27 พ.ค. 2021 เวลา 06:33 • หนังสือ
การได้ลงเรียนออนไลน์คอร์สจิตวิทยาพื้นฐานใน coursera เปลี่ยนมุมมองต่อคำว่าความสุขของผมไปเล็กน้อย ก่อนหน้านี้เวลาดูพวกคอนเท้นท์จาก influencer หรืออ่านหนังสือฮาวทูมักจะพบว่านิยามของความสุขเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้จากภายในตนเอง สร้างได้ อยู่ที่มุมมองของเรา (ซึ่งหลายครั้งเราก็เถียงในใจว่าเพราะพวกเขาชีวิตดีอยู่แล้วรึเปล่าถึงออกมาพูดเรื่องความสุขในมุมนั้นได้) ทีนี้ในแง่ของจิตวิทยามันซับซ้อนกว่านั้น เพราะอย่างน้อยที่จิตวิทยารู้กันคือคนบางคนเกิดมาเพื่อมีความสุข ในขณะที่คนบางคนก็มีได้แต่ยากกว่า
The Happiness Hypothesis วิทยาศาสตร์แห่งความสุขคือหนังสือเล่มที่ผมเลือกอ่านเพื่อต่อยอดจากประเด็นเรื่องความสุขในทางจิตวิทยา มันไม่ใช่ทริค ทางลัด หรือฮาวทูให้ทำตามแล้วมีความสุข แต่เป็นการเปิดเผยแง่มุมที่ว่าความสุขที่มนุษย์ใฝ่หาคืออะไรและมาจากไหน หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Jonathan Haidt นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบศีลธรรมและความสุขที่รวบรวมเรื่องราวจากงานวิจัยตลอดยี่สิบปี ผนวกกับคำสอนที่ปรากฏในอดีต ทั้งศาสนา ปรัชญา และบทกวี ที่เรียกรวมว่าภูมิปัญญาร่วมของโลก หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนจุดนัดพบระหว่างวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาที่สำคัญ
เราค้นพบว่าความสุขนั้นคือผลประกอบที่เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย เขียนเป็นสมการได้ว่า H (ความสุข) = S (ค่าตั้งต้นทางชีวภาพ) + C (เงื่อนไขชีวิต) + V (กิจกรรมโดยสมัครใจ)
ค่าตั้งต้นทางชีวภาพ (S) คือพันธุกรรม พันธุกรรมนี้มีผลอย่างมากต่อความเป็นเรา เพราะจิตคือผลจากกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง ทำให้เรามีบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ รวมถึงมุมมองต่อโลกแตกต่างกัน บางคนเกิดมาเป็นคนอัธยาศัยดี คิดบวก มองโลกสดใส และนั่นนำพาความสุขมาให้เขา เพราะความเป็นเขาทำให้เขาได้พบเจอสิ่งที่ดีมากกว่า ต่อให้เจอเรื่องร้ายก็ยังมองเห็นว่ามีโอกาสได้ในปัญหา ในขณะที่บางคนเกิดมาเป็นคนคิดเก็บตัว คิดลบ มีมุมมองต่อโลกในทางที่ร้ายกาจกว่ามาก นั่นทำให้เขามีความสุขน้อยกว่า จึงต้องพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหา จัดการกับชีวิต เพื่อที่จะมีความสุขได้ แน่นอนว่าว่าเรื่องนี้มีผลในทางกลับกันด้วย คนที่มีความสุขอยู่แล้ว มีฐานะร่ำรวย มีชีวิตที่ดีก็อาจทำให้เขามองโลกบวก (เหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวตนที่เราเป็นอยู่ก่อนหน้ามีผลอย่างมากต่อความสุขเช่นกัน
เงื่อนไขชีวิต (C) คือปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก สิ่งที่เราทำได้คือพาตัวเองเข้าไปหาหรือออกมาจากตรงนั้น มันคือสภาพแวดล้อม คือหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์ สิ่งนี้ขัดแย้งต่อหลักการทางศาสนาตะวันออกที่มีจุดยืนว่าความสุขเกิดจากภายใน ไม่ใช่ภายนอก แต่วิทยาศาสตร์พบว่าปัจจัยภายนอกบางอย่างมีผลต่อความสุขได้จริง เราพบว่าการมีความรัก (ที่ยั่งยืน ไม่ใช่หลงใหล) นำพาความสุขมาให้เราได้ การได้ทำงานที่เหมาะกับตัวเอง ตรงกับ passion นำความสุขมาให้เราได้ การมีรูปร่างหน้าตาที่ดี (ตามมาตรฐานสังคมที่เราอยู่) ทำให้เรามีความสุขได้ยืนยาวกว่า (เป็นเหตุผลว่าการทำศัลยกรรมนั้นคุ้มค่าเพราะก่อให้เกิดความสุขในระยะยาวได้) การอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษทางเสียง ไม่มีการจราจรที่ติดขัด ทำให้เกิดความสุขได้
กิจกรรมที่สมัครใจ (V) คือสิ่งที่เราเลือกทำได้ การทำกิจกรรม เล่นกีฬา เข้าสังคม สวดมนต์ นั่งสมาธิ ก่อให้เกิดความสุข เราจึงควรมีงานอดิเรกไว้บ้าง
โดยสรุปความสุขจึงเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากหลายปัจจัยในหลายระดับ ไม่สามารถไขว่คว้าหาได้โดยตรง แต่เกิดขึ้นได้ด้วยการจัดเงื่อนไขให้เหมาะสมแล้วรอคอย เงื่อนไขบางอย่างอยู่ภายในตัวเราเอง เงื่อนไขบางอย่างเกิดจากภายนอก เปรียบเสมือนต้นไม้ บางพันธุ์อาจเติบโตได้ง่ายโดยธรรมชาติ บางพันธุ์อาจต้องการการประคบประหงมมากกว่า แต่ใด ๆ คือต้นไม้ย่อมต้องการสารอาหาร น้ำ และแสงแดดที่เหมาะสมกับตัวมันเอง มนุษย์ก็ต้องการที่จะรู้จักตนเอง ได้พบเจอความรัก ความสัมพันธ์ที่ดี มีหน้าที่การงานที่มั่นคงและตรงกับเป้าหมายของชีวิต (ซึ่งจะเผยออกมาได้เมื่อรู้จักตนเองมากพอ) เมื่อนั้นความสุขจะปรากฎ
// แอดโอ๊ค
The Happiness Hypothesis วิทยาศาสตร์แห่งความสุข
Jonathan Haidt เขียน
โตมร ศุขปรีชา แปล
สำนักพิมพ์ SALT
โฆษณา