26 พ.ค. 2021 เวลา 09:44 • ปรัชญา
21 พฤษภาคม เวลา 15:57 น. ·
เย็นท่ามกลางร้อน
สุขท่ามกลางทุกข์
สงบท่ามกลางความวุ่นวาย
ทำให้ได้อย่างนี้สวัสดีปลอดภัยในที่ทุกสถาน
พระบรมธาตุแท้ ทองอร่าม
ยอดพระเจดีย์งาม สง่าเรื้อง
สุรีย์ส่องอรุณยาม ยิ่งเยี่ยม
กิเลสทรามถูกเปลื้อง ปลดไว้วางวาย ฯ
สายแดดอ่อนเริ่มจ้า บรรเจิด
ช่วงแห่งกุศลเลิศ เยี่ยมหล้า
ทำเถิดเพื่อก่อเกิด กับจิต
สติมั่นเฉพาะหน้า ระลึกน้อมอยู่เสมอ ฯ
เจอปทุมช่วงเช้า ชื่นชม
เห็นชัดบุญนิยม ยิ่งแล้ว
เกิดสุขทุกข์ระทมตรม- ตรอมไป่ พบเลย
โควิดภัยก็แคล้ว คลาดสิ้นปลานาการ ฯ
ข้าพเจ้าออกจากกุฏิในเวลา ๐๖.๒๐ น. เดินเร็วไปที่พระบรมธาตุเจดีย์ หอระฆัง วัดชนะสงคราม เพื่อทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูพื้นบริเวณทั้งหมด เรียกว่า ทุกซอกทุกมุม คิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ ๒๐ เท่านั้น แต่กลายเป็นเวลาล่วงมาถึง ๔๐ นาที กลับมาถึงกุฏิในเวลา ๐๗.๐๕ น. ร่างกายเปียกชุ่มไปด้วยเม็ดเหงื่อเลย
ขณะเริ่ม “สุจิกัมมันตะ” งานแห่งการทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูพระบรมธาตุเจดีย์ หอระฆัง ข้าพเจ้าก็ได้เห็นพระมหาวิรัตน์ อาจารสุโภ พร้อมกับพระอีก ๒-๓ รูป เดินผ่านรอดใต้พระบรมธาตุเจดีย์ไป และเมื่อทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูใกล้จะเสร็จก็เห็นพระมหาวิรัตน์ อาจารสุโภ กลับมาจากบิณฑบาตแล้ว เวลาช่วงทำความสะอาดนั้นน่าจะอยู่ที่ ๓๐ นาที พอใกล้จะเสร็จจริงๆ ขณะกำลังเช็ดถูที่บันไดขึ้นลงอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็เห็นหลวงพ่อพระมหาบุญล้อม สุปญฺโญ เดินกลับมาจากบิณฑบาตพอดี จึงเอ่ยทักว่า
“นี่ อาจารย์บุญล้อม ผมทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูพระบรมธาตุเจดีย์ทั้งหมดเลยนะ”
หลวงพ่อพระมหาบุญล้อมผู้อายุอยู่ในปัจฉิมวัย ๗๐ ปีแล้ว ตอบทันทีว่า
“ดีๆ ทำความสะอาดพระบรมธาตุเจดีย์ได้อย่างนี้ ชาติหน้าจะได้มีผิวพรรณวรรณะงดงาม”
“เออ นั่นสิ อาจารย์บุญล้อม ทำให้นึกถึงเจ้าหญิงโรหิณี พระขนิษฐาในพระอนุรุทธเถระ เจ้าศากยะพระองค์หนึ่ง” ข้าพเจ้าอุทานพูดเรื่องนี้ออกมาทันทีเหมือนกัน
เรื่องพระขนิษฐาของพระอนุรุทธะพระนามว่าโรหิณีเป็นอย่างไรหรือ ทีแรกข้าพเจ้ากะว่าจะเขียนความย่อๆ โดยสังเขปให้อ่าน เพื่อจับเอาประเด็นนั้นประเด็นเดียว ความจำของข้าพเจ้าพระอายุในวัยไม้ใกล้ฝั่งยังแจ่มใสอยู่ ว่าจะเขียนในสำนวนโวหารของตนเองนั่นแหละ แต่พอไปตรวจดูข้อมูลจริงในธัมมปทัฏฐกถา ภาคที่ ๖ เห็นว่าเนื้อเรื่องไม่ยาวมากนัก คนมีความเพียรน้อยก็น่าจะอ่านจบได้ ข้าพเจ้าขอโค๊ดข้อความทั้งหมดคัดลอกเอามาให้อ่านแบบเต็มเรื่องเลยดีกว่า
เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี
สมัยหนึ่ง พระอนุรุทธผู้มีอายุได้ไปเมืองกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ ครั้งนั้น พวกพระญาติของท่าน ทรงสดับว่า "พระเถระมา" จึงได้ไปสู่สำนักพระเถระ เว้นแต่พระน้องนางของพระเถระชื่อโรหิณี พระเถระถามพวกพระญาติว่า "พระนางโรหิณีอยู่ที่ไหน"
พวกพระญาติ : อยู่ในตำหนัก เจ้าข้า
พระเถระ : เหตุไร? จึงไม่เสด็จมา
พวกพระญาติ : ไม่ประสงค์เสด็จมา เพราะทรงละอายว่า 'โรคผิวหนังเกิดที่สรีระของเรา' เจ้าข้า
พระเถระกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงเชิญพระนางเสด็จมาเถิด" ให้ไปเชิญพระนางเสด็จมาแล้ว กล่าวอย่างนี้กะพระนางผู้ทรงฉลองพระองค์เสด็จมาแล้วว่า "โรหิณี เหตุไร? เธอจึงไม่เสด็จมา”
พระนางโรหิณี : ท่านผู้เจริญ โรคผิวหนังเกิดขึ้นที่สรีระของหม่อมฉัน เหตุนั้น หม่อมฉันจึงมิได้มา เพราะความละอาย
พระเถระ : เธอทรงทำบุญไม่ควรหรือ ?
พระนางโรหิณี : จะทำอะไร ? เจ้าข้า
พระเถระ : จงให้สร้างโรงฉัน
พระนางโรหิณี : หม่อมฉันจะเอาอะไรทำ ?
พระเถระ : ก็เครื่องประดับของเธอไม่มีหรือ ?
พระนางโรหิณี : มีอยู่ เจ้าข้า
พระเถระ : ราคาเท่าไร ?
พระนางโรหิณี : จักมีราคาหมื่นหนึ่ง
พระเถระ : ถ้ากระนั้น จงขายเครื่องประดับนั้นแล้วให้สร้างโรงฉันเถิด
พระนางโรหิณี : ใครเล่า ? จักให้ทำแก่หม่อมฉัน เจ้าข้า
พระเถระแลดูพระญาติซึ่งยืนอยู่ที่ใกล้แล้ว กล่าวว่า "ขอจงเป็นภาระของพวกท่านทั้งหลาย"
พวกพระญาติ : ก็พระคุณเจ้าจักทำอะไรหรือ? เจ้าข้า
พระเถระ : แม้อาตมภาพก็จักอยู่ในที่นี้เหมือนกัน ถ้ากระนั้น พวกท่านจงนำทัพพสัมภาระมาเพื่อโรงฉันนี่
พวกพระญาตินั้นรับว่า "ดีละ เจ้าข้า" จึงนำมาแล้ว
พระเถระ เมื่อจะจัดโรงฉัน จึงกล่าวกะพระนางโรหิณีว่า
"เธอจงให้ทำโรงฉันเป็น ๒ ชั้น จำเดิมแต่กาลที่ให้เรียบพื้นเบื้องบน แล้วจงกวาดข้างล่าง ให้ปูอาสนะไว้เสมอๆ จงให้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เสมอๆ" พระนางรับคำว่า "ดีละ เจ้าข้า" แล้ว จำหน่ายเครื่องประดับ ให้ทำโรงฉัน ๒ ชั้น เริ่มแต่กาลที่ให้เรียบพื้นชั้นบนแล้วได้ทรงทำกิจมีการกวาดพื้นล่างเป็นต้นเนืองๆ พวกภิกษุก็นั่งเสมอๆ
ลำดับนั้น เมื่อพระนางกวาดโรงฉันอยู่นั่นแล โรคผิวหนังก็ราบไปแล้ว เมื่อโรงฉันเสร็จ พระนางนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ได้ถวายขาทนียะและโภชนียะเป็นประณีตแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขซึ่งนั่งเต็มโรงฉัน
พระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสถามว่า "นี่เป็นทานของใคร ?"
พระอนุรุทธ : ของโรหิณีพระน้องนางของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระศาสดา : ก็นางไปไหน?
พระอนุรุทธ : อยู่ในตำหนัก พระเจ้าข้า
พระศาสดา : พวกท่านจงเรียกนางมา
พระนางไม่ประสงค์จะเสด็จมา ทีนั้น พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระนางแม้ไม่ปรารถนา (จะมา ) มาจนได้ ก็แลพระศาสดาตรัสกะพระนางผู้เสด็จมาถวายบังคมประทับนั่งแล้ว ว่า "โรหิณี เหตุไร เธอจึงไม่มา?"
พระนางโรหิณี : โรคผิวหนังมีที่สรีระของหม่อมฉัน พระเจ้าข้า หม่อมฉันละอายด้วยโรคนั้นจึงมิได้มา
พระศาสดา : ก็เธอรู้ไหมว่า 'โรคนั้นอาศัยกรรมอะไรของเธอจึงเกิดขึ้น?'
พระนางโรหิณี : หม่อมฉันไม่ทราบ พระเจ้าข้า
พระศาสดา : โรคนั้นอาศัยความโกรธของเธอ จึงเกิดขึ้นแล้ว
พระนางโรหิณี : ก็หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้? พระเจ้าข้า
บุรพกรรมของพระนางโรหิณี
ลำดับนั้น พระศาสดา ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสแก่พระนาง ) ว่า :-
ในอดีตกาล พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีผูกอาฆาตในหญิงนักฟ้อนของพระราชาองค์หนึ่ง ทรงดำริว่า "เราจักให้ทุกข์เกิดแก่หญิงนั้น" แล้วให้เขานำลูกเต่าร้างใหญ่มา รับสั่งให้เรียกหญิงนักฟ้อนนั้นมายังสำนักของตนแล้ว ให้ใส่ผงเต่าร้างบนที่นอนที่ผ้าห่ม และที่ระหว่างเครื่องใช่มีผ้าปูที่นอนเป็นต้นของหญิงนักฟ้อนนั้น โดยประการที่นางไม่ทันรู้ตัว โปรยลงแม้ที่ตัวของนาง ราวกะทำความเย้ยหยันเล่น ทันใดนั้นเองสรีระของหญิงนั้น ได้พุพองขึ้นเป็นตุ่มน้อยตุ่มใหญ่ นางเกาอยู่ ไปนอนบนที่นอน เมื่อนางถูกผงเต่าร้างกัดแม้บนที่นอนนั้น เวทนากล้ายิ่งนักเกิดขึ้นแล้ว พระอัครมเหสีในกาลนั้นได้เป็นพระนางโรหิณี
พระศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ตรัสว่า "โรหิณีก็กรรมนั่นที่เธอทำแล้วในกาลนั้น ก็ความโกรธก็ดี ความริษยาก็ดี แม้มีประมาณเล็กน้อย ย่อมไม่ควรทำเลย" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
โกธํ จเช วิปฺปชเหยฺย มานํ
สํโยชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตํ นามรูปสฺมิมสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ นานุตปนฺติ ทุกฺขา ฯ
บุคคลพึงละความโกรธ สละความถือตัว,
ล่วงสังโยชน์ทั้งสิ้นได้ ทุกข์ทั้งหลาย
ย่อมไม่ตกต้องบุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องในนามรูป
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล.
ในการจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
แม้พระนางโรหิณี ก็ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล สรีระของพระนางได้มีวรรณะดุจทองคำในขณะนั้นเอง พระนางจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในระหว่างเขตแดนของเทพบุตร ๔ องค์ ในภพดาวดึงส์ ได้เป็นผู้น่าเลื่อมใส ถึงความเป็นผู้มีรูปงามเลิศ เทพบุตรทั้ง ๔ องค์เห็นนางแล้ว เป็นผู้เกิดความสิเน่หา วิวาทกันว่า "นางเกิดภายในแดนของเรา นางเกิดภายในแดนของเรา" ไปสู่สำนักของท้าวสักกเทวราช กราบทูลว่า "ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ทั้ง ๔ เกิดคดีขึ้น เพราะอาศัยเทพธิดานี้, ขอพระองค์ทรงวินิจฉัยคดีนั้น" แม้ท้าวสักกะ แต่พอได้ทรงเห็นพระนางก็เป็นผู้เกิดสิเน่หาตรัสอย่างนี้ว่า "จำเดิมแต่กาลที่พวกท่านเห็นเทพธิดานี้แล้ว จิตเกิดขึ้นอย่างไร ? "
ลำดับนั้น เทพบุตรองค์หนึ่งกราบทูลว่า "จิตของข้าพระองค์เกิดขึ้นดุจกลองในคราวสงครามก่อน ไม่อาจจะสงบลงได้เลย"
องค์ที่ ๒ กราบทูลว่า “จิตของข้าพระองค์เกิดขึ้นเหมือนแม่น้ำตกจากภูเขา ย่อมเป็นไปเร็วพลันทีเดียว”
องค์ที่ ๓ กราบทูลว่า “จำเดิมแต่กาลที่ข้าพระองค์เห็นนางนี้แล้ว ตาทั้ง ๒ ถลนออกแล้ว ดุจตาของปู”
องค์ที่ ๔ กราบทูลว่า “จิตของข้าพระองค์ ประดุจธงที่เขายกขึ้นบนเจดีย์ไม่สามารถจะดำรงนิ่งอยู่ได้”
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชตรัสกะเทพบุตรทั้ง ๔ นั้นว่า "พ่อทั้งหลายจิตของพวกท่านยังพอข่มได้ก่อน ส่วนเรา เมื่อได้เทพธิดานี้จึงจักเป็นอยู่ เมื่อเราไม่ได้จักต้องตาย"
พวกเทพบุตรจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระองค์ไม่มีความต้องการด้วยความตายของพระองค์" แล้วต่างสละเทพธิดานั้นถวายท้าวสักกะแล้วหลีกไป
เทพธิดานั้นได้เป็นที่รักที่พอพระหฤทัยของท้าวสักกะเทวราชมาก เมื่อนางกราบทูลว่า "หม่อมฉันจะไปสู่สนามเล่นชื่อโน้น" ท้าวสักกะก็ไม่สามารถจะทรงขัดคำของนางได้เลย ดังนี้แล.
ตามเรื่องขัตติยนารีเจ้าหญิงโรหิณีนี้แสดงให้เราเห็นว่า
“การทำความสะอาดปัดกวาดโรงฉันของพระภิกษุสงฆ์ก็ได้บุญ เกิดเป็นบุญกุศลขึ้นได้จริงๆ ถึงกับทำให้โรคผิวหนัง (น่าจะเป็นกลากเกลื้อน) ของเจ้าหญิงโรหิณีสงบราบเรียบลงไปได้”
แต่เรื่องทำนองนี้ก็คิดหาเหตุผลไม่ค่อยได้ จะต้องอาศัยความเชื่ออย่างเดียว คือถ้าเชื่อว่าการทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูโรงฉัน โรงทานก็ดี พระอุโบสถเขตพุทธาวาสก็ดี ศาลาการเปรียญเขตสังฆาวาสก็ดี หรือแม้แต่หอระฆัง พระบรมธาตุเจดีย์ของวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารนี้ก็ดี จะได้บุญ เกิดเป็นบุญกุศลขึ้นได้จริงๆ ก็จะทำให้พระเณรหรืออารามบอยเด็กวัดทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูได้ และจะเป็นการทำเอาบุญอย่างบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินทองใดๆ
สถานที่ใดก็ตาม เราจะทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูแล้วได้บุญกุศล ให้พิจารณาดังนี้ :-
ถ้าสถานที่นั้นสร้างจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เช่น หอระฆัง พระบรมธาตุเจดีย์ของวัดชนะสงครามนี่แหละ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ. ๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ได้อาศัยปัจจัยจากการจัดงานเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดกที่ญาติโยมชาวพุทธมาฟังธรรม ร่วมบริจาคบูชากัณฑ์เทศน์มากบ้างน้อยบ้าง และเจ้าคณะแต่ละเจ้าคณะก็ร่วมกับพระในคณะรับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ เช่น เจ้าคณะ ๙ พระพิศาลวรกิจจาภรณ์ เริ่มมาตั้งแต่เป็นพระครู รับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์มหาชาติ กัณฑ์ที่ ๙ กัณฑ์มัทรี รวบรวมมาสร้างหอระฆัง พระบรมธาตุเจดีย์ ล่วงไปหลายปีมากกว่าจะสำเร็จ เพราะเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่นิยมบอกบุญเรี่ยไรหาเจ้าภาพ ได้ปัจจัยมาเท่าไหร่ก็เท่านั้นสร้างไปเรื่อยๆ
และที่สำคัญสถานที่นั้นใช้ประโยชน์ทางด้านบุญกุศล หอระฆัง พระบรมธาตุเจดีย์นี้เอง มีพระเจ้าหน้าที่มาตีระฆังส่งสัญญาณเสียงดังไปทั่ววัด เพื่อให้พระเณรทราบเวลาลงมาทำวัตรกันทั้งเช้าและเย็น ทำกิจที่เป็นบุญกุศลร่วมกัน เรียกว่าเร่ิมมาจาก “บุญนิยม” ตั้งแต่แรก สร้างมาจากแรงศรัทธาของญาติโยมพระเณรที่ทำบุญถวายปัจจัยมา ถ้าเราข้าพเจ้านี่เองไปทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูก็จะได้บุญ
แต่ถ้าสถานที่ใดเริ่มมาจากทุนนิยม โดยนักลงทุนสร้างสถานที่นั้นขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจหากำไรเงินทอง เช่น โรงแรม เป็นต้น เราไปทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูก็จะไม่ได้บุญอะไรเลย น่าจะได้เพียงเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักรักษาความสะอาดให้แก่สถานที่ของเขาแค่นั้น
เมื่อพูดถึงเรื่องบุญกุศลคุณงามความดี เราคิดจะทำก็ทำเสียเถิด อย่าอาศัยทิฐิมานะ อย่างเช่นข้าพเจ้านี่แหละ ถือว่าเป็นพระอายุพรรษามากแล้ว และเป็นถึงพระวิปัสสนาจารย์สอนกรรมฐาน มีศิษย์กรรมฐานอยู่มากมาย ปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าก็อยู่ในฐานะ “ปาจารย์” อาจารย์ปู่ของอาจารย์สอนบาลีรุ่นหลังๆ ในวัดชนะสงครามนี้ที่ยังสอนบาลีอยู่ เช่น พระศรีวชิรเมธี พระศรีภัททิยบดี หรือแม้แต่อดีตเจ้าคณะภาค ๑ พระเทพสุธี ข้าพเจ้าก็เคยสอนบาลีประโยค ป.ธ. ๘ วิชาฉันท์มาให้แล้ว
“ฉันเป็นพระเถระแล้ว มาทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูหอระฆังนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่ให้พระหนุ่มเณรน้อยทำล่ะ ถือว่าเสียศักดิ์ศรีมากนะ ถ้าตนเป็นพระเถระแต่มาทำเสียเองเนี่ย”
ตัวข้าพเจ้าเองไม่เคยคิดทำนองนี้เลย คิดแต่ว่าถ้าอะไรเป็นประโยชน์ไม่เกิดโทษ ทำได้เราก็ทำ (ข้าพเจ้าก็ไม่มีศักดิ์ศรีอะไรกับพระเขาอยู่แล้ว ท่านปัญญาพระราชาคณะชั้นเทพรูปนั้นก็ยังประกาศประจานข้าพเจ้าในท่ามกลางสงฆ์ต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถได้เลย) ดูตัวอย่างเจ้าหญิงโรหิณีสิ พระนางเป็นถึงเจ้าฟ้าขัตติยราชกัญญา แต่กลับต้องมาปัดกวาดเช็ดถูโรงฉันเสียเองได้อย่างไร เพราะเหตุไรพระนางจึงทำได้ ก็เพราะพระนางปรารถนาบุญกุศลนั่นเอง
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกว่า “ถ้าคิดจะทำบุญก็ทำเสียเถิด อย่าห่วงหน้าตาชื่อเสียงอะไรเลย บุญมันไม่เกี่ยวกับหน้าตาชื่อเสียง เกี่ยวกับการกระทำความเพียรของคนเรานี้ต่างหาก”
เช้าวันนี้หลังจากทำวัตรเสร็จ ข้าพเจ้าก็เดินจงกรมแบบประทักษิณเวียนรอบพระประธานเหมือนเดิม รอบที่ ๒ รอบสุดท้ายก่อนออกมาจากพระอุโบสถ ข้าพเจ้าสวดอิติปิโส รัตนสูตร ได้ ๓ จบ เมื่อขึ้นมาบนพระบรมธาตุเจดีย์ หอระฆังแล้ว ข้าพเจ้าก็เปลื้องจีวรออกหมด เหลือเพียงผ้าสบงตัวเดียว เปลือยกายท่อนบนนั่งกรรมฐานผินแผ่นหลังเข้าหาแดดส่องจ้าในช่วงเวลาใกล้ ๐๙.๐๐ น. โอ้โห ได้อารมณ์กรรมฐานดีจัง แผ่นหลังเนี่ยร้อนจี๋เลย (กลับมาที่กุฏิเอียงตัวดูแผ่นหลังที่บานกระจกรู้สึกจะดำคล้ำไปสักหน่อย) แต่เชื่อหรือไม่ว่า แผ่นหลังร้อน แต่บริเวณใบหน้าและศรีษะกลับรู้สึกเย็น สีติภาวะความเย็นเป็นอารมณ์กรรมฐานที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยนั่นเองมาทำหน้าที่ช่วยข้าพเจ้ายามอยู่ในท่ามกลางแสงแดดแผดร้อน ข้าพเจ้าเกิดความปริวิตกแห่งใจในขณะนั้นว่า
“นี่แหละที่ท่านเรียกว่า ‘เย็นท่ามกลางร้อน สุขท่ามกลางทุกข์ สงบท่ามกลางความวุ่นวาย’ เราทำได้แล้วใช่ไหมเนี่ย”
วันนี้ข้าพเจ้าเสียเวลากับการถ่ายภาพมากไปสักหน่อย เมื่อกลับมาถึงกุฏิแล้ว ปกติจะนั่งกรรมฐานทันที แต่วันนี้ไม่นั่ง คิดว่า “สวดพระปริตรธรรมเอาก็แล้วกัน” ข้าพเจ้าจึงลงนั่งสวดพระปริตรธรรม กลายเป็นว่าสวดพระปริตรธรรมวันนี้ดีมากๆ ได้สมาธิจิตดี สักครู่เดียวความเย็นสีติภาวะก็มาเยือน จบจากการสวดพระปริตรธรรมแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้นั่งกรรมฐานต่อ ได้เกือบ ๑๐ นาที แต่ก็ดีมากเหมือนกัน
เช้าวันนี้พลอยทำให้ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่า
“ขึ้นว่าบุญกุศลไม่ว่าจะเป็นทางใด แม้แต่ทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูหอระฆัง พระบรมธาตุเจดีย์นี่แหละ ทำได้ก็ทำเสียเถิด เก็บสั่งสมกันไป พอบุญกุศลมีปริมาณมากขึ้นก็จะส่งผลเกิดอานิสงส์ให้เราได้รับ สัมผัสได้เองว่า ‘นี่แหละบุญจริงๆ บุญเกิดเป็นผลอานิสงส์ให้เราได้จริงๆ’”.
โฆษณา