25 พ.ค. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Digital Economy: จรวดที่พุ่งทะยานในความมืดมิดของการแพร่ระบาด
1
เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจดาวเด่นที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและอนาคต และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเร่งให้เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังกลายเป็นจรวดที่จะนำพาเศรษฐกิจที่ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้ดี ให้พุ่งไปได้ไกล เช่นเดียวกับ ช่วงที่เกิด SARS ซึ่งทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของจีน บริษัทของจีนเช่น Alibaba หรือ Tencent รวมถึงระบบ cashless payment สามารถก้าวผงาดขึ้นมาได้
2
อย่างประเทศไทย โควิด-19 ทำให้ทุกคนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกติ และต้องทำงานจากบ้าน หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ระบบออนไลน์ ระบบดีลิเวอร์รี่ ระบบลอจิสติกส์ และระบบ cashless payment ไม่ว่าจะเป็น การสั่งอาหารผ่าน Grab หรือ Lineman สั่งสินค้าผ่าน Shopee หรือ Lazada การใช้ mobile banking แทนการไปสาขา การใช้ QR payment หรือ e-wallet แทนเงินสด ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น ขนส่ง packaging และนำมาสู่การเกิดขึ้นของ startup ใหม่ๆ จำนวนมาก
1
กล่าวได้ว่า โควิดทำให้เกิดโอกาสทอง ยุคทองของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้สิ่งที่ต้องใช้เวลา 7-10 ปี มาเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ เพียง 1-2 ปี
เศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร?
ในยุคที่ผู้คน ธุรกิจ ข้อมูล รวมถึง การทำงานต่างๆ มากมายสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านทางออนไลน์ การเชื่อมต่อที่ว่านี้ เปิดโอกาสให้สามารถใช้ประโยชน์ สร้างนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างโดยอาศัยการเชื่อมต่อของผู้คนนี้ เราก็เรียกกันว่า เศรษฐกิจดิจิทัล
เหตุผลที่ธุรกิจและบริษัทจำนวนมากปรับตัวเข้าหาเศรษฐกิจแบบดิจิทัลก็เพราะว่ารูปแบบธุรกิจแบบนี้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันได้ดีมากกว่า โดยในอดีตธุรกิจที่จะขึ้นเป็นผู้นำของตลาดได้ คือธุรกิจที่สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ อย่างไรก็ดี ต่อมาในยุคปัจจุบัน เมื่อลูกค้าต้องการของที่มีความเฉพาะมากขึ้น บริษัทก็แข่งขันกันที่ขนาดน้อยลง แต่แข่งกันที่ความเร็วในการนำสินค้าที่ตรงกับความต้องการไปส่งที่มือของลูกค้ามากขึ้น
การแข่งขันในขณะนี้ ยิ่งไปไกลกว่าแค่ความรวดเร็วในการส่งสินค้าแล้ว เพราะสิ่งที่ลูกค้าต้องการในปัจจุบันคือความคุ้มค่าของการบริโภคสินค้าสักอย่างหนึ่ง ที่เขาอาจจะต้องการซื้อเพียงแค่หน่วยเล็กๆ ของมันเท่านั้น จึงเกิดธุรกิจอย่างการสตรีมมิ่งเพลง ที่มีลักษณะเป็นกึ่งๆ การเช่าเพลงแทนที่จะซื้อขาดมาเลย หรือแม้กระทั่งการทำบัญชี ที่บริษัทอาจจะไม่อยากจ้างนักบัญชีของตัวเอง ก็ต้องการเข้าถึงบริการบัญชีแบบเป็นครั้งๆ ที่เศรษฐกิจดิจิทัลก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการส่วนนี้ได้ โดยรูปแบบที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ก็ถูกเรียกว่า “Everything as a Service” หรือก็คือการพยายามขายสินค้าอะไรก็ตามในรูปแบบการบริการทั้งหมด
1
บริษัทใหญ่ๆ จำนวนมากที่พึ่งพาการเชื่อมต่อผ่านดิจิทัลนี้ ก็สามารถทำในสิ่งที่อดีตทำไม่ได้ คือ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการธุรกิจของตัวทั้งหมดอย่างครบวงจร ยกตัวอย่างเช่น Alibaba ที่เป็นบริษัทค้าปลีก E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งก็ไม่ได้มีคลังเก็บสินค้าของตัวเอง หรืออย่าง Uber ที่เป็นบริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุด ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่สักคน หรือแม้กระทั่ง Facebook ที่เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมหาศาล ก็ไม่ได้สร้างเนื้อหาต่างๆ ด้วยตัวเอง
4
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถเติบโตได้อย่างพุ่งทะยานมาจากความสามารถในการคำนวณ การเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) ทำให้การจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือที่เรียกกันว่า Big data ที่เรามีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและมีความสามาถในการวิเคราะห์ เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น จนถึงขั้นที่บางคนกล่าวว่าบริษัทที่วิเคราะห์ข้อมูลของเราเหล่านี้รู้จักตัวตนของเรา มากกว่าที่เรารู้จักตัวเองเสียอีก (บางบริษัทรู้จักเราถึง 2,000 attributes หรือด้าน) ทำให้บริษัทที่มีข้อมูลของผู้คนมากได้เปรียบในการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า เกิดเป็นยุคที่ข้อมูลมีค่ายิ่งกว่าทองเสียอีก
1
กระแสการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นนี้ยังได้ถูกเร่งขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ผ่านมา จากการที่ผู้คนต้องอาศัยอยู่ที่บ้านในช่วงของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เศรษฐกิจดิจิทัลยังมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกมาก
1
จากงานศึกษา “e-Conomy SEA 2020” ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ได้แสดงภาพการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งคำนวณจาก 6 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไทย และเวียดนาม) ไว้ในหลายแง่มุม อย่างในแผนภูมิที่ 1 ที่แสดงสัดส่วนของผู้ใช้บริการรายใหม่ต่อผู้ใช้บริการทั้งหมดในธุรกิจดิจิทัล จะเห็นว่ามีผู้ใช้บริการมากถึงประมาณ 1 ใน 3 ที่พึ่งเข้ามาใช้บริการออนไลน์ครั้งแรกในช่วงการแพร่ระบาด
1
เมื่อมองลึกลงไปที่กลุ่มสินค้าที่ลูกค้าเลือกซื้อออนไลน์มากขึ้นในแผนภูมิที่ 2 จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และสินค้าของชำ เป็นกลุ่มธุรกิจที่คนหันมาซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้นเป็นสัดส่วนมากที่สุด ที่กว่า 34% และ 33% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดอย่างการท่องเที่ยวและการเดินทาง ก็เป็นกลุ่มที่ติดลบ แต่ก็มีโอกาสที่กลับมาดำเนินการได้ดีอีกครั้งในช่วงหลังจากหมดการแพร่ระบาด เนื่องจากลูกค้าส่วนมากที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อของผ่านทางออนไลน์ ก็บอกว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อของต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ต่อไปหลังจากการแพร่ระบาด ซึ่งก็น่าจะส่งผลบวกต่อการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด
สำหรับขนาดมูลค่าตลาดของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ทาง Bain Analysis ก็ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีมูลค่า 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีค.ศ.2020 ที่ผ่านมา และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปถึง 309,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้นปีละ 24% และสำหรับประเทศไทยก็จะเติบโตจาก 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็นกว่า 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025
ในตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังเตรียมตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นโยบาย Thailand 4.0 และที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นหัวธงที่สำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการพยายามเชื่อมต่อผู้คนให้เข้าหากันมากขึ้น เช่นโครงการวางอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมหลากหลายหมู่บ้านในชื่อ “เน็ตประชารัฐ” และการสร้างโครงข่ายการส่งต่อของข้อมูลให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นผ่านการวางโครงข่าย 5G หรือแม้แต่โครงการอินทนนท์ที่เป็นการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบการชำระเงิน ก็ล้วนจะช่วยในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้
1
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ต้องจับตามอง และทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลคือการพัฒนาทักษะแรงงานให้รองรับกับโครงสร้างธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการเอาผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ (รวมถึง Digital NOMAD) เข้ามาร่วมทำงาน เพราะแน่นอนว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคือโอกาส แต่โอกาสแท้จริงแล้วไม่ใช่ของทุกคน แต่เป็นของคนที่เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าประเทศไทยและองค์กรของเราไม่สามารถปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงได้ ก็อาจจะกลายเป็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแทน
ผู้เขียน: ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา