26 พ.ค. 2021 เวลา 11:12 • ท่องเที่ยว
🏚ดู ๆ ไปคล้ายสลัม แต่ราคาแพงกว่าคฤหาสน์หรู ๆ ซะอีก🏛
ตัวอย่างตรอกที่เรียกว่า หูท่ง
เครดิตภาพจาก Pexels
🌸วันนี้ไกด์ปิงขอเล่าเรื่องสถานที่ ๆ นึงในกรุงปักกิ่ง ซึ่งความจริงทั่วปักกิ่งมีสถานที่แบบนี้อยู่หลายจุด เดิมทีมีอยู่นับหมื่นแห่งทั่วกรุง แต่ภายหลังเมืองมีการพัฒนา ประชากรมีมากขึ้น ต้องการที่อยู่อาศัยที่จุคนได้มากขึันบนขนาดพื้นที่เท่ากัน สิ่งนี้เลยค่อย ๆ ถูกรื้อทำลายไป(ด้วยความเร็วมาตรฐานจีน) กลายเป็นอพาร์ทเมนท์ใหม่ ๆ สูง ๆ ขึ้นมาแทน จำนวนหูท่งก็เลยเหลือราวสองพันแห่ง แต่ก็ลดลงเรื่อย ๆ นอกจากบางแห่งที่ถูกอนุรักษ์ไว้
🌸ผมจะพูดถึง หูท่ง ที่อยู่อาศัยแบบโบราณในกรุงปักกิ่ง แต่ผมจะขออนุญาตไม่ลงลึกเกินไปถึงที่มาที่ไป เพราะเพื่อน ๆ จะหาข้อมูลได้ตามบล็อก หรือเวปไซต์ต่าง ๆ ซึ่งก็ให้ข้อมูลมากมาย หูท่งบางแห่งมีอายุนับเจ็ดแปดร้อยปี แต่หลาย ๆ จุดของหูท่ง กำลังจะกลายเป็นตำนาน
บ้านในหูท่ง ก็จะเป็นลักษณะมีตรอกแคบ ๆ บางสายก็กว้างพอที่รถจะสวนกันแบบเฉี่ยว ๆ กระจกมองข้าง บางสายแม้แต่คนเดินสวนกันยังต้องตะแคงเดิน ยังคุยเล่น ๆ กับเพื่อนผมว่าในซอยแคบนี้ถ้าหญิงชายเดินสวนแบบหันหน้าเข้าหากัน คงมีการปฏิสนธิระหว่างทางเลยมั้ง(ทะลึ่งละ)
2
พาลูกค้าไปเดินเตร็ดเตร่
🌸แล้วตัวบ้านก็จะเป็นลักษณะที่เรียกว่า "คอร์ตยาร์ด" คือมีกำแพงเทา ๆ ทึม ๆ ล้อมรอบ มีประตูเข้าจะใหญ่จะเล็ก แล้วแต่ฐานะ ด้านในก็เป็นอาคารสี่ด้าน ล้อมรอบลานกลางบ้าน ที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
เครดิตภาพจาก Pexels
🏚ผมจำภาพครั้งแรกที่ไปเยือนปักกิ่งในเวลาอันสั้น ๆ เมื่อราวปี 2538 ณ เวลานั้น ปักกิ่งในความคิดผม ยังเหมือนเป็นแดนสนธยา ดูมึน ๆ ทึม ๆ ด้วยสโลแกน เป็นประเทศหลังม่านไม้ไผ่ ที่เรารู้เรื่องเกี่ยวกับเมืองจีนไม่มาก นักท่องเที่ยวก็ยังไม่เยอะ โดยเฉพาะจตุรัสเทียนอันเหมิน พระราชวังต้องห้าม หอฟ้าเทียนถาน ณ เวลานั้น หานักท่องเที่ยวชาวจีนเองได้ยากเต็มที หรืออาจจะไม่มีด้วยซ้ำ จะพอมีนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้างประปราย
🏚อีกภาพนึงที่เคยปรากฎในหัวผมคือ สภาพท้องฟ้าอากาศ มันดูทึม ๆ เทา ๆ เขม่าควันลอยเต็มท้องฟ้าจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาถ่านหิน บ้านคนมีแต่บ้านเตี้ย ๆ กำแพงสีเทา ๆ หลังคาใช้กระเบื้องแผ่นเล็ก ๆ บางทีก็วัสดุอื่น ๆ และยังมีก้อนอิฐก้อนโต ๆ วางทับ เพื่อป้องกันหลังคาปลิว ยามที่ลมพัดมาแรง ๆ
🏜แต่เมื่อผมได้มีโอกาสเริ่มกลับไปทำงานที่ปักกิ่งอีกที ในปี 2556 หลังจากที่จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2008 (พ.ศ.2551) ที่พลิกบทบาทจีนที่ดูเหมือนล้าหลัง ดูเถื่อน ๆ ประสาประเทศสังคมนิยม กลายเป็นความแสดงความยิ่งใหญ่อลังการให้ทั้งโลกได้เห็น ภาพจำเก่า ๆ ในหัวผม มันอันตรธานหายไปตั้งแต่ก้าวแรกที่ผมเหยียบกรุงปักกิ่งเลย ตึกระฟ้าแข่งกันผุดเหนือพื้นดินราวดอกเห็ด ,อาคารรูปร่างแปลก ๆ, ทางด่วน, ระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยโผล่ขึ้นมาจนผมตะลึงไปชั่วขณะใหญ่ ๆ
1
🏚แต่บ้านเก่า ๆ ในหูท่ง ที่ก่อนหน้านั้นเคยแต่นั่งรถผ่าน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในความสนใจของลูกทัวร์ หรือบริษัททัวร์คนไทยเท่าไรนัก กลับกลายเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ควรพลาดในสมัยนี้ เพราะบางส่วนถูกทำลายลงไป แต่บางส่วนได้รับการอนุรักษ์ไว้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังมีประชาชนส่วนหนึ่งยังต้องการอยู่อาศัยใน หูท่งนี้ เพราะทุกหูท่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน จะกี่ร้อยปี ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละที่ต่าง ๆ กันไป
😎ซึ่งนักท่องเที่ยวบางส่วน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้งจีนและต่างชาติ เมื่อมาเยือนปักกิ่งก็อยากมีประสบการณ์ช่วงหนึ่งได้ไปพักอยู่ในบ้านในหูท่ง ที่บางหลังก็ทำเป็นลักษณะโฮมสเตย์ บางที่ก็ทำเป็นโฮสเทล บางที่ก็ทำเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก
เครดิตภาพจาก Pexels
🏢แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเป็นที่อยู่อาศัยจริง ๆ และบางครอบครัวสามารถรองรับนักท่องเที่ยวในกิจกรรมแตกต่างกันไป ของผมซึ่งเราเดินทางกันเป็นคณะ ก็ไม่สะดวกที่จะไปพักแรมในที่แบบนั้น แต่เราก็มีกิจกรรมพาลูกทัวร์เข้าไปใช้บริการอาหาร มื้อกลางวันบ้าง มื้อเย็นบ้าง แล้วแต่โปรแกรมทัวร์ในบ้านกับครอบครัวท้องถิ่นจริง ๆ
ลูกทัวร์บางครั้งอาจจะสิบกว่าคน บางทีก็เกือบสามสิบคน ไปแออัดแต่อบอุ่นอยู่ในห้องรับแขกเล็ก ๆ ของครอบครัว บางบ้านก็มีกิจกรรมง่าย ๆ ให้ลูกทัวร์ได้เรียนรู้เช่น การห่อเกี๊ยว(ของเรามันอาจจะไม่ยากนัก แต่สำหรับคนตะวันตก การจะจับแป้งมาห่อ จับขอบเป็นจีบ ๆ มันเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาก็ไม่ปาน) แต่ทุกอย่างสร้างการเรียนรู้ปนกับเสียงขบขัน ในผลงานศิลเปรอะที่แต่ละคนจะรังสรรค์ปั้นแต่ง
1
ประกวดห่อเกี๊ยว
🍲อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความอะเมซซิ่งให้ลูกทัวร์ชาวดัทช์ของผม ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่สูงที่สุดในโลก แต่ต้องมีทึ่งกับพ่อบ้านหรือแม่บ้านในครอบครัว ที่สามารถทำอาหารสด ๆ ใหม่ ๆ เมนูโฮมเมด มานับสิบชนิด มาเสริฟบนโต๊ะเพื่อเลี้ยงคนนับสิบ ๆ คน จากห้องครัวที่คับแคบ พอยืนได้คนเดียว แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ไม่เป็นปัญหาสำหรับเชฟของเรา ทุกอย่างมาเสิรฟร้อน ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้อิ่มอร่อยกัน
อาหารบ้าน ๆ แต่ไม่กันดารความอร่อย
😎จากนั้นก็มีการสนทนา ผ่านล่ามไกด์คนจีน ที่พูดภาษาอังกฤษของผมถึงชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของชาวต่างชาติ ต่างคนต่างป้อนคำถามมากมายต่าง ๆ กัน ผมก็จะได้รวบรวมมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังครับ
สำรวจตรวจตรา
🌸ถาม: บ้านเล็ก ๆ แบบนี้อยู่กันกี่ครอบครัว
🌸ตอบ: บางหลังเป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วอายุคน สำหรับครอบครัวคหบดี ขุนนาง ข้าราชการ ก็ทั้งหลังก็อยู่กันครอบครัวเดียวที่มีหลายรุ่น เหมือนบ้านเราสมัยก่อน
บางหลัง เดิมทีเป็นที่อยู่ของคหบดี แต่อาจจะไม่เป็นที่โปรดปราน โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ก็เลยถึงทางการยึด แล้วก็แจกจ่ายให้คนมาจากชนบทเพื่อเข้ามาเป็นชนชั้นแรงงานในเมืองหลวง ทางการก็จะจัดสรรบ้านในหูท่งจากที่เคยอาศัยเพียงครอบครัวเดียว ก็แชร์ให้หลายครอบครัวมาอยู่รวม ๆ กัน(อันนี้ถ้าเพื่อน ๆ มีโอกาสได้ไปชมจะรู้ได้โดยง่าย ว่าหลังกำแพงในซอกนี้อยู่อาศัยกันกี่ครอบครัวด้วยการนับมิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดอยู่หน้าประตูเข้าบ้าน
1
🌸ถาม: คนรุ่นใหม่เค้าคิดอย่างไรกับบ้านในหูท่ง เค้าอยากอยู่ต่อมั้ย หรือย้ายไปหาความสะดวกสบาย ทันสมัยกว่านี้
🌸ตอบ: ด้วยว่าบ้านในหูท่ง มีขนาดไม่ใหญ่โต บ้างก็ประมาณ 15-20 ตารางเมตร บางบ้านอาจจะมีฐานะหน่อย ก็ราว 50-60 ตารางเมตร คนก็เลยไม่มีพื้นที่ทำห้องน้ำส่วนตัวในบริเวณบ้าน ในหูท่งก็จะมีห้องน้ำสาธารณะกระจายอยู่ทั่วไป (ว่าด้วยห้องน้ำ ถ้าเป็นแบบเก่าอยู่ ผมก็ตะลึงไปหลายวิ แรก ๆ จนรู้สึกว่ายังไม่เข้าดีกว่า เพราะรู้สึกครึกครื้นเกินไป ไม่มีผนัง ไม่มีประตูกั้นเลย เปิดเผยขนาดนี้ ผมก็จั๊กกะจี้เหมือนกันนะ) แต่ตอนหลังก็มีหลาย ๆ จุด ที่เปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ขึ้น ก็สะดวกใจที่จะใช้บริการมากขึ้น อันนี้ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคน ที่พอมีกำลัง ก็จะไปหาซื้ออพาร์ทเมนท์ทันสมัยอยู่ แต่ต้องแลกกับชั่วโมงเดินทางอันมหาศาลต่อปีจากที่พัก เพื่อเข้ามาทำงานในเมือง
🌸ถาม: ถ้าเกิดว่าครอบครัวไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว อยากขาย ราคาจะได้ซักเท่าไหร่
🌸ตอบ: อันนี้พีคสุด มีอยู่ครอบครัวนึงที่เราใช้บริการประจำ ทำเลไม่ไกลถนนใหญ่ ใกล้ลานจอดรถสาธารณะ(ตรอกบางตรอกแคบมาก ไม่สามารถจอดรถ หรือขับรถยนต์ผ่านได้เลย) บ้านนี้ราคาจะอยู่ที่ราว สามแสนหยวน(ล้านกว่า ๆ ) หูยสบาย... บางท่านอาจจะคิดแบบนี้ แต่ช้าก่อน อันนี้ราคาต่อ ตารางเมตรจ้า ในเมืองจีนถ้าเราคุยถึงราคาที่พักอาศัย เค้าจะตอบราคาต่อตารางเมตรครับ ไม่ใช่ทั้งหลัง เพราะฉะนั้น ลองคำนวณเล่น ๆ บ้านหลังดี ๆ หลังนึงในหูท่ง ห้าสิบตารางเมตร สิริรวมมันจะกี่บาท
เทียบกับชานเมือง โดยคร่าว ๆ ใช้เวลาเดินทางระหว่างบ้านไปที่ทำงาน หนึ่งชั่วโมงขึ้นไป อันนี้ถือว่าใกล้มากละ ราคาจะอยู่ที่หกหมื่นถึงแสนหยวน ต่อตารางเมตร เห็นมั้ย บ้านในเมืองจีนไม่ถูกนะครับ ผมโชว์รูปบ้านผมซึ่งเป็นบ้านจัดสรรสองชั้นธรรมดาที่เชียงใหม่ให้เพื่อนคนจีนดู ตาโตกันทุกคน สำหรับเขา บ้านเดี่ยว เป็นอะไรที่อลังการมาก นอกจากอภิมหาเศรษฐี
1
🌸ถาม: ทุกวันนี้คนประเภทไหน ที่อาศัยอยู่ในหูท่ง
ตอบ: ประเภทแรกคือคนชั้นแรงงาน ที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่คราวปฏิวัติวัฒนธรรม สืบทอดต่อมารุ่นหลัง ซึ่งไม่มีกำลังทรัพย์จะไปหาซื้อบ้านที่ทีนสมัยอยู่ได้
ถัดมาคือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เห็นว่าอยู่ในหูท่ง ยังมีความสะดวกสบายในการไปทำงาน เพราะอยู่ใจกลางเมือง
อีกประเภทนึงคือเศรษฐีมีเงิน ที่เลือกจะอยู่ใจกลางเมือง แต่สงบ ดีกว่าไปสร้างคฤหาสน์ใหญ่โตอยู่นอกเมือง บางบ้านผมยังเห็นรถแพง ๆ ยี่ห้อดัง ๆ จอดอยู่หน้าบ้าน หรือที่จอดรถสาธารณะ
1
🌸มาถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจที่ผมจั่วหัวไว้ว่า ดู ๆ คล้ายสลัม แต่ราคาสูงกว่าคฤหาสน์ได้นะครับ
อีกประการนึง ในความเข้าใจของผม ที่เค้าเรียกราคาบ้านสูงมาก เพราะไม่อยากขายมากกว่า มันมีคุณค่าทางจิตใจ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ถึงแม้ไม่สะดวกสบายเหมือนที่เราเคยชินในเมืองไทย แต่สำหรับเขาสิ่งที่ได้รับสืบทอดต่อมานับร้อย ๆ ปี มันเป็นความภาคภูมิใจแบบหาใดเทียม
1
🌸เอาเป็นว่า ถ้าทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ละท่านมีโอกาสไปเยือนปักกิ่ง ก็ลองหาโอกาสไปเยือนหูท่งนะครับ เลือกเอาว่าจะไปหูท่งที่มีร้านค้า หรือหูท่งที่ยังคงชีวิตดั้งเดิมอยู่ ยังไงฝากกดติดตามผมด้วยนะครับ ถ้าคนติดตาม คนแชร์ คนสนใจมีเยอะ ก่อนที่จะได้ออกเดินทางอีกที คงยังจะมีเรื่องมาเล่าสไตล์ไกด์ปิงอีกเยอะพอสมควร ขอบคุณครับ🙏
ภาพปิดบทความนี้ ผู้เขียนกับเพื่อนร่วมงานชาวปักกิ่ง
โฆษณา