24 พ.ค. 2021 เวลา 01:39 • ครอบครัว & เด็ก
ทักษะการกำกับควบคุมตนเอง ที่ควรส่งเสริมให้กับลูกน้อยมากกว่าทักษะวิชาการ
ทักษะการกำกับควบคุมตนเอง หรือ self-regulation เป็นทักษะที่จะช่วยเตรียมความพร้อมในการเรียนและนำพาเด็ก ๆ ให้ประสบผลสำเร็จในชีวิต มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่า ในเด็กอนุบาลควรได้รับการส่งเสริมพัฒนา ‘ทักษะการกำกับตนเอง’ หรือ self-regulation จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จด้านการเรียนอย่างยั่งยืนมากกว่าการเน้นส่งเสริมด้านวิชาการ (Blair & Dimond, 2008)
เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียน พ่อแม่หลานท่านจะเริ่มกังวลเรื่องทักษะการอ่าน การเขียน การคิดเลข นำลูกไปเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่น ๆ ในชั้นเรียนเดียวกันที่เริ่มอ่านออกเขียนได้ แต่พบว่าลูก ๆ นั้นยังดูไม่ค่อยมีสมาธิ ทำกิจกรรมอะไรก็ทำไม่เสร็จ ทำเพียงชั่วครู่ไม่ต่อเนื่องยาวนาน หรือฟังคำสั่งแล้วทำตามไม่ได้ ดังนั้นก่อนที่จะไปส่งเสริมทักษะวิชาการที่อัดแน่น เราจึงต้องเติม ‘ทักษะการกำกับควบคุมตนเอง’ ให้เด็ก ๆ กันก่อน
การกำกับตนเอง (Self-regulation) คือความสามารถในการควบคุม คงไว้ซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยในบทความนี้จะเน้นไปที่ การกำกับพฤติกรรมตนเอง ประกอบด้วย 3 ด้านได้แก่
1. ความใส่ใจ (Attention) คือความสามารถที่เลือกใส่ใจกับกิจกรรมตรงหน้าที่จำเป็น เพิกเฉยต่อสิ่งเร้าที่รบกวนจนสามารถทำงานเสร็จตามเป้าหมายได้ เช่น เด็กที่สามารถนั่งระบายสีได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะได้ยินเสียงทีวีที่เปิดอยู่
2. ความจำขณะใช้งาน (Working memory) คือความสามารถในการจดจำข้อมูล และจัดการกับข้อมูลที่ได้รับมา ทักษะนี้จะช่วยให้เด็กสามารถรับคำสั่ง จดจำ ประมวลผล และนำข้อมูลออกมาใช้ได้ เช่น เด็กที่สามารถทำการบ้านได้เพราะจำวิธีการแก้โจทย์ที่ครูสอนได้
3. การยับยั้งพฤติกรรม (Inhibitory control) คือความสามารถในการยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมที่ทำตามความเคยชินที่จะกระทบกับการอยู่ในสังคมได้ เช่น เด็กที่สามารถอดทนรอคอย ไม่พูดแทรก ยกมือขออนุญาตก่อนเมื่ออยากถามคำถามครูในห้องเรียน
ตัวอย่างกิจกรรมในครอบครัวที่สามารถส่งเสริม ‘ทักษะการกำกับความคุมตนเอง’
หลักการของกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมการกำกับควบคุมตนเอง คือเน้นกิจกรรมที่มีกฎกติกา มีขั้นตอน มีโจทย์ มีเป้าหมาย และให้ลูกได้ทดลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเองจนบรรลุเป้าหมายของกิจกรรม
5
- กิจวัตรประจำวัน : กิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ที่เด็กควรทำได้เองอย่างเรียบร้อยก่อนถึงวัยเข้าเรียน โดยทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยทั้ง การจำลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ความอดทนพยายามที่จะแก้ไขปัญหาไม่อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนเพื่อให้งานเสร็จลุล่วง เช่น เด็กพยายามติดกระดุมด้วยตนเองตามที่แม่สอนก่อนไปโรงเรียน
- กิจกรรมทำอาหาร: เช่น กิจกรรมทำแซนวิช ให้ลูกทำไส้แซนวิชตามโจทย์ โดยให้ลูกได้วางแผนจัดวางส่วนผสมด้วยตนเอง
- กิจกรรมตัด ต่อ ร้อย งานศิลปะ เช่น ต่อจิ๊กซอว์ ร้อยลูกปัดตามแบบ ตัดกระดาษ พับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ต่อเลโก้เป็นปราสาท กิจกรรมที่เน้นใช้ตากับมือประสานกัน (eye-hand coordination) เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความใส่ใจหรือสมาธิ (Attention) ได้เป็นอย่างดี
- กิจกรรมการละเล่นไทย เช่น มอญซ่อนผ้า กรรไกร-ไข่-ผ้าไหม ตบแปะ ซ่อนหา ใบ้คำ การละเล่นเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้จักการยับยั้งชั่งใจ การรอเวลาที่เหมาะสม ดำรงตนให้อยู่ในกฎกติกา ใช้ความจำระยะสั้นมาบริหารได้เป็นอย่างดี
- กีฬา : กิจกรรมออกกำลังกาย ส่งเสริมการใช้แรงอย่างมีเป้าหมายและเหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ เทควันโด้เด็ก เตะบอล
- เกมกระดาน และเกม worksheet เช่น เกมงูตกบันได เกมจับผิดภาพ เกมจับคู่ภาพกับเงา จับคู่ของใช้ในบ้าน แยกหมวดหมู่ เกมระบายสีตามที่โจทย์กำหนด ก็สามารถช่วยส่งเสริมการกำกับควบคุมตนเองได้ ช่วยให้เด็กมีสมาธิ ฝึกการยับยั้งชั่งใจ ได้ใช้ความจำระยะสั้นในการแก้ไขโจทย์ปัญหา
2
โดย OT Mentor #ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
#พัฒนาการ #พฤติกรรมเด็ก #กิจกรรมบำบัด
เอกสารอ้างอิง
การเสริมสร้างการกำกับพฤติกรรมของตนเองสำหรับเด็กอนุบาล
กิจกรรมตามวัยเพื่อส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการและการควบคุมตนเอง
โฆษณา