Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Lawลี กับ ลีLaw
•
ติดตาม
26 พ.ค. 2021 เวลา 16:57 • การศึกษา
การกระทำความผิดเพื่อป้องกัน
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา68
อย่าลืม กดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ แบ่งปันข้อมูลให้เพื่อนๆ กันด้วยนะครับ
📚 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
Lawลี กับ ลีLaw : การกระทำความผิดเพื่อป้องกัน
การกระทำความผิดเพื่อป้องกัน มีหลักเกณฑ์ดังนี้
📌 ต้องมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อ
กฎหมาย
📌 ภยันตรายใกล้จะถึง
📌 ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นก็ได้
📌 การกระทำเพื่อป้องกันต้องไม่เกินขอบเขต
📌 ผู้อ้างป้องกันจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดภยันตราย
1️⃣ ต้องมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
ถ้าไม่มีภยันตราย หรือมีภยันตรายแล้ว แต่ไม่ใช่ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ก็ไม่อาจอ้างป้องกันได้
⚖️ คำพิพากษาฎีกาที่ 10879/2556
:
แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้
:
เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
:
แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
#กรณีที่ยังไม่ถือว่ามีภยันตราย
คำพิพากษาฎีกาที่ 483-484/2550
:
คำหยาบเป็นเพียงคกพูดที่ไม่สมควร อาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่
2️⃣ ภยันตรายนั้นต้องใกล้จะถึง
กรณีที่จะอ้างป้องกันได้ต้องมีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ใกล้จะถึงและยังไม่สิ้นสุดลง ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย หรือภยันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้ว กรณีดังกล่าวนี้ จะอ้างป้องกันไม่ได้ แต่อ้างบันดาลโทสะ (มาตรา 72) ได้
⚖️ คำพิพากษาฎีกาที่ 6936/2562
:
แม้ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียวด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย ถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม
:
แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้าน เข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว
:
เหตุที่จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า “มึงตายแน่” และเมื่อกลับออกมาเห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม
:
แต่ในการกลับออกมานี้ จำเลยออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนจ้องเล็งยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัดทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย
:
จำเลยไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้
:
แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72
3️⃣ ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นก็ได้
การกระทำโดยป้องกันจะต้องมีทั้ง “เจตนาธรรมดา” คือ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือเจตนาเล็งเห็นผล และต้องมี “เจตนาพิเศษเพื่อป้องกันสิทธิ” ในขณะกระทำ ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งไปจะอ้างป้องกันไม่ได้
การป้องกันอาจกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของ “คนอื่น” ก็ได้ แต่คนอื่นนั้นต้องมีสิทธิป้องกันตนเสียก่อนด้วย ถ้าคนอื่นนั้นไม่มีสิทธิป้องกันแล้ว ใครก็มาช่วยเหลือโดยอ้างป้อง กันผู้อื่นไมได้
⚖️ คำพิพากษาฎีกาที่ 5104/2556
:
จำเลยไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 มาก่อน เหตุที่เกิดขึ้น ฝ่ายผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุใช้มีดแทง ส. ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษาจนได้รับอันตรายสาหัส
:
จำเลยซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันเดียวกันกับ ส. และอยู่บนรถโดยสารคันที่เกิดเหตุใกล้ๆ กับ ส. ย่อมอยู่ใกล้ภยันตรายที่เกิดขึ้นเช่นกัน
:
เมื่อเกิดเหตุกะทันหันและไม่คาดคิดมาก่อนจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงเลี่ยงหรือทำประการอื่นเพื่อมิให้เกิดเหตุเช่นนี้ได้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มผู้ตายจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
4️⃣ กระทำโดยป้องกันสิทธินั้นไม่เกินขอบเขต
มาตรา 69 “ ในกรณีที่บัญญัติไว้ใน...มาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือ... เกินกว่ากรณีแห่ง การจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศลาจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการ กระทำนั้นเกิดขึ้นจากควมาตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ ”
การป้องกันที่ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ประกอบด้วยหลัก 2 ประการ คือ
📌 ผู้ป้องกันได้กระทำการป้องกันสิทธินั้นด้วยวิถีทางน้อยที่สุดเท่าที่จำต้องกระทำ ถ้ายังมีทางเลือกอื่นอยู่ต้องเลือกในทางที่เสียหายแก่ผู้ก่อภัยน้อยที่สุด
📌 ผู้ป้องกันได้กระทำการป้องกันโดยได้สัดส่วนกับภยันตราย
#การป้องกันที่ได้สัดส่วนกับภยันตรายนั้นไว้จะอธิบายอีกครั้งครับ
1
⚖️ คำพิพากษาฎีกาที่ 3330/2562
:
ผู้ตายทั้งสองเข้าไปลักใบพืชกระท่อมของจำเลย ถือได้ว่าผู้ตายทั้งสองได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนเองได้
:
แต่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์สินที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันมีราคาไม่สูงมากนัก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
5️⃣ ผู้อ้างป้องกันจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดภยันตราย
กรณีสมัครใจวิวาท ลำพังแต่เพียงมีการโต้เถียงกัน ยังไม่ถือว่าเป็นการสมัครใจวิวาท แต่การถูกร้องท้าทายโดยอีกฝ่าย โดยที่ยังไม่ลงมือกระทำการอันใดในลักษณะวิวาท แต่ผู้กระทำทนไม่ได้ที่ถูกยั่วยุท้าทาย จึงเข้าไปวิวาทก่อน แม้ฝ่ายร้องท้าทายจะลงมือก่อน ก็ถือว่าผู้กระทำสมัครใจวิวาท
⚖️ คำพิพากษาฎีกาที่ 1643/2554
:
ตามพฤติการณ์ที่ผู้ตายยืนร้องตะโกนด่าอยู่หน้าบ้าน แล้วจำเลยที่ 2 ออกไปแย่งอาวุธปืนแล้วตีศีรษะผู้ตายโดยแรงทันที แม้ข้างศพผู้ตายจะมีมีดปลายแหลมตกอยู่โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าเมื่อแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วผู้ตายชักอาวุธมีดจะแทงจำเลยที่ 2
:
แต่การที่จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า "ทนไม่ไหวแล้วโว้ย" แล้ววิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายอันมีลักษณะเหมือนจะทำร้ายผู้ตาย จึงมีสภาพเสมือนจำเลยที่ 2 สมัครใจเข้าไปวิวาทกับผู้ตาย จึงไม่อาจยกเอาการป้องกันสิทธิของตนขึ้นอ้างเพื่อลบล้างความผิดของตนได้
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
แม้ความจริงไม่มีข้อเท็จจริงให้อ้างป้องกันได้เลย แต่ผู้กระทำสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีเหตุให้อ้างป้องกันได้ เช่นนี้ อ้างป้องกันโดยสำคัญผิดได้ ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง
⚖️ คำพิพากษาฎีกาที่ 5299/2562
:
จำเลยและ ว. ออกไปซุ่มดูเหตุการณ์โดยนำอาวุธปืนติดตัวไปด้วยเพราะเข้าใจว่าอาจถูกผู้เสียหายกับพวกทำร้าย หาใช่เป็นการตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อสมัครใจทะเลาะวิวาทกับพวกผู้เสียหายไม่
:
การที่ผู้เสียหายกับพวกขว้างปาขวดสุราและไม้เข้าไปยังบริเวณที่จำเลย และ ว. หลบซ่อนอยู่ โดยจำเลยและ ว. มิได้ก่อเหตุขึ้นก่อน ย่อมเป็นเหตุทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีจำนวนมากกว่า และมีเจตนาประทุษร้ายจำเลยและ ว. อันเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยมีสิทธิ กระทำการป้องกันเพื่อให้พ้นจากภยันตรายได้
:
แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับพวกมีอาวุธร้ายแรงอื่นใดอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกย่อมไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันตัวของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด
:
เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด
———ติดตามเราต่อได้ที่———
Facebook -
https://www.facebook.com/LawleeleeLaw/
Website -
https://www.lawleeleelaw.page
Blockdit -
https://www.blockdit.com/lawlee.leelaw
Instagram -
https://instagram.com/lawlee_leelaw
#ประมวลกฎหมาย #กฎหมาย #กฎหมายอาญา #อาญา #กฎหมายอาญามาตรา68 #ป้องกันโดยชอบ #ป้องกันโดยชอบด้วยกฎมาย #เนติบัณฑิต #สรุปกฎหมาย #ทนายความ
#LawลีกับลีLaw
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย