25 พ.ค. 2021 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การลดหย่อนภาษีจาก SSF RMF
กฏเกณฑ์ เงื่อนไข รายได้เท่าไรควรเข้าซื้อ?
สมัยก่อนเมื่อนึกถึงการลดหย่อนภาษีโดยการใช้ผลิตภัณฑ์การเงินนั้น หลายคนจะนึกถึงการซื้อกองทุน LTF และ RMF ณ ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้ถือนานขึ้นกระทั่งไม่กำหนดสัดส่วนบังคับซื้อหุ้นไทย จนกลายมาเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF เราจะมาทำความรู้จักกันทีละตัวว่า SSF กับ RMF นั้นเป็นอย่างไร
SSF
SSF ย่อมากจาก Super Savings Fund หรือภาษาไทยใช้ชื่อว่า กองทุนรวมเพื่อการออม
จุดประสงค์เพื่อให้เราลงทุนเก็บเงินระยะยาว เป็นกองทุนที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ลงทุนได้หลากหลายทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่บังคับสัดส่วน มีระดับความเสี่ยงของกองทุนหลากหลายให้เลือกทั้ง เสี่ยงต่ำเช่น ตลาดเงิน, ตราสารหนี้ระยะสั้น เสี่ยงปานกลาง เช่นตราสารหนี้ระยะยาว, กองทุนผสม เสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้น, กองทุนสินทรัพย์ทางเลือก
โดยมีเงื่อนไขและรายละเอียดเพิ่มเติมคือ
1. ซื้อปีไหนลดหย่อนภาษีได้เฉพาะปีภาษีนั้น และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
2. ถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี (นับแบบวันชนวัน) ถึงจะสามารถขายได้แบบไม่ผิดกฎ ซึ่งจะแตกต่างจาก LTF เดิมที่นับตามปีปฏิทิน
3. ไม่มีขั้นต่ำ
4. ซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี 40(1), 40(2) หรือ 200,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่าให้ยึดจำนวนนั้น
5. เมื่อนำมารวมกับ RMF, ประกันบำนาญ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนเพื่อการออมแห่งชาติ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
6. มีทั้งกองทุนที่มีปันผล และไม่มีปันผล
RMF
RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund หรือภาษาไทยใช้ชื่อว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
จุดประสงค์เพื่อให้เราลงทุนเก็บเงินระยะยาวไว้ใช้ยามเกษียณ จึงต้องถือจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เป็นกองทุนที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีระดับความเสี่ยงของกองทุนหลากหลายให้เลือกทั้ง เสี่ยงต่ำเช่น ตลาดเงิน, ตราสารหนี้ระยะสั้น เสี่ยงปานกลาง เช่นตราสารหนี้ระยะยาว, กองทุนผสม เสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้น, กองทุนสินทรัพย์ทางเลือก
รายละเอียดที่ควรทราบมีดังนี้
1. RMFต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
2. ต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และอายุครบ 55 ปีขึ้นไปถึงจะสามารถขายได้แบบไม่ผิดกฎ
3. ไม่มีขั้นต่ำ
4. นับการถือครองแบบวันชนวัน
5. ซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี 40(1), 40(2)
6. และเมื่อนำมารวมกับ SSF, ประกันบำนาญ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนเพื่อการออมแห่งชาติ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. ไม่มีปันผล
จากข้อมูลของทั้ง SSF และ RMF นั้นจะเห็นว่ามีเงื่อนไขการขายแบบไม่ผิดกฎอยู่ ซึ่งจะเห็นว่าใช้เวลานานพอสมควรเลยกว่าที่เราจะขายคืนได้ดังนี้ SSF (10 ปี), RMF (ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบบริบูรณ์ 55 ปี)
หากท่านมีเงินเดือนจากการรับจ้าง 40(1) ,40(2) หลักแสนหรือรายรับต่อปีสูงมาก เช่นหลักล้านขึ้นไป แน่นอนว่าฐานภาษีขั้นบันไดที่ต้องจ่ายจะสูงมากอยู่ที่ 20% , 25%, 30% แม้ว่าจะได้ค่าลดหย่อนเบื้องต้นไปแล้วก็ตาม
การซื้อกองทุน SSF และ RMF ในฐานเงินเดือนนี้คือความคุ้มค่าอย่างที่สุด แม้จะไม่ได้ต้องการความเสี่ยงมากนักและเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนต่ำก็ยังคุ้มค่า โดยมีส่วนต่าง yield ภาษีที่ลดหย่อนไปอย่างน้อย 5-20% (ตามฐานภาษีรวม อันนี้ต้องคำนวนตัวเลขของฐานรายได้ของแต่ละบุคคลหลังลดหย่อนเบื้องต้นค่ะ) ยิ่งรายได้มากส่วนต่างยิ่งคุ้มค่ามาก หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น การซื้อกองทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงโอกาสติดลบ 10-20% ถือระยะยาว 10 ปี ก็ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทั้งส่วนต่างของราคาและปันผล (capital gain และ dividends) โดย ความเสี่ยงจะลดลงจากการถือกองทุนระยะยาว ในผู้มีรายได้สูงค่ะ
ดังนั้นเราต้องมองมากกว่าการลดหย่อนภาษี คือในเรื่องของการลงทุนในระยะยาวว่าเราสามารถนำเงินไปวางไว้กับกองทุนทั้งสองได้ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ เพราะถ้าเรามีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินและจะต้องขายกองทุนทั้งสองนั้นจะเป็นการขายที่ผิดกฏและความวุ่นวายที่ตามมาทั้งเรื่องที่ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อนรวมถึงค่าปรับต่างๆ
สิ่งแรกที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนเรื่องลดหย่อนภาษีคือ เราสามารถมีเงินเย็นไปลงในกองทุนทั้งสองแบบ ตามระยะเวลาที่กฏเกณฑ์กำหนดได้หรือไม่ และเรื่องที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือเราสามารถรับความเสี่ยงของแต่ละกองทุนที่เราเลือกไหวไหม ความเสี่ยงจะแปรผันตรงกับผลตอบแทนที่เราคาดหวัง เพราะกองทุนคือการลงทุนรูปแบบหนึ่งซึ่งผลตอบแทน เป็นเรื่องหลักที่ต้องนำมาพิจารณาในการเลือกลงทุน
กองทุนทั้งสองแบบทั้ง SSF และ RMF นั้นลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันแต่มีเงื่อนไขที่ต่างกัน หากอายุน้อยบางคนอาจจะเลือก SSF เพราะขายได้เร็วกว่า แต่ในผู้สูงอายุอาจจะเลือกเป็น RMF แทนถือให้ครบ 5 ปีและขายหลังอายุ 55 ปีบริบูรณ์​
คนที่ต้องการฝึกวินัยทางการเงินจะเลือกลงทุนผ่าน RMF เพราะเป็นการฝึกบังคับตัวเองจากการออมเงินผ่านการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกๆปี หรืออาจจะเลือกใช้ทั้งสองแบบ หรืออาจจะไม่เลือกที่จะซื้อกองทุนทั้งสองแบบเลยก็ได้เพราะมีเป้าหมายใช้จ่ายเงินระยะสั้นอยู่ ไม่แน่ใจการเงินที่ต้องอยู่ในกองทุน SSF, RMF เป็นสิบๆปี
หรือรายรับในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในฐานภาษีที่คุ้มค่าแก่การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประโยชน์ของกองทุนเป็นอันดับแรกที่ต้องพิจารณาก่อนเรื่องการลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน RMF ประโยชน์หลักคือวางแผนเกษียณ คือเกษียณแล้วมีเงินใช้จ่ายมั่นคง ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน
ดังนั้นถ้าเราจะวางแผนเกษียณโดยใช้กองทุนเป็นเครื่องมือก็ถือว่าตรงตามวัตถุประสงค์และมีผลพลอยได้เป็นการลดหย่อนภาษีไปด้วยถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
โดยสรุปแล้วจะเห็นว่า SSF และ RMF ก็เหมือนกองทุนทั่วไปเพียงแต่จะมีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และกฎการซื้อและการขายเพิ่มเข้ามา ดังนั้นก่อนการซื้อทุกครั้งควรศึกษากองทุนนั้นๆให้ดีก่อนเพราะ
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน”
🤸🤸‍♀️🤸‍♂️
🤑ดอยอะไรก็ติดได้..แต่อย่าติดดอยชีวิต🤑วางแผนไว้ก่อน..รู้รอดเป็นยอดดี
หมอลงทุน
FA Sayamon S.
Finnomena ref 116407
ติดต่อแนะนำการลงทุนได้ที่..สมัครเลย!
♥️ใครชอบบทความดีๆแบบนี้ ♥️
รบกวนกด Like กดแชร์ เป็นกำลังใจให้กัน ส่งต่อความรู้ดีๆ ให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนน้า
blockdit หมอลงทุน
facebook หมอลงทุน
...
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา