26 พ.ค. 2021 เวลา 13:40 • ปรัชญา
ถ้าการจุดเทียนเดินวน3รอบถ่ายรูปเช๊คอินวัดแล้วได้รองเท้าใหม่กลับบ้าน​ ทำไม่ได้แล้วลองเปลี่ยนมาเป็นนำคำสอนพระองค์​ไป​ปฏิบัติ​ในทุกวันเวลาสถานที่​กันครับ
#การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด
อานนท์
เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก, จักนอน
(ประทับสีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ, ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น ; เพื่อบูชาตถาคตเจ้า)
อานนท์
การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่.
อานนท์
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติ ตามธรรมอยู่ ; ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด.
อานนท์
เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า
“เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้.
(-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.
#เจริญอานาปานสติมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่
ราหุล ! เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ ?
ราหุล ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือ
เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติ
เฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก :
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
ราหุล ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่.
ราหุล ! เมื่อบุคคลเจริญ กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติอย่างนี้แล้ว ลมอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) ปัสสาสะ (ลมหายใจออก)
อันจะมีเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อจะดับจิตนั้น จะเป็นสิ่งที่เขารู้แจ้งแล้วดับไป หาใช่เป็นสิ่งที่เขาไม่รู้แจ้งไม่ ดังนี้.
- ม. ม. ๑๓/๑๔๐-๑๔๒/๑๔๖.
#สถานที่อันเป็นทิพย์ นั่ง - นอน - ยืน - เดิน อันเป็นทิพย์
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ที่นั่งนอนสูงใหญ่อันเป็ นทิพย์ ซึ่งในบัดนี้ พระโคดมผู้เจริญได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?”
พราหมณ์ ! ในกรณีนี้ เราเข้าอาศัยบ้านหรือนิคมใดอยู่ เวลาเช้าครองจีวร เที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านหรือนิคมนั้น.
ครั้นเวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวไปตามแนวป่า. เรานั้น, วัตถุใดมีอยู่ในที่นั้นๆจะเป็นหญ้าหรือใบไม้ก็ตาม, คร่ามาแล้ว (ทำเป็นที่รองนั่ง) นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า, เรานั้นสงัดจากกามและอกุศธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึง ฌานที่ ๑ .... ที่ ๒ .... ที่ ๓ .... ที่ ๔ อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่, พราหมณ์ ! เราขณะเมื่อเป็นอย่างนีี
- ถ้าเดินอยู่ ในสมัยนั้นสถานที่ตรงนั้น ก็ชื่อว่า ที่เดินอันเป็นทิพย์
- ถ้ายืนอยู่ สถานที่ตรงนั้น ในสมัยนั้น ก็ชื่อว่า ที่ยืนอันเป็นทิพย์
- ถ้านั่งอยู่ สถานที่ตรงนั้นในสมัยนั้น ก็ชื่อว่าอาสนะทิพย์
- ถ้าสำเร็จการนอนอยู่ สถานที่ตรงนั้น ในสมัยนั้น ก็ชื่อว่า ที่นอนอัน เป็นทิพย์
พราหมณ์ ! นี้แล ที่นั่งนอนสูงใหญ่อันเป็นทิพย์ ซึ่งในบัดนี้ เราได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากเลย.
พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ข้อ ๕๐๓ - ติก. อํ. ๒๐/๒๓๔/๕๐๓.
#ฤกษ์ดีมงคลดี
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.
สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย.
- บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๗๘/๕๙๕.
โฆษณา