มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยกำเนิด ธรรมชาติของเราจะแสวงหาปฎิสัมพันธ์กับคนรอบตัวเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คน ๆ เดียวจะสามารถทำได้ และนี่คือ Network effect ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่า Network effect คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร ส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง
ที่มาของ Network effect
คำว่า Network effect ถูกกล่าวครั้งแรกโดยนาย Robert Metcalf ในปี ค.ศ.1980 ผู้ร่วมก่อตั้งระบบ Ethernet ซึ่งเป็นการกล่าวถึงคุณประโยชน์ที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของมนุษย์ ต่อมาก็ได้กลายเป็นแบบอย่างที่ถูกประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โทรสาร โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และคริปโทเคอร์เรนซีที่เราใช้ทุกวันนี้
Network effect คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มคนหรือผู้มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นส่งผลให้มูลค่าของสินค้าหรือบริการสูงขึ้น เมื่อมีจำนวนผู้ใช้สูงขึ้น ส่งผลให้ดึงดูดผู้ใช้รายใหม่ ๆ เข้ามาและมีปฎิสัมพันธ์กันมากขึ้น เกิดเป็น Network effect ที่ทรงพลังและเป็นผลดีต่อทั้งเครือข่าย และยังเป็นการยากที่คู่แข่งหรือสินค้าอื่นจะมาแทนที่อีกด้วย
ตัวอย่างของ Network effect
หนึ่งในตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ โทรศัพท์
โทรศัพท์เป็นเครื่องมือที่เราใช้ติดต่อสื่อสารกัน แต่ถ้าหากมีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว โทรศัพท์ก็เป็นได้แค่โลหะที่ไร้ประโยชน์ จำเป็นต้องมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โทรศัพท์ถึงจะเป็นเทคโนโลยีที่ มีประโยชน์ที่สุด
หากเรานำมาคำนวนด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าเพราะอะไร Network effect ถึงทรงพลัง
เรามีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวก็จะไม่เกิดการเชื่อมต่อกัน หากมีสองเครื่องก็จะเกิดการเชื่อมกัน 1 สาย ถ้ามีสามเครื่องก็จะเป็น 3 สาย ถ้าหากมี 100 เครื่องล่ะ? เราจะมีการเชื่อมต่อกันถึง 4,950 สาย และถ้าเป็น 100,000 เครื่องก็จะเกิดการเชื่อมต่อมากถึง 4,999,950,000 สาย เลยทีเดียว
เราสามารถคำนวณได้จากสูตร “กฎของเมตคาล์ฟ” (Metcalfe’s law) ที่ใช้คำนวณเกี่ยวกับการเชื่อมเครือข่ายของการสื่อสาร หากเราแทน c ด้วยจำนวนครั้งการเชื่อมต่อ และ n แทนจำนวนเครื่องในเครือข่าย
จะเกิดสูตรการคำนวณดังนี้
c = 0.5 x n x (n-1)
ในกรณีที่ n เพิ่มมากขึ้น สูตรจะถูกเปลี่ยนเป็น c = 0.5 x n2