไมค์ใกล้ แม้ว่ามันจะทำให้เกิดเสียงสะท้อนบ้าง แต่บ่อยครั้งมันก็ถูกผสมอยู่ในมิกซ์
เทคนิคนี้เกิดจากที่ทางวงอยากได้ซาวด์ระบบโมโนที่หนาแน่นแบบ Wall of Sound อันเลื่องชื่อของโปรดิวเซอร์ Phil Spector โดยเสียงหลักที่ไม่ปรุงแต่งจะถูกวางไว้ตรงกลาง ส่วนเอฟเฟคดับเบิ้ลต่างๆจะแพนไว้ด้านข้าง
ปัจจัยที่ 3 เสียงฟีดแบ็ก
เสียงฟีดแบ็กกีต้าร์นั้นเกิดจากแม่เหล็กที่ติดอยู่บนปิคอัพทั้งสอง(ทำหน้าที่เหมือนไมค์และลำโพงขยายเสียง) ป้อนสัญญาณให้แก่กันและกัน ซึ่งปรกติถือเป็นเสียงที่ไม่พรึงประสงค์สำหรับสตูดิโอ
แต่มันถูกใช้โดยเจตนาและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเพลงป็อบยุค '60s และมันก็กลับมาสร้างรสชาติให้กับการโปรดัคชั่นในกลางยุค '80s อีกครั้งเมื่อ The Jesus and Mary Chain นำมันมาใช้อย่างโดดเด่นในอัลบั้มนี้
เสียงฟีดแบ็กจากกีต้าร์ของสองพี่น้อง Reid ถูกสร้างขึ้นจากการใช้คันโยก ท้อกเกิ้ลสวิตช์ ผสมกับการหันกีต้าร์เข้าใกล้กับตู้แอมป์
ปัจจัยที่ 4 ซาวด์กีต้าร์
แม้ว่าทักษะการเล่นกีต้าร์ของทั้ง Jim และ Will จะไม่ได้เก่งระดับขั้นเทพ แต่ความดิบและการเล่นที่มาจากสัญชาตญาณของพวกเขานั้นกลับกลายเป็นความโดดเด่นสำหรับกีต้าร์สายทางเลือกในยุค '80s ทั้งคู่ใช้กีต้าร์แบบ Semi Hollow ของ Grestch ซึ่งบอดี้แบบ Hollow นั้นง่ายต่อการสร้างเสียงฟีดแบ็ก ยิ่งเมื่อจับคู่กับแอมป์ Fender Twin Reverb และ ‘70s Shin-Ei Fuzz Wah pedal ซึ่ง Reid บอกว่าเจ้าเอฟเฟคตัวนี้ "มันมีเสียงของมันเองไม่ต้องปรับอะไร คุณแค่เสียบแจ็คและมันก็จะให้เสียงกรีดร้องแบบเหลือเชื่อออกมา"
สองพี่น้อง Reid นั้นปรับปรุงและพัฒนาซาวด์กีต้าร์ของพวกเขามากกว่าจะให้ความสำคัญกับเสียงโอเวอร์ไดร้ฟ์แบบธรรมดาจากตู้แอมป์ "ซาวด์กีต้าร์ที่ดีมาจากโทน ไม่ใช่โวลุ่ม" Jim Reid ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Guitar Player ในปี 1992 จากข้อความนี้ทำให้สังเกตุได้ว่าแม้ The Jesus and Mary Chain จะใช้เอฟเฟคในปริมาณมากแต่ซาวด์ที่ได้นั้นมาจากการเลือกโทนเสียงที่ชอบมากกว่าจะแค่เล่นเสียงดัง
ปัจจัยที่ 5 เพอร์คัสชั่น
ซาวด์ที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากอุปกรณ์ราคาแพงเสมอไป นักร้องนำของวง Primal Scream (ขณะนั้นกำลังเริ่มต้น) อย่าง Bobby Gillespie นั้นถูกยืมตัวมารับหน้าที่มือกลอง และกลายเป็นส่วนสำคัญให้กับ The Jesus and Mary Chain ในยุคแรก นอกจากจะมีส่วนช่วยให้วงได้เซ็นสัญญากับ
Creation Records แล้ว เขายังช่วยสร้างจังหวะให้วงจากชุดกลองที่มีเพียงแค่สแนร์กับฟลอร์ทอม
"ผมไม่ได้อยากเป็น Moe Tucker(มือกลอง) ของ The Velvet Underground หรอกนะ แต่ผมเล่นได้แค่กลองสองใบเท่านั้นเอง"
"เขามีทั้งความสุดยอดและสุดเห่ยรวมอยู่ด้วยกัน" Jim Reid บอก "แต่เราไม่ได้ต้องการมือกลอง เราต้องการแค่ใครซักคนมายืนอยู่ตรงนั้นและเคาะจังหวะห่าเหวอะไรก็ได้ และ Bobby ก็คือองค์ประกอบนั้น"
ทุกปัจจัยที่กล่าวมา การสร้างสรรค์ซึ่งนำไปสู่ซาวด์ที่น่าตื่นเต้นของอัลบั้ม Psychocandy ถือเป็นรากฐานในการวิวัฒนาการของเพลงแบบ Noise Rock, Shoegazer และยังคงถูกกล่าวถึงมาจนถึงทุกวันนี้
...
#สตูดิโอแลนด์
#TheJesusAndMaryChain
โฆษณา