โดยส่วนตัวคิดว่า Move to Heaven มีสองพล็อตใหญ่ที่ซ้อนกันอยู่
.
พล็อตแรกเป็นเรื่องของบริษัทเก็บกวาดที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีอยู่จริง แต่คนไม่ค่อยรับรู้กัน ดังนั้นการหยิบเรื่องนี้มาเล่า พร้อมกับเล่า 'เคส' ต่างๆ ในชีวิตของผู้วายชนม์ให้รับรู้ จึงดึงดูดอย่างมาก ทำให้เราหวนระลึกถึงความตายของตัวเราเองผ่านความตายหลายหลากของผู้คน
.
พล็อตแรกนี้ดีงาม ทั้งการผูกเรื่อง บท การแสดง การถ่ายทำ การกำกับ แต่ที่โดยส่วนตัวคิดว่าน่าสนใจกว่า ก็คือพล็อตที่สอง ซึ่งคือเรื่องราวของตัวละครหลัก ที่มีพัฒนาการคลี่ปมต่างๆ ออกมา (ยากจะพูดว่าพล็อตไหนเป็นพล็อตใหญ่ พล็อตไหนเป็นพล็อตรองนะครับ เพราะให้น้ำหนักเท่าๆ กันทั้งคู่)
.
ที่บอกว่าน่าสนใจก็คือ พล็อตที่สองนี้ แทบไม่ต้องดูอะไรให้ลึกซึ้งเลยก็จะเห็นได้ว่ามันคือพล็อตแห่งการ celebrate หรือเฉลิมฉลองความเป็นผู้ชาย ถ้าดูจนจบ จะเห็นว่าตลอดทั้งซีรีส์ เรื่องราววนเวียนอยู่ที่ / พ่อกับลูกชาย / พ่อกับน้องชาย / อากับหลานชาย / อากับเด็กหนุ่มที่อาได้ช่วยชีวิตเอาไว้ / พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วนเวียนอยู่กับแต่ความเป็นผู้ชาย (แม้แต่ในพล็อตที่หนึ่ง ก็เป็นเรื่องราวของผู้ชายเสียเป็นส่วนมาก)
.
ทุกวันนี้ คนชอบพูดถึง toxic masculinity หรือความเป็นผู้ชายแบบแย่ๆ ร้ายๆ กดขี่ แต่ Move to Heaven พยายามจะบอกว่า ความเป็นผู้ชายมีหลากหลาย และเรื่องของผู้ชายก็สามารถทำออกมาให้อ่อนไหวและซาบซึ้งได้เหมือนกัน
.
เริ่มตั้งแต่ตอนแรก ที่พ่อเกิดจะซาบซึ้งในตัวลูกชายจนต้องขอกอด แต่ก็ต้องขออนุญาตก่อน เพราะรู้ว่าลูกชายไม่ชอบ ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีอาการป่วยมาเป็นตัวขวางกั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันคือความขัดเขินในความเป็นชายที่จะแสดงความรักต่อกันที่บทพยายามใส่เข้ามาให้เห็น (ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าเห็นชัดเกินไปหน่อย)
.
ความขัดเขินนี้ยังแสดงออกผ่านพล็อตเรื่องอื่นๆ อีก เช่น อาที่ต้องแสดงความ 'แมน' ออกมาเยอะๆ ทำท่ารังเกียจรังงอนหลานในช่วงต้นๆ แต่ซีรีส์ก็ค่อยๆ พยายามปัดเป่าความขัดเขินเหล่านี้ออกไป จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการแสดงความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ homosexual หรือแม้กระทั่ง bromance) ออกมา ซึ่งดูเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกับ toxic masculinity ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน
.
ผู้หญิงที่ปรากฏในเรื่องหลักๆ ก็คือเด็กสาวข้างบ้าน ที่ดูเหมือนจะปรากฏตัวแบบ typical คือมาเป็นคนรักของตัวเอก แต่เอาเข้าจริงก็ไปไม่ถึงขั้นนั้น บทบาทแท้จริงของเด็กสาวข้างบ้านในช่วงแรกๆ คือการมา 'ขัดขวาง' ความสัมพันธ์ระหว่างอากับหลานชายเสียมากกว่า แล้วในตอนท้ายๆ ก็กลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์นั้นให้เข้าสู่ไคลแม็กซ์ แต่อีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจของเด็กสาวข้างบ้านก็คือ เธอเป็น 'ข้อต่อ' ที่พาไปให้เห็นถึง 'แม่' ของเธอเอง ที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ได้แต่อารมณ์เสีย ขว้างปาข้าวของ และแม้จะมีสถานะเป็นแม่ แต่ก็เป็นภาพตัวแทนของ toxic femininity ไปด้วยในตัว
.
ผู้หญิงอื่นที่มีอยู่ในพล็อตที่สองล้วนแต่เป็นส่วนเติมเต็ม เป็นองคาพยพที่ไม่ได้สำคัญอะไรกับพล็อตเลย เช่น เมียของพ่อหรือแม่ของลูกชายที่ทิ้งมรดกเอาไว้ให้อยู่กันได้อย่างสบายนั้น ก็ตายจากไปตั้งแต่เรื่องยังไม่เริ่ม หรือหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่ดูท่าทีเหมือนจะมามีความสัมพันธ์กับอา สุดท้ายก็กลายเป็นเพียง 'ข้อต่อ' ที่เชื่อมพล็อตที่สองเข้ากับงานเคสต่างๆ (ซึ่งก็คือพล็อตที่หนึ่ง) เท่านั้นเอง ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่านี้ ดังนั้น ถ้านำมาเทียบเคียงกัน ความเป็นชายในเรื่องนี้จึงไม่ toxic แต่ความเป็นหญิงนั้นถ้าไม่ neutral ก็ toxic ไปเลย (แต่ก็ไม่ได้ toxic มากนัก - รวมทั้งไม่ได้แก้ปมความ toxic ด้วย)
.
ที่จริง ถ้าเราตัดผู้หญิงที่ว่ามาในเรื่องออกไป เช่น เด็กสาวข้างบ้าน หญิงสาวที่เป็นตัวเชื่อมคดี หรือแม้กระทั่งแม่ออกไป - ก็ไม่ได้ทำให้พล็อตหลักเสียไปแต่อย่างใด เพราะเรื่องทั้งหมดคือการเฉลิมฉลองความเป็นชายในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือพูดได้ว่า ผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ในซีรีส์นี้นั่นเอง จะมียกเว้นก็แต่ผู้หญิงที่เป็น 'ตัวร้าย' จริงๆ นั่นคือผู้หญิงที่เป็นโต้โผในการจัดการให้เกิดปมที่เป็นไคลแม็กซ์ของพล็อตที่สอง ที่มีลักษณะ Femme Fatale ชัดเจนมาก (พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นผู้หญิงที่ toxic นั่นเอง แต่จะเป็น toxic femininity หรือ toxic masculinity ก็ขึ้นอยู่กับจะมองว่าเธอเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้หญิงที่รับเอาวิธีคิดดิบเถื่อนรุนแรงแบบผู้ชายเข้ามาไว้ในตัว)
.
อีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ ก็คือการใช้เพลงคลาสสิกที่คุ้นหู (จะเรียกว่าเป็น pop classical ก็ได้) มาประกอบการเก็บกวาด จะเห็นว่า คีตกวีที่เขียนดนตรีเหล่านี้เป็นผู้ชายทั้งหมด แต่ที่เป็นสุดยอดของสุดยอด ก็คือการเก็บเอา 'บาค' (Bach) ที่แทบเรียกได้ว่าเป็น 'บิดา' แห่งดนตรีคลาสสิก (ซึ่งก็คือเป็นสุดยอดแห่งผู้ชาย) เอาไว้ในการเก็บกวาดครั้งสุดท้าย อันเป็นการเก็บกวาดที่สำคัญที่สุดของตัวละคร
.
เวลาพูดถึงความเป็นชาย เรามักนึกถึงความดิบเถื่อน แม้ซีรีส์เรื่องนี้พยายามพูดถึงความเป็นชายอันอ่อนโยน เจ็บปวด รู้สึกสะเทือนใจลึกซึ้งกับเรื่องราวในอดีต ฯลฯ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำภาพความเป็นชายแบบดิบเถื่อนมาผสมปนเข้าไปในพล็อตที่สองด้วย แล้วใช้มันเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนไปสู่ไคลแม็กซ์ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าทำให้ซีรีส์ดูมีความขาดๆ เกินๆ และไม่น่าเชื่อถืออยู่บ้าง
.
ที่ขาดๆ เกินๆ อีกอย่าง คือการผสมระหว่างพล็อตที่หนึ่งกับพล็อตที่สอง ราวๆ สามสี่ตอนแรกจะเน้นไปที่พล็อตที่หนึ่งชัดเจน แต่พอราวๆ ตอนที่ห้าหกเจ็ด ก็คล้ายทิ้งพล็อตที่หนึ่งไปเลย หันมามุ่งเน้นพล็อตที่สอง ก่อนจะกลับมาหาพล็อตที่หนึ่งอีกหนในตอนท้ายๆ ซึ่งรู้สึกเสียดายที่ไม่สามารถทำให้สองพล็อตนี้ผสมกลมกลืนกันได้อย่างมี harmony
.
โดยส่วนตัวจึงรู้สึกว่า ทั้งหมดเลยคือการเน้นย้ำไปที่ความเป็นชาย 'อีกแบบ' ที่พยายามดีดตัวห่างออกจาก toxic masculinity ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นชายที่ลึกซึ้งสะเทือนใจ ถึงได้บอกว่าเป็นแง่มุมที่น่าสนใจ เพราะความพยายามจะดีดตัวออกห่างจากสภาวะ toxic นี้ เอาเข้าจริงก็ debatable อยู่เหมือนกัน - ว่ามันเป็นอาการที่ toxic ในตัวเองหรือเปล่า
.
อย่างไรก็ตาม ตอนจบของซีรีส์ดูพยายามทิ้งท้ายให้ธรรมดาจนเกินไป คาดเดาว่าซีซันสองคงทิ้งพล็อตที่สองไป (เพราะเล่นหมดแล้ว) แล้วกลับไปหาพล็อตที่หนึ่ง พร้อมกับสร้างพล็อตที่สามขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็อาจจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้ขบคิดได้อีกเยอะ เพราะคนคิดสร้างเรื่องนี้เก่งจริงๆ ที่นำอะไรต่อมิอะไรมาชุมนุมรวมตัวกันได้แบบนี้
.
ชวนดูครับ