27 พ.ค. 2021 เวลา 13:16 • ครอบครัว & เด็ก
นิสัยแย่ ๆ ของคุณพ่อ EP3. ลูกน้อยต้องสำนึก!!!!
วันหนึ่ง ขณะที่พ่อกับลูกอยู่บ้านกัน 2 คน
“แล้วพี่หมีก็ขี่พี่เสีอเพื่อไปตามหาแม่เค้า …………….” คุณพ่อกำลังเล่านิทานไปเรื่อยอย่างสนุกสนานโดยใช้ตุ๊กตาประกอบเพราะลูกอยากให้เล่า โดยลูกพาตุ๊กตาที่เป็นแม่หลบไปอีกมุมหนึ่งของห้อง
"กร๊วบ กร๊วบ……" เสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากมุมที่ลูกอยู่
“อะไรอยู่ในปาก เอามันออกมาซิ” คุณพ่อกล่าวเสียงแข็ง
ลูกคายสิ่งที่อยู่ในปากออกมา เขาเอาโซ่ของเล่นเด็กที่ซื้อมาเข้าปาก และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกและได้มีการคาดโทษไว้แล้ว
วินาทีนั้น คุณพ่อฟิวส์ขาดและทิ้งลูกเดินหนีออกมาอีกมุมหนึ่งของบ้าน
คุณพ่อกำลังโมโห
เด็ก 3 ขวบกำลังช็อกกับการที่ถูกพ่อดุและปล่อยทิ้งไว้ ร้องไห้และเดินมาหาพ่อ แต่พ่อก็เดินหนีเขาเพราะโมโหที่ไม่เชื่อฟัง สุดท้าย เขานั่งร้องไห้อยู่ที่บันไดในขณะที่พ่อนั่งเล่นมือถือบนโซฟาในอีกมุมหนึ่ง พอเขาหยุดร้อง คุณพ่อจึงเรียกเขาเข้าไปคุย
“รู้ไหมว่าพ่อโมโหเพราะอะไร” คุณพ่อถาม
“เพราะหนูไม่เชื่อฟัง” เขาตอบ
“มันไม่ใช่แค่เรื่องนั้นเรื่องเดียว” คุณพ่อตอบ ก่อนจะแจกแจงต่อไปอีกว่า
“สิ่งที่พ่อโกรธคือ
1. ลูกไม่เชื่อฟังเพราะเคยบอกลูกไปแล้ว
2. ลูกไม่ทำตามที่รับปากว่าจะไม่ทำอีก
3. ลูกแอบทำลับหลังพ่อ แล้วพ่อจะไว้ใจได้อย่างไร
เข้าใจหรือไม่”
เด็กน้อยรับคำ ก่อนที่คุณพ่อจะกำหนดบทลงโทษคือ
1. ไม่ให้ดูการ์ตูน 3 วัน (ปกติดูด้วยกัน)
2. เรื่องต่าง ๆ ที่พ่อเคยรับปาก จะถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น
3. ของเล่นชิ้นเล็กทั้งหมดจะต้องถูกห้ามเล่นและบางส่วนจะถูกเอาไปทิ้ง
4. จะไม่เล่นกับลูก 3 วันเพราะนิสัยไม่ดี
5. จะไม่ให้เล่นน้ำในสระลมทั้งสัปดาห์
6. จะบอกแม่ให้ว่าไม่ให้ดูจอด้วย
7. จะไม่อ่านนิทานให้ฟัง
8. จะไม่พาไปเที่ยวจนถึงวันอาทิตย์…..
คุณเห็นอะไรในบทลงโทษเหล่านี้บ้าง
ที่ผมกำหนดบทลงโทษเหล่านี้เพราะผมต้องการให้เขา “สำนึก” ในการกระทำของเขา ดังนั้นเวลาลูกทำผิด ผมจึงยึดติดกับการลงโทษทุกครั้ง แต่พออารมณ์เย็นและมาลองคิดดู ผมพบว่าบทลงโทษเหล่านี้มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะ
1. บทลงโทษกับความผิดนั้นไม่เหมาะสมกัน ซึ่งพอคิดดูแล้วมีเพียงแค่ข้อ 2 เท่านั้นที่เหมาะสม เพราะมันเป็นความผิดที่ไม่ทำตามที่รับปาก (ปกติผมรับปากลูกว่าจะทำอะไรต้องทำตามนั้นครับ และลูกต้องอยู่ในกฎเดียวกัน)
2. มันไม่ได้แก้ต้นเหตุที่เขาเลือกจะเอาของเข้าปาก สิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้อย่างเดียวคือเขาต้องรู้จัก “หลบ” ให้เนียนกว่านี้
สิ่งที่ผมกังวลจริง ๆ ไม่ใช่การที่เขาทำสิ่งดังกล่าวเมื่ออยู่ต่อหน้าผม แต่กังวลว่าเขาจะทำตอนที่ผม “ไม่อยู่” ต่างหาก และเราก็ไม่สามารถที่จะอยู่ดูแลเขาได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อผมใจเย็นลงจึงได้คุยกับลูกใหม่และทำการเปลี่ยนบทลงโทษ
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้คือ
1. จงอย่าตัดสินใจเวลาที่กำลังโมโห
2. อย่าลืมเป้าหมายในการสั่งสอนทุกครั้ง และตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราต้องการผลลัพธ์นั้นเพื่ออะไร เช่นผมต้องการให้เขาสำนึก แต่เป้าหมายจริง ๆ ละคืออะไรกันแน่ ซึ่งผมก็คิดได้ว่าเป็นการให้เขาไม่ทำลับหลังผม
3. การที่จะให้เขาเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการ “ลงโทษ” เพียงอย่างเดียว
เหตุการณ์นี้จบลงโดยที่คุณพ่อให้ลูกดูคลิปเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเมื่อมีสิ่งของเข้าไปติดคอ และอธิบายว่าทำไมพ่อถึงไม่อยากให้ลูกเอาของเข้าปากโดยโยงกับการที่ลูกวิ่งแล้วล้มว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดทุกครั้ง แต่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ส่วนบทลงโทษนั้นเหลือแค่ข้อ 2 กับข้อ 5 (เพราะพ่อขี้เกียจสูบลมกับเติมน้ำ) หลังมื้อเย็น ลูกเห็นของเล่นที่คุณพ่อคิดจะนำไปทิ้งแล้วถามว่า
“อันนี้ต้องเอาไปทิ้งด้วยไหม”
“ไม่จำเป็น พ่อบอกลูกไปหมดแล้วว่าทำไมถึงไม่ควรเอาของเข้าปากและพ่อเชื่อว่าลูกก็จะไม่ทำมันอีก ถ้าติดคออย่างมากพ่อก็ทำแบบในคลิปนั่นละ”
ตั้งแต่วันนั้นมา ลูกผมก็ไม่เอาของเล่นชิ้นเล็กเข้าไปในปากอีกเลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา