22 พ.ค. 2021 เวลา 09:00 • ท่องเที่ยว
โชธะปุระ (Jodhpur) & บุณฑี (Bundi) วิถีชีวิตบนความจัดจ้าน นคร‘สีฟ้า’ที่ตราตึงใจ...ในอินเดีย
เมืองสีฟ้าย่อมถูกโฉลกกับคนบ้าสีฟ้า ผู้ซึ่งเข้าข่ายคลั่งไคล้สีนี้เป็นที่สุด จะเป็นใครเสียอีกล่ะถ้าไม่ใช่ผม การได้ไปเยือนไปอยู่ ณ สถานที่สีฟ้าย่อมทำให้มีความสุขสบายใจอย่างเป็นล้นพ้นสำหรับคนประเภทนี้ ในโลกนี้มีอยู่ไม่กี่แห่งเสียด้วยสิ และบางแห่งในนั้นอยู่ในประเทศอินเดียนั่นเอง หากเจาะจงให้เฉพาะลงไปอีกก็ที่รัฐราชสถาน ที่นั่นมีเมืองสีฟ้าอย่างน้อยสองแห่ง หนึ่งนั้นคือ บุณฑี อีกหนึ่งก็คือ โชธะปุระ หรือจอดห์ปูร์นั่นเอง หากดูตามพิกัดแล้วจะเห็นว่าสองเมืองนี้ตั้งอยู่เกือบสุดขอบด้านตะวันตกของประเทศ ภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย ซึ่งแม้จะร้อนจะแห้งแล้งจะอะไรก็ตามแต่ นั่นไม่ใช่ปัญหาเลยแม้แต่น้อย ตราบใดที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์บ้าสีฟ้ายังเป็นสีฟ้าอยู่
บุณฑี เป็นเมืองเล็กกว่า ป้อมวังอะไรต่าง ๆ เป็นฉบับย่อส่วนเมื่อเทียบกับเมืองโชธุปุระ บรรยากาศของสองเมืองมีทั้งคล้ายคลึงและแตกต่าง แน่นอน บุณฑีย่อมให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเรื่อยเฉื่อยมากกว่า ไม่ใช่แค่เพราะขนาดเล็กกว่า แต่น่าจะเพราะเมืองนี้ไม่ได้คลาคล่ำไปด้วยฝูงนักท่องเที่ยว ในโชธะปุระนั้นลำพังคนท้องถิ่นก็หนาแน่นพอสมควรอยู่แล้ว ไหนจะยังต้องมามุด ต้องฝ่าดงแบ็คแพ็คเกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนหลักที่เลือกมาเดินทางท่องเที่ยวยังประเทศนี้ จะถ่ายรูปภาพเก็บเป็นที่ระลึกตามวัดวังอะไรต่าง ๆ ก็มักมีคนมาขวางฉากหรือหลุดเข้ามาในเฟรมภาพก่อนลั่นชัตเตอร์ให้เสียอารมณ์อยู่เนือง ๆ ซึ่งเจ้าความวุ่นวายขวักไขว่เช่นนี้ ก็แลกกันอย่างสมน้ำสมเนื้อกับความอลังการงานสร้างของงานสถาปัตยกรรมของเขาล่ะ
อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปว่าป้อมปราการของเมืองบุณฑีนั้นกระจอกกว่าป้อมแห่งเมืองโชธะปุระนะ ผมไม่ได้ต้องการสื่อความหมายเช่นนั้น เพราะแต่ละเมืองก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเองที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญ ตราบใดที่สองเมืองนี้เป็นสีฟ้า ก็ย่อมนับว่าสวยเสมอกัน ...และสวยกว่าเมืองใดก็ตามบนโลกใบนี้ที่ไม่ใช่สีฟ้า (โปรดเข้าใจมนุษย์สีฟ้า)
หากรวบยอดประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้เป็นฉบับย่อที่สุด ก็คงต้องย้อนหลังกลับไปหลายร้อยปี ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการปกครองระบอบกษัตริย์ ประกอบด้วยอาณาจักรน้อยใหญ่มากมาย โดยมักมีการแผ่อิทธิพลของเจ้าอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า โดยใช้วิธีทั้งการทูตและการทหาร หากอยากเห็นภาพชัดเจนกว่านี้ขอแนะนำให้ดูหนังบอลลีวูด (Bollywood) เรื่อง “โยดา อักบาร์” (Jodhaa Akbar) หนังรักโรแมนติกบอกเล่าช่วงเวลาที่ราชวงศ์โมกุลเรืองอำนาจและแผ่บารมีไปทั่วชมพูทวีป ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับสมัยอยุธยา นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีแง่มุมเกี่ยวกับศาสนาฮินดูกับอิสลาม รวมถึงวัฒนธรรมของดินแดนแถบทะเลทรายแห่งราชสถานด้วย
ทั้งสองเมืองนี้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ ชาวแบ็คแพ็กเกอร์ทั้งหลายถูกอกถูกใจเพราะค่าครองชีพไม่แพง ร้านรวงเกสต์เฮาส์ที่จอดห์ปูร์ดูจะพรักพร้อมกว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพ ห้องพักมีให้เลือกทั้งแบบนอนรวมราคาไม่กี่สิบรูปีต่อวัน ไปจนถึงห้องเดี่ยวราคาสูงกว่า ลวดลายสไตล์การตกต่างภายในตามแบบฉบับราชสถาน ในขณะที่บุณฑีนั้นส่วนใหญ่เป็นบ้านพักคล้ายโฮมสเตย์ราคาย่อมเยา บางแห่งมีอาหารเช้าแบบง่าย ๆ แถมให้ด้วย
จุดเด่นของสถานที่พักของทั้งสองเมืองนี้ก็คือดาดฟ้าสำหรับขึ้นไปนั่งเล่นกินลมชมวิวยามเช้าหรือซึมซับบรรยากาศโพล้เพล้ยามค่ำ บ้านเรือนแถบนี้สร้างกันแบบไม่ต้องมีหลังคาจั่วมุงสังกะสีหรือกระเบื้องแต่อย่างใด ปล่อยโล่งกันแบบนั้น อาจจะเป็นเพราะฝนไม่ได้ตกชุกเหมือนที่อื่นก็เป็นได้ คนเขาจึงใช้พื้นที่ดาดฟ้าในการตากผ้าหรือเป็นที่หย่อนใจ นอกจากให้ความรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังสามารถสังเกตอากัปกิริยาผู้คนจากระยะไกลโดยไม่ต้องลงไปเดินไปเบียดกับฝูงชน บางครั้งบริเวณดาดฟ้านี่เองที่เป็นพื้นที่สำหรับเว้นระยะห่างทางสังคมที่ดีที่สุด
กิจกรรมเรื่อยเฉื่อยของการเป็นนักท่องเที่ยว ก็คือการทอดน่องท่องเมือง เดินลัดเลาะตรอกซอยแบบไม่ต้องกางแผนที่ แลนด์มาร์กสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในระยะเดินกันถึง ตลาดกลางสีสันจัดจ้านก็มี ร้านค้า แทรกอยู่ทั่วไป กระหายน้ำคอแห้งก็แวะซื้อดื่มน้ำผลไม้คั้นสดหรือลาสซี (โยเกิร์ตปรุงรส) ของกินเล่นกินจริงทั้งคาวหวานก็มากมี คนที่ชอบเครื่องเทศรับรองติดใจ การได้ชิมโน้นกินนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการออกไปท่องโลกล่ะ
มนุษย์เรานี่ชอบงานรื่นเริงกันมาก แต่ดูเหมือนคนบ้านเมืองนี้จะชื่นชอบมากกว่าที่อื่นใด เพราะมักได้ยินเสียงฆ้องกลองตามจุดต่าง ๆ ของเมืองแทบทุกวัน หรือเดินอยู่ดี ๆ ก็เจอขบวนแห่อะไรสักอย่าง หรือเจอเวทีรื่นเริง มีคณะแสดงยิปซีกำลังร่ายรำระบำกัน
แน่นอน ที่พลาดไม่ได้เลย ก็คือวังและป้อมปราการประจำเมือง นอกจากได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังได้เห็นงานสถาปัตยกรรมอลังการงานสร้างด้วย คนสมัยก่อนนี่ก็เก่งไม่แพ้คนยุคนี้เลย เผลอ ๆ อาจเก่งกว่าเพราะสมัยโน้นไม่ได้มีเครื่องทุ่นแรงเหมือนยุคนี้ ที่สำคัญ การขึ้นไปยังป้อม มองลงมาเห็นวิวบ้านเรือนที่พร้อมใจกันทาด้วยสีฟ้า นี่แหละคือไฮไลต์ล่ะ
สว่าง ทองดี
จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้นด้วยอาชีพด้วยการเป็นครู ควบคู่ไปกับการใช้เวลาในช่วงปิดเทอมไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ สอนหนังสืออยู่เก้าปีจึงตัดสินใจลาออก และเริ่มเดินทางจริงจัง หลัก ๆ เป็นการไปด้วยจักรยาน รอนแรม ค่ำไหนนอนนั่น ประสบการณ์จากการไปผจญภัยท่องโลกนำมาเขียนเล่าเป็นบทความลงนิตยสารและรวมเล่มเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คสี่เล่ม เขายึดอาชีพฟรีแลนซ์เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วย และปัจจุบันหันมาจริงจังด้านกาแฟ ทั้งทำสวนกาแฟ คั่วขาย รวมทั้งเขียนบทความเกี่ยวกับกาแฟด้วย โดยหวังว่าในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เขาจะได้ออกเดินทางไกลอีกครั้ง และจะใช้วิชาความรู้ด้านกาแฟในการต่อยอดเพื่อเป็นอาชีพในขณะที่เดินทางนั้นด้วย ล่าสุดเขาค้นพบกิจกรรมผจญภัยใหม่อีกอย่าง คือการเดินทางด้วยเรือพายไปตามสายน้ำต่าง ๆ นั่นเอง
#THESTATESTIMES
#WeeklyColumnist
โฆษณา