25 พ.ค. 2021 เวลา 05:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ทำความรู้จัก สมองส่วน EF”
ที่ถูกเรียกว่าเป็นทักษะของสมองแห่งศตวรรษที่ 21 จะนำพาความสำเร็จมาสู่ชีวิตอย่างยั่งยืน
EF หรือ executive function คือสมองส่วนการบริหารจัดการ ที่จะช่วยให้เด็กรับมือกับโลกยุคปัจจุบัน จัดการบริหารชีวิตตนเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ผลวิจัยมากมายที่ชี้ว่า EF เป็นทักษะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแทบจะทุกด้าน เด็กที่ผลการเรียนต่ำ ดื้อ ไม่สนใจเรียน สมาธิสั้น มีปัญหากับเพื่อน ขาดทักษะการใช้ชีวิต เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากการขาด EF ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการดำรงตนอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่ในเด็ก ในผู้วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ EF ไม่ดีอาจเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ติดยา ปัญหาชีวิตคู่
แต่ EF เป็นทักษะที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองต้องอาศัยการพัฒนาจากการลงมือทำและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ดังนั้น วันนี้เราจะมาเริ่มทำความรู้จัก EF ตั้งแต่การทำงานของสมองส่วนนี้กันค่ะ
….
“EF เปรียบเสมือน CEO ของเรา”
ให้ผู้อ่านลองแตะสัมผัสที่หน้าผาก แล้วจินตนาการว่าใต้บริเวณหน้าผากบรรจุสมองส่วนหน้า ที่เรียกว่า “prefrontal cortex” ที่อยู่อาศัยของ EF ที่เปรียบเสมือนเป็น CEO ของมนุษย์ เป็นสมองส่วนที่คอยทำหน้าที่บริหารจัดการ คล้าย วาทยกร ของวง ออร์เคสตร้า ที่คอยกำกับการทำงานของนักดนตรีชิ้นอื่น ๆ ให้สามารถบรรเลงเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Paul Maclean ได้แบ่งสมองของมนุษย์เป็นสามส่วน สมองได้เจริญเติบโตไล่จาก Reptilian brain หรือ “สมองส่วนสัญชาติญาณ” เจริญตั้งแต่ช่วง 0-9 เดือนในท้องแม่ มีหน้าที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย กินอยู่ ขับถ่าย หายใจได้ เพื่อให้เด็กทารกที่พึ่งคลอดสามารถเอาตัวรอดจากสิ่งแวดล้อมใหม่นอกครรภ์แม่ได้ ถัดมาช่วง 3 เดือนสุดท้ายในท้องแม่จนถึงประมาณ 5 ปี Limbic brain หรือ “สมองส่วนอารมณ์” จะเจริญเติบโต มีหน้าที่ เรียนรู้ จดจำ ไปพร้อมกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเด็กจะเรียนรู้จดจำผ่านอารมณ์ คอยระวังระแวงสิ่งที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือเข้าหาสิ่งที่มีความสุข สมองส่วนที่สามเรียกว่า Neocortex หรือ “สมองส่วนเหตุผล” เป็นสมองส่วนที่มี EF จะเจริญเติบโตตั้งแต่แรกเกิดและเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่อายุ 25 ปี จะมี EF ดีทุกคน หากขาดโอกาสการพัฒนาตั้งแต่ยังเล็ก
“EF สมองที่ทำงานอย่างเป็นระบบ”
EF ถูกแบ่งตามบริเวณของสมอง ออกเป็น 3 ส่วน มีหน้าที่การทำงานแตกต่างกันโดยจะทำงานอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นเพื่อสามารถทำกิจกรรมตามเป้าหมายได้
ส่วนแรกเรียกว่า Dorsolateral Prefrontal cortex อยู่บริเวณส่วนบนของเปลือกสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวความจำขณะทำงาน (Working memory) การปรับตัวความคิดยืดหยุ่น (Cognitive flexibility) การวางแผนจัดการ (Planning & Organization) การใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา (Problem solving & Abstract reasoning)
ส่วนที่ลึกลงไปของเปลือกสมองส่วนหน้าจะมีสมองส่วนที่เรียกว่า Anterior Cingulate Cortex มีการเชื่อมต่อกับสมองส่วน Amygdala ทำหน้าที่เกี่ยวกับการยังยั้งอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม (Inhibition of emotional response) การควบคุมตนเองและตัดสินใจที่เหมาะสม (Decision making & self-control) เป็นสมองส่วนคุณธรรมจริยธรรม (Morality)
ส่วนสุดท้ายเรียกว่า Orbitofrontal Cortex เป็นสมองที่อยู่ด้านล่างของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การควบคุมพฤติกรรมทางสังคม (Drive social behavior) การยับยั้งพฤติกรรม (Inhibitory control) การจัดการทางอารมณ์ละความก้าวร้าว (Impulsive control) หากสมองส่วนนี้มีปัญหาจะทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง (Aggressive)
ในโอกาสถัดไป OT Mentor จะมานำเสนอในแต่ละด้านของ EF และกิจกรรมการส่งเสริม EF กันค่ะ
เรียบเรียงโดย OT Mentor #ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
เอกสารอ้างอิง
สรุปความรู้จากการอบรมหลักสูตร 10 บทเรียนออนไลน์ การพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยไทย โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยากร
รศ. ดร.นัยพินิจ คชภักดี
อ. ดร.นุชนาฏ รักษี
คุณอรพินท์ เลิศอวัสดาตระกูล
ผศ. ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร
โฆษณา