Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Reporter Journey
•
ติดตาม
21 พ.ค. 2021 เวลา 16:46 • ข่าว
ก่อนจะดราม่ามาทำความเข้าใจ “งบการเงิน” ของแบงก์ชาติ
ประเด็นประเทศขาดทุนสะสม 1 ล้านล้าน แท้จริงคืออะไร?
1
กลายเป็นข่าวดังบนพาดหัวของสื่อต่างๆ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ เกี่ยวกับข่าวที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ รายงานตัวเลขฐานะการเงินของประเทศ ผ่านรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร ที่ระบุว่า ประเทศไทยขาดทุนสะสมกว่า 1,069,366,246,596 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รายงานตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 หรือเกือบ 10 เดือนที่แล้ว
ในประเด็นนี้มีหลายคนน่าจะมีความไม่เข้าใจในรูปแบบของงบการเงินของแบงก์ชาติ และมองเปรียบเทียบว่า งบการเงินของธนาคารกลางกับบริษัทเอกชนนั้นมีความเหมือนกัน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง Reporter Journey จะอธิบายอย่างละเอียด ตามข้อมูลข้อเท็จจริงให้ได้เข้าใจกัน
🔵 'แบงก์ชาติ' หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 โดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระแบบนิติบุคคล แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ได้เป็นทั้งหน่วยงานราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ มีรูปแบบการทำงานที่เฉพาะเจาะจง หน้าที่หลักคือ กำกับดูแลเรื่องการเงินของประเทศ ทั้งออกกฎเกณฑ์ต่างๆ, มีอำนาจในการควบคุมสถาบันการเงินพาณิชย์อย่างธนาคาร และองค์กรสินเชื่อ, ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ควบคุมการหมุนเวียนของเงินบาทในระบบ, ควบคุมการถ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศ รวมทั้งเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราต่างๆ และหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สินทรัพย์ หลักทรัพย์ และอัตราดอกเบี้ยต่างๆ เป็นต้น
5
แน่นอนว่าการที่แบงก์ชาติเป็นหน่วยงานหลักที่มีความเฉพาะเจาะจงในการทำหน้าที่ ดังนั้นรูปแบบของการบริหารงาน จึงมีความพิเศษเฉพาะตัวกว่าหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งรูปแบบของ "งบการเงิน" ที่มีความไม่เหมือนกับหน่วยงานทั่วไปอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชน
1
หน้าที่สำคัญของแบงก์ชาติมีอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ
🔹️ 1. รักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ คือ รักษามูลค่าของค่าเงินบาทและสินทรัพย์ของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลงจากอัตราเงินเฟ้อ และดูแลไม่ให้เกิดฟองสบู่หรือจุดเปราะบางในระบบการเงินที่อาจจะนำไปสู่วิกฤตการเงินในอนาคต
ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศก็ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ไม่ผันผวนจนเกินไป รักษาอำนาจซื้อของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลก รักษาระดับหนี้ต่างประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอเพื่อซับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนของโลก
🔹️ 2. จัดพิมพ์และนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ คือ การพิมพ์เงินและนำออกใช้ ซึ่งการจะพิมพ์เงินออกมาได้ ทางแบงก์ชาติจะต้องกันสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีมูลค่าเท่ากับธนบัตรที่จะพิมพ์ออกใช้ใหม่เก็บแยกไว้เป็นสินทรัพย์หนุนหลังหรือค้ำประกันมูลค่าของเงินที่พิมพ์ออกมา ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้ทองคำค้ำประกันเพียงอย่างเดียว แต่ทองคำเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ “ทุนสำรองเงินตรา” ซึ่งมีทั้งเงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้, หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ, ทองคำ, สินทรัพย์ต่างประเทศ, สิทธิพิเศษถอนเงิน, หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ, และตั๋วเงินในประเทศที่แบงก์ชาติพึงซื้อหรือรับช่วงซื้อลดได้ แต่ต้องมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20% ของจำนวนธนบัตรออกใช้ ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมดจะต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 60% ของมูลค่าเงินที่พิมพ์ออกใช้
3
เมื่อมีหน้าที่ยิบย่อยมากมายแบบนี้ ดังนั้นรูปแบบบัญชีการเงินของแบงก์ชาติจึงต้องแยกออกเป็น 2 บัญชี คือ
🔹️ 1. บัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ โดยจะแบ่งสินทรัพย์ในบัญชีออกเป็น 2 บัญชี และ 2 ส่วน คือ ฝั่งของสินทรัพย์ ได้แก่ เงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และมีสัดส่วนสูงกว่า 85% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็เป็นสินทรัพย์ในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลไทย
2
ขณะที่ฝั่งหนี้สิน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธบัตรแบงก์ชาติ ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ เงินรับฝากจากสถาบันการเงิน และรัฐบาล ซึ่งส่วนนี้เป็นหนี้ที่อยู่ในรูปของเงินบาททั้งหมด
2
🔹️ 2. บัญชีของทุนสำรองเงินตรา คือ บัญชีที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ด้านการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งฝั่งสินทรัพย์ประกอบด้วยสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด 100% โดยเป็นสินทรัพย์ที่ใช้หนุนหลังค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตรตามที่กฎหมายกำหนด
1
ส่วนฝั่งหนี้สินประกอบด้วยธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (Banknotes in circulation) ในรูปของสกุลเงินบาท ซึ่งมันก็คือ ธนบัตรที่เราจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ โดยนี่ถือว่าเป็นหนี้สินของธนาคารกลาง
6
ดังนั้น งบการเงินของธนาคารกลางจึงมีความไม่สมดุลระหว่างด้านสินทรัพย์ (ที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ) และหนี้สิน (ที่อยู่ในสกุลเงินท้องถิ่น) โดยสินทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงค่าได้ง่ายตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนนี่แหละถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลกำไรหรือขาดทุนที่จะปรากฏในงบดุลของธนาคารกลาง ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามหน้าที่ของแบงก์ชาติอยู่แล้ว
1
🔵 งบการเงินของแบงก์ชาติ ไม่เหมือนกับงบการเงินของบริษัทเอกชน
ด้วยการที่แบงก์ชาติเป็นหน่วยงานที่ต้องควบคุมเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในหลายๆ มิติ และการขาดทุนหรือกำไรของงบการเงินเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนจากมูลค่าเงินตราและสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นจะไม่สามารถนำมาตีความในรูปแบบของงบการเงินบริษัทได้ ที่ผลกำไรขาดทุนขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัท ยอดขายสินค้า หรือต้นทุนของสินค้า ซึ่งงบการเงินของแบงก์ชาติมีลักษณะพิเศษแบบเฉพาะเจาะจงที่ต้องทำความเข้าใจดังนี้
2
🔹️ 1. สินทรัพย์และหนี้สิน ไม่ใช่สกุลเงินเดียวกัน คือ สินทรัพย์ของธนาคารกลางส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศหรือเงินสำรองระหว่างประเทศ แต่ในด้านหนี้สินส่วนใหญ่อยู่ในสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ถ้าเป็นประเทศไทยก็เป็นสกุลเงินบาท ทั้งจากธนบัตร และพันธบัตรที่แบงก์ชาติออกมาเพื่อบริหารสภาพคล่องและดูแลเสถียรระบบการเงินของประเทศ
1
ดังนั้นงบการเงินของธนาคารกลางจึงมีลักษณะพิเศษที่สินทรัพย์และหนี้สินต่างสกุลเงินกัน (Currency mismatch) ทำให้ทุกสิ้นปีต้องมีการตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศให้อยู่ในรูปเงินบาท เพื่อจัดทำงบการเงินให้อยู่ในรูปสกุลเงินบาทได้ การตีราคาเปรียบเสมือนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศว่า ถ้าต้องการขายสินทรัพย์ต่างประเทศออกทั้งหมดจะได้เงินบาทเท่าไหร่ พอรู้มูลค่าแล้ว สิ่งที่จะแสดงออกมาอย่างชัดเจนคือ ตัวเลขกำไรหรือขาดทุนที่ปรากฏในงบการเงินส่วนใหญ่จึงเป็น "กำไรหรือขาดทุนที่เป็นผลจากการตีราคา" หรือเรียกว่า "กำไรหรือขาดทุนทางบัญชี"
1
จริงๆ ทุกๆ ปีจะต้องมีตีราคาสินทรัพย์อยู่แล้ว และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่แต่ละปีก็ไม่เท่ากัน มันมีผลต่อตัวเลขในงบการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะถ้าสินทรัพย์ต่างประเทศอยู่ในสัดส่วนสูงซึ่งจะผกผันไปตามค่าเงินด้วยว่าจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าในตอนนั้น เช่น ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงแม้เพียงแค่ 1 บาท ก็อาจจะทำให้เกิดกำไรจากการตีราคาฯ ได้ทันที แต่ถ้าเกิดว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะทำให้เกิดขาดทุนจากการตีราคาได้เช่นกัน
ดังนั้นต่อให้จะกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาก็ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินของแบงก์ชาติเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะแบงก์ชาติยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศคงอยู่ที่ 259,000 ล้านดอลลาร์ เป็นกันชนซับแรงปะทะจากความผันผวนจากในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเห็นว่างบการเงินของธนาคารกลางปรากฏผลขาดทุนในบางช่วง อย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะอาจเป็นผลจากการตีราคา และถ้าพิจารณางบการเงินของแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าบางปีก็กำไร บางปีก็ขาดทุน ซึ่งเป็นผลจากการตีราคาสินทรัพย์ต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น
1
🔹️ 2. การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศมุ่งรักษามูลค่าในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะยาว คือ ก็อย่างที่บอกไปก่อหน้าว่า หน้าที่ของธนาคารกลาง คือ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมองไกล มองไปในระยะยาว มากกว่าการให้น้ำหนักกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศก็เช่นกัน ธนาคารกลางจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่ดีในระยะยาวและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยในระยะสั้นอาจเห็นความผันผวนได้บ้าง
1
ประเด็นสำคัญคือ ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศจะดูผลตอบแทนใน "รูปเงินตราต่างประเทศ" เพราะในที่สุดธนาคารกลางยังต้องดำรงเงินสำรองระหว่างประเทศไว้ให้พร้อมใช้และเพียงพอ ขณะที่งบการเงินปกติจะจัดทำขึ้นในกรอบระยะเวลา 1 ปี จึงทำให้มีความต่างเรื่องกรอบเวลาของงบการเงินกับการพิจารณาผลตอบแทนจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศตามปกติ จะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินโลก หรือเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งจะเกิดการรับรู้กำไร/ขาดทุนเมื่อมีการขายตราสารบางประเภทออกไป ซึ่งเดิมอาจลงบัญชีไว้ในรูปกำไรหรือขาดทุนทางบัญชี (Valuation gain/loss) ดังนั้น ตัวเลขในกรณีเช่นนี้มักเป็นการรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนทางบัญชีที่เคยตีราคาไว้เดิม ไม่ใช่การขายหรือซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อการเก็งกำไรแต่อย่างใด
🔹️ 3. หนี้สินของธนาคารกลางต่างจากหนี้สินของธุรกิจ คือ หนี้สินของธุรกิจที่ก่อขึ้นไม่ว่าเพื่อใช้จ่ายหรือลงทุนก็เพื่อประโยชน์ของธุรกิจนั้นๆ ในขณะที่หนี้สินของธนาคารกลางเป็นไปเพื่อการบริสภาพคล่องทางการเงินสาธารณะ หนี้สินของแบงก์ชาติเกิดจากการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้พอเพียงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ และการดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รักษามูลค่าของเงินบาทและสินทรัพย์ของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลง ซึ่งถือเป็นหน้าที่สาธารณะที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
3
ฉะนั้นหนี้ของธนาคารกลางไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด บริษัทหนึ่งบริษัทใด หรือแม้แต่ประโยชน์ของแบงก์ชาติเอง แต่เป็นหนี้จากการดำเนินการตามหน้าที่ และที่สำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหนี้สาธารณะของประเทศอย่างที่ตีข่าวกัน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของสมาชิก
🔹️ 4. การทำกำไรไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง คือ ธนาคารกลางเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร หน้าที่คือดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน กำไรหรือขาดทุนในงบการเงินไม่ได้สะท้อนความสำเร็จของการดำเนินงานตามหน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งต่างจากภาคธุรกิจที่เป้าหมายหลักคือ การแสวงหากำไร และความสามารถของการดำเนินธุรกิจดูได้จากผลกำไรหรือขาดทุนจากงบการเงิน
1
พูดง่ายๆ คือ ธนาคารกลางเป็นองค์กรที่ดำเนินนโยบายเพื่อสภาพคล่องทางการเงินของประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางจะไม่สนไม่แคร์ถึงผลของการทำนโยบายต่องบการเงิน และธนาคารกลางต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินไว้ให้ได้ โดยเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังต่าง ๆ ให้ตรงกับสถานการณ์นั้นๆ และคุ้มค่าต่อต้นทุนที่ทำนั่นเอง
1
การที่งบการเงินของธนาคารกลางจะมีผลขาดทุนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายแห่งทั้ง สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อิสราเอล หรือชิลี มีงบการเงินที่ขาดทุนสลับกำไรทุกปี และผลขาดทุนก็ไม่ได้กระทบศักยภาพการทำหน้าที่ตามเป้าหมายของธนาคารกลาง ตราบที่ธนาคารกลางยังคงดำเนินนโยบายที่มีเหตุมีผลและเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และได้รับความเชื่อมั่นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับแบงก์ชาติของไทยที่ผ่านมาแม้ตัวเลขในงบการเงินจะปรากฏผลขาดทุนบ้างกำไรบ้าง มันก็เป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ตลาดการเงินและนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในการทำหน้าของแบงก์ชาติ ทุกอย่างก็ไม่ใช่ปัญหา
🔹️ สรุปคือ ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะเศรษฐกิจและงบการเงินของธนาคารกลางบ่อยครั้งมักจะเดินสวนทางกัน คือ ในปีที่เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตได้ดีมีเสถียรภาพสูง เพราะเมื่อเศรฐกิจดีเมื่อไหร่ค่าเงินบาทมักจะแข็งค่า เพราะเงินและทุนต่างชาติมักไหลเข้าประเทศ ทำให้งบการเงินของแบงก์ชาติมีผลขาดทุน คือ ขาดทุนจากการตีราคาและดอกเบี้ยจ่ายจากการออกตราสารเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ
1
ในทางตรงข้ามถ้าปีไหนที่แบงก์ชาติมีกำไร ก็ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจไทยในปีนั้นจะดีหรือประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างเช่น ปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 0.8% แถมเจอพิษเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตการเงินยุโรปที่ซ้ำเติมอย่างหนัก แถมค่าเงินบาทในช่วงนั้นก็อ่อนยวบ แต่แบงก์ชาติก็มีงบการเงินที่มีกำไรกว่าแสนล้านบาท หรือปี 2558 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการขยายตัวในระดับต่ำและเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ปีนั้นเงินบาทอ่อนค่าลง แต่แบงก์ชาติก็กำไรกว่า 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นงบกำไรขาดทุนของแบงค์ชาติผูกติดกับปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งสวนทางงบกำไรขาดทุนของบริษัทเอกชนที่ผูกกับเศรษฐกิจภายในเป็นหลักใหญ่
1
ดังนั้นการขาดทุนหรือกำไรของแบงก์ชาติไม่ได้เกิดจากการค้าการขาย ที่มีผลต่องบการเงินเหมือนกับบริษัทเอกชน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนไปตามอัตราแลกเปลี่ยนสำคัญของสินทรัพย์ต่างประเทศ และอัตราการแลกเปลี่ยนของค่าเงินที่ผันผวนได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง และต้องทำความเข้าใจเรื่องงบการเงินอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ตีความกันเข้าใจอย่างผิดๆ เพราะเรื่องการเงิน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะศึกษาให้รู้เช่นกัน
1
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Website :
reporter-journey.com
Blockdit :
blockdit.com/reporterjourney
Facebook :
facebook.com/reporterjourney
Tiktok :
tiktok.com/@reporterjourney
IG :
instagram.com/richart_journey
แหล่งอ้างอิง
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/Report/AnnualReport/Pages/AnnualReport2019_box22.aspx?fbclid=IwAR23Q0w5p4AooN1YKpGnbbipYIYGrJZigP6TJLWndOhQ2N_DNLhO6-h6SMs
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/RolesAndHistory/Pages/RolesAndResponsibility.aspx
40 บันทึก
79
13
63
40
79
13
63
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย