27 พ.ค. 2021 เวลา 05:04 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
องก์แรกน่าสนใจ องก์ต่อไปใครเห็นก็ว่าตาย คอนเซปท์ Sci-Fi Horror แต่ตกหลุมพราง cliché
Ghost Lab ฉีกกฏทดลองผี (dir. ปวีณ ภูริจิตปัญญา, 2021)
#รีวิวภาพยนตร์ยังไงให้เหมือนวิจัย
1. Introduction
Ghost Lab คือภาพยนตร์ล่าสุดที่เป็นภาพยนตร์ออริจินัลเรื่องแรกใน Netflix จากผลงานของผู้กำกับกอล์ฟ ปวีณ ภูริจิตปัญญา กลับมาอีกครั้งหลังจากผลงานภาพยนตร์สยองขวัญสร้างชื่ออย่างบอดี้ศพ19 โดยได้นักแสดชั้นนำงจากนาดาวบางกอกอย่าง ต่อ-ธนภพ​ ลีรัตนขจร และ ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต รับบทเป็นสองคุณหมอนักวิจัย หมอวีและหมอกล้าผู้มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องผีคนละขั้ว จึงเป็นที่มาของการทดลองสุดหลอนซึ่งหลอมรวมหลักวิทยาศาสตร์และความเชื่อด้านไสยศาสตร์ที่ต้องการจะตั้งคำถามว่า “ ผีคืออะไร “ “ โลกหลังความตายเป็นอย่างไร “ เมื่อสองความคิดตรงกันข้ามเพื่อจุดมุ่งหมายของการตอบคำถามเดียวกัน เรื่องราวของการทดลองสุดหลอน ที่จะพาผู้ชมและตัวละครข้ามเส้น “ โลกหลังความตาย “ ไปสู่คำตอบที่ทุกคนคาดไม่ถึง
2. Literature Review
ย้อนกลับไปภาพยนตร์ล่าผีที่พอจะรู้จักก็คงจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Ghostbuster (1984, 2016) ภาพยนตร์รวมทีมปราบผีที่มีความตลกขบขันผ่อนคลาย หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ชุด Paranormal Activity (2007) ที่เสนอมุมมองการตั้งกล้องบันทึกภาพ supernatural things ที่พยายามลองเล่นท่ายากแม้จะเริ่มซ้ำซากภายหลัง หรือรายการ Reality ล่าท่าผี ในชื่อเดียวกัน Ghost Lab (2009) ที่เป็นสองคู่หูตามล่าท้าผีในทุกสถานที่ชวนขนหัวลุกของอเมริกา แต่จุดภาพยนตร์พยายามจะexpress ผู้ชมก็คือการหยิบยกการนำเสนอ” แนววิทยาศาสตร์ ”ให้มากขึ้น
พล็อตภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มจากการตั้งคำถามของผู้กำกับกอล์ฟและการระดมความคิดของคุณเต๋อ นวพลในการพัฒนาโครงสร้างของเรื่องจากคำถามง่ายๆ “ ถ้ามีคนไม่กลัวผี การที่เขาได้ไปเจอผี แทนที่คนเจอผีจะวิ่งหนี แต่กลับเดินไปถามว่าโลกหลังความตายมีจริงไหม หน้าตาเป็นอย่างไรล่ะ “ การฉีกขนบธรรมเนียมทั่วไปจากหนังผี ด้วยการเดินแนวทางเป็นหนังผีที่วิ่งเข้าหาผีเพื่อตอบสนองความอยากรู้และต่อยอดมาเป็นการอินพุทเรื่องราวไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมี baseline พล็อตเรื่องที่ต้องการจะทำหนังคู่หู (Duo Genre) มาใส่ไว้ในหนังผี ซึ่งการวางองค์ประกอบเหล่านี้ส่งผลให้ความการตีความในบทภาพยนตร์ดูชัดเจนทาง Dichotomy
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำการ research มาค่อนข้างเยอะทั้งในด้านการสร้างคาแรคเตอร์หรือการ development ของ common ground หรือ beliefs ที่มีต่อความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้กำกับเองก็เติมเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตและ Vision ของตัวเองที่มีต่อเรื่องนี้ ทำให้ภาพยนตร์สามารถเปิดช่องว่างเล็กๆในการตั้งคำถามให้กับกลุ่มคนที่ทั้งเชื่อเรื่องผีหรือไม่เชื่อเรื่องผีได้ อีกทั้งตัวละครหมอกล้าหมอวีก็ถูกอ้างอิงจากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศิริราชที่สนใจการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติหรือผี
เมื่อผสมหลายองค์ประกอบการเล่าเรื่อง จากทั้งข้อมูลและประสบการณ์ของผู้กำกับ และแนวหนังที่ผสมผสานทั้งแนวคู่หู แนวสยองขวัญ แนวสืบสวน และการโรยคำถามเหมือนเศษขนมปังตามทาง นี่ถือเป็นการเล่นท่ายากที่ดูจากมีความเสี่ยง เหมือนท่ายากที่เคยทำกับบอดี้ศพ19
3. Methodology
ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอจังหวะการตัดภาพฉับไวเพื่อที่จะให้อารมณ์ในแต่ละฉากเหมือนอะดรีนาลีนที่หลั่งเวลาเราอยากจะรู้อะไรบางสิ่ง ภาพยนตร์ดูง่ายมากอาจจะเป็นข้อดีข้อหนึ่งที่ตัวบทเองไม่ได้ซับซ้อนและจับทางได้ง่าย มีเสียง voice over ประกอบฉากที่รันฟุตเทจไปเรื่อยๆ ทำให้เห็นทั้งภาพและเข้าใจได้ง่าย เหมือนพาผู้ชมไปดูคุณหมอสุด Geek สองคนกำลังสนใจเรื่องผีฉากถือกล้องและตั้งกล้องตามสไตล์หนังล่าท้าผี อย่างไรก็ตามในตัวบทภาพยนตร์ก็กลายเป็นข้อด้อยอันหนึ่งในการประสานสององก์เข้าด้วยกัน การขาดความกลมกล่อมในตัวบททั้งสองทำให้เราดูแล้วภาพยนตร์ที่ระทึกขวัญน่าสนใจในตอนแรกหายไปในองก์ที่สองกลายเป็นความงงมากกว่าสะใจ กลายเป็นทิ้งความสงสัยท่ามกลางคำตอบที่เริ่มยัดเยียดมาให้ในแบบหนังดราม่าทั่วไป ซึ่งน่าเสียดายมากๆที่เวลาจะใส่รายละเอียดมากกว่านี้กลับทุ่มเทให้ความเห็นใจกับสองตัวละครเพื่อนำไปสู่จุดจบแบบ Happy Ending เดิมๆ คล้ายๆใน ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius, 2017) และโฮมสเตย์ (Homestay, 2018)
คำโปรยที่เราทราบคือผู้กำกับไม่ได้นิยามภาพยนตร์นี้เป็นหนังผี แต่กลับทำฉากตุ้งแช่สไตล์เดิมๆที่เราคุ้นเคย อาจจะเป็นจุดที่ผู้ชมคาดหวังเหมือนที่เคยเซอไพรส์กับการนำเสนอในบอดี้ศพ19 แม้แต่ผลงานอย่างหลาวชะโอนในห้าแพร่งก็อาจจะยังดูระทึกขวัญมากกว่า (อาจจะเป็นเพราะเวลา) ในด้านของ CG หรือมุมกล้อง ก็ยังได้ตามมาตรฐานที่ดีอยู่ มีความรู้สึกสัมผัสความเป็น supernatural และมีการจัดองค์ประกอบภาพอยู่ในระดับที่ดี Production ถูก set ออกมาอย่างใส่ใจอยู่ เสื้อของหมอกล้าที่ใส่มีคำเขียนที่ว่า “ Science never lies, but I do “ ซาวด์ประกอบฉากเองสร้างอารมณ์ร่วมได้ดี มีการอินพุทความตลกขบขัน (มีแอบแซวหนัง shutter) และความเป็น partnership แต่ขาดพลังที่ส่งไปในจุดจบของภาพยนตร์อยู่ดี
4. Discussion
(เปิดเผยเนื้อหาของหนังบางส่วน)
“ การตั้งสมมติฐานและการหาคำตอบเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิทยาศาสตร์ … “
นี่คือปมประเด็นหลักสำคัญที่ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องนี้ แล้วเราว่ามันดูแข็งแรงมากๆถ้าภาพยนตร์สามารถนำพาไปหาคำตอบที่ดูสมเหตุสมผลได้ เหมือนกับที่ภาพยนตร์ Sci-Fi ล้ำยุคสร้างข้อประเด็นถกเถียงในเชิงกว้างแบบที่ Interstellar หรือ TENET ทำได้ด้วยการสร้างพล็อตหลักของภาพยนตร์ ฉายไฟไปที่จุดสนใจนี้ แล้วค่อยๆเติมอารมณ์ต่างๆเข้ามาในภายหลัง
กลับกันภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้ดีมากๆในการตั้งคำถามในช่วงต้นเรื่อง เป็นการโยนคำถามใส่คนดู โยน information ใหม่ให้เราได้รู้สึกตื่นเต้นมากๆว่าบทสรุปสุดท้ายจะน่าพอใจมากแค่ไหน Genreในองก์แรกกลายเป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆจากภาพยนตร์ไทยที่เริ่มได้ระทึกขวัญน่าสนใจมาก แต่ตกม้าตายในตอนองก์หลังด้วยการกลบประเด็นมัน เหมือนกับเวลาเราเขียนวิทยานิพนธ์ที่มองข้ามการอภิปรายงาน (Discussion) และกำลัง Drowning (จมดิ่ง) และหลุด attention ไปจากความเป็น Sci-Fi จนกลายเป็น ข้ามไปสู่บทสรุป (Conclusion) ซึ่งเป็น Genre ที่ซ้ำซากและขาดน้ำหนักของเหตุผล
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีหรือการตั้งคำถามในตอนแรกทำผู้ชมใจเต้นมากๆ โดยเฉพาะกับนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยอย่างเราๆที่กำลังเฝ้ามองสังเกตงานผู้อื่น ผู้เขียนเองมีคำถามมากมายผุดขึ้นตลอดในช่วงแรก ตัวละครหมอกล้าและหมอวีซึ่งส่วนตัวขอชมการแสดงของทั้งคู่ มีแนวทาง experiment design ที่วางแผนมาได้ดี ตั้งแต่ช่วงการตามหา Participants (ผีที่ร่วมทดลอง) หรือหาปัจจัยต่างๆในการทำให้ผีปรากฏตัว ถ้ายึด Morals หรือ Ethics ในการทำวิจัยจริงๆ วิธีที่พวกเขาหาผู้ร่วมทดลองในช่วงแรกขาดซึ่ง Consent จากผู้ร่วมทดลองจนถึงจุดเปลี่ยนของเรื่อง (ซึ่งก็ยังเป็นคำถามด้าน Ethics) ในแง่มุมของการความเลยเถิดหลังจากนั้นกลายเป็นภาพยนตร์ที่ Skip กระบวนการการทำวิจัยที่ถูกต้องไปจนหมด น้ำหนักของเหตุผลของตัวละครไม่ใช่ปัญหาในการตัดสินใจทำสิ่งดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นว่าภาพยนตร์เองต่างหากที่สร้างบาดแผลในช่วงองก์ที่สองที่ขาดการบาลานซ์กับตอนองก์แรก การตัดฉับเปลี่ยน Genre ภาพยนตร์ทำให้ภาพยนตร์ขาดความน่าเชื่อถือ กลายเป็นแค่ดูเอาสนุกกับแนวทางที่ไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างหรือรู้สึกประทับใจมากเท่าไร
ปัญหา Glitch ของช่วงแรกกับช่วงหลังส่งผลร้ายต่อภาพรวม การปรากฎตัวและการกระทำของตัวละครบางตัวที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ กลับสร้างความสับสนและความไม่เข้าใจ ถึงแม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดการปรากฏตัวของผีถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอได้น่าสนใจ แต่ขาดการอธิบายส่วนสุดท้ายที่ภาพยนตร์สร้างบาดแผลมาไว้ตลอดทาง ภาพยนตร์องก์หลังจึงพาเราตื่นเต้นในรูปแบบหนังผีเชยๆทั่วไปที่เริ่มทวงแค้นและไม่ได้คำตอบแบบวิทยาศาสตร์อะไรกลับมาเลย มีเพียงแต่คำตอบเชิงไสยศาสตร์ คำตอบเชิงสัจธรรมซึ่งในงานวิจัยไม่ได้นับคำตอบเหล่านี้เป็นคำตอบที่ Reliable อีกทั้งไม่ได้รู้สึกอยากเอาใจช่วยใครเลยแต่กลับเชียร์ให้ภาพยนตร์พาเราไปให้ดาร์คกว่านี้ ถ้าผู้เขียนมีโอกาสเป็น Committee Reviewer ในวารสารก็คงจะตอบ Reject ทันควัน
ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่นับอยู่ในหนังผี มันคงเป็นภาพยนตร์ที่เฉพาะตัวมากเรื่องหนึ่ง ในแง่การทำการทดลองอาจจะไม่เข้มข้นมากนัก แต่การหางานมาอ้างอิงเรื่องแบบนี้ในโลกความจริงก็ยากเช่นกัน มันจึงเป็น Limitation ของการเล่นท่ายากนี้ ถ้าจะแนะนำใครสักคนให้มาดูหนังเรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่ยากที่สุด หนังมันไม่ได้ขายความน่ากลัวเป็นหลัก หรือ ขาย Sci-Fi เลยไม่รู้ว่าจะแนะนำหนังให้กับคนกลุ่มไหน อันที่จริงบทสรุปเองก็ไม่ได้แย่ในแง่ของเนื้อหาเพราะ “ ไม่มีใครรู้ว่าต่อจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น “ แต่คงเป็นทางลงง่ายๆที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเกินไปในภาพยนตร์ GDH ที่ยังคงรักษาภาพ Feel Good ไว้เป็นเอกลักษณ์ (จนรู้สึกถูกยัดเยียดอีกแล้ว)
5. Conclusion
นี่คือภาพยนตร์ใหม่ที่ไอเดียเจ๋งที่พาผู้ชมจุดประกายความหวังและความก้าวหน้าอยากลองอะไรใหม่ๆของภาพยนตร์ไทยในตอนต้นเรื่องจนกระทั่งปัญหาของการที่เป็นภาพยนตร์นั่นคือเวลาจำกัดทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ขาดแรงส่งต่อที่สมเหตุสมผลในตอนจุดเปลี่ยน โดยรวมแล้วถ้านับตัวเองเป็นแค่หนังผี ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถือว่าได้มาตรฐานเพราะสามารถสร้างความระทึกขวัญได้ดี โครงสร้างของบทและการเล่าเรื่องดูน่าสนใจอยู่เรื่อยๆ หากแต่มองลึกในรายละเอียดมากขึ้นในแง่ของการ identifying genre ภาพยนตร์เรื่องนี้หลงทางและดูจะยังขาดชั้นเชิงเกินไป จากภาพยนตร์ที่จะเล่นท่ายากกลับกลายเป็นเล่นเพลย์เซฟในตอนท้ายไปเฉยๆ และในแง่มุมของปมหลัก (ว่าด้วยการหาคำตอบของผีทางวิทยาศาสตร์) ที่ตั้งไว้กลับตอบคำถามสวนทางและหักดิบมันดื้อๆ (ด้วยความเชื่อแบบเดิมๆ) เหมือนสุดท้ายการพิสูจน์ผีเป็นเรื่องต้องห้าม ซึ่งขัดแย้งกับตอนจบที่ทิ้งประโยคเส้นเรื่องหลักของภาพยนตร์ที่ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่า “ ทุกวันๆที่เราใช้ชีวิตมันก็เหมือนกับการทดลองวิทยาศาสตร์ “ “เราต้องมีชีวิต ทำการทดลองต่อไปเรื่อยๆจนวันสุดท้าย “
- Ghost Lab ฉีกกฏทดลองผี (dir. ปวีณ ภูริจิตปัญญา, 2021)
GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี รับชมได้แล้ววันนี้ที่ Netflix เท่านั้น
#MovieThesis
#NetflixTH
#GDH
#GHOSTLAB
#ฉีกกฎทดลองผี
#GhostLabNetflix
โฆษณา