25 พ.ค. 2021 เวลา 05:37 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
คุกหรือโรงเรียน? ภาพสะท้อนของการ Manipulation ที่กดทับ Critical Thinking ในโรงเรียน
EP.2: True Love
#รีวิวซีรี่ย์ยังไงให้เหมือนวิจัย
1. Introduction
“ครูนฤมล” (ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) คุณครูระเบียบจอมเข้มงวดผู้มีแนวความคิดแบบผู้ใหญ่ในยุคโบราณแห่งโรงเรียนหญิงล้วนทิพย์นารีวิทยา ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อโรงเรียนที่เธออยุ่ตัดสินใจรวมโรงเรียนชายล้วนเข้ามา ซึ่ง “ครูนฤมล” ไม่เห็นด้วยกับแนวทางโรงเรียนแบบสหศึกษาอย่างมาก เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กผู้ชายคือต้นเหตุแห่งปัญหาที่จะทำให้ความดีงามที่สั่งสมมาอย่างยาวนานเสื่อมเสียลงไป เธอจึงออกกฎสุดแปลกประหลาดและหาทางปกป้องความคิดของเธอ จน “แนนโน๊ะ” ได้ก้าวเข้ามาเป็นเด็กใหม่ของโรงเรียนนี้และเริ่มปั่นป่วนกฏระเบียบ รวมถึงปลดล็อกปมชีวิตที่เธอติดกับมันมาตั้งแต่ในอดีตกับอดีตเพื่อนของเธอที่เสียชีวิตไป
2. Literature Review
พล็อตเรื่องหลักในตอนนี้ว่าด้วยปัญหาของค่านิยมที่คล้ายกับในตอนซีรี่ย์ที่หนึ่งเพียงแต่ตอนนี้ได้พาผู้ชมไปสำรวจแนวความคิดหัวโบราณของคนในยุคเจเนเรอชัน ซึ่งนั่นคือ คุณครูนฤมล ที่มีความคิดพื้นฐานของตัวละครว่า เด็กเป็นวัยที่เปราะบาง ต้องได้รับการอบรมดูแลอย่างถูกต้อง ผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัว ผู้ชายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้น แย่ไปกว่านั้นแนวความคิดดังกล่าวลามไปถึงการตีความผิดในแง่ต่างๆ อาทิ รักในวัยเรียน การตัดสินเพศสภาพ การริดรอนสิทธิในการแสดงความเห็นของเด็ก หรือการตัดสินคนจากภายนอก ซึ่งล้วนเป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนที่เรามักพบเจอได้ในคนรุ่นนี้ ซึ่งมีอิทธิพลมาจากการสั่งสอนหรือการเรียนรู้ที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนผ่าน Pedagogical Approach ที่ไม่ได้ออกผล outcome แบบ Critical Thinking แต่มันเปรียบเหมือน Propaganda มากกว่า
เป็นภาพรวมอีกหนึ่งตอนที่มีเส้นเรื่องประเด็นให้พูดถึงนอกเหนือจากเรื่องปัญหา Social issues ในโรงเรียน คือการใส่ประเด็น Love ที่มีความ Comedy นิดๆตามสไตล์ผู้กำกับอย่างพี่เอส คมกฤษ (แฟนฉัน, สายลับจับบ้านเล็ก) ที่มีซีนหรือลำดับภาพแบบซิตคอมหน่อยๆ ยียวนนิดๆ แอบแฝงการแสดงในมุมตลกแต่ละฉากแบบจับยัด (ตลกร้ายหน่อยๆ) นอกจากนั้นการ Socialization ถูกนำเข้ามาแทรกตลอดทั้งเรื่อง ทั้งในแง่ของ LGBTQ การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการชวนตั้งคำถามกับเด็กนักเรียนหรือคนทั่วไปว่า “ สิ่งที่เราเรียกว่าดีงามมาในอดีตกาล มันควรเป็นบรรทัดฐานที่มาตีกรอบและกีดกันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้จริงหรือ ? “ Gap ช่องว่างระหว่างวัยส่งผลให้การสื่อสารของคนที่อยู่ในเจเนเรอชันที่ต่างกันมักนำไปสู่ solution ที่ไม่เคยออกดอกออกผล หรือเพราะว่าผู้ใหญ่เองที่ไม่ยอมรับอะไรในตัวเด็ก หรือเป็นเพราะว่าไม่เคยคิดจะคุยกับเด็กด้วยเหตุผลจริงๆเลย ย้อนกลับไปตั้งคำถามอีกหนึ่งคำถามที่ว่า “ ผู้ใหญ่พร่ำบอกเสมอว่าอะไรดี ไม่ดี แต่มักอ้างเพียงแค่เหตุผลจากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเจอ “ จะให้พูดง่ายๆว่า อาบน้ำร้อนมาก่อนก็ใช่ แต่ถ้าเราเลือกจะอาบน้ำเย็น หรือเลือกจะอาบน้ำจากฝักบัวอื่นที่ร้อนน้อยกว่าได้ล่ะ ?
3. Methodology
งานของผู้กำกับของพี่เอส คมกฤษมีความติดตลกสะท้อนผ่านซีนต่างๆ โดยเฉพาะตอนนี้เล่าเรื่องผ่านตัวละครครูนฤมลที่ตัดสลับภาพเล่าถึงความเผด็จการณ์ของเธอ และทัศนคติที่ส่งผลต่อการมองเด็กผู้หญิง และการมองเด็กผู้ชายที่ขาดซึ่ง Equality และ based on experience ซึ่งถูกเล่าผ่านฉากย้อนอดีตที่ใช้โทนภาพเก่าๆ ว่าเธอเองเคยมีเพื่อนสนิทที่สุดท้ายเสียชีวิต แต่เธอก็ปักใจเชื่อไปแล้วว่าเพื่อนของเธอนั้นตายเพราะความรัก และปักใจว่าต้นเหตุของปัญหาคือการมีความรักในวัยเรียนไม่เคยเหมาะสม การกีดกันนักเรียนผู้หญิงออกจากผู้ชายคือสิ่งที่ควรทำ เพื่อที่จะรักษาสิ่งที่เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ดีงามเอาไว้
ฉาก flashback ต่างๆ ทำได้ดูบางเบาและพยายามทำให้เราได้รับสารว่าคุณครูนฤมลได้รับประสบการณ์ในอดีตมาแบบนี้ทำให้แนวคิดของเธอเป็นแบบนี้ แต่ด้วยปัญหาการพยายามจะลองอะไรใหม่ในๆซีรี่ย์ตอนนี้ เราเห็นแผลมากมายก็คือการเล่าเรื่องแต่ละฉากที่ดู jump cut และมีอารมณ์ละครเวทีเล่นใหญ่ไปหน่อย ทำให้ตลอดทั้งเรื่องไม่สามารถจับประเด็นสำคัญหรือเหวี่ยงอารมณ์ผู้ชมมากไปจนสุดโต่ง จนอาจจะไม่ใช่ตอนโปรดของใครหลายคน ตลอดทั้งเรื่องสลับตัดประเด็นจนในที่สุดผู้ชมทุกคนไม่สามารถจับแก่นสารได้มากเท่าที่ควรและเลือกจะปิดฉากสุดท้ายด้วยประเด็น LGBTQ และความรักซะอย่างนั้น ทั้งๆที่ในซีรี่ย์นี้ควรจะคุม theme ประเด็นปัญหาของคุณครูหรือตั้งคำถามแนวความคิดแบบนี้ว่าควรจะถูกต่อต้านหรือได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
อีกหนึ่งสิ่งที่อาจจะทำให้หลายคนผิดหวังคือเป็นตอนเดียวในซีรี่ย์ที่เรารู้สึกว่าแนนโน๊ะไม่ได้ลงมือแก้แค้นอะไรใครในนี้ นั่นหมายความว่า แนนโน๊ะในตอนนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนพิธีกร เหมือนในซีซั่นแรกในตอน Lost & Found (เด็กขโมยของ) แต่ในตอนนั้นกลับสะท้อนของตัวละครที่แนนโน๊ะพยายามมากกว่า แต่ในเรื่องนี้แนนโน๊ะเป็นเพียงตัวแทนของเด็กที่ตั้งคำถาม เข้ามาประกอบในฉากเป็นตัวรัน script ฉากที่คอยให้ information เด็กๆในโรงเรียน คุณครู รวมถึงนำตัวละครแนนโน๊ะเป็นแกนหลักในการแสดงออกบางฉากมากเกินไปแต่กลับหลุดประเด็นและ Theme ของซีรี่ย์ไปในท้ายที่สุด
4. Discussion
ประเด็นจากซีรี่ย์ตอนนี้เป็นแรงขับเคลื่อน #โรงเรียนชื่อดังย่านอโศก ถึงค่านิยมและแนวทางปฏิบัติที่เด็กรุ่นใหม่มองว่าล้าหลัง และชวนตั้งคำถามว่าสิ่งที่ดีงามในแบบที่คนกลุ่มนั้นมอง มันดีต่อตัวเด็กในชีวิตจริงมากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ซีรี่ย์จะสื่อออกไปคือการที่เราได้เริ่มมองว่ายุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามา หรือความรู้ความเข้าใจของเด็กในปัจจุบันนั้นมันรวดเร็วเกินกว่าที่จะมาห้ามกันได้อีกต่อไป หรือวิธีที่เคยทำกันมาไม่สามารถได้ผลเหมือนกันกับเด็กทุกคน ผมมีประโยคหนึ่งที่ชอบมากของ นักสร้างภาพยนตร์รัสเซียสมัยสหภาพโซเวียต , Andrei Tarkovsky กล่าวคือ “ A book read by a thousand different people is a thousand different books.” คนอ่านหนังสือเล่มเดียว แต่ตีความได้ต่างกันมากมาย ขึ้นกับประสบการณ์ชีวิต ความคิดความรู้ของแต่ละคน มันแน่นอนว่าการตีความของเด็กสมัยนี้ก็ไม่ได้ผิด แต่เป็นผู้ใหญ่เองที่พร่ำบอกว่ามันไม่เหมือนที่คาดหวังไว้ หรือพร่ำบอกเสมอว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนเพราะประสบการณ์ในอดีต แน่นอนการพัฒนาความคิดความเข้าใจมันต้องในได้รับการพิสูจน์ทั้งในแง่ของ Theoretical validity and reliability และ Practical way เหมือนกับงานวิจัย งานพัฒนาการต่างๆ การหยุดอยู่กับที่และปักใจเชื่ออะไรแบบเดิมๆไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป มันเป็นเพียงการที่คุณเองไม่อยากจะปรับตัวกับมัน จนในท้ายที่สุดก็จะบอกว่าเด็กก้าวร้าว ทั้งๆที่ไม่เคยแม้แต่จะฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และกดทับด้วยอำนาจ อาทิ ประณามการตั้งคำถามของเด็กๆ และลดทอนสิทธิ ความมั่นใจในตัวเด็กลงไปทีละเล็กทีละน้อย เสมือนว่ากลืนกินไปในระบบให้ได้
กลับมาในมุมมองของเด็กเองนั้น ซีรี่ย์ได้โชว์ภาพสะท้อนของการเปลี่ยนไปในตัวเด็กผู้หญิงในโรงเรียนทิพย์นารีวิทยาทีละเล็กทีละน้อย นำไปสู่ประเด็นที่เราจับมันไว้ได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในวัยเด็ก (ที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเปราะบาง) เป็นความเสี่ยงสูงสุด แต่ถ้าพูดในด้านของพัฒนาการ หรือถ้าเทียบกับแค่ในต่างประเทศ การปิดกั้นความคิดและตีกรอบพวกเขาจะทำให้มันกลายเป็นการ prohibit critical thinking skill ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่หรืออนาคตที่ดีได้ เด็กทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามว่า “ อะไรดีไม่ดีได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่บอกว่าไม่ดี ควรตั้งคำถามและไตร่ตรองได้ด้วยตัวเอง “ ทั้งนี้ทั้งนั้นการฟังแนวความคิดจากคนเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องผิดซะทีเดียว แต่การสื่อสารที่ถูกต้องคือการเปิดอกคุยกันในประเด็นต่างๆ และไม่เอาไม้บรรทัดของเราไปวัดใคร ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้วิธีของคุณแล้วประสบความสำเร็จ หรือไม่ใช่แม้แต่การรีวิวนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้ใครๆ แต่มันควรเป็นสื่อหนึ่งที่ส่งต่อความรู้และก่อให้กระบวนการความคิดวิเคราะห์ ซึ่งแต่ละคนสามารถนำไปใช้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือการมี Mindset ที่พร้อมที่จะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือที่เรียกว่า “ Growth Mindset”
5. Conclusion
แม้ว่าเรื่องราวในตอน True Love จะการดำเนินเรื่องราวแบบ Optimistic ที่สุดเลยยบรรดาทุกตอนของซีรี่ย์ชุดนี้ แต่ประเด็นที่บอกเล่าผ่าน ครูนฤมล ก็ยังเป็นเรื่องราวที่ไม่ควรมองข้าม ที่จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ใหญ่หลายท่าน โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่มองกลับไปทบทวนความเปลี่ยนแปลงหรือวิธีการคิดต่างๆที่มีต่อเด็กนักเรียนในเรื่องความรักในวัยเรียน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของ technological disruption เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเก่าๆ ที่ในท้ายที่สุดไม่ว่าอย่างไรก็ตามการ Disruption ต้องเกิดขึ้นในโรงเรียนสักวันหนึ่ง ความรักไม่ได้ผิด กฏที่ผู้ใหญ่สร้างมามันก็ไม่ได้ผิด มีแต่คนที่ใช้มันอย่างไร้เหตุผล ใช้เป็นเครื่องมือนั้นแหละที่ผิดจริงๆ
- เด็กใหม่ 2 (Girl from Nowhere, 2021)
(GIRL FROM NOWHERE) ใครยังไม่ได้ดู ขอแนะนำให้ไปดูกันได้แล้วที่ Netflix เท่านั้น !
#เด็กใหม่2 #แนนโน๊ะ
#TrueLove #ครูนฤมล
#GirlFromNowhereNetflix
#MovieThesis
โฆษณา