พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์
5 พฤษภาคม เวลา 17:46 น. ·
สิ่งควรทำกลับไม่ทำ สิ่งไม่ควรทำกลับทำ
มันจะไม่เกิดข้อครหาติฉินนินทาได้อย่างไร
กรณีที่เกิดปัญหาเป็นข่าวแก่พระสงฆ์ไทย มิใช่เพราะไม่ทำธุระหน้าที่ของความเป็นพระ คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ หากแต่เพราะไม่รู้จักธุระหน้าที่ของความเป็นพระทั้ง ๒ นั้นเสียมากกว่า นอกจากจะไม่รู้จักธุระหน้าที่ของความเป็นพระเรียกสั้นๆ ว่า “กิจของสงฆ์” ยังลืมไปเสียจนเกือบจะหมดสิ้น เพราะอะไร เพราะมัวไปยุ่งสาละวนวุ่นวายอยู่กับเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เรื่องทางโลกทั้งนั้น ซึ่งมิใช่กิจของสงฆ์เลย
พระที่ชอบพูดให้คนอื่นสรวลเสเฮฮาหัวเราะขบขัน วันๆ ก็คงคิดหาแต่เรื่องแก๊กเรื่องมุก ไม่ต่างจากตลกคาเฟ่สักเท่าไหร่หรอก คิดวนเวียนวกไปวนมา สุดท้ายก็กลายร่างมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ไลฟ์สดรีวิวโฆษณาขายสินค้าให้แก่ชาวบ้าน กลายไปเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้แก่สโมสรเล่นกีฬาฟุตบอลแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนโดยเฉพาะไปได้อย่างไร ขณะที่ยังห่มผ้ากาสาวพัสตร์ธงชัยของพระอรหันต์อยู่แท้ๆ มันประหลาดที่สุดเลย
ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า “มิใช่เพราะไม่ทำธุระหน้าที่ของความเป็นพระ หากแต่เพราะไม่รู้จักธุระหน้าที่ของความเป็นพระ” อาจจะฟังดูเจ็บๆ ชนิดเจ็บปวดรวดร้าวใจเลย แต่มันก็เป็นความจริง และจริงอย่างถึงที่สุด เหมือนคำพูดหลายประโยคที่ท่านกล่าวสะท้อนความจริงในความเป็นพระนี้เอาไว้ว่า
“บวชใหม่ๆ อยากไปนิพพาน บวชนานๆ ไม่รู้นิพพานอยู่ไหน บวชไปๆ ไม่รู้อะไรเป็นนิพพาน”
ไม่รู้จักธุระหน้าที่ของความเป็นพระ ข้อแรกคือ คันถธุระ “คันถะ” หรือ “โปฐิละ” แปลว่า “คัมภีร์” หรือ “ตำรา” “ธุระ” แปลว่า “หน้าที่” รวมแปลว่า “ธุระหน้าที่ทางคัมภีร์ตำรา” นี้คือการแปลตามตัวเอาพยัญชนะ แปลโดยอรรถเอาความหมายก็คือ “สิกขาการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ‘พุทธปริยัติ’ เรียกว่า ‘นวังคสัตถุศาสน์ ๙ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทานะ อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภุตะ เวทัลละ’ (กรุณาดูความหมายรายละเอียดในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา รวมทั้งหมดเป็นพุทธวจนะ กำหนดจดจำนำมาถ่ายทอดบอกสอนแสดงแก่ประชาชน ให้ถูกต้องโดยอรรถพยัญชนะตามพระธรรมวินัย ไม่บิดเบือนคลาดเคลื่อนวิปริตผิดเพี้ยนออกไปเป็นอื่นเลย
ถามว่า “รู้ไหม จะไล่ให้จบได้ทั้ง ๙ องค์นี้ไหม” พระท่านตอบกันเอาเอง
ไม่รู้จักธุระหน้าที่ของความเป็นพระ ข้อที่ ๒ คือ “วิปัสสนาธุระ” ไม่รู้จักคำว่า “เดินจงกรม” ไม่รู้ว่าในพระพุทธศาสนานี้มีการปฏิบัติธรรมเดินจงกรมอยู่ ไม่รู้วิธีการเดินจงกรมว่าจะเดินอย่างไรได้ถูกต้องได้สติสมาธิดี ไม่รู้จักคำว่า “นั่งสมาธิ” “นั่งกรรมฐาน” “สติปัฏฐานภาวนา” ไม่รู้ว่าในพระพุทธศาสนานี้มีการปฏิบัติธรรมทำความเพียร นั่งสมาธิ นั่งกรรมฐรน สติปัฏฐานภาวนา ไม่รู้วิธีการนั่งกรรมฐาน คู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติไว้มั่นว่าเป็นอย่างไร
ความจริงจะบอกว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ ท่านบวชเป็นพระมาหลายพรรษา ผ่านการเรียนนักธรรมบาลีจบถึงประโยค ป.ธ. ๗ จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชื่อดังอีกด้วย
ทราบว่าพระพูดตลกชื่อดังรูปนี้เคยมาเรียนบาลีประโยค ป.ธ. ๘ วิชาฉันท์ ที่วัดชนะสงคราม สมัยข้าพเจ้าสอนวิชาฉันท์ปีที่ ๓ ชั้นล่างกุฏิคณะ ๒
ในฐานะอดีตอาจารย์สอนบาลีประโยค ป.ธ. ๘ วิชาฉันท์ ผมก็ให้ความเมตตาท่านมหาอยู่นะ (มองด้วยความเมตตาเอ็นดูอยู่) มิได้มากล่าวโทษให้เกิดความเสียหายอะไรดอก น่าจะเป็นการมาชี้โทษบอกประโยชน์เสียมากกว่า ตามพุทธคาถานี้
นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย ฯ
บุคคลพึงเห็นผู้ใด ผู้แสดงโทษ กล่าวข่มขี่
มีปัญญาว่าเป็นเหมือนบุคคลผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้
พึงคบหาบุคคลเช่นนั้น ผู้เป็นบัณฑิต เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น
มีแต่คุณอันประเสริฐ ไม่มีโทษลามกอะไรเลย.
ท่านมหาคงจำพุทธคาถาเหล่านี้ได้และยังคงแปลได้อยู่ใช่ไหม จำได้แปลได้ก็ถือว่าดี แต่ที่ดีไปมากกว่านั้นคือ “ซาบซึ้ง” ได้อยู่ไหม
พระภิกษุสามเณรเรียนบาลีเริ่มต้นตั้งแต่ประโยค ๑-๒ ไม่ต้องสอบผ่านประโยค ป.ธ. ๓ สำเร็จเป็นสามเณรเปรียญธรรมตรี มหาเปรียญธรรมตรีก็รู้แล้วว่า ในพระพุทธศาสนานี้มีธุระอยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ ๑. คันถธุระ ๒. วิปัสสนาธุระ
ธุระ ๒ อย่างนี้ ปรากฏอยู่ในเรื่องพระจักขุบาล ธัมมปทัฏฐกถา เล่ม ๑ เป็นเล่มที่พระภิกษุสามเณรเริ่มเรียนการเดินประโยคแปลบาลีมาคธีภาษาของชาวมคธออกมาเป็นคำความทางภาษาไทย
รู้อย่างแน่นอน รู้แล้วแต่ลืมหมดแล้ว คืนกลับไปให้แก่บาลีสนามหลวงจนหมดสิ้น วันๆ ระลึกไม่ได้เลยว่า มีธุระ ๒ อย่างอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งเป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ สงฆ์ควรทำ ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง
อย่าเพิ่งแถไปเรื่องอื่น กล่าวแก้ตอบปัญหาให้มันตรงประเด็น
ความน่าประหลาดใจของข้าพเจ้าข้อที่ ๒ คือ เวลาเกิดกรณีปัญหาอะไรขึ้นมา พระที่จะมาช่วยกล่าวแก้ชี้แจงแสดงอะไร ก็ควรกล่าวแก้ชี้แจงแสดงให้มันตรงประเด็นเสียก่อน อย่าเพิ่งแถไปเรื่องอื่น พระเถระผู้ใหญ่ยังทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้เลย ไปยืนปรากฏตัวเรียงแถวหน้ากระดานนับรวมกับทีมนักกีฬาเล่นฟุตบอลชาวต่างชาติได้ ๑๒ รูป/คน อยู่ในสนามฟุตบอลในต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ พระในวัดใหญ่ๆ ก็ประจบเอาอกเอาใจคุณหญิงคุณนายที่มาทำบุญในวัดของตน ทำไมไม่ไปจับผิดพระเถระผู้ใหญ่ พระในวัดใหญ่ๆ เหล่านั้นบ้างล่ะ
นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ตัวบุคคล เรียกว่า “บุคคลัญญุตา” บุคคลนั้นพระเถระผู้ใหญ่รูปนั้น บุคคลนี้พระผู้น้อยรูปนี้ อยู่ในสถานะอะไร มีข้อแตกต่างกันทางอำนาจหน้าที่อย่างไร พูดง่ายๆ ว่า “ตัวเราพระผู้น้อยอยู่ในที่ตรงนี้ สถานะแบบนี้ก็เอาตัวให้มันรอดก่อนเถอะ” อย่าลามไปว่าตำหนิติเตียนพระเถระผู้ใหญ่เหล่านั้นเลย และมันก็ไม่ใช่อำนาจหน้าที่กงการอะไรของท่านที่จะตำหนิติเตียนปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ รู้จักคำว่า “อัตตัญญุตา” หรือ “มัตตัญญุตา” ไหม รู้จักตนรู้จักประมาณตนนั่นน่ะ เราพระผู้น้อยใช่ว่าจะเล่นได้ทุกเรื่อง เที่ยวแกว่งเท้าไปหาเสี้ยนทำไมก็ไม่รู้
เอาละ มาพูดกันให้ตรงๆ ตรงประเด็น อย่าเลี่ยงลามไปประเด็นอื่น เรื่องอื่นๆ ถามตัวเองตรงๆ มองตัวเองให้ออกบอกตัวเองให้ถูก ท่านมหาที่ชอบพูดตลกให้คนเขาสรวลเสเฮฮาหัวเราะขบขันนั่นแหละ ตนไปรับเป็นพรีเซ็นเตอร์ไลฟ์สดรีวิวโฆษณาขายสินค้า (ไม่ต้องแก้ตัวว่าไม่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนเป็นเงินเป็นทองอะไรเลย) มันถูกต้องไหม ตนไปรับเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้แก่สโมสรกีฬาเล่นฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันในทางโลกโดยเฉพาะ มิใช่ “ฌานกีฬา” เลย (คำว่า “ฌานกีฬา” นี้ก็สูงมากจนเกินไป ไกลเกินเอื้อมของคนที่อยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ควรนำมาใช้เปรียบในที่นี้ แต่ขอถามว่า ท่านมหายังรู้ระลึกได้ไหม จำได้ไหมว่ามีคำนี้อยู่ในพระพุทธศาสนา) ถูกต้องไหม ถูกต้องในสถานะของความเป็นพระผู้อยู่ในอุดมเพศเป็นบรรพชิตประพฤติพรหมจรรย์นี้ไหม
และเรื่องการบ้านการเมืองการบริหารประเทศของรัฐบาล ท่านมหาทั้งสองรูปนั่นแหละ (รูปแรกรุ่นลูกศิษย์ รูปสองรุ่นลูกรุ่นหลาน) อยู่ในสถานะที่จะพูดวิพากษ์วิจารณ์หรือให้คำแนะนำคำสอนได้ไหม ในที่นี้หมายความว่า คำพูดคำวิจารณ์หรือคำแนะนำคำสอนของท่านมหาทั้งสองจะมีอิทธิพลต่อความเชื่อของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติตามบริหารประเทศให้เป็นอย่างนั้นตามความต้องการของท่านมหาทั้งสองได้ไหม คำพูดคำวิจารณ์หรือคำแนะนำคำสอนนั้นๆ จะส่งผลดีต่อท่านมหาทั้งสองไหม หรือจะส่งผลร้ายเป็น “โอษฐภัย” ไปเสียเปล่า ถ้าอำนาจรัฐจะเล่นงานท่านมหาทั้งสองจริงๆ ท่านมหาทั้งสองจะต่อกรสู้อำนาจรัฐนั้นได้ไหม
คำถามสุดท้ายเลย ท่านมหาทั้งสองยังระลึกถึงคำว่า “สมณสัญญา” ; ระลึกจำได้หมายรู้ว่าตนยังเป็นพระเป็นสมณบรรพชิตครองผ้ากาสาวพัสตร์อยู่” ได้ไหม และอีกคำหนึ่งสำคัญเช่นเดียวกัน คือคำว่า “สมณสารูป” : ประพฤติตนให้สมควรเหมาะสมกับความเป็นสมณะ ถ้าท่านมหาทั้งสองระลึกถึงคำว่า “สมณสัญญา” “สมณสารูป” ทั้งสองคำนี้ได้อย่างชัดเจน และทั้งสองคำนี้ก็ยังเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจของตนเอง ท่านมหาทั้งสองจะพิจารณาเห็นตามธรรมตามวินัยตัดสินได้ด้วยตนเองว่า “ที่ตนพูดที่ตนแสดงที่ตนทำอยู่นั้นควรหรือไม่ควร” ไม่ใช้คำว่า “ถูกหรือผิด” ใช้คำว่า “ควรหรือไม่ควร” นี่แหละ สุภาพดี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการกลับใจหันกลับไประลึกถึงธุระทั้ง ๒ คันถธุระและวิปัสสนาธุระที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ได้
เมื่อระลึกได้แล้ว รู้ได้แล้ว ก็จะหันกลับมาทำตามธุระหน้าที่ของความเป็นพระ คือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ และถ้าทำได้อย่างถูกต้องตรงตามธรรมตามวินัยจริงๆ ก็จะเกิดผลดีคือเกิดเป็นบุญกุศลอานิสงส์มหาศาลแก่ท่านมหาทั้งสองโดยถ่ายเดียว ท่านมหาทั้งสองจะได้รับการอนุโมทนายินดีจากสาธุชนชาวพุทธเป็นอย่างมาก ชนิดที่ว่าไม่มีข้อครหาติฉินนินทายกโทษเอาผิดโพนทะนาว่ากล่าวอะไรๆ เลย.