26 พ.ค. 2021 เวลา 12:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Series 2: Investment approach ลงทุนอย่างไร ให้ได้หุ้นหลายเด้ง?
EP1. Introduction
จากบทความซีรีย์เรื่อง Investment framework ที่ผ่านมา ผมได้อธิบายถึงปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่เราใช้ ตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งได้แก่
1. บริษัทมีความแข็งแกร่งของกิจการ (Strength)
2. บริษัทมีการเจริญเติบโต (Growth)
3. เราซื้อเมื่อ บริษัทมีราคาที่เหมาะสม (Price)
4. กราฟเทคนิคเคิลเป็นช่วงเริ่มต้นของขาขึ้น (Share price trend) และ
5. บริษัทมีเรื่องราวที่จะทำให้คนหมู่มากเข้ามาสนใจได้ในอนาคต (Story)
โดยปัจจัยทั้ง 5 ข้อนี้ ต่างเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้นักลงทุนในตลาด ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุนแบบพื้นฐาน นักลงทุนแนวเทคนิค หรือ นักลงทุนที่ติดตามข่าวสารทั่วๆไป เข้ามาสนใจซื้อหุ้นตัวนั้นๆ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนสามารถติดอันดับผลตอบแทนสูงสุด 10% แรกของหุ้นทั้งหมดในตลาดได้ หรือที่ผมเรียก หุ้นในกลุ่มนี้ว่า หุ้นกลุ่ม Alpha
ซึ่งในบทความซีรีย์ ชุดนี้ ผมจะเอา ปัจจัยทั้ง 5 นี้มา แสดงเป็นขั้นตอน “วิธีการในการลงทุน” หรือที่เรียกว่า Investment approach เพื่อที่จะหาหุ้นกลุ่ม Alpha นี้ไว้ในพอร์ตการลงทุนของเราให้ได้มากที่สุด ตลอดจน การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน ที่ทำให้เราสามารถเอาชนะตลาดในระยะยาวได้
แล้ว ทำไมเราควรจะต้องให้ความสำคัญกับ “วิธีการลงทุน (Investment approach)” ด้วยหล่ะ ?
“If you can’t describe what you are doing as a process, you don’t know what you’re doing” นี้เป็นคำกล่าวของ Professor Dr. William Edwards Deming ผู้ที่ช่วยวางรากฐานแนวความคิด ในการพัฒนา ปรับปรุง อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ที่ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในยุคนั้น
ผมเห็นด้วยกับประโยคนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของการลงทุน
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่ผ่านมา พอร์ตเราเติบโตขึ้นมา ด้วยฝีมือของเรา หรือเพียงเพราะ เราโชคดีที่อยู่ในตลาดขาขึ้น ? ทำไมวิธีการที่เราเคยใช้ได้ผลดีกับตลาดหุ้นในอดีต แต่ปัจจุบันกลับเริ่มไม่เหมือนดีเหมือนเดิม แล้วเราควรทำอย่างไร ? ทำไมเราไม่ค่อยได้เจอหุ้นหลายเด้งเหมือนคนอื่นๆ ? ทำไมหุ้นที่เรามีน้อยขึ้นเยอะ ตัวที่มีเยอะแต่ราคาดันไม่ไปไหน? ทำไมผลประกอบการณ์ออกมาผิดจากที่เราคาดได้ขนาดนี้ ? ทำไมเราถึงขายหมู ? ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ นักลงทุนที่ลงทุนกันมายาวนาน อาจจะมีช่วงหนึ่งที่ถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง
จริงๆ แล้วคำตอบนั้น อาจจะหาได้ไม่ยาก เพียงแค่เรา ค่อยๆ เรียบเรียง เขียน วิธีการลงทุนของเรา ออกมาเป็น ข้อๆ ทีละขั้นตอน ว่ามีอะไรบ้าง สิ่งที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนคืออะไร กระบวนการตัดสินใจเป็นอย่างไร เขียนออกมาให้ได้เป็น Investment approach ของเรา
โดยในเนื้อหา ซีรีย์ Investment approach นี้ผมจะแชร์ วิธีการลงทุนของผม โดยจะยึดหลัก Investment framework ที่ได้อธิบายในบทความซีรีย์ก่อนหน้า ซึ่งใน Investment approach นี้ผมแบ่งขั้นตอนออกการลงทุน ออกมาเป็น 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 Screening การกรองหุ้น
วิธีการคัดหุ้นในตลาดหุ้นไทย ที่มีมากกว่า 700 ตัว มีข้อมูลทั้ง พื้นฐาน ราคาหุ้น เรื่องราว เข้ามา อัพเดทตลอดเวลา ยากที่จะมาวิเคราะห์หุ้นทุกตัวให้ได้ในคราวเดียวกัน เวลาเรามีจำกัด ดังนั้น เรามีวิธีการอย่างไร ในการคัดกรองว่า ณ ช่วงเวลานี้ เราควรจะศึกษาหุ้นตัวไหน?
ขั้นตอนที่ 2 Selection การเลือกหุ้น
เมื่อกรองหุ้นที่น่าสนใจได้มาแล้ว เรามีวิธีการ การเลือกกำหนดเกณฑ์ อย่างไร บริษัทไหนที่เราควรจะลงทุน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่จะกำหนดความเป็นไปของพอร์ตการลงทุนของเราเลยทีเดียว
1
ขั้นตอนที่ 3 Stock Allocation การจัดสรรพอร์ต
เมื่อได้หุ้นที่จะลงทุน มาแล้ว เราควรจะลงทุนเท่าไหร่? เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของพอร์ตการลงทุน? ซึ่งขั้นตอนนี้ จะส่งผลต่อ ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในพอร์ตของเรา ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขั้นตอนที่ 4 Monitoring การติดตามความเป็นไป
เมื่อลงทุนไปแล้ว การติดตามบริษัทที่เราลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เรามีวิธีการติดตามบริษัทที่เราลงทุนอยู่ อย่างไร? เราจะจัดการความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนนั้นอย่างไร
ขั้นตอนที่ 5 Exit การขายหุ้น
สุดท้าย เรามีกลยุทธ์ในการขาย อย่างไร จุดไหนเป็นจุดที่เราควรจะขายออก เพราะอะไร ? ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญไม่แพ้ ขั้นตอนอื่นๆ นักลงทุนที่มีสไตล์คล้ายๆกัน เลือกหุ้นคล้ายๆ กัน สุดท้าย อาจจะมีขนาดพอร์ตที่ต่างกันมาก เพราะกระบวนการความคิดที่ใช้ในขั้นตอนนี้แตกต่างกันก็ได้
เมื่อเราปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้แล้ว ผลลัพธ์ ที่ได้ออกมาเป็นอย่างไร ได้ตามที่เราตั้งเป้าหมายได้หรือไม่ หากไม่ได้ เราไม่ควรที่จะไปโทษ สิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ปีนี้ตลาดไม่ดี ทำให้พอร์ตการลงทุนของเราแย่ไปด้วย เพราะ มันจะจบอยู่แค่ตรงนั้นเลย ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอะไรขึ้นให้กับตัวเรา
1
แต่ สิ่งที่เราควรจะทำคือ เราจะต้องย้อนกลับไปดูใน Investment approach ของเรา ว่าวิธีการของเรานั้น มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง และเราควรมีการปรับปรุง process นั้นๆ อย่างไร มีส่วนตรงไหนที่เราต้อง พัฒนาความรู้ ความเข้าใจของเราให้มากยิ่งขึ้นไป แล้วทำวนไปเช่นนี้ ตลอดเวลาที่เราลงทุนอยู่
2
วิธีการเช่นนี้ จะช่วยทำให้เราพัฒนาปรับปรุงวิธีการลงทุนของเราให้ดียิ่งๆขึ้น อย่างต่อเนื่อง และผมเชื่อว่ถ้าเราทำมันไปอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ มันจะทำให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
เนื้อหาบทความใน ซีรีย์ Investment approach วิธีการลงทุนให้ได้หุ้นหลายเด้ง นี้ผมจะพูดถึง วิธีการลงทุน ทั้ง 5 ขึ้นตอน โดยจะเริ่มจาก การอธิบายให้เห็นภาพรวมก่อน และจะ อธิบายเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนต่อๆไป เอาไว้ใช้เป็น ไอเดีย นำไป ประยุกต์ใช้กับ วิธีการลงทุนที่เหมาะกับ สไตล์ของเพื่อนๆ นักลงทุนแต่ละท่านเองนะครับ
ถ้าสนใจติดตามกันได้ในบทความต่อๆ ไปในซีรีย์ชุดนี้ครับ สุดท้ายนี้ขอปิดท้ายด้วยคำพูด ของ Dr. Deming อีกครั้งนะครับว่า
“If you can’t describe what you are doing as a process, you don’t know what you’re doing”
ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขในการลงทุน
Alpha Investing
26 May 2021

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา