23 พ.ค. 2021 เวลา 04:51 • ดนตรี เพลง
The Clash - London Calling (1979)
ในอัลบั้มชุดที่สองของวงอย่าง Give 'Em Enough Rope (1978) แนวเพลงของ The Clash เริ่มห่างจากซาวด์แบบพังค์ร็อคขึ้นเรื่อยๆ ตอนออกทัวร์อเมริกาในปี 1979 พวกเขาเลือกที่จะเล่นเป็นวงเปิดให้กับศิลปินแนวริทึ่มแอนด์บลูส์อย่าง Bo Diddley, Sam & Dave, Lee Dorsey และ Screamin' Jay Hawkins รวมถึงศิลปินคันทรี่รุ่นใหม่ Joe Ely และวงพังค์ร็อคอะบิลลี่ The Cramps ความหลงไหลในดนตรีร็อคแอนด์โรลที่เพิ่มขึ้นของ The Clash กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับทิศทางของอัลบั้ม London Calling
หลังจากการบันทึกเสียงอัลบั้ม Give 'Em Enough Rope จบลง The Clash แยกทางกับผู้จัดการวง Bernard Rhodes ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถจะใช้ห้องซ้อมใน Camden Town ได้อีกแล้ว ผู้จัดการทัวร์ Johnny Green หาที่ซ้อมใหม่ให้กับวงที่ Vanilla Studios ซึ่งอยู่ด้านหลังโรงรถในย่าน Pimlico
The Clash เดินทางไปถึงห้องซ้อมแห่งใหม่ในเดือน พ.ค. 1979 โดยไม่มีวัตถุดิบอะไรเลยสำหรับอัลบัมชุดที่สามของวง เนื่องจากคนแต่งเพลงหลัก Mick Jones(ร้องนำ,กีต้าร์) และ Joe Strummer(กีต้าร์) นั้นกำลังตกอยู่ในภาวะเขียนเพลงไม่ออก (Writer's block) อยู่เป็นปี
The Clash เริ่มซ้อมคัฟเวอร์เพลงหลากหลายแนว เช่น ร็อคอะบิลลี่, ร็อคแอนด์โรล, ริทึ่มแอนด์บลูส์ และเร็กเก้ การซ้อมเป็นไปแบบส่วนตัวซึ่งต่างจากเมื่อก่อนและไม่อนุญาติให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในสตูดิโอ ซึ่งทำให้วงสามารถแต่งเพลงอย่างมั่นใจโดยไม่ต้องกังวลกับเสียงของคนนอกที่ยังติดภาพแบบพังค์ร็อคของวง ตารางการซ้อมถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยจะเริ่มซ้อมในตอนเที่ยง และพักไปเล่นฟุตบอลในตอนบ่ายเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในวง ตามด้วยไปดื่มที่ผับท้องถิ่นแล้วกลับมาซ้อมกันต่อในตอนเย็น
ทางวงค่อยๆสร้างลายเซ็นของตัวเองจากหลากหลายแนวเพลงที่เล่นคัฟเวอร์จนมันกลายเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำไปใช้ในอัลบั้ม London Calling
The Clash เขียนเพลงและอัดเดโมที่ Vanilla Studios โดยเพลงส่วนใหญ่เริ่มมาจาก Mick Jones แต่งทำนองและเรียบเรียง ส่วน Joe Strummer รับหน้าที่เขียนเนื้อเพลง ในเพลง "Lost in the Supermarket" นั้นเขียนจากจินตนาการถึงชีวิตวัยเด็กของ Jones ที่อาศัยอยู่ในห้องใต้ดินกับคุณแม่และคุณยาย ส่วนเพลง "The Guns of Brixton" เป็นเพลงแรกที่มือเบส Paul Simonon แต่งและได้รับเลือกให้บันทึกเสียงลงในอัลบั้ม นอกจากนี้ยังเป็นเพลงแรกที่เขารับหน้าที่ร้องนำอีกด้วย ในตอนแรกนั้น Simonon ไม่มั่นใจกับเนื้อร้องของเขาที่อธิบายถึงมุมมองของความหวาดระแวงในชีวิต แต่จากการสนับสนุนของ Strummer ทำให้เขาเอาเพลงนี้กลับมาทำต่อ
ในเดือน ส.ค. 1979 The Clash เริ่มบันทึกเสียงอัลบั้ม London Calling ที่ Wessex Studios ร่วมกับโปรดิวเซอร์ Guy Stevens ซึ่งสร้างความกังวลให้กับต้นสังกัด CBS เป็นอย่างมากเนื่องจาก Stevens นั้นมีปัญหาการติดแอลกอฮอลและยาเสพติด รวมถึงวิธีการทำงานที่แปลกกว่าชาวบ้าน ในระหว่างบันทึกเสียงเขาเหวี่ยงบันไดและขว้างเก้าอี้เพื่อสร้างบรรยากาศแบบร็อคแอนด์โรล แต่ The Clash โดยเฉพาะ Simonon นั้นเข้ากันได้ดีกับ Stevens และพบว่าการได้ร่วมงานกันทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทั้งวิธีเล่นเบสของเขารวมไปถึงการอัดเสียงร่วมกับวง อัลบั้มนี้ใช้เวลาบันทึกเสียงทั้งหมดประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยทำงานกัน 18 ชั่วโมงต่อวัน หลายๆเพลงอัดกันแค่ 1 หรือ 2 เทคเท่านั้นเอง
รูปบนปกอัลบั้มคือภาพถ่ายของ Paul Simonon กำลังฟาดเบส Fender Precision ของเขาบนเวทีที่ The Palladium นิวยอร์ค ในวันที่ 20 ก.ย. 1979 โดยเขาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าสาเหตุที่เขาฟาดเบสด้วยความหงุดหงิดนั้น เพราะการ์ดในคอนเสิร์ตห้ามไม่ให้ผู้ชมลุกขึ้นยืน Pennie Smith คนถ่ายภาพนี้บอกว่าในตอนแรกเธอไม่อยากใช้ภาพนี้เพราะมันโฟกัสไม่ดี แต่ Joe Strummer และ กราฟฟิคดีไซน์ Ray Lowry คิดว่ามันเหมาะที่สุดกับการเป็นปกอัลบั้ม ในปี 2002 Smith ได้รับเลือกจากนิตยสาร Q ให้เป็นตากล้องร็อคแอนด์โรลยอดเยี่ยมตลอดกาล โดยให้เหตุผลว่าภาพที่เธอถ่ายนั้น "ได้บันทึกช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมที่สุดของวงการร็อคแอนด์โรล - การสูญเสียการควบคุมโดยสมบูรณ์แบบ"
...
#สตูดิโอแลนด์
#TheClash
#LondonCalling
โฆษณา