24 พ.ค. 2021 เวลา 07:59 • การศึกษา
📚📚📚 การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ⚖️
Lawลี กับ ลีLaw : การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
============
อย่าลืม #กดถูกใจเพจ และ #กดไลค์ #กดแชร์ แบ่งปันความรู้ให้เพื่อนๆ ด้วยนะครับ
============
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 "ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"
การกระทำความผิดด้วยจำเป็นนั้น แยกได้เป็น 2 กรณี คือ
1️⃣ จำเป็น เพราะอยู่ในที่บังคับ มาตรา 67 (1)
มีหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ
📌 อยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจ
มีการบังคับให้กระทำหรือไม่กระทำการจากบุคคลอื่น ซึ่งการ กระทำหรือไม่กระทำการนั้นต้องเป็นความผิดตามกฎหมาย
📌 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
ในทางกลับกัน ถ้ายังสามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ จะอ้างว่ากระทำไปด้วยความจำเป็นไม่ได้
📌 ผู้กระทำไม่ได้ก่อเหตุการณ์นั้นขึ้นด้วยความผิดของตนเอง
ถ้าผู้กระทำก่อเหตุการณ์นั้นขึ้นด้วยความผิดของตนเอง จะอ้างว่ากระทำด้วยความจำเป็นไม่ได้
2
📌 กระทำไปไม่เกินขอบเขต
2️⃣ จำเป็นเพื่อให้พ้นภยันตราย มาตรา 67 (2)
มีหลักเกณฑ์ 6 ประการ คือ
📌 มีภยันตราย
📌 ภยันตรายนั้น ใกล้จะถึง
📌 ภยันตรายนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใด้
📌 ภยันตรายนั้น ผู้กระทำไม่ได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดตน
📌 ผู้กระทำได้กระทำไปเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย
📌 กระทำไปไม่เกินขอบเขต
กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น มาตรา 67(1) #ต้องอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
▫️▫️▫️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544
:
การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ ซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด
:
อีกประการหนึ่ง ก็คือเป็นความจำเป็น ซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำ แต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง
:
ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
:
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
▫️▫️▫️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2542
:
จำเลยกับผู้ตายลักลอบได้เสียกัน ต่อมา บ. สามีจำเลยทราบเรื่องและจะให้โอกาสจำเลยกลับตัว แต่ต้องทำตามที่สั่ง ถ้าไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสียทั้งสองคน จำเลยและ บ. อยู่ด้วยกันเพียงสองคนในบ้านพัก จำเลยเป็นหญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจึงอาจถูก บ. ข่มเหงเอาได้ตลอดเวลา จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ บ. สามีอาจฆ่าจำเลยเสียได้จริง
:
ด้วยความกลัวจำเลยจึงยอมทำตาม บ. บอกแผนให้จำเลยนัดผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุและกำชับว่าให้พาผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุให้ได้ ไม่งั้นเตรียมตัวตาย จำเลยจึงไปหลอกชวนผู้ตายให้ไปร่วมหลับนอนกันอีกในวันรุ่งขึ้น วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยพาผู้ตายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้ตายถูก บ. ฆ่าตาย
:
จำเลยร่วมฆ่าผู้ตายเพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ บ. ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่การที่จำเลยยอมร่วมมือกับ บ. ฆ่าผู้ตาย ถือได้ว่าได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ตาม ป.อ. มาตรา 67 (1), 69
กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67(2) #จะต้องมีภยันตรายที่ใกล้จะถึงจึงจำเป็นต้องกระทำความผิดเพื่อให้พ้นจากภยันตรายนั้น
▫️▫️▫️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2529
:
ฟ้องว่าจำเลยขุดหลุมทำให้ถนนที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลุมที่จำเลยทั้งสองขุดอยู่ในเขตถนนสาธารณะที่โจทก์ฟ้องแล้วไม่ว่าหลุมนั้น จะอยู่ที่ไหล่ถนนฝั่งเดียวกันตามที่ปรากฏในทางพิจารณาหรือทั้งสองข้างถนนดังที่กล่าวในฟ้องก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทั้งสิ้นและข้อแตกต่างดังกล่าวก็หาใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยหลงต่อสู้ไม่เพราะจำเลยยอมรับว่าขุดหลุม ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ต่อสู้ว่าไม่เป็นความผิดเพราะไม่ใช่ถนนสาธารณะเท่านั้น
:
การกระทำเพราะความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ผู้กระทำจะต้องอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือ ขัดขืนได้หรือเพื่อให้ผู้กระทำหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้
:
แต่การขุดหลุมของจำเลยทั้งสองเป็นทางระบายน้ำจากนาที่จำเลยทำลงคลองสาธารณะ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมต้นข้าวเมื่อฝนตกมาเท่านั้น
:
ขณะจำเลยกระทำการดังกล่าว ฝนยังไม่ตก น้ำยังไม่ท่วมต้นข้าวของจำเลย จึงไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจำเลยจำเป็นต้องกระทำ ทั้งเมื่อฝนตกมากและน้ำท่วมต้นข้าวของจำเลย จำเลยก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากนาได้ การกระทำของจำเลยหาใช่ความจำเป็นตามกฎหมายไม่
คำพิพากษาฎีกาเพิ่มเติม #กรณีที่ไม่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553
:
คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น
:
ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่
:
ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าว ถือว่า จำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
———ติดตามเราได้ที่———
#กฎหมายน่ารู้ #นักกฎหมาย #นิติศาสตร์ #เนติบัณฑิต #ทนายความ #คำพิพากษาฎีกา #lawyerstyle #infographic #creative #creativeart
#สำนักงานกฎหมายไกรศักดิ์ทนายความ
#ให้คำปรึกษาและรับว่าความคดีทั่วราชอาณาจักร
โฆษณา