26 พ.ค. 2021 เวลา 05:38 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) สามารถคำนวณได้จากการนำราคาหุ้นมาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น หรืออาจจะคำนวณได้จากนำมูลค่าหลักทรัพย์มาหารด้วยกำไรสุทธิ ทั้งสองวิธีให้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน
โดยปกติแล้วนักลงทุนก็อยากซื้อหุ้นที่บริษัทมีกำไรสูงๆ แต่ราคาถูกๆ ซึ่งค่า P/E บอกให้เราทราบว่าราคาที่เราจ่ายให้กับหุ้นของบริษัทนั้นๆเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิ
และค่า P/E ที่ต่ำนั้นหมายถึงนักลงทุนเองจ่ายให้กับหุ้นในราคาถูกเมื่อเทียบกำไรต่อหุ้นที่บริษัทนั้นทำได้
สำหรับการนำค่า P/E ไปใช้มีหลายวิธีด้วยกันดังนี้
1. วิธีการแรก คือนำค่า P/E ของบริษัทที่เราสนใจมาเทียบกับค่า P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรม เช่นหากบริษัทที่เราสนใจลงทุนนั้นเป็นธุรกิจโรงแรม เราก็ต้องใช้ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมธุรกิจโรงแรมมาเปรียบเทียบ ในกรณีที่บริษัทที่เราสนใจนั้นมีค่า P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนั้นหมายความว่าบริษัทที่เราสนใจนั้นมีราคาแพง ในทางกลับกันหากบริษัทที่เราสนใจลงทุนนั้นมีค่า P/E ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนั้นหมายความว่าบริษัทที่เราสนใจนั้นมีราคาถูกนั้นเอง
2. วิธีการที่สอง คือนำค่า P/E ของบริษัทมาเทียบกับค่าเฉลี่ย P/E ของบริษัทในอดีต วิธีการนี้บอกให้รู้ว่า เรากำลังซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่ถูก หรือแพงกว่าเมื่อเทียบกับราคา ณ ปัจจุบัน
3. วิธีการที่สาม คือการนำค่า P/E มาหารด้วยอัตราการเติบโต (G) หรือบางคนเรียกวิธีการนี้ว่า PEG วิธีการนี้บอกให้เราทราบว่าราคาที่เราจ่ายเมื่อเทียบกับการเติบโตนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เริ่มต้นเดิมทีวิธีการนี้ถูกพัฒนาโดย Mario Farina จากหนังสือ A Beginner's Guide To Successful Investing In The Stock Market แต่กลับมาโด่งดังโดย Peter Lynch จากหนังสือ One Up on Wall Street สำหรับใครที่อยากจะหาอ่านเพิ่มเติมอาจจะหาหนังสือเหล่านี้มาอ่านเพิ่มได้ โดยส่วนมากแล้วหากค่า PEG มีค่าเท่ากับ 1 นั้นหมายความหุ้นนั้นมีราคายุติธรรม หากน้อยกว่า 1 นั้นหมายความหุ้นมีราคาถูก และหากมีค่ามากกว่า 1 นั้นหมายความว่าหุ้นมีราคาแพง
4. วิธีการที่สี่ คือการพลิกกลับค่า P/E ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซนต์ เราเรียกค่านี้ว่า Earning Yield หรือเบนจามิน เกรแฮมอาจจะเรียกว่า Earning Power เช่น สมมติว่า P/E เท่ากับ 20 พอพลิกกลับค่าก็จะได้เท่ากับ 5 เปอร์เซนต์ วิธีนี้มักใช้เปรียบเทียบกับผลตอบแทนไร้ความเสี่ยงอย่างพันธบัตรรัฐบาล หรือบางทีก็อาจจะนำไปเปรียบเทียบกับ Earning Yield ของตลาดก็ได้เหมือนกัน
นอกจากการเปรียบเทียบทั้ง 4 วิธีการนี้ ยังมีวิธีการอื่นๆอีกที่สามารถนำค่า P/E Ratio ไปเปรียบเทียบ หัวใจสำคัญคือเราต้องตอบให้ได้ว่าทำไมจึงนำค่าเหล่านั้นมาใช้เปรียบเทียบ
สุดท้ายถึงแม้ว่าวิธีการประเมินมูลค่าด้วย P/E Ratio นั้นอาจเป็นวิธีที่ง่าย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกันเนื่องจากกำไรสุทธินั้นไม่ได้สะท้อนถึงเงินสดที่สามารถจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้จริงๆ รวมทั้งยังไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนของเงินทุนอีกด้วย
โฆษณา