Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
23 พ.ค. 2021 เวลา 05:11 • ประวัติศาสตร์
“นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)” ชายผู้เหยียบดวงจันทร์
หลายท่านน่าจะรู้จัก “นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)” ในฐานะของมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์
หากแต่ประวัติอย่างละเอียดของเขา บางท่านอาจจะยังไม่ทราบ
บทความนี้จะขอเล่าเรื่องราวของชายผู้เป็นเจ้าของ “ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”
“นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)” เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) ในบ้านไร่ของปู่ย่า ซึ่งตั้งอยู่ในโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
นีลในวัยเด็ก
นีลนั้นเป็นลูกคนโตในบรรดาลูกๆ สามคนของพ่อและแม่ โดยนีลนั้นเป็นลูกคนโปรดของแม่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขามีนิสัยคล้ายๆ แม่ คือเป็นคนนิ่งๆ เอาจริงเอาจัง และมีความมุ่งมั่น
แม่ของนีลนั้นทำหน้าที่แม่บ้าน คอยดูแลลูกๆ ส่วนพ่อของนีลทำงานให้รัฐบาล ต้องคอยย้ายบ้านบ่อยๆ ขณะอายุยังไม่ถึง 13 ปี นีลก็ย้ายบ้านมาแล้วถึง 16 ครั้ง
ในยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) การเดินทางโดยเครื่องบินยังเป็นอะไรที่ใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจ น้อยคนที่เคยได้นั่งเครื่องบิน
สามปีก่อนที่นีลจะเกิด นั่นคือในปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) “ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh)” ได้บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยไม่หยุดพัก และเป็นคนแรกที่ทำเช่นนี้
ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh)
การเดินทางที่แพร่หลายในเวลานั้น คือการเดินทางด้วยเรือและรถไฟ ซึ่งก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดหมาย
ตั้งแต่ยังแบเบาะ นีลนั้นก็สนใจในเครื่องบินและการบินมาโดยตลอด และได้ลองนั่งเครื่องบินครั้งแรกขณะอายุหกขวบ และเขายังชอบทำโมเดลเครื่องบินจำลองอีกด้วย
ความชอบในการบินของนีล ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ใกล้บ้านของเขานั้นมีสนามบิน และนีลก็ต้องการจะเรียนการขับเครื่องบิน ในช่วงวัยรุ่น เขาจึงทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเรียน
นีลนั้นทำงานพิเศษหลายอย่าง ทั้งตัดหญ้าในสุสาน ทำงานเป็นคนทำโดนัทให้บริษัทโดนัท โดยต้องทำโดนัทคืนละมากกว่า 1,300 ชิ้น
นีลในช่วงวัยรุ่น
นีลนำเงินที่ได้จากการทำงานพิเศษทั้งหมดไปลงกับค่าเรียนขับเครื่องบิน และเมื่ออายุได้ 15 ปี เขาก็มีใบอนุญาตขับเครื่องบินแล้ว หากแต่เขาก็ยังเด็กเกินกว่าจะขับเครื่องบินเอง
สำหรับการเรียนนั้น ผลการเรียนของเขาอยู่ในขั้นที่ดีกว่าระดับปานกลาง โดยวิชาโปรดของเขาคือวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
นีลต้องการจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาต้องการจะเรียนรู้เรื่องของเครื่องบินให้มากกว่านี้
ครอบครัวอาร์มสตรองไม่ใช่ครอบครัวยากจน พวกเขามีบ้าน มีรถ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงิน แต่พวกเขาก็ไม่ได้ร่ำรวย และการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็แพงมาก
แต่นีลก็สามารถเข้าเรียนต่อที่ “มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University)” ที่รัฐอินเดียนา โดยได้ทุนจากกองทัพเรือ และนีลต้องการจะเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ
1
แต่นีลต้องใช้ทุน โดยต้องเข้าทำงานในกองทัพเรือ
นีลขณะทำงานในกองทัพ
เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย นีลเพิ่งจะมีอายุเพียง 17 ปี และเป็นครั้งแรกที่เขาต้องอยู่ห่างจากครอบครัว
เขายังคงทำเกรดได้ดี แต่เขาก็ไม่ตั้งใจเท่าที่ควร อีกทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ก็ยากมาก
ภายหลังจากศึกษาที่เพอร์ดูได้สองปี ก็ถึงเวลาต้องเข้าทำงานในกองทัพเรืออีกสามปี โดยนีลถูกส่งไปประจำการที่ฟลอริดา และได้เรียนการขับเครื่องบินเล็ก
นีลได้เข้าฝึกบิน และได้ปีกมาในปีค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) ขณะมีอายุเพียง 20 ปี
นีลยังต้องกลับไปเรียนที่เพอร์ดูอีกสองปี แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามที่วางแผน
สาเหตุก็มาจาก “สงครามเกาหลี (Korean War)”
สงครามเกาหลี (Korean War)
เมื่อเกิดสงคราม นีลถูกส่งไปยังเกาหลี
ที่เกาหลี นีลเป็นหนึ่งในนักบินที่อายุน้อยที่สุด โดยในช่วงสงคราม นีลปฏิบัติภารกิจไปถึง 78 ครั้ง
ครั้งหนึ่ง เครื่องบินของเขาถูกยิง แต่นีลก็สามารถควบคุมให้เครื่องบินไปลงยังพื้นที่ปลอดภัย ก่อนจะสละเครื่อง และนีลก็ลงมายังนาข้าว โดยตัวเขานั้นปลอดภัย ไม่ได้บาดเจ็บอะไรมาก
สงครามเกาหลีคร่าชีวิตชาวอเมริกันไปเกือบ 34,000 คน หากแต่นีลนั้นรอดตายและกลับบ้านพร้อมด้วยเหรียญกล้าหาญจำนวนมาก และก็ถึงเวลากลับไปเรียนแล้ว
นีลขณะทำงานในกองทัพ
ในช่วงที่เข้าศึกษาใหม่ๆ นั้น นีลเป็นนักศึกษาที่อายุน้อยเกือบที่สุด แต่เขาต้องไปทำงานในกองทัพกว่าสามปี ดังนั้น เมื่อกลับมาเข้าเรียนอีกครั้งในเดือนกันยายน ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) เขาก็มีอายุได้ 22 ปีแล้ว และแก่กว่านักศึกษาหลายๆ คน
ในช่วงสองปีสุดท้ายที่เพอร์ดู นีลเรียนหนัก เกรดของเขาก็ดีขึ้นมาก และเป็นครั้งแรกที่เขาตกหลุมรัก
หญิงคนนั้นคือ “เจเน็ต เชียรอน (Janet Shearon)” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “แจน (Jan)”
แจนเป็นนักศึกษาปี 1 วัย 18 ปี เธอเป็นคนร่าเริง ชอบเข้าสังคม
นีลได้แต่งงานกับแจนในปีค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) หลังจากนีลเรียนจบได้ไม่กี่เดือน
1
นีลและแจนในวันแต่งงาน
นีลนั้นต้องการที่จะเป็นนักบินลองเครื่อง ทำหน้าที่ทดลองเครื่องบินใหม่ๆ
ที่สนามบิน “Edwards Air Force Base” ในแคลิฟอร์เนีย ได้มีการทดลองเครื่องบินแบบใหม่ ซึ่งนีลก็สนใจที่จะทำงานที่นั่น
นั่นหมายความว่านีลและแจนต้องย้ายไปแคลิฟอร์เนีย แจนจะเรียนไม่จบ แต่เธอก็ยอมย้ายตามสามี
ที่แคลิฟอร์เนีย นีลได้ลองเครื่องบินที่บินอยู่ในระดับที่สูงมากสมใจ ส่วนแจนก็ทำงานเป็นครูสอนว่ายน้ำ
ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) “อีริค (Eric Armstrong)” ลูกชายคนแรกของนีลได้ถือกำเนิด ตามมาด้วยลูกสาว นั่นคือ “คาเรน (Karen Armstrong)” ในปีค.ศ.1959 (พ.ศ.2502)
อีริค (Eric Armstrong)
ชีวิตของนีลดูเหมือนจะมีความสุข แต่แล้วในปีค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) คาเรนหกล้ม หัวโขกกับฟุตบาท ซึ่งก็ไม่ได้แรงมาก
แต่หลังจากนั้น ดวงตาของคาเรนเริ่มแปลกๆ และยังมีไข้ขึ้นสูง
นีลและแจนรีบพาคาเรนไปหาหมอ และทั้งคู่ก็ต้องพบกับข่าวร้าย
คาเรนเป็นมะเร็ง หมอตรวจพบเนื้องอกในสมองของคาเรน
คาเรน (Karen Armstrong)
หมอได้พยายามทำทุกทางเพื่อรักษาคาเรน แต่คาเรนก็เสียชีวิตในปีค.ศ.1962 (พ.ศ.2505)
การตายของคาเรนเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของครอบครัวอาร์มสตรอง นีลและแจนต่างโศกเศร้าหนัก
นีลนั้นเก็บความโศกเศร้าไว้ข้างใน เขาเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องการตายของคาเรนมาตลอดชีวิต เพื่อนใหม่ๆ ที่เพิ่งจะรู้จักนีลในภายหลังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าเขาเคยมีลูกสาวมาก่อน
หนึ่งสัปดาห์หลังจากคาเรนจากไป นีลก็กลับไปทำงานทดลองเครื่องบินเหมือนเดิม และอีกไม่กี่เดือนต่อมา เขาก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ
การตัดสินใจนี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
เขาตัดสินใจสมัครเป็น “นักบินอวกาศ”
โครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นในปลายยุค 50 (พ.ศ.2493-2502)
1
ก่อนหน้านั้นเพียง 50 ปี “สองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright Brothers)” นั่นคือ “วิลเบอร์ (Wilbur Wright)” และ “ออร์วิลล์ (Orville Wright)” ได้ลองทดลองเครื่องบินครั้งแรกในปีค.ศ.1903 (พ.ศ.2446)
สองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright Brothers)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการพัฒนาเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องยนต์แบบใหม่ ทำให้บินได้เร็วขึ้น บินได้สูงขึ้น อีกทั้งมีการพัฒนาจรวดสำหรับเดินทางไปยังอวกาศ
ในปีค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) ทำเนียบขาวได้เผยถึงแผนที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าเครื่องบินที่บินได้ด้วยความเร็วสูง โดยในเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลก
แต่แล้ว วันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) ก็ได้มีข่าวใหญ่ซึ่งโด่งดังไปทั้งโลก
นักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมที่ชื่อ “สปุตนิก 1 (Sputnik I)”ขึ้นไปยังอวกาศ
1
สปุตนิก 1 มีขนาดเท่ากับลูกฟุตบอล และหนักไม่ถึง 90 กิโลกรัม และได้โคจรรอบโลกประมาณ 100 นาที
1
สปุตนิก 1 (Sputnik I)
ตั้งแต่วันนั้น การแข่งขันทางอวกาศก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีเป้าหมายคือการขึ้นไปยังดวงจันทร์
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ต่างก็ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก
ทั้งสองชาติไม่ถูกกันนัก โดยสหภาพโซเวียตเป็นชาติคอมมิวนิสต์ ส่วนสหรัฐอเมริกาเป็นประชาธิปไตย และสหรัฐอเมริกาก็เกรงว่าสหภาพโซเวียตจะดึงชาติอื่นไปเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย
ช่วงเวลานี้เรียกว่า “สงครามเย็น (Cold War)”
สงครามนี้ไม่มีการรบกันจริงๆ หากแต่ทั้งสองชาติต่างข่มกันด้วยการสะสมอาวุธ โดยเฉพาะระเบิดปรมาณู
ความสำเร็จของสปุตนิก 1 แสดงให้เห็นว่าสหภาพโซเวียตนั้นมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้า และเป็นความขายหน้าของสหรัฐอเมริกา
ทางด้านนาซ่า (NASA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกา ก็ต้องพบกับความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนในการส่งยานอวกาศขึ้นไปยังวงโคจร
ภายหลังจากสปุตนิก 1 ประสบความสำเร็จได้เพียงหนึ่งเดือน สหภาพโซเวียตก็ส่ง “สปุตนิก 2 (Sputnik II)” พร้อมสุนัขที่ชื่อ “ไลก้า (Laika)” ขึ้นไปยังอวกาศ
ไลก้า (Laika)
จากนั้น เดือนเมษายน ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) สหภาพโซเวียตก็นำหน้าไปอีกด้วยการส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศ นั่นคือ “ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin)”
ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin)
สามสัปดาห์ต่อมา สหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งนักบินชาวอเมริกันที่ชื่อ “อลัน เชพเพิร์ด (Alan Shepard)” ขึ้นไปกับยาน “เมอร์คิวรี (Mercury)”
เชพเพิร์ดอยู่บนอวกาศประมาณ 15 นาที และเมื่อกลับลงมา เชพเพิร์ดก็กลายเป็นฮีโร่ของชาวอเมริกัน ในฐานะของชาวอเมริกันคนแรกที่ขึ้นไปบนอวกาศ
แต่ถึงจะเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ขึ้นไปบนอวกาศ แต่เขาก็ยังเป็นมนุษย์คนที่สองที่ได้ขึ้นไปบนอวกาศ
อลัน เชพเพิร์ด (Alan Shepard)
“จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy)” เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่การแข่งขันทางอวกาศกำลังเข้มข้น
ท่านประธานาธิบดีมีความมุ่งมั่นที่จะให้สหรัฐอเมริกาเอาชนะสหภาพโซเวียตในการแข่งขันทางอวกาศ
ท่านประธานาธิบดีได้ทำคำร้องต่อสภา ขอให้ใช้งบประมาณนับพันล้านกับการค้นคว้าวิจัยทางอวกาศ และท่านประธานาธิบดีก็ได้กล่าวว่าสหรัฐอเมริกาต้องส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษนี้
นั่นหมายความว่า สหรัฐอเมริกาต้องส่งนักบินอวกาศไปลงยังดวงจันทร์ก่อนปีค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ซึ่งสำหรับหลายคน นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่นาซ่าก็มุ่งมั่น และตั้งใจให้ความฝันนี้เป็นจริง
1
จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy)
ในปีค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) นาซ่าตัดสินใจจะเพิ่มนักบินอวกาศในโครงการเป็นจำนวนมากกว่านี้ โดยคัดเลือกมาจากนักบินทดลองและคนที่มีพื้นฐานวิศวกรรมอวกาศ
นีลนั้นมีคุณสมบัติครบทุกข้อ เขามีอายุไม่ถึง 34 ปี สุขภาพสมบูรณ์ สูงไม่ถึงหกฟุต (183 เซนติเมตร) ซึ่งที่ต้องกำหนดให้สูงไม่มากกว่าหกฟุต เนื่องจากหากเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ อาจจะมีปัญหาเวลาอยู่ในยานอวกาศที่มีขนาดเล็ก
ที่สำคัญ นีลเป็นนักบินฝีมือดีและมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรม รู้เรื่องระบบต่างๆ ของเครื่องบินอย่างทะลุปรุโปร่ง
นีลนั้นคิดหนักเรื่องเป็นนักบินอวกาศ
ในฐานะของนักบินทดลอง เขาชินกับการลุยเดี่ยว ขับเครื่องบินด้วยตัวคนเดียว แต่หากเป็นนักบินอวกาศ เขาต้องอยู่ในยานอวกาศซึ่งควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ โดยมีวิศวกรของนาซ่าควบคุมอีกที
1
แต่ความฝันที่จะได้ไปเหยียบดวงจันทร์ก็เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ และบางที ความท้าทายใหม่ๆ อาจจะทำให้เขาลืมความเศร้าเรื่องการสูญเสียคาเรน
ในที่สุด นีลก็ยื่นใบสมัคร ซึ่งในเวลานั้นหมดเขตรับสมัครไปเป็นสัปดาห์แล้ว หากแต่นาซ่าก็ยอมรับ
17 กันยายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนเก้าคน และนีลคือหนึ่งในนั้น
1
ภายในเวลาชั่วข้ามคืน นีลและครอบครัวกลายเป็นคนดังทันที
1
ครอบครัวอาร์มสตรองย้ายไปยังเท็กซัส ใกล้กับศูนย์กลางของนาซ่า และเหล่าเพื่อนบ้านในละแวกนั้นก็คือนักบินอวกาศในโครงการ ซึ่งก็มักจะมานั่งเล่น ปิ้งบาร์บีคิวกินกันอย่างสนุกสนาน
นับว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ทำให้นีลผ่อนคลายความเศร้าเรื่องการสูญเสียคาเรน อีกทั้งแจนยังให้กำเนิดลูกชายอีกคนหนึ่งด้วย
นักบินอวกาศที่ได้รับคัดเลือกทั้งเก้าคนนี้ ต้องเข้าโปรแกรมการฝึกฝนอย่างเข้มข้น ซึ่งบางอย่างก็ดูจะไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นนักบินอวกาศเลย
การฝึกฝนหนึ่ง นีลได้ถูกส่งไปยังป่าในปานามา และต้องหาทางดำรงชีพในป่า
เหตุผลก็เพราะว่าในขากลับ ยานอวกาศอาจจะไปตกลงยังจุดใดก็ได้บนโลก อาจจะเป็นภูเขา ทะเลทราย หรือในป่า และกว่าความช่วยเหลือจะไปถึงก็ต้องใช้เวลา นักบินอวกาศจึงต้องเอาตัวรอดด้วยตนเองในขณะที่รอความช่วยเหลือ
1
นีลขณะฝึกการดำรงชีพในป่า
นีลมุ่งมั่นที่จะเป็นนักบินอวกาศ เขาทุ่มเทให้กับการฝึกฝน ซึ่งการฝึกนั้นก็ใช้เวลามากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง
บนยานอวกาศไม่มีแรงดึงดูด ทุกอย่างจะไร้น้ำหนักและล่องลอย โดยนาซ่ามีเครื่องบินพิเศษซึ่งจะฝึกนีลและนักบินอวกาศคนอื่นๆ เป็นการจำลองถึงสภาพไร้น้ำหนัก
ในค่ำคืนหนึ่ง หลังจากที่นีลกลับถึงบ้านหลังจากฝึกหนัก เขาได้เข้านอนและผลอยหลับไปก่อนที่จะตื่นมาพบว่าบ้านกำลังไฟไหม้
เพื่อนนักบินอวกาศที่มีบ้านอยู่ติดกับนีลรีบวิ่งมาช่วยดับเพลิง โดยเพลิงไหม้ครั้งนี้ทำให้นีลต้องสร้างบ้านใหม่ อีกทั้งรูปถ่ายของคาเรนหลายๆ รูปก็สูญไปในกองเพลิง
บ้านของนีลที่ถูกเพลิงไหม้
นอกจากงานในหน้าที่นักบินอวกาศแล้ว นีลยังต้องออกตระเวน พูดสปีชให้ประชาชนฟัง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยชอบเท่าไรนัก แต่ก็ต้องทำ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการอวกาศและสาเหตุที่รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณไปมากขนาดนี้
ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) นีลได้ทดลองกับยานอวกาศจริงๆ โดยตัวเขาได้ควบคุมยาน “เจมินี (Gemini)”
แต่เมื่อขึ้นสู่อวกาศ ยานอวกาศก็หมุนไม่หยุด แม้เมื่อยานเจมินีหลุดออกมาจากตัวยานใหญ่ เจมินีก็ยังคงหมุนไม่หยุด ซึ่งนีลก็สามารถควบคุมได้ในที่สุด หากแต่นาซ่าก็สั่งให้ยานกลับลงมาสู่โลกทันที
นักบินอวกาศในเจมินีลงมายังมหาสมุทรแปซิฟิกและได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย หากแต่ความผิดพลาดนี้ก็ส่งผลในแง่ลบ หนังสือพิมพ์ต่างตีข่าวความล้มเหลวของเจมินี
1
หลังจากความล้มเหลวนี้ การทดลองก็ยังคงมีความผิดพลาดอยู่ ทำให้ต้องมีการทดลองและฝึกหนักกว่าเดิม
ภายในสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ยาน “อพอลโล 8 (Apollo 8)” ก็ได้โคจรรอบดวงจันทร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสำรวจหาบริเวณที่เหมาะสมในการลงจอด
ภาพที่ถ่ายจากอพอลโล 8
ภารกิจต่อไป ก็คือการสร้างอุปกรณ์ในการลงจอด ซึ่งจะต้องแยกออกมาจากยานอวกาศอีกที จากนั้นก็ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์
1
มกราคม ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) นีลได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของยาน “อพอลโล 11 (Apollo 11)” โดยมีนักบินอวกาศอีกสองคน นั่นคือ “บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin)” และ “ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins)”
ทั้งสามคนทำงานร่วมกันในแบบจำลองยานอวกาศ และทุกๆ ก้าวก็ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง
วิศวกรของนาซ่าจะเป็นผู้ควบคุมยานผ่านคอมพิวเตอร์ แต่หากเกิดอะไรขึ้น พวกเขาทั้งสามต้องจัดการเอง ต้องมีไหวพริบและการแก้ปัญหาที่ดี
นักบินอวกาศทั้งสามแห่งอพอลโล 11
บนอวกาศ จรวด “Saturn V” จะปล่อยยานอวกาศที่ชื่อ “โคลัมเบีย (Columbia)” ออกมาโคจรรอบโลก ก่อนจะพุ่งไปยังทิศทางของดวงจันทร์
เมื่อโคลัมเบียถูกดึงเข้ามาอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ ยานเล็กที่มีสี่ขา มีหน้าที่สำหรับลงจอด ก็จะแยกออกมาจากตัวยาน ลงจอดบนดวงจันทร์
นีลและอัลดรินจะใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์ประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ส่วนคอลลินส์จะอยู่บนโคลัมเบีย ซึ่งกำลังโคจรรอบโลก
ภายหลังจากอยู่บนดวงจันทร์เป็นเวลาพอสมควรแล้ว นีลและอัลดรินก็จะขึ้นยานเล็ก ก่อนที่จะออกจากดวงจันทร์ กลับเข้ามาเชื่อมต่อกับโคลัมเบีย และกลับโลก
นี่คือแผนที่วางไว้ แต่คำถามก็คือ
1
“ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนหรือไม่?”
เช้าวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) นีลและอัลดรินกับคอลลินส์ได้มาพบกันในเวลา 4.15 น. และทานอาหารเช้า ซึ่งก็คือสเต๊กและไข่
เมื่อคืนก่อน ได้มีแขกคนพิเศษมาร่วมทานอาหารเย็นกับพวกเขา และอวยพรให้พวกเขาโชคดี ซึ่งแขกคนนั้นคือ “ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh)” ตำนานวงการบินผู้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยไม่หยุดพัก
ลินด์เบิร์ก (ซ้ายสุด) ได้มาอวยพรเหล่านักบินอวกาศ
นักบินอวกาศทั้งสามคนได้แต่งชุดนักบินอวกาศ และขึ้นลิฟท์ไปยังยานโคลัมเบีย
มีการเคานท์ดาวน์ นับถอยหลังเวลาปล่อยจรวดมาก่อนแล้วหลายวัน และตอนนี้ ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยศูนย์ควบคุมที่ฟลอริด้าจะรับผิดชอบในช่วงแรกที่ปล่อยยาน จากนั้น ศูนย์ควบคุมที่ฮูสตันจะรับหน้าที่ต่อ
นับถอยหลัง 6...5...4
ทุกคนที่เฝ้าดูต่างกลั้นหายใจ
1
3...2...1
ปล่อยยาน
นักบินทั้งสามต่างรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ก่อนที่อีกไม่กี่นาทีต่อมา ทุกอย่างก็สงบ
1
ในเช้าวันที่ 4 โคลัมเบียก็เข้ามาในบริเวณดวงจันทร์
20 กรกฎาคม ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) ภายหลังจากทานอาหารเช้า นีลและอัลดรินก็ขึ้นยานเล็ก ก่อนที่ยานเล็กจะแยกออกจากยานโคลัมเบีย
อีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ยานเล็กก็ได้ลงจอดยังดวงจันทร์
ยานเล็กซึ่งมีชื่อว่า “Eagle” จำเป็นต้องลงจอดในบริเวณที่ราบเรียบ ไม่อย่างนั้นขากลับก็จะมีปัญหา ยานไม่สามารถเทคออฟได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น นีลและอัลดรินก็จะต้องติดอยู่บนดวงจันทร์ไปตลอด
การลงจอดจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ หากแต่นีลสังเกตว่าบริเวณที่จะลงจอดนั้นเป็นหลุมเป็นบ่อ เขาจึงเข้าควบคุมเพื่อหาจุดที่จะลงจอดด้วยตนเอง
เขาใช้เวลาหาจุดที่จะลงจอด และพบจุดที่เหมาะสม อยู่ห่างออกไปประมาณเจ็ดกิโลเมตร
ในที่สุด Eagle ก็ได้ลงจอด
นีลและอัลดรินจะใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์ได้เพียงสองชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากอ๊อกซิเจนมีจำกัด และเนื่องจากนีลเป็นหัวหน้าของยานอพอลโล 11 นาซ่าจึงให้เขาเป็นผู้ลงมาเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก
นีลค่อยๆ ปีนลงบันไดมาอย่างช้าๆ และเขาก็ครุ่นคิดอย่างหนักว่าจะพูดว่าอะไร เนื่องจากสิ่งที่เขาพูดจะได้ยินไปทั่วโลก มีคนที่ดูและฟังอยู่กว่า 450 ล้านคน
ผู้คนที่ชมอยู่ได้ยินประโยคของนีล
“นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”
3
นีลขณะอยู่บนดวงจันทร์
นีลได้เปิดกล้องโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ชมบนโลกเห็นขณะที่เขากับอัลดรินเดินอยู่ในบริเวณที่ไม่เคยมีใครบนโลกได้เคยมาสัมผัส
นักบินอวกาศทั้งสองคนได้เก็บหินดวงจันทร์ และได้ถ่ายรูป รวมทั้งปักธงชาติอเมริกา
นอกจากนั้น ทั้งสองยังได้ทิ้งแผ่นที่เขียนว่า “มนุษย์จากดาวโลกได้มาเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เรามาอย่างสันติเพื่อมนุษยชาติ”
ในทุกๆ ย่างก้าวของทั้งคู่ จะปรากฎรอยเท้า และรอยเท้าของทั้งคู่ก็ยังอยู่บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้
พื้นที่รอบๆ นั้นมืดมิด แต่ถึงอย่างนั้น นีลก็คิดว่าดวงจันทร์นี้สวยงามมาก
ในขณะที่นีลและอัลดรินกำลังสำรวจดวงจันทร์ คอลลินส์ก็ได้โคจรรอบโลกไปแล้วกว่า 14 รอบ โดยในทุกครั้งที่ยานอยู่ในด้านที่ไม่เห็นโลก สัญญาณจากนาซ่าก็จะตัดไป
ในช่วงเวลานั้น หากเกิดปัญหา เขาจะไม่สามารถติดต่อกับนาซ่าได้เลย
แต่ถึงอย่างนั้น คอลลินส์ก็ได้กล่าวในภายหลัง โดยเขาได้กล่าวว่าช่วงเวลาที่อยู่เพียงลำพังบนอวกาศ เป็นช่วงเวลาที่สงบสุข
ทางด้านนีลและอัลดริน เมื่อถึงเวลากลับ พวกเขาก็ต้องลุ้นกันหนักว่ายานจะทะยานขึ้นฟ้าได้หรือไม่ ซึ่งก็โชคดีที่ Eagle เทคออฟได้อย่างไม่มีปัญหา
Eagle เทคออฟจากดวงจันทร์
ภายหลังจากที่นีลและอัลดรินกลับขึ้นมาถึงโคลัมเบีย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Eagle อีกต่อไป มันจึงถูกปล่อยให้โคจรรอบดวงจันทร์อยู่อย่างนั้น
จากนั้น คอลลินส์ก็เร่งเครื่องเพื่อให้ยานพ้นจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์
อพอลโล 11 กำลังจะกลับบ้านแล้ว
การเดินทางกลับสู่โลกใช้เวลา 60 ชั่วโมง โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) ยานก็ได้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก
ร่มชูชีพจำนวนสามใบได้เปิดออก ส่งให้ยานลอยอย่างช้าๆ ลงมายังมหาสมุทรแปซิฟิก
เฮลิคอปเตอร์ได้บินมารับนักบินอวกาศทั้งสาม
ในที่สุด พวกเขาก็กลับสู่โลกแล้ว
นักบินอวกาศทั้งสามซึ่งลงมายังมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ถึงแม้พวกเขาจะกลับมาถึงบ้าน นักบินอวกาศทั้งสามก็ยังไม่ได้เจอครอบครัว พวกเขาต้องถูกกักตัว เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ต้องการจะแน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้นำพาเชื้อโรคกลับมาจากดวงจันทร์
วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) นักบินอวกาศทั้งสามและครอบครัว ได้เดินทางโดยเครื่องบินของประธานาธิบดีมายังนิวยอร์ก
มีขบวนพาเหรดต้อนรับนักบินทั้งสามอย่างยิ่งใหญ่ เสียงเชียร์ดังต่อเนื่องไม่หยุด ประชาชนแห่กันมาต้อนรับพวกเขา
นักบินอวกาศทั้งสามต้องออกตระเวนทั่วสหรัฐอเมริกา และยังต้องไปยังประเทศอื่นๆ อีกกว่า 21 ประเทศ
นักบินอวกาศทั้งสามโด่งดังไปทั่วโลก และผู้ที่โด่งดังที่สุดก็คือนีล
นีลขณะเดินทางมาประเทศไทย และได้รับการต้อนรับจากคนไทย
แต่ถึงจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่นีลก็ไม่ชอบการมีชื่อเสียง
หลังจากที่กลับมายังโลก เขาก็ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สงบๆ โดยเขาได้ทำงานเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย และยังซื้อฟาร์มแห่งหนึ่ง
1
นีลกับแจนหย่ากันหลังจากใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมาเกือบ 40 ปี และนีลก็ได้แต่งงานใหม่
1
นีลเสียชีวิตในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ขณะมีอายุได้ 82 ปี
นีลในวัยชรา
นีลเป็นคนถ่อมตัว เขาไม่เคยเย่อหยิ่งในความสำเร็จ และคิดว่าชื่อเสียงที่ได้รับ ไม่ควรเป็นของเขาเพียงคนเดียว
1
เวลากล่าวถึงภารกิจไปดวงจันทร์ นีลมักจะกล่าวเสมอว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเขาไม่ได้หมายถึงแค่อัลดรินและคอลลินส์เท่านั้น แต่หมายถึงทุกคนที่นาซ่า
1
และจนถึงทุกวันนี้ ชื่อของนีล อาร์มสตรองก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ในฐานะของ “ชายผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก”
และจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่นี้ ก็มาจากเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ชื่นชอบการบินเท่านั้น
1
References:
https://www.armstrongmuseum.org/sites/default/files/documents/Neil-Armstrong-Biography.pdf
https://www.natgeokids.com/uk/discover/science/space/neil-armstrong-facts/
https://www.notablebiographies.com/An-Ba/Armstrong-Neil.html
https://www.space.com/15519-neil-armstrong-man-moon.html
https://www.ducksters.com/biography/explorers/neil_armstrong.php
https://www.history.com/topics/space-exploration/neil-armstrong
https://www.biography.com/astronaut/neil-armstrong
https://www.nasa.gov/centers/glenn/about/bios/neilabio.html
19 บันทึก
37
6
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความประวัติศาสตร์, ข่าวสารทั่วๆ ไป , นอกเรื่อง, ๆลๆ , วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.2020-ปัจจุบัน
19
37
6
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย