26 พ.ค. 2021 เวลา 09:14 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การเผาศพปลอดมลพิษ : BAR (Before Action Review) ก่อนการเผาศพ...
ก่อนการเผาศพทุกครั้ง สิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมให้พร้อมก็คือตัวเตาเผาศพนั้นเอง
หลังจากที่ทราบว่าบ่ายวันนี้จะมีการเผาศพ ในช่วงสาย ๆ เราเองก็จะต้องไปตรวจดูความเรียบร้อยของตัวเตาและ "ระบบเตาเผาศพ" ให้พร้อมที่จะใช้งานในช่วงบ่าย
ก่อนเผาศพ ต้องทำความสะอาดห้องเผาให้สะอาด
สิ่งแรกที่ต้องดูก็คือ ภายในเตานั้นมีเศษกระดูกจากศพเดิมเหลืออยู่หรือไม่...?
ถ้ามีเศษกระดูกจากศพเดิมตกค้างอยู่ก็จะต้องเก็บ กวาด ทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้ในเวลาเก็บกระดูกนั้นเศษกระดูกจากศพเดิมมาปนกับกระดูกของศพใหม่ เดี๋ยวญาติ ๆ ที่นำกระดูกกลับไปจะไม่รู้ว่ากระดูกใคร เป็นกระดูกใคร...!!!
กระดูกหรืออัฐิที่ดึงออกมาจากห้องเผาศพ
ในระหว่างเก็บกวาดทำความสะอาดนั้น ก็ไม่มีเครื่องมืออะไรหรูหรา พิศดารอะไรมาก นอกเสียจากไม้กวาด ที่คราดกระดูกและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผ้าปิดจมูก" ซึ่งจะต้องมีไว้ป้องกันฝุ่นละอองจากเศษกระจูกที่เราจะสูดเข้าไปในระบบหายใจ
เมื่อเก็บ กวาด ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะต้องตรวจเช็คต่อมาก็คือ "ระบบไฟ" ซึ่งจะต้องตรวจดูว่ามีไฟเข้ามาในระบบครบทั้ง 3 เฟส หรือไม่ เพราะบางครั้งเกิดฝนตก พายุลมแรง อาจจะทำให้สายในจุดใดจุดหนึ่งหลุดได้ ดังนั้นการตรวจเช็คระบบไฟควรจะต้องทำก่อนการเผาศพประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อที่จะมีเวลาในการแก้ไขถ้ามีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้น
แผงควบคุมระบบไฟฟ้าสำหรับการเผาศพปลอดมลพิษ
ส่วนต่อมานั้นคือการตรวจสอบระบบเชื้อเพลิง ถ้าเกิดเป็นหัวเผาที่ใช้น้ำมันก็จะต้องเตรียมน้ำมันให้พร้อมซึ่งศพหนึ่ง (เตาเผาศพปลอดมลพิษระบบ 2 หัวเผา) จะใช้ประมาณ 45-60 ลิตร ถ้าเป็นระบบแก๊ส ก็ควรจะมีแก๊สอย่างน้อย 2 ถังใหญ่ (ศพหนึ่งใช้ประมาณ 40-50 ก.ก.) แต่ที่ต้องสำรองไว้ก็เพื่อในเหตุฉุกเฉิน เพราะอัตราการใช้เชื้อเพลิงสำหรับการเผาศพแต่ละครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของศพว่า ร่างใหญ ร่างเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ทำการถอดปลั๊กไฟของโลงเย็นมาก่อนแล้วกี่ชั่วโมง ปกติซึ่งปกติควรจะถอดก่อนเวลาเผาไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง เพราะถ้าหากถอดปุ๊บนำมาเผาศพยังมีความเย็นและแข็งอยู่มากจะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการเผา
หลังจากนั้นก็ใช้สายตาตรวจดูระบบกายภาพของเตาเผาศพโดยทั่วไปว่ามีสิ่งใดชำรุด มีสายไฟตรงไหนขาด หลุด หรือว่ามีอิฐทนไฟก้อนใดหลุดร่วงออกมาหรือไม่
ถ้าเป็นเตาเผาศพที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงจะมีงานเพิ่มเติมขึ้นมาก่อนเผาอีกนิดหน่อยก็คือ ก่อนเวลาเผาประมาณ 20 นาที จะต้องไปเปิดระบบการต้มน้ำ (Vaporizer) ที่จะใช้อุ่นน้ำแก๊สเพื่อส่งเข้าไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเผาศพ...
เตาเผาศพปลอดมลพิษ : อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง...
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเผาศพโดยใช้เตาเผาศพแบบปลอดมลพิษนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกันคือ 1. ใช้ขดลวดไฟฟ้า (แบบนี้มีใช้น้อยมากในประเทศ) 2. ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง (มีประมาณ 5-10% ของเตาเผาศพปลอดมลพิษทั้งประเทศ) และ 3. ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
หัวเผาระบบน้ำมันดีเซล
ซึ่งข้อมูลทางเทคนิคของบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเตาเผาศพมลพิษนั้น ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงของศพหนึ่ง ๆ จะอยู่ที่ 45-60 ลิตร จะมากหรือน้อยนั้นอยู่ที่ปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการ คือ
1. ความต่อเนื่องในการใช้เตา
อย่างเช่นที่มีผู้ให้ข้อมูลว่า "เนื่องจากใช้บริการเป็นรายแรก จึงต้องใช้น้ำมันมาก....." เหตุผลนี้ "ถูกต้องครึ่งหนึ่ง"
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น...?
ขออนุญาตเล่าหลักการทำงานของเตาเผาศพปลอดมลพิษในปัจจุบันซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นระบบ "ไฟเผาควัน" ดังนี้
ในอดีต เตาเผาศพ (เมรุฯ) นั้นจะเป็นระบบห้องเผาเดียว ก็คือ มีห้องที่ใช้บรรจุโลงและศพ ดังเช่นที่เรามองเห็นเขาดันโลงเข้าไปเมื่อไปงานฌาปนกิจศพตามงานต่าง ๆ
ซึ่งเตาในอดีตจะถาดล้อเลื่อนโดยใส่เชื้อเพลิงไว้ด้านล่าง ส่วนใหญ่จะเป็นถาดแล้วราดน้ำมัน จากนั้นเมื่อประกอบพิธีการเสร็จ ญาติ ๆ และสัปเหร่อ ก็จะเตาโลงศพวางไว้บนเชื้อเพลิงนั้นแล้วจุดไฟ เมื่อไฟถูกจุด ก็จะเผาโลงศพที่อยู่ด้านบน
เตาเผาศพแบบเดิมที่ใช้ถ่านหรือไม้เป็นเชื้อเพลิง
หลักการของควันและความร้อนจะลอยขึ้นสู่ที่สูง โดยเมรุฯ มีระบบปล่องควันที่ใช้ลมดูด ถ้าการออกแบบปล่องมีประสิทธิภาพ ความร้อนและควันจะลอยขึ้นสู่ปล่องและออกทางปลายปล่องโดยอัติโนมัติ
เตาแบบเดิม เมื่อเชื้อเพลิงคือถ่านเผาถูกจุด เปลวไฟก็จะลุกผ่านโลงศพและไหม้ทุกอย่างที่อยู่ในโลงนั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ไม้จากโลง ดอกไม้จันทร์ เสื้อผ้า หรืออะไรต่ออะไรที่เราใส่ลงไปพร้อมกับผู้ตาย
จากนั้นควันทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้จะลอยผ่านปล่องควันขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยทันที ซึ่งจากทีเราเห็นนั้นจะเป็นควันสีดำ และนั้นก็คือ "มลพิษ"
ดังนั้น จึงมีผู้คิดค้นหลักการต่าง ๆ ที่จะมาจัดการกับเจ้าควันดำที่ลอยออกจากห้องเผาศพ ซึ่งแรก ๆ มีผู้คิดค้นการดักควันหรือมลพิษนั้นโดยการใช้ "น้ำ"
เมื่อเกิดการไฟไหม้ในห้องเผาศพแล้ว ผู้สร้างเตาจะสร้างท่อหรือปล่องควันให้ควันนั้นลอยผ่านช่อง ๆ หนึ่ง ซึ่งช่องนั้นจะมีการ "ฉีดน้ำ" เมื่อให้ละอองน้ำไปเกาะตัวให้ควันเป็นอณูที่หนาและหนักขึ้นจนทำให้เกิดเป็นหยดน้ำตกลงสู่ที่รองรับและถูกปล่อยลงไปสู่ "พื้นดิน"
ระบบนี้ใช้งานได้ดีในการกำจัดมลพิษทางอากาศ เพราะควันดำที่เคยพวงพุ่งออกทางปากปล่องแทบไม่มีเหลือ เพราะถูกน้ำจับควันไว้เกือบทั้งหมด
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะน้ำที่รวมตัวกับควันนั้นเป็น "มลพิษ" เมื่อถูกปล่อยลงดิน ส่งกลิ่นเหม็น ยิ่งพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังหรือพื้นที่ต่ำยิ่งเกิดเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
"ควันไม่เหม็นแต่น้ำเหม็น..."
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้คิดค้นผลิตเตาเผาศพแบบ 2 ห้องเผา คือ ห้องแรกเผาศพ ห้องที่ 2 เผาควัน โดยมีหลักการคร่าว ๆ คือ เมื่อเกิดควันจากห้องเผาศพ ควันนั้นจะลอยขึ้นตามช่องสู่ห้องเผาศพที่ 2 ซึ่งในห้องเผาศพนั้น จะมีหัวเผา (Burner) อีกหนึ่งตัว พ่นไฟออกมาเพื่อเผาควันนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักการของการควบคุมมลพิษแล้ว ควันนั้นจะต้องถูกกักเก็บและเผาซ้ำอยู่ในห้องเผาศพที่ 2 อีกไม่น้อยกว่า 1 วินาที จึงจะสมบูรณ์
ควันสีขาวที่ลอยออกมาจากปล่องควัน
ซึ่งทำให้เตาเผาศพรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เราแทบจะไม่เห็นควันสีดำพวงพุ่งออกจากปล่องเมรุฯ หรืออาจจะเห็นแค่ควันสีขาว ๆ ออกมาในตอนแรกบ้างเล็กน้อย ซึ่งควันขาว ๆ นั้น ข้าพเจ้าเคยสอบถามผู้ที่มาตรวจสอบมลพิษแล้วได้คำตอบว่า ควันขาว ๆ นี้ไม่จัดว่าเป็น "มลพิษ" ตามระดับการวัดของหน่วยงานที่ควบคุมสิ่งแวดล้อม
การตรวจวัดระดับมลพิษโดยช่างผู้ชำนาญการ
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตสรุปหลักการเตาเผาศพจากอดีตถึงปัจจุบันในเบื้องต้น ดังนี้
1. เมรุฯ ระบบเดิม มี 1 ห้องเผา ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง อัตราสิ้นเพลิงของเชื้อเพลิงของถ่านจะอยู่ที่ 2 กระสอบต่อศพ ซึ่งราคาถ่านต่อกระสอบอยู่ที่ประมาณ 2-300 บาท ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่ใช้จะอยู่ที่ 5-600 บาท
และราคานี้สามารถลดลงได้อีก ถ้าหากญาติ ๆ ของผู้วายชนมีเงินน้อย โดยการหาเศษไม้หรือเชื้อเพลิงอื่นใดที่มีในท้อนถิ่นมาผสมรวมกันกับถ่านก็ได้ หลักการง่าย ๆ ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ไฟติดจนสามารถเผาเนื้อและกระดูกให้หมดไป
2. เตาเผาศพปลอดมลพิษระบบผ่านน้ำ จะมี 1 ห้องเผา บวกกับท่อหรือปล่องที่ผ่านเข้าระบบการสเปรย์น้ำ
เตาเผาระบบนี้ใช้เชื้อเพลิงจากเผาศพระบบน้ำมันดีเซล 1 หัวเผา ซึ่งจะใช้น้ำมันอยู่ที่ประมาณ 30 ลิตรต่อศพ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงถ้าคิดตัวเลขง่าย ๆ อยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,200 บาท
ทางวัดหรือฌาปนสถาน ก็จะคิดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า (ใช้ในการควบคุมระบบ) อาจจะคิดเรา 1,500 บาท หรือ 2,000 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่นโยบายของฌาปนสถาน
3. ระบบไฟเผาควัน ระบบนี้จะเป็นเตาเผาศพระบบ 2 ห้องเผา จะใช้หัวเผา (Burner) อย่างน้อย 2 ตัว คือ ตัวหนึ่งเผาศพ ตัวหนึ่งเผาควัน
เตาเผาศพแบบสองห้องเผา
อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันจะอยู่ที่ 45-60 ลิตร ซึ่งถ้าราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ก็จะต้องเสียค่าน้ำมันประมาณ 1,350 - 1,800 บาท
จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการหลัก ๆ ตามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น คือ
1. เป็นศพแรก หรือเตาไม่ได้ถูกใช้อย่างต่อเนื่อง
2. วัสดุที่ใช้ทำโลงและขนาดของร่างกาย
3. เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ "ฝีมือคนเผา..."
ขณะกำลังเผาสรีระร่างกายผู้วายชนม์
ปัจจัยตัวที่ 1 สำหรับการสิ้นเพลิงเชื้อเพลิงในการเผาศพ
1. ความต่อเนื่องในการใช้เตา
จากเดิมที่เคยกล่าวถึงเรื่องระบบการเผาศพแบบปลอดมลพิษ ในส่วนของห้องเผาที่ 2 หรือห้องเผาควันซึ่งจะต้องมีอัตราการกักเก็บซ้ำเพื่อเผาควันอย่างน้อย 1 วินาทีนั้น
ในทางปฏิบัติ การที่จะทำให้เตาเผาศพทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบได้ อุณภูมิความร้อนสะสมภายในห้องเผาควัน (Chamber 2) จะต้องอยู่ไม่ต่ำกว่า 350 องศาเซลเซียส
หน้าจอระบบการทำงานของระบบเตาเผาศพ จะเห็นได้ว่าตอนนี้อุณหภูมิห้องล่างอยู่ที่ 257 องศา C และอุณหภูมิห้องบนหรือห้องเผาควันอยู่ที่ 425 องศา C
ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากเป็นเตาใหม่ หรือเตาที่ไม่ถูกใช้มาเป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง (ตามหลักการการคลายความร้อนของอิฐทนไฟเมื่อถูกใช้ครั้งหนึ่ง ๆ แล้วนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 48 ชั่วโมง)
เมื่อระยะเวลาการใช้เตาแต่ละครั้งเกินกว่า 48 ชั่วโมง ก็แสดงว่า เราจะต้องเริ่มสตาร์ทการทำอุณหภูมิจากอุณหภูมิปกติ (อุณหภูมิห้อง) ทุกครั้ง ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส
การเริ่มสตาร์ทจากอุณหภูมิห้องเมื่อสร้างอุณหภูมิสะสมในห้องเผาควันให้เกินกว่า 350 องศาเซลเซียส ทำได้ 2 วิธี หลัก ๆ คือ
1. ผู้ควบคุมเตา จะทำการจุดหัวเผา (Burner) ทั้งในห้องเผาศพและในห้องเผาควัน ก่อนที่จะใส่โลงศพเข้ามา เพื่อระบายความชื้นภายในเตารวมถึงสร้างอุณหภูมิมวลรวมของอิฐทนไฟให้สูงขึ้น ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ซึ่งจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 5-10 ลิตร
การอุ่นเตาเผาศพจากหัวเผาด้านข้าง (ในกรณีที่เตาเผามีหัวเผามากกว่าหนึ่งหัวเผา)
แต่ถ้าระยะเวลาการจุดหัวเผาเพื่อระบายความชื้นและสร้างอุณหภูมิมีความห่างจากการเผาจริงเกินกว่า 2 ชั่วโมง ก็แทบจะไม่มีประโยชน์ในการเผาจริงเลย เพราะความร้อนสะสมจะถูกระบายทางปล่องลมออกไปเกือบหมด
2. เมื่อใส่ศพเข้าไปในห้องเผาศพแล้ว ผู้ควบคุมเตาทำการจุดหัวเผาในห้องที่ 2 เพื่อสร้างอุณหภูมิให้ได้ 350 องศาเซลเซียส
ระบบนี้จะทำความร้อนได้ช้ากว่าแบบแรก เพราะไม่มีความร้อนจากห้องเผาหลักขึ้นมาช่วย ในบางเตาอาจจะใช้เวลาถึง 30 นาที หลังจากใส่ศพเข้าไปแล้ว
เมื่อใส่โลงเข้ามาต้องพยายามให้โลงตั้งตรงกลางเพื่อให้โดนหัวเผาอย่างเต็มที่
ซึ่งนั่นหมายความว่า ญาติ ๆ ที่คิดว่าเผาใส่เข้าไปครึ่งชั่วโมงนั้นน่าจะถูกเผาไฟบ้างแล้ว แต่แท้ที่จริงยังไม่มีการจุดหัวเผาในห้องเผาหลักเลย
เพราะถ้าหัวเผาหลักถูกจุดในขณะที่ความร้อนสะสมในห้องเผาควันยังไม่ถึง 350 องศานั้น จะได้เห็นควันขโมง (มลพิษ) ออกทางปากปล่องอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นก็จะเกิดคำถามตามมาว่า นี่หรือคือเตาเผาศพปลอดมลพิษ
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการเผาศพที่เป็นศพแรกกับการเผาที่มีระยะห่างกันเกินกว่า 48 ชั่วโมง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าถ้าเตาเย็นแล้วก็ต้องมาสตาร์ทกันใหม่นั้นจึงใกล้เคียงกัน
แต่ทว่า บางฌาปนสถาน อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการเผาสำหรับศพแรกเพิ่มมากขึ้นจริง ๆ เนื่องจากก่อนการเผานั้นจะมีการลองระบบกันหลายครั้ง ทั้งการส่งมอบเตาและการลองระบบต่าง ๆ ของผู้ที่ควบคุมเตา
จากข้อมูลที่เคยได้ยินสำหรับการแนะนำระหว่างบริษัทผู้ขายกับผู้ซื้อนั้น ผู้ขายจะแนะนำให้ผู้ซื้อ (วัดหรือฌาปนสถาน) บอกกับญาติ ๆ ว่าต้องใช้น้ำมัน 60 ลิตร เผื่อเหลือ เผื่อขาด
ปัจจัยตัวที่ 2 โลงและร่างกาย
โลง...
โลงมีส่วนสำคัญสำหรับการสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงประมาณ 10%
ประเด็นแรกเกิดจาก ถ้าเกิดเป็นโลงที่ใช้ไม้หนา ในการเกิดมลพิษนั้นปัจจัยแรกที่สุดคือควันที่เกิดขึ้นจากไม้ และไม้ที่ใส่เข้าไปนั้นก็คือ "โลง"
ลักษณะของโลงไม้เมื่อถูกเผาไหม้ประมาณ 30 นาทีแรก
ถ้าโลงหนามาก อัตราความแรงของการจุดหัวเผาบน (ห้องเผาควัน) ก็จะต้องแรงมาก เพื่อให้ไฟหรือความร้อนสามารถกำจัดมลพิษที่ออกมาจากห้องเผาล่างจนหมดจด
ดังนั้นเมื่อโลงยังไม่หมด ผู้ควบคุมเตาจะทำการปิดหัวเผาบนไม่ได้
โดยปกติ การเผาศพปลอดมลพิษจะมีช่วงเวลาวิกฤต (Critical time) อยู่ที่ 30 นาทีแรก หลังจากการจุดไฟในห้องเผาศพ
โดยอย่างยิ่งในช่วง 5 นาทีแรก ที่โลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ไม่คาดฝันว่าญาติบางคนจะนำใส่ไปกับศพด้วยอาทิ เสื้อผ้า ผ้าห่ม หมอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใยสังเคราะห์ติดไฟนั้นจะทำให้เกิดมลพิษได้มากกว่าโลงหลายเท่า
ดังนั้นการทำความร้อนในช่วงแรกจึงมีส่วนสำคัญมากเพื่อจัดการกับวัสดุแปลกปลอมเหล่านี้
จากนั้นเมื่อโลงและวัสดุต่าง ๆ ไหม้ไฟหมดแล้ว (ปกติจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที) ผู้ควบคุมเตาจะทำการปิดหัวเผาบน เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง เพราะในขณะนั้น ห้องเผาบนจะมีความร้อนสะสมอย่างน้อย 600-700 องศาเซลเซียสแล้ว เนื่องจากมีความร้อนทั้งจากหัวเผาล่างขึ้นไปช่วย รวมทั้งไฟที่เกิดจากโลงและวัสดุต่าง ๆ ทำให้การกักเก็บเพื่อเผาซ้ำนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเราสังเกตุเตาเผาศพรุ่นก่อน ๆ (แบบห้องเผาเดียว) ให้ดีก็จะพบว่า จะเกิดควันดำในช่วง 15 นาทีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะเป็นควันขาวแทบทั้งสิ้น
ด้วยเพราะเหตุเดียวกันคือ 15 นาทีแรกนั้นเป็นช่วงของการเผาโลงและวัสดุต่าง ๆ จึงทำให้เกิดมลพิษ
ทำไมเตาแบบเดิมใช้เวลาในช่วงแรก (15/30 นาที) น้อยกว่าเตาเผาศพปลอดมลพิษ...?
คำตอบคือ "คำว่าปลอดมลพิษ"
คำว่าเตาเผาศพปลอดมลพิษนี้ ทำให้ทุกคนคาดหวังว่าจะ "ไม่มีควัน (ทั้งควันดำและควันขาว)" ดังนั้น ผู้ควบคุมเตาจะต้องทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้มีควันหลุดรอดออกมาได้
ช่วงแรกจึงเป็นช่วงของการ "ประคับประคอง" ค่อย ๆ เผาโลง เผาเสื้อผ้าไปเรื่อย ๆ จะเร่งหัวเผาแบบเต็มที่เหมือนเตารุ่นเดิมไม่ได้ เพราะเตารุ่นเดิมอย่างไงก็มีควัน ไม่ต้องเลี้ยงมาก "อัดได้เลย"
และเมื่อประกอบกับเวลาที่จะต้องใช้สร้างอุณหภูมิในห้องเผาควันให้ได้ 350 องศา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที บวกกับเวลาเลี้ยงควันอีก 30 นาที เตาเผาศพปลอดมลพิษจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการเผาศพไปได้มากเท่ากับเตารุ่นเดิมเพียง 15 นาที (ในอัตราความสำเร็จของการเผาไหม้วัสดุและร่างกายเท่ากัน)
ร่างกายของผู้วายชนม์ที่ยังเหลืออยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้วายชนที่มีร่างใหญ่
จากเดิมที่ข้าพเจ้าเคยสังเกตเมื่อเผาศพฝรั่งกับคนไทยแล้ว ศพฝรั่งซึ่งมีน้ำหนักตัวมากกว่าคนไทยโดยเฉลี่ย 20-30 กิโลกรัมนั้นจะใช้เวลามากกว่าประมาณ 30 นาที
และอีกปัจจัยหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ก็คือ "การถอดปลั๊กโลงเย็น"
การบำเพ็ญกุศลศพในปัจจุบันวัดหรือฌาปนสถานต่าง ๆ นิยมใช้โลงเย็นกันค่อนข้างมาก
ถ้าหากมีการบำเพ็ญกุศลศพเกินกว่า 3 วัน ภายในร่างกายของผู้ตายที่แช่อยู่ในโลงเย็นนั้นจะเป็นน้ำแข็ง
ดังนั้นก่อนเวลาเผาจริง ซึ่งจะเป็นช่วงบ่ายของอีกวันหนึ่ง ผู้ควบคุมเตา กรรมการวัด หรือสัปเหร่อ จะต้องทำการปิดโลงเย็นหรือถอดปลั๊กออกก่อนอย่างน้อยคืนหนึ่ง หรือจะต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมงเพื่อให้ความเย็นในร่างกายลดน้อยลง...
ปัจจัยตัวที่ 3 คือ "ฝีมือของคนเผา"
ระบบควบคุมการเผาศพปลอดมลพิษ
การเผาศพปลอดมลพิษนั้น จุดที่ยากที่สุดคือการทำให้ปลอดมลพิษ ดังนั้น การทำให้ปลอดมลพิษนี้เองจะขึ้นอยู่กับเทคนิคของคนเผา (Tacit knowledge)
จากข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รับ ทราบว่า มีผู้เยี่ยมยุทธ คือมีความชำนาญสูงมากในการเผาสามารถใช้น้ำมันเพียง 35 ลิตรในการเผาศพ ๆ หนึ่ง
ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความใส่ใจเป็นยิ่งยวด
ถ้าจะให้น้อยจริง ๆ ต้องถึงขั้นว่านั่งเฝ้ากันทีเดียว
คือต้องดูว่าตอนนี้อุณหภูมิของเตาอยู่ที่เท่าใด ดับหัวเผาบนได้หรือยัง ถ้าดับได้แล้วก็ประหยัดเชื้อเพลิงได้อีกส่วนหนึ่ง
ผู้เผาศพบางท่าน อาจจะมีภาระงานอื่น จะต้องทำโน่นทำนี่ บางคนจุดเตาไว้ชั่วโมงสองชั่วโมงกลับมาดูที ก็แสดงว่าจุดหัวเผาไว้คู่กันเลย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การจุดไฟหัวเผาบนหลังจากที่โลงไหม้หมดไปแล้วแทบจะไม่มีความจำเป็นเลย รังแต่จะให้เปลืองน้ำมันไปเปล่า ๆ ฟรี ๆ
ดังนั้น ถ้าหากผู้เผาศพของตรวจสอบการเผาไหม้อยู่ตลอด ช่วยดันให้ส่วนของร่างกายที่เหลือเข้าไปใกล้หัวเผา (ซึ่งโดยปกติจะอยู่ด้านบนหรือส่วนหัวของศพ) มาก ๆ ก็ยิ่งจะทำให้เผาหมดไว้
เพราะถ้าไม่ดัน ร่างกายอยู่ไกลหัวเผา ก็ต้องใช้เวลาเผานาน
และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ ระยะเวลาในการเก็บกระดูกของญาติ ถ้าหากไม่เร่งมาก คือ มาเก็บตอนเช้า หลังจากที่เผาจนเหลือแต่กระดูกสักกองหนึ่ง ผู้ควบคุมเตาก็สามารถปิดหัวเผา แล้วปล่อยให้กระดูกที่เหลือถูกความร้อนสะสมภายในเตาค่อย ๆ ย่อยสลายไป ซึ่งในตอนเช้าก็จะหมดพอดี
เมื่อกล้ามเนื้อและร่างกายถูกเผาไหม้หมดแล้วก็จะเหลือแต่กระดูก
แต่ถ้าหากญาติ ๆ เร่งเก็บกระดูก จะเอาเย็นนั้น กระดูกกองที่เหลือ ก็จะต้องใช้ไฟเผา คือต้องจุด Burner อัดอยู่อย่างน้อย 30 นาที
และที่น่าสนใจมากก็คือ กระดูกกองเล็ก ๆ นี้เป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกว่าเนื้อหรือร่างกายที่มีน้ำมัน
ดังนั้นการเผากระดูกที่ใช้เชื้อเพลิงมากกว่าการเผาร่างกายในส่วนอื่น ๆ
Large_tt8070
การเผาศพปลอดมลพิษ : AAR (After Action Review) ระยะเวลาเฉลี่ย
หลังจากที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็น "สัปเหร่อ" มาประมาณ 15 ครั้งซึ่งได้เผาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนไทยและคนต่างประเทศ ก็พบว่าอัตราการเผาศพแบบปลอดมลพิษนั้นเป็นดังนี้
ร่างกายที่ถูกเผาไหม้จนเกือบหมด
1. ศพคนไทยขนาดน้ำหนักไม่เกิน 60 กิโลกรัมจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที
2. ศพคนไทยขนาดน้ำหนัก 60-80 กิโลกรัมจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
3. ศพคนต่างประเทศซึ่งขนาดน้ำหนักกว่า 80 กิโลกรัมนั้นจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
ซึ่งอัตราระยะเวลาเฉลี่ยนี้จะเปลี่ยนแปลงไปโดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ
1. ชนิดของไม้ที่ทำโลงศพ
ถ้าเป็นไม้หนา ไม้เนื้อแข็ง อาทิเช่นไม้สัก จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 15 นาที แต่ถ้าเป็นไม้อัด หรือไม้เนื้ออ่อนประเภทไม้งิ้ว เวลาจะใกล้เคียงกับเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้น
โลงไม้แท้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลามากกว่าโลงไม้อัด และจะต้องระวังไม่ให้เกิดควันดำ เพราะไม้แท้จะมีควันมากกว่า
2. ระยะเวลาของการตัดระบบทำความเย็น
การแช่ศพไว้ในโลงเย็น ถ้าหากเราทราบกำหนดการฌาปนกิจหรือเผาศพที่แน่นอน ควรจะถอดปลั๊กเพื่อยกเลิกระบบทำความเย็นไว้ก่อนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หรือทำแบบง่าย ๆ ก็คือ หลังจากการบำเพ็ญกุศลศพคืนสุดท้ายแล้ว ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับไปนอนก็ควรจะถอดปลั๊กโลงเย็นให้เรียบร้อย เพราะถ้าหากเราไม่ถอดไว้ก่อน ศพที่อยู่ในโลงเย็นเป็นเวลานานจะเป็นน้ำแข็ง คือ น้ำภายในกล้ามเนื้อ เลือด น้ำเหลืองภายในร่างกายจะแข็งและมีความเย็นอยู่ ซึ่งเมื่อนำมาเผานั้นจะต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นอย่างน้อย 10-20 % ซึ่งนั่นจะทำให้ใช้เวลาในการเผาศพมากขึ้นด้วย
โดยเฉพาะในกรณีที่ญาติรอเก็บกระดูกไปเพื่อบำเพ็ญกุศล ก็จะทำให้ต้องใช้เวลาในการเผาเพิ่มมากขึ้น
3. ความต้องการกระดูกเพื่อใช้ในการบำเพ็ญกุศล
ส่วนที่เผายากที่สุด กินเวลาและเชื้อเพลิงมากที่สุดก็คือ "กระดูก"
การเผากระดูก
กระดูกที่เหลือกองสุดท้ายนั้น แต่หากญาติต้องการกระดูกน้อย หรือต้องการเผาให้ป่นเป็นผงละเอียด ก็จะต้องใช้เชื้อเพลิงเผากระดูกเปล่าอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที (เวลานี้จะต้องบวกเพิ่มจากเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้น) แต่ถ้าหากญาติต้องการกระดูกไปลอยอังคาร ฝัง หรือไม่ต้องการให้เผาเป็นผงนั้น ระยะเวลาสามสิบนาทีที่กล่าวก็สามารถตัดออกไปได้เป็น 0 เพราะว่า ในเวลาที่กระดูกถูกเผาจนร้อนซึ่งมีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 800 องศาเซลเซียสนั้น เราสามารถใช้ของแข็งตีหรือทุบกระดูกชิ้นใหญ่ให้แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้
การเผาศพปลอดมลพิษนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ "ไร้กลิ่น ไร้ควัน" ซึ่งจะต้องมีห้องเผา 2 ห้องเผาคือ 1 ห้องเผาศพ และ 2 ห้องเผาควัน ดังนั้นเมื่อเทียบกับการเผาแบบธรรมดา คือมี 1 ห้องเผา ( 1 Chamber) แล้วจะกินเวลามากกว่าการเผาแบบเดิมหรือการเผาแบบมีมลพิษ (ควันดำ) ประมาณ 30 นาที
การควบคุมระบบเตาเผาศพปลอดมลพิษ
เนื่องจากระยะเวลาการเลี้ยงควันในช่วงแรก คือ ในช่วงของการเผาโลง ดอกไม้จันทร์ เสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางจากรองเท้าหรือผ้าห่มนั้น การเผาแบบปลอดมลพิษจะต้องใช้เวลาเลี้ยงควันตรงนี้อยู่ประมาณ 30-45 นาที จะเร่งเผาแบบเดิมซึ่งมีควันดำออกมาไม่ได้
รวมทั้ง การทำอุณหภูมิในห้องเผาควันให้มีอุณหภูมิอย่างน้อย 300 องศาเซลเซียส นั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-30 นาที ซึ่งจะเป็นเวลาที่เสียเปล่า เพราะในช่วงนั้นจะไม่สามารถจุดหัวเผาเพื่อเผาศพได้
ดังนั้น ในอัตราเวลาข้างต้น ถ้าหากเป็นเตาเผาศพแบบ 1 ห้องเผา (1 Chamber) ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันหรือแก๊สเป็นเชื้อเพลิง จะใช้เวลาเฉลี่ยน้อยกว่าอัตราที่กล่าวไว้ข้างต้นประมาณ 30 นาที...
กองไฟกองสุดท้าย
การที่ต้องอยู่ต้องสัมผัสกับการสร้างเมรุฯ นับตั้งแต่ไปมุดเมรุฯโน้น ปีนเมรุฯนี้ จากคนที่เคยกลัวสิ่งที่เราสมมติกันเรียกว่า "ผี" อย่างมาก ๆ สุดท้ายก็กลับกลายเป็นการที่ได้เจริญ "มรณานุสติ" ว่าเราก็จักต้องตายอย่างนั้นเหมือนกัน
การได้อยู่ได้ทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ คือออกแบบ เขียนแบบ เลือกเตาเผาศพ จนกระทั่งคุมงานก่อสร้าง สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นสัปเหร่อไปในตัว ถือว่าเป็นประสบการณ์แห่งการภาวนาคือการพัฒนาจิตใจที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
ถ้าหากท่านใดมาอ่านบันทึกหรือเห็นภาพแล้วเกิดความกลัวข้าพเจ้าเองก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี่ แต่ทว่า หากเราน้อมนำความกลัวที่เกิดขึ้น น้อมกลับมาคิดพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป การเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายได้จึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง ดังนี้...
โฆษณา